เป้าหมายทางการเงินเป็นเรื่องสำคัญที่ทำให้ใครหลาย ๆ คนล้วนมีแพชชันในการออมเงิน แต่ในแง่ของการลงมือทำก็อาจจะไม่ง่ายนักโดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับมือใหม่ที่เริ่มต้นออมเงินแบบจริงจัง เพราะนอกจากแรงจูงใจที่ดีแล้ว แนวทางการวางแผนการเงินก็สำหรับเช่นกัน บางคนเลือกใช้วิธีที่เคร่งครัดจนเกินไป ทำให้ก้าวไปไม่ถึงเป้าหมาย บางคนก็หละหลวมไม่ใส่ใจเท่าที่ควร
ดังนั้นเพื่อให้มือใหม่สามารถเดินไปสู่เป้าหมายทางการเงินได้สำเร็จง่ายขึ้น ลองเริ่มต้นด้วยกฎการเงิน 70-20-10 ที่จะช่วยไกด์แนวทางการออมเงิน และการใช้จ่ายเงินของเราได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น
กฎการเงิน 70-20-10 คืออะไร?
70-20-10 คือแนวทางการวางแผนการเงินที่คล้ายคลึงกับกฎ 50-30-20 แต่จะไม่เคร่งครัดเท่า และเน้นแบ่งสัดส่วนเพื่อวางแผนค่าใช้จ่ายมากกว่า ซึ่งเหมาะกับผู้เริ่มต้นวางแผนการเงิน และจัดงบประมาณค่าใช้จ่ายแบบเบื้องต้น โดยการแบ่งสัดส่วนการเงินแบ่งได้เป็นดังนี้
70% ค่าใช้จ่ายประจำรายเดือน
แบ่ง 70% ของรายรับไว้สำหรับค่าใช้จ่าย ค่าครองชีพต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในประจำวัน โดยไม่ต้องแบ่งสัดส่วนย่อย ๆ ของรายจ่ายนั้น ๆ เราสามารถพิจารณาตามความเหมาะสมของค่าใช้จ่ายได้ด้วยตนเอง เพียงแค่จัดรายจ่ายแต่ละประเภทไว้ว่าอยู่ในหมวดหมูไหน ใช่ค่าใช้จ่ายประจำเดือนหรือไม่ เช่น ค่าผ่อนบ้าน, ค่าเช่า ค่าสาธารณูปโภค, ค่าเดินทาง, ค่าอาหาร, ค่าแพ็คเกจรายเดือนต่าง ๆ หรือแม้แต่ค่าคอร์สเรียนเพื่อพัฒนาตนเอง เป็นต้น
20% การออมเงินและการลงทุน
รายได้อีก 20% ให้นำมาจัดสรรสำหรับการออมเงินและการลงทุน หรือเก็บไว้สำหรับเงินทุนฉุกเฉิน สำรองสำหรับเหตุไม่คาดฝัน หรือเริ่มต้นด้วยการนำเงินไปฝากธนาคารเพื่อได้ดอกเบี้ยจากบัญชีเงินฝากกลับมา
10% สำหรับการชำระหนี้
ในส่วน 10% สุดท้ายของรายรับของเราให้แบ่งไว้สำหรับการชำระหนี้ หรือถ้าหากใครที่กำลังคิดจะก่อหนี้ในส่วนนี้คือสัดส่วนที่จะสามารถสร้างหนี้ได้โดยที่ไม่กระทบกับการเงินในส่วนอื่น ๆ หรือสำหรับใครที่ไม่มีหนี้ เงินในสัดส่วนนี้อาจจะเก็บไว้สำหรับอนาคต เช่น เงินเพื่อการศึกษา เงินเพื่อการบริจาค เป็นต้น แต่หากใครที่มีภาระหนี้เยอะ ๆ ในส่วนนี้ก็จะเป็นค่าใช้จ่ายหนี้ที่เป็นในส่วนของการจ่ายขั้นต่ำได้ด้วยเช่นกัน
การวางแผนการเงินด้วยกฎการเงิน 70-20-10 เป็นแนวทางเริ่มต้นการออมเงินที่เหมาะสำหรับผู้ที่เริ่มต้นได้ดี เพราะครอบคลุมทุกงบประมาณการเงินตั้งแต่ค่าใช้จ่ายประจำวัน การออมเงิน การลงทุน และการบริหารจัดการหนี้สิน ซึ่งหากเริ่มต้นด้วยแนวทางนี้ก็มีโอกาสที่จะไปถึงเป้าหมายการเงินได้อย่างหวังและมีความมั่นคงทางการเงินในอนาคต