คอลัมน์เศรษฐกิจภาษาคน โดยคุณสุ : กู้ตอนโควิด-19 เริ่มคือ​ 2% กู้ต่อเพลานี้เจอดอกเบี้ยปกติ​เฉลี่ย​ 6-7%  : วันจันทร์ที่ 18 เมษายน 2565

กู้ตอนโควิด-19 เริ่มคือ​ 2% กู้ต่อเพลานี้เจอดอกเบี้ยปกติ​เฉลี่ย​ 6-7% 

ผู้เขียนได้เคยมีความเห็นเป็นคำถามในบทความก่อนหน้าว่า​ เมื่อโครงการเงินกู้ละมุนนุ่มครบกำหนด​ 2 ปีแล้ว​ แหล่งเงินจากธนาคาร​กลาง​ที่คิดดอกเบี้ย 0.01% ก็ต้องชำระคืนโดยสถาบันการเงินที่เอามาปล่อยต่อในเวลาตอนโควิดเริ่มต้น​เมื่อประมาณเดือนมีนาคม-เมษายน​ 2563​ ถ้าเราจำกันได้​ สถาบันการเงินจะปล่อยต่อแก่ลูกค้ารายที่ผ่านการพิจารณา​ด้วยดอก​ 2% วันเวลาผ่านไปอย่างรวดเร็ว​ 2 ปีมาแล้วที่ต้องอยู่ท่ามกลางความไม่แน่นอน​ บัดนี้เมษายน​ 2565​ ลูกหนี้ที่กู้เงินกู้ละมุนนุ่มก็จะเริ่มครบกำหนดชำระหนี้แล้ว​ มันมีคำถามตลอดเวลาที่ผ่านมาว่า​ ถ้ายังคืนเงินกู้ละมุนนุ่มให้กับสถาบันการเงิน​เจ้าหนี้ไม่ได้​ แต่เจ้าหนี้ต้องคืนเงินธนาคารกลาง​ เพราะกฎหมายมันกำหนดแบบนั้น​ เจ้าหนี้ก็ต้องนำเอาแหล่งเงินของตนเองมาให้กู้ต่อที่เราเรียกกันว่า​ Rollovers ตามต้นทุนปัจจุบันใช่หรือไม่​ ก็ต้องมีการประเมินค่าความเสี่ยงของลูกหนี้รายที่ยังคืนไม่ได้และประสงค์​จะต่ออายุสินเชื่อออกไปอีกใช่หรือไม่​ แล้วที่ผู้เขียนตั้งคำถามในบทความที่แล้วก็คือ​ สถาบัน​การเงิน​เจ้าหนี้​จะคิดดอกเบี้ยเท่าไหร่​ และคนกู้จะไหวไหม

เมื่อช่วงหยุดยาวสงกรานต์​ก็ปรากฏข่าวออกทางสื่อค่อนข้างชัดเจน​ ตามคำกล่าวของผู้บริหารสถาบันการเงิน​ก็ให้ข้อมูลตามข่าวชัดเจนว่าดอกเบี้ยที่จะคิดคือ

“….. ขณะนี้ลูกค้าธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) ที่เข้าโครงการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ (ซอฟต์โลน) กำลังจะทยอยครบกำหนดชำระหนี้ในเวลา 2 ปีโดยจะต้องชำระเงินคืนตามพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) การให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่ผู้ประกอบการวิสาหกิจที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ของธนาคารแห่ง ประเทศไทย (ธปท.) ที่มีการให้สินเชื่อเมื่อปี 2563 หลังเกิดสถานการณ์ของการแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19​   ล่าสุดมีบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) เข้ามาช่วยดูแลต่อ โดยจัดทำโครงการ “ซอฟต์โลน เอ็กซ์ตร้า พลัส” วงเงิน 9 หมื่นล้านบาทค้ำประกันเพิ่มเติม โครงการนี้รัฐบาลช่วยค่าธรรมเนียมค้ำประกัน 0.75% ต่อปี นานเป็นเวลา 2 ปี ดังนั้น ลูกค้าจะเสียค่าธรรมเนียมการค้ำประกันสินเชื่อเพียง 1% ต่อปี เป็นเวลา 2 ปี ซึ่งโครงการนี้จะเริ่มในปลายเดือน เมษายนนี้เป็นต้นไป​   ผู้ประกอบการที่สินเชื่อจะทยอยครบกำหนดชำระหนี้ซอฟต์โลนตั้งแต่เดือน เมษายนนี้ หากลูกค้ายังไม่สามารถกลับมาชำระหนี้ได้จะเข้าโครงการใหม่ของ บสย. ที่จะเป็นการขออนุมัติวงเงินสินเชื่อใหม่ เพื่อนำไปชำระหนี้ ธปท. ตามกำหนด (ผู้เขียน​ : กล่าวคือลูกหนี้ก็ยื่นขอกู้ใหม่​ เมื่อได้รับอนุมัติ​ สถาบันการเงินก็เอาเงินไปคืนแหล่งเงินจากธนาคารกลาง​ ตัวลูกหนี้ก็มาเป็นลูกหนี้ตรง ๆ กับสถาบันการเงินที่อนุมัติ​สินเชื่อนั้น)​ ขณะที่ลูกค้าที่มีหลักประกันก็สามารถจดจำนองหลักประกันเพิ่มเติม 

โดยธนาคารจะมีการปรับคิดอัตราดอกเบี้ยเพิ่มขึ้นเป็นอัตราปกติในส่วนของสินเชื่อที่ครบกำหนด 2 ปี โดยหากเป็นกลุ่มลูกค้า​ SMEs​ ดอกเบี้ยเฉลี่ยอยู่ที่ 6-7% ต่อปี และลูกค้าขนาดใหญ่จะคิดดอกเบี้ยเฉลี่ยอยู่ที่ 4-5% ต่อปี…..”

ท่านผู้อ่านคงจะคิดเลขได้แบบผู้เขียนนะครับว่า

  1. สถานการณ์​ของเรื่องไวรัส​โควิด-19​ มันยังไม่จบ​ แม้ว่าจะมีหลายประเทศ​ดำเนินการไปในลักษณะ​ของโรคประจำถิ่นแล้ว​
  2. มีสถานการณ์​ใหม่ออกมาคือความขัดแย้งของต่างประเทศ​ ส่งผลให้ราคาน้ำมันแพง​ ต้นทุนถูกส่งผ่านมากระทบอัตราเงินเฟ้อ​ อย่างน้อยก็ปี​ 2565​ นี่แหละที่จะโดนกันเต็ม ๆ
  3. กำลังซื้อของผู้คนดูจะไม่ค่อยดีในหมู่ผู้มีรายได้ไม่มาก​ อันเป็นผลจากภาระหนี้สินภาคครัวเรือนที่ลากยาวกันมาหลายปีก่อนหน้านี้แล้ว
  4. มาตรการกีดกันทางการค้าที่อาจจะแฝงมาในรูปของการรักษาสิ่งแวดล้อม​ การดูแลสภาพภูมิอากาศ​ การลดโลกร้อน​ การแก้ไขปัญหาโลกรวน​ มันจะทำให้การค้ากับต่างประเทศมีเงื่อนไขที่ยากขึ้น​
  5. ต้นทุนเพิ่มขึ้นอีกหรือไม่กับการปฏิบัติตามเงื่อนไขของกฎหมายคุ้มครองข้อมูล​ส่วนบุคคลที่อุดมไปด้วยต้นทุนยิบย่อยในการปฏิบัติ​ ใครไม่ทำจะไม่รู้ว่าหากเจอลูกค้าศรีธนชัย​เข้าไปแล้วจะประมาณ​ไหน​
  6. ต้นทุนดอกเบี้ยที่เพิ่มจาก​ 2% ต่อปี​ มาเป็น​ 6-7% ต่อปี​ ตามข้อมูลที่แจ้งมาข้างต้น​ บวกด้วยต้นทุนค้ำประกันที่ต้องออกเองอีก​ 1% ต่อปี​ คือต้นทุนทางการเงินเพิ่ม​ 5-6% ต่อปี นะครับ ท่านผู้อ่านคิดว่า​ SMEs จะไหวมั้ยในเวลานี้​

สถานการณ์​ยังไม่ปกติ​คือกำลังรอไปสู่ปกติ​ แต่มีโรคแทรกซ้อนจากราคาน้ำมัน​ ไข้หนี้ครัวเรือนยังไม่สร่าง​ แต่ต้องบริจาคเลือดคือเงินสดจ่ายดอกเบี้ยในอัตราปกติ

เอวังก็มีด้วยประการฉะนี้…สาธุ​ สาธุ สาธุ