คอลัมน์ เศรษฐกิจคิดง่ายๆ: พื้นฐานครอบครัวไทยคือแรงผลักดันระบบเศรษฐกิจ วันที่ 30 ตุลาคม พ.ศ. 2560

คอลัมน์ เศรษฐกิจคิดง่ายๆ:

พื้นฐานครอบครัวไทยคือแรงผลักดันระบบเศรษฐกิจ

วันที่ 30 ตุลาคม พ.ศ. 2560

ผมได้มีโอกาสสนทนาอย่างออกรสกับคนหนุ่มสาวอายุไม่ถึง 25 ปี เธอจบอักษรศาสตร์จุฬา เอกภาษาอังกฤษ เคยไปเป็นนักเรียนแลกเปลี่ยนที่สาธารณรัฐฝรั่งเศส พอจบปริญญาตรีก็ไปทำงานสายงานบริหารงานบุคคลที่บริษัทข้ามชาติ ที่อดีตซีอีโอของบริษัทแห่งนี้ปัจจุบันไปเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของสหรัฐอเมริกา บทสนทนาของผมเริ่มจากการตั้งประเด็นว่า แม้ประเทศไทยจะเต็มไปด้วยปัญหา เรื่องราว นิสัยของผู้คนที่ดีและไม่ดี แต่ระบบเศรษฐกิจที่ถูกขับเคลื่อนได้จนมาถึงทุกวันนี้ จากผู้คนรุ่นก่อนที่ทำงานหนัก เพราะอะไรคนรุ่นพ่อแม่ของเด็กที่ผมคุยด้วยจึงทำงาน สร้างสรรค์งาน และมุมานะสร้างทุกสิ่งอันมาได้ เธอตอบผมกลับมาเป็น “บทความ” หลังไปชมภาพยนตร์ที่ถ่ายทอดเรื่องของครอบครัวในยามที่เวลานี้คนไทยทุกคนล้วนระลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณ อันหาที่สุดมิได้ของในหลวงรัชกาลที่ 9 “พ่อของแผ่นดิน” ของปวงชนชาวไทย บทความเธอกล่าวไว้ดังนี้ครับ
…ตั้งแต่เริ่มทำงานเราก็ตั้งคำถามว่า “พ่อแม่เราทำงานหนักและลำบากมาเป็นสิบๆ ปี เขาทำได้อย่างไร?”
พ่อกับแม่เราตอบกลับมาสั้นๆ ว่า “ก็เพราะมีลูกไง ที่พูดไม่ได้แปลว่าลูกเป็นภาระ เพราะการได้มองดูลูกเติบโตจากเด็กจนเป็นผู้ใหญ่ในแต่ละช่วงเวลานั้นมีค่ามากและพ่อแม่ชาวไทยทุกคนนั้น ไม่ว่าลูกจะไปได้ไกลกว่าตัวเอง หรือเติบโตไปในทิศทางไหนก็จะภูมิใจในตัวลูกเสมอ
พอฟังแล้วก็ได้คิดขึ้นมาว่าครอบครัวให้ค่าหรือ Value กับเราแค่ไหนแต่หลายครั้งเราหลงลืมความสำคัญของคนที่บ้านบางครั้งก็อาจพูดจาไม่ดีใส่กัน เพราะงานยุ่ง เพราะมัวแต่กังวลว่าคนอื่น (คนนอกครอบครัว) คิดกับเราอย่างไร เพราะอยู่ด้วยกันทุกวัน มันใกล้กัน สัมผัสกันเกินไป เราเลยอาจคุ้นชินต่อการดูแลที่พวกเขามอบให้ในแต่ละวัน
แต่ถ้าล้มเมื่อไหร่ คนที่บ้านที่คอยบ่นว่าเรานี่แหละที่คอยพยุง ปลอบโยน และยืนอยู่ข้างเราเสมอ ในเวลาที่ร้องไห้ พ่ายแพ้ และรู้สึกไม่เหลือใคร
คนใกล้ตัวที่ทำเพื่อเรา อย่ามองข้าม อย่าเห็นเป็นของตาย เพราะเขาทำได้แทบทุกอย่างเพื่อเรา อยากให้ทุกคนชวนครอบครัวตัวเองดูหนังสั้นประกอบเพลงพระราชนิพนธ์เรื่องนี้ด้วยกัน
เพราะมันทำให้เราคิดทบทวนถึงการกระทำของตัวเองต่อคนที่รักเราได้อย่างไม่มีเงื่อนไข รักเรามากจริงๆ…
ครอบครัวที่ชื่อว่า ประเทศไทยได้รับการดูแลจากท่าน จากในหลวงรัชกาลที่ 9 โดยไม่มีเงื่อนไข ไม่ว่าจะเติบโต มีปัญหา มีข้อขัดแย้ง ทรุดโทรมจากการหลงไปกับความไม่พอเพียง พระองค์ทรงพระราชทานแนวทางคำตอบมาให้เสมอใช่หรือไม่
ในที่สุดเมื่อได้กลับมามองถึงสัจธรรม ความเป็นจริงแท้ก็จะพบว่า “เงินทองนั้นมายา ข้าวปลาสิของจริง” เศรษฐกิจที่มีรากฐานจากครอบครัวอันเป็นหน่วยที่เล็กที่สุดในระบบ หากถูกนำมาขับเคลื่อนธุรกรรมทางเศรษฐกิจบนพื้นฐาน พอดี พอประมาณ มีภูมิคุ้มกัน อันหมายความถึงความพอเพียงที่จะนำพาความอยู่ดีมีสุขของผู้คนไปสู่จุดหมายได้อย่าง มั่นคง สมดุล เป็นธรรม และยั่งยืนนั้น การปลูกผังค่านิยมของครอบครัวจึงเป็นเรื่องสำคัญมาก
ผมชื่นชอบในข้อความตรงที่ว่า …แต่ถ้าล้มเมื่อไหร่ คนที่บ้านที่คอยบ่นว่าเรานี่แหละที่คอยพยุง ปลอบโยน และยืนอยู่ข้างเราเสมอ ในเวลาที่ร้องไห้ พ่ายแพ้ และรู้สึกไม่เหลือใคร…หากคนที่ล้มคือ สตาร์ทอัพเราก็หวังว่าทุกภาคส่วนจะร่วมเป็นคนในครอบครัวในการดึงเขาขึ้นมาใช่ไหม…ถ้าใช่ เราก็มีโอกาสสร้างไทยสตาร์ทอัพครับ นี่คือตัวอย่างที่ผมคิด
ขอขอบคุณที่ให้ความกรุณาติดตามบทความครับ