คิดให้ดีก่อนตัดสินใจ “กู้ร่วม” ซื้อบ้านหรือเป็นหนี้ร่วมกับใคร

ในการยื่นขอพิจารณาสินเชื่อ เมื่อเรายื่นขอคนเดียวไม่ผ่านอีกทางเลือกที่ทำให้การยื่นขอสินเชื่อผ่านไปได้อย่างฉลุย นั่นก็คือ “การกู้ร่วม” ซึ่งจะช่วยให้สถาบันการเงินพิจารณาได้ว่า ผู้กู้จะมีความสามารถในการผ่อนชำระได้

 

เข้าใจความหมายการ “กู้ร่วม”

การกู้ร่วม คือการที่เรายื่นขอสินเชื่อร่วมกันมากกว่า 1 คนขึ้นไป แต่ไม่เกิน 3 คน ในสัญญาฉบับเดียวกัน ซึ่งผู้ที่จะกู้ร่วมนั้นก็ไม่ใช่ว่าจะเป็นใครก็ได้ แต่ต้องเป็นคนในครอบครัว พ่อแม่ พี่น้องสายเลือดเดียวกัน สามีภรรยาที่แต่งงานกันแล้ว โดยการกู้ร่วมนั้นผู้ที่กู้ร่วมจะถือว่ามีภาระหนี้สินคนละครึ่ง หรือถูกแบ่งให้มีสัดส่วนที่เท่า ๆ กัน ฉะนั้นหากวันใดหนึ่งในผู้กู้ร่วมไม่สามารถชำระหนี้ได้ อีกฝ่ายที่กู้ร่วมที่อยู่ในสัญญาก็จะเป็นผู้ชำระหนี้แทนทั้งหมด

 

ข้อดีของการกู้ร่วม

  1. ขอวงเงินกู้ได้สูงขึ้น

สมมติว่าเราเงินเดือน 20,000 บาท ต้องการซื้อบ้านราคา 3,500,000 บาท แต่เมื่อคำนวณวงเงินกู้และฐานเงินเดือนยังไม่ถึงเกณฑ์ที่สถาบันการเงินกำหนด การมีคนกู้ร่วมก็จะช่วยเพิ่มฐานเงินเดือนและดันวงเงินกู้ของเราเพิ่มสูงขึ้นตาม

  1. เพิ่มโอกาสในการอนุมัติสินเชื่อง่ายขึ้น

แม้ว่าประวัติการเงินของเราจะมีสุขภาพดี ชำระหนี้ตรงต่อเวลา แต่ก็อาจไม่เพียงพอ หากฐานเงินเดือนและวงเงินกู้ไม่บาลานซ์หรือเหมาะสม เพราะสถาบันการเงินอาจมองว่าเราไม่มีความสามารถในการชำระหนี้มากพอ การกู้ร่วมก็จะเข้ามาช่วยเพิ่มความน่าเชื่อถือในเรื่องความสามารถในการชำระหนี้ ทำให้อนุมัติไวขึ้น

  1. ช่วยผ่อนหนักให้เป็นเบา

การกู้ร่วมจะช่วยให้ภาระหนี้สินของเราลดลงไปครึ่ง ไม่ต้องแบกหนี้อยู่แต่เพียงผู้เดียว ถือว่าเป็นการคลายความหนักอึ้งของภาระหนี้สินที่แบกรับอยู่ให้เบาลงได้ในตลอดระยะเวลาที่กู้สินเชื่อ

  1. ยืดหยุ่นเรื่องค่าใช้จ่าย

อย่างน้อย ๆ การกู้ร่วมก็ช่วยให้เราสามารถจัดสรรรายจ่าย โดยนำเงินส่วนที่เคยจะต้องนำไปชำระหนี้มาบริหารค่าใช้จ่ายในส่วนอื่น ๆ ให้เกิดประโยชน์ได้

 

คิดให้ดีก่อนตัดสินใจกู้ร่วม

เมื่อมีข้อดีก็ย่อมมีผลกระทบตามมา เพราะการกู้ร่วมก็เสมือนเป็นการแบ่งสิทธิ์คนละครึ่งให้เท่า ๆ กัน หากไม่มีการพูดคุยหรือตกลงกันให้เรียบร้อยก็อาจเกิดผลกระทบตามมาได้ ซึ่งก่อนที่จะตัดสินใจกู้ร่วมซื้อบ้านหรือกู้สินเชื่อมาพิจารณาข้อต่าง ๆ เหล่านี้กันก่อน

  1. พร้อมรับผิดชอบหนี้ร่วมกันกับใครสักคนหรือยัง

การกู้ร่วม คือการที่ผู้กู้ร่วมต้องร่วมกันชำระหนี้ก้อนด้วยกัน หมายความว่าหากอีกฝ่ายมีปัญหาการเงินผู้กู้ร่วมอีกคนก็ต้องพร้อมช่วยเหลือและชำระหนี้ต่อ และท้ายที่สุดหนี้สินที่มีก็อาจตกเป็นภาระของเราแต่เพียงผู้เดียว

  1. สิทธิ์ลดหย่อนภาษีถูกแบ่งครึ่ง

การซื้อบ้านสามารถนำมาใช้ในการลดหย่อนภาษีได้ โดยนำดอกเบี้ยจากการกู้ซื้อบ้านไปลดหย่อนภาษีหากเรากู้ร่วมดอกเบี้ยก็จะถูกแบ่งครึ่ง และจะสามารถใช้สิทธิ์ได้เพียงคนละครึ่ง สมมติว่าเราสามารถลดหย่อนภาษีได้ 100,000 บาท เราก็จะสามารถใช้สิทธิ์ได้เพียง 50,000 บาท

  1. ตกลงกันว่าใครเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์บ้านที่กู้

ในการกู้ร่วมการใส่ชื่อผู้ที่ได้กรรมสิทธิ์จะมีอยู่ 2 กรณี คือ 1. เจ้าของกรรมสิทธิ์มีชื่อเพียงคนเดียวโดยที่ผู้กู้ร่วมอีกฝ่าย จะไม่มีกรรมสิทธิ์ใดในบ้าน 2. ผู้กู้ร่วมทุกคนคือเจ้าของกรรมสิทธิ์ หมายความว่าผู้กู้ร่วมทุกคนจะมีสิทธิ์ที่เท่าเทียมกัน แต่หากต้องการทำเอกสารที่เกี่ยวข้องกับบ้านก็ต้องให้ผู้กู้ทุกคนต้องตกลง หรือลงมติได้รับความยินยอมร่วมกัน

  1. สิทธิ์ถูกยกให้ทายาทหากผู้กู้ร่วมเสียชีวิต

หากผู้กู้ร่วมของเราเกิดเสียชีวิต ทายาทหรือผู้จัดการมรดกที่เกี่ยวข้องกับผู้เสียชีวิตจะเข้ามารับช่วงต่อในการผ่อนชำระ และได้กรรมสิทธิ์ในบ้าน แต่ผู้กู้จะต้องแจ้งธนาคารเพราะไม่เช่นนั้นผู้ที่รับผิดชอบในการชำระหนี้ก็จะมีแค่เราคนเดียว

 

กู้ร่วมกันต่อไม่ไหว เดินหน้าอย่างไรต่อไปดี

หากสุดท้ายแล้ว ต่างฝ่ายต่างไม่สามารถกู้ร่วมกันต่อไปได้ ให้ผู้กู้ร่วมทั้งสองฝ่ายรีบติดต่อธนาคารเพื่อแจ้งความต้องการในการถอนชื่อสัญญากู้ร่วมออก และธนาคารจะเป็นผู้ประเมินที่มีความสามารถในการชำระหนี้ต่อว่า จะสามารถผ่อนชำระต่อไปไหวหรือไม่

แต่หากธนาคารไม่อนุมัติให้เราถอนชื่อในการกู้ร่วม เพราะประเมินในเรื่องของความสามารถในการชำระเงินแล้วว่าไม่ผ่าน ผู้ที่ต้องการจะรับช่วงต่อในการผ่อนบ้าน อาจจะต้องทำการรีไฟแนนซ์หรือขายบ้าน และทำข้อตกลงเพื่อแบ่งทรัพย์สิน

แม้ว่าการกู้ร่วมจะมีข้อดีและช่วยเพิ่มโอกาสในการยื่นขอพิจารณาการกู้สินเชื่อให้ผ่านฉลุย แต่ในเรื่องของการซื้อบ้านถือว่าเป็นหนี้ระยะยาวที่ผู้กู้ควรไตร่ตรอง ตัดสินใจให้รอบคอบและมั่นใจแล้วว่าพร้อมที่จะเดินหน้าไปต่อร่วมกัน ไม่ให้เกิดปัญหาการเงินตามมาภายหลัง และสำหรับใครที่ตัดสินใจตกลงกู้ร่วมกันแล้วให้ระวังเรื่องของการชำระหนี้ค่างวดแต่ละเดือน ควรจ่ายตรงตามกำหนดอย่างสม่ำเสมอ ทั้งเราและผู้กู้ร่วมเพราะข้อมูลของแต่ละฝ่ายจะอยู่ในรายงานข้อมูลเครดิตด้วย

 

ข้อมูลจาก

https://www.ttbbank.com/th/fin-tips/detail/healthyborrowing-howtoreducedebt-feb-2021-1

https://www.reic.or.th/Knowledge/SuggestionHomeDetail/71