ขอลองเสนอแนวทางแก้หนี้สินภาคคุณครูและบุคลากรทางการศึกษา
ทุกยุคทุกสมัยเมื่อมีการพูดถึงการแก้ไขหนี้สินภาคประชาชน อาชีพหนึ่งมักจะถูกหยิบยกขึ้นมาเป็นต้นแบบของประเด็นปัญหา และเป็นต้นแบบของการค้นหาแนวทางการแก้ไข จนมาถึงยุคสมัยนี้ ผู้เขียนได้เคยเข้าไปมีส่วนในการคิดและพิจารณาหาทางเลือกในการแก้ไข จนตกผลึกในส่วนของผู้เขียนเอง ขอย้ำว่าอันนี้ที่จะขยายความต่อไปนั้นไม่ใช่ความเห็นขององค์กรที่ผู้เขียนสังกัดแต่เป็นเรื่องที่ผู้เขียนคิดออกมาได้ระหว่างที่ได้มีโอกาสฟังเสียงคนกู้ คนให้กู้ คนหักเงินเดือนของคนกู้ และพี่ ๆ ที่มีส่วนเกี่ยวข้อง ผู้เขียนขอยกเอาข้อมูลจากการสื่อสารของกระทรวงศึกษาธิการที่ได้ให้แก่สื่อมวลชนดังนี้ว่า
เนื่องจากพบการรายงานข้อมูลว่า หนี้ครูส่วนใหญ่ 80% ครูเป็นหนี้กับสหกรณ์ รองลงมาคือสถาบันการเงินกับธนาคารต่าง ๆ เช่น ธนาคารออมสิน เป็นต้น (ในเวลาที่มีการหารือกันทุกครั้งจะมีคำพูดเสมอว่าคุณครูกู้ไม่ออมสินก็ออมทรัพย์ ที่น่าสังเกตคือมันมีคำว่าออมอยู่ข้างหน้า ทำไมหนอสถาบันที่ต้องยึดเรื่องออมมาก่อนจึงกลายเป็นผู้ให้กู้หลักกับอาชีพดังกล่าว ทำไมจึงไม่มีปัญหาว่าคุณครูออมมากไปตามพันธกิจของสถาบันที่ต้องส่งเสริมการออมมาก่อนการกู้ อะไรหนอที่เป็นเหตุให้เกิดการเลี้ยวผิดในบทบาทการออมคือการซ้อมก่อนกู้ ให้กลายมาเป็นออมจนไม่พอจะมาใช้หนี้เงินกู้… ประเด็นนี้ยังไม่มีใครให้คำตอบในความย้อนแย้งดังกล่าวได้) ดังนั้น หนี้ครูจากสหกรณ์ออมทรัพย์ครูจึงเป็นกุญแจสำคัญที่จะเริ่มนำร่องแก้ปัญหาก่อน
การแก้ไขปัญหาหนี้สินที่ผ่านมาในอดีตจะเน้นไปที่การแก้ไขปัญหาหนี้เสียก่อนจะพิจารณาแก้หนี้สินทั้งกระบวนการ ดังนั้นในการแก้ไขครั้งนี้ผู้เขียนจึงเห็นด้วยและสนับสนุนอย่างเต็มที่ในแนวคิดแนวทางของเสมา 1 ในฐานะเจ้ากระทรวงผู้คุมนโยบายที่ได้ระบุต่อกับสื่อมวลชนว่า “… สำหรับโครงการแก้ไขปัญหาหนี้สินครู เบื้องต้นจะนำร่องลดดอกเบี้ยให้แก่ครูที่เป็นหนี้จากสหกรณ์ออมทรัพย์ครู โดยเราจะไปหารือกับธนาคารต้นทางเพื่อขอลดดอกเบี้ย เนื่องจากสหกรณ์จะไปกู้ธนาคารและนำมาปล่อยกู้ให้แก่ครูอีกทอดหนึ่ง ซึ่งหากเราลดต้นทุนการกู้มาได้ก็เชื่อว่าเราจะสามารถแก้ได้… ” ตัวผู้เขียนมีข้อมูล?สนับสนุนในส่วนของแหล่งเงินมาให้สมาชิกกู้ยืมนอกจากการกู้สถาบันการเงินอื่นตามที่ได้มีการระบุข้างต้นก็คือแหล่งเงินกู้จากเงินฝากของสมาชิกเองดังนี้นะครับ
- เงินฝากของสหกรณ์ออมทรัพย์ที่มาจากสมาชิกมีอัตราสูงเกินไปหรือไม่ เมื่อเทียบกับอัตราดอกเบี้ยเงินฝากทั่วไปจากสถาบันการเงินต่าง ๆ ดอกเบี้ยนโยบายคือ 0.5% แต่ดอกเบี้ยเงินฝาก (ไม่เสียภาษีด้วย) มันไปอยู่ที่ 4-4.5% แถมอาจจะมีบางแห่งมีผู้ฝากเงินก้อนใหญ่กระจุกตัวด้วยหรือไม่ เป็นไปได้หรือไม่ที่จะลดลงมาอยู่ในระดับ 2-2.5% ซึ่งเมื่อบวกด้วยค่าใช้จ่ายดำเนินการ 1.5-2% ก็จะทำให้อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ลดลงมาในระดับ 3-4.5% ตรงนี้มีความหมายเพราะดอกเบี้ยเงินกู้ที่ถูกลงมาจะทำให้ค่าผ่อนต่องวดลดลง ภาระค่าใช้จ่ายในรูปเงินสดไหลออกจากรายได้ที่หามามันก็จะลดลงไปตามส่วน ลูกหนี้จะมีสภาพคล่องเพิ่ม อึดอัดน้อยลงไปหรือไม่
- เหตุที่เราจะสามารถทำข้อ 1 ลดดอกเบี้ยเงินฝากเพื่อลดดอกเบี้ยเงินกู้ให้ลงมาเพราะสินเชื่อให้สมาชิกสหกรณ์ออมทรัพย์มีความเสี่ยงต่ำมาก ทำไมถึงต่ำมาก เหตุเพราะต้นสังกัด นายจ้างของคุณครูจะหักเงินเดือนที่เราเรียกว่าหักหน้าซองตามที่กฎหมายกำหนด พอเงินเดือนออกปุ๊บก็หักปั๊บที่เหลือค่อยเข้าซองเงินเดือน ดังนั้นสหกรณ์ออมทรัพย์จึงไม่มีต้นทุนในการเก็บหนี้เพราะมีคนทำให้ คนทำให้คือคนคุมต้นทางของรายได้ และต้นสังกัดก็ไปคิดค่าใช้จ่ายในการเก็บหนี้กับสหกรณ์ออมทรัพย์ไม่ได้ด้วย เรา ๆ ท่าน ๆ ลองเทียบว่าสินเชื่อบ้านทั่วไปคิดดอกเบี้ย 3.5% แต่สถาบันการเงินต้องเก็บหนี้รายเดือนเอง แต่สหกรณ์ออมทรัพย์คิด 5-6% โดยมีคนเก็บหนี้ให้ มันย้อนแย้งกันหรือไม่ สหกรณ์ออมทรัพย์ติดกับดักการต้องหาเงินปันผลสูง ๆ เงินเฉลี่ยคืนสูง ๆ เพื่อบรรลุตัวชี้วัดด้านการบริหารโชว์กับสมาชิก โดยคนที่ต้องหารายได้มาให้คือลูกหนี้เงินกู้ เหตุใดผู้มีอุปการะคุณจึงเป็นตำบลกระสุนตก โดนทุกดอกเพื่อเอาไปแบ่งกันภายใต้แนวคิด เกิดโดยสมาชิกทุกคน บริหารโดยคนที่สมาชิกเลือก เพื่อประโยชน์ของสมาชิกทุกคนทุกกลุ่ม (ย้ำว่าต้องทุกคน)
- ท่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ยังได้เปิดเผยต่อสื่อมวลชนว่า เมื่อเร็ว ๆ นี้คณะทำงานการแก้ไขปัญหาหนี้สินครู ได้มารายงานข้อสรุปแนวทางการแก้ไขปัญหา หนี้สินครูให้ตนพิจารณา ซึ่งเท่าที่ดูแนวทางที่นำเสนอมานั้นมีหลากหลายแนวทาง ซึ่งแต่ละแนวทางก็เป็นแพ็กเกจใหญ่ใน การแก้ไขปัญหาหนี้สินครู โดยตนไม่ได้ตีกลับให้ไปดำเนินการใหม่ แต่มอบแนวทางการดำเนินการไปว่า การแก้ไขปัญหาหนี้สินครูควรจะนำร่องในรูปแบบใดรูปแบบหนึ่งก่อน เพื่อให้มีการจับต้องได้ของกระบวน การทำงาน เพราะหากทำทุกแนวทางที่นำเสนอมาตนมองว่าเป็นเรื่องยาก อันนี้ผู้เขียนเห็นด้วยอย่างมาก ไม่ทำเยอะเรื่อง แต่ทำเรื่องที่โดน เรื่องที่ใช่ เอาให้เกิดผลลัพธ์ ผลกระทบ ออกมาตรการแบบ Wow…
- เรื่องที่สำคัญมากอีกเรื่องหนึ่งคือ ต้องไม่ให้ครูรุ่นใหม่มาติดกับดักวงจรการเป็นหนี้อีก มาตรการตรงนี้ผู้เขียนขอเรียนว่ายาก ถึงยากมาก เพราะวัฒนธรรมที่ส่งต่อกันมามีความแรงมาก มากพอที่จะเป็นหลุมดำดูดใจที่แข็งแกร่งของคุณครูรุ่นใหม่ อันนี้ขอแขวนไว้คุยกันวันหลังนะครับ
- โครงการนำร่องจากสหกรณ์ออมทรัพย์ต้นแบบที่มีความครบเครื่องทั้งการจัดการเงินฝาก การจัดการภาระหนี้สินของสมาชิก มีการสร้างสมดุลในการส่งเสริมการออม การจัดการสวัสดิการให้กับสมาชิกอย่างน่าสนใจ มีการใช้ข้อมูลอย่างชาญฉลาด เข้าใจเข้าถึงสมาชิก ตัวอย่างเช่น สหกรณ์ออมทรัพย์ครูสมุทรปราการ ที่ผู้เขียนได้มีโอกาสฟังการบรรยาย เป็นต้น
แผนในการนำร่องโครงการของกระทรวงศึกษาธิการ?ในการแก้ไขปัญหาหนี้สินของคุณครูและบุคลากรทางการศึกษาจะไปผนวกร่วมกับแผนการแก้ไขหนี้สินภาคประชาชนของท่านรองนายกรัฐมนตรี ที่ได้รับมอบหมายจากนายกรัฐมนตรีต่อไป
ขอบคุณทุกท่านที่ติดตามนะครับ