ข่าวเครดิตบูโร 011/2567 : สรุปตัวเลขสิ้นสุดเดือน​สิงหาคม 2567 จากข้อมูลสถิติของเครดิตบูโร

สรุปตัวเลขสิ้นสุดเดือน​สิงหาคม 2567 จากข้อมูลสถิติของเครดิตบูโร

19 ตุลาคม 2567  :  นายสุรพล โอภาสเสถียร ผู้จัดการใหญ่ บริษัท ข้อมูลเครดิตแห่งชาติ จำกัด (เครดิตบูโร) เปิดเผยว่า สรุปตัวเลขสิ้นสุดเดือน​สิงหาคม 2567​ ซึ่งขอเน้นว่ายังไม่เห็นหรือรวมผลกระทบจากการที่เกิดน้ำท่วมในบางพื้นที่​  โดยตัวเลขที่น่าสนใจจะเป็นตัวเลขสิ้นสุดไตรมาส​ 3 เดือนกันยายน​ 2567​ ซึ่งจะออกมาในช่วงสิ้นเดือนพฤศจิ​กายน​ 2567 นี้ จากภาพที่แสดง​ 6 ภาพมีความหมายดังนี้

1.จากฐานข้อมูล​สถิติที่ไม่มีตัวตนของเครดิตบูโร​ครอบคลุมหนี้สินรายย่อยของประชาชนที่ไม่รวมลูกหนี้นิติบุคคลนั้นซึ่งรวบรวมจากสถาบันการเงิน​สมาชิกเครดิตบูโร​กว่า​ 158 แห่ง พบว่า​มียอดสินเชื่อ​ 13.63 ล้านล้านบาท​ มีการเติบโตเปรียบเทียบกับปีที่ผ่านมาในช่วงเวลาเดียวกัน (Year on Year : YoY) เท่ากับ 0.8% และ เปรียบเทียบระหว่างเดือนที่ผ่านมา (Month on Month : MoM) เท่ากับ 0.0% คือ แทบไม่มีการเติบโต​

2.หนี้เสียหรือ​ NPL มาหยุดอยู่ที่​ 1.18 ล้านล้านบาทเคลื่อนที่ช้า ๆ ไปสู่จุด​ 1.2 ล้านล้านบาทตามที่คาดการณ์​ไว้เมื่อต้นปี​ 2567 คิดเป็นอัตราส่วน​ 8.7% ของยอดสินเชื่อรวม​ แน่นอนว่าหนี้เสียก้อนนี้ที่ค้างเกิน​ 90 วัน​ กำลังรอมาตรการแก้ไขแบบเข้มข้น มีแรงจูงใจสูงทั้งเจ้าหนี้​ ลูกหนี้​ ให้เข้ามาตกลงกัน​ ภายใต้กติกาที่ผู้กำกับดูแลน่าจะได้ขยับเข้ามากระชับพื้นที่

3.หนี้กำลังจะเสียหรือหนี้ที่ต้องจับตาเป็นพิเศษ หรือ SM เดือนสิงหาคม​ 2567 ในระบบของเครดิตบูโร​มาหยุดอยู่ที่​ 6.4 แสนล้านบาทคิดเป็น​ 4.7% นิ่ง ๆ​ มาตรการปรับโครงสร้างหนี้เชิงป้องกัน หรือ​การปรับปรุงโครงสร้างหนี้ (Debt Restructuring : DR) ที่เริ่มให้มีการบันทึกข้อมูล​ในระบบเครดิตบูโรตั้งแต่เดือนเมษายน​ 2567​ ตอนนี้มียอดสะสมจนถึงเดือนสิงหาคม​ 2567​ คิดเป็น​จำนวน​ 1 ล้านบัญชีเศษ​ ไม่ทราบว่าทำกันมากน้อยเพียงใด เพราะไม่มีตัวเลขเปรียบเทียบก่อนหน้าเดือนเมษายน​ 2567 เนื่องจากไม่ได้รับอนุญาต​ให้เก็บข้อมูล​นี้ จำนวนเงินที่ทำ​ DR​ สะสมจนถึงตอนนี้​ 5.4 แสนล้านบาท​ มาตรการนี้เป็นเหมือนฝายทดน้ำไม่ให้ SM ไหลไปเป็น​ NPLs เพราะตามเกณฑ์​การให้สินเชื่อที่รับผิดชอบ​ เจ้าหนี้ต้องยื่นข้อเสนอให้ลูกหนี้ถ้าเห็นว่าลูกหนี้จะผ่อนตามเงื่อนไขเดิมไม่ไหว​ กล่าวคือปรับโครงสร้างหนี้ก่อนที่จะค้างเกิน​ 90 วัน​ ที่กำลังมีจำนวนทวีเพิ่มคือ​ ลูกหนี้เริ่มร้องมาที่เครดิตบูโร​ว่า​ “พอเขาไปทำ​ DR มันกลายเป็นเหตุทำให้เขาขอสินเชื่อไม่ได้​ ถูกปฏิเสธ​ หรือบางลูกหนี้บอกว่าเขายอมเข้าโครงการ​ DR เพราะนึกว่าวันไม่ใช่การปรับโครงสร้างหนี้ที่จะมีการใส่รหัสไว้ในรายงานเครดิตบูโร​ บางรายก็บอกว่าข้อเสนอเจ้าหนี้ที่ให้ทำ​ DR ไม่พูดชัดว่าถ้าทำแล้วอาจจะได้รับผลกระทบอะไรบ้าง กล่าวสรุปคือบอกว่า​ รู้ว่าจะโดนปฏิเส​ธสินเชื่อก็อาจจะไม่เข้าโครงการ​ DR ที่ออกกติกา”​ เป้าตัวเลขที่อยากได้​จากสถาบันการเงินเจ้าหนี้ กับปริมาณ​คำร้องที่เริ่มทวีมากขึ้น​ ต้องได้รับการรับรอง หากเอาใจลูกหนี้มากก็จะเละ​ ถ้าไม่ชัดกับเจ้าหนี้ก็ละล้าละลัง​กันไปทั้งขบวน สถานการณ์​แบบ “กลับก็ไม่ได้​ ไปก็ไม่ถึง”

4.สำหรับ 3 ภาพต่อมา คือ ข้อมูล​บางส่วนที่ท่านเลขา​คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ได้นำออกมาแถลงชี้แจงผลการตัดสินใจลดดอกเบี้ยนโยบายของ​ กนง.​ กล่าวคือท่านผู้อ่านจะเห็นการเติบโตของสินเชื่อทุกประเภทที่แสดงนั้นเติบโตในอัตราลดลง​ โดยเฉพาะเส้นสีฟ้าคือสินเชื่อ​ SME ​ติดลบ​ 3.3% ขณะที่​ NPLs​ ของสถาบันการเงิน (ดูคำนิยามให้ครบ)​ โดยเฉพาะ​ SMEs ​ไปถึง​ 9.1% (ดูคำนิยาม​ SME​s) ต่อด้วยสรุปประเด็นสำคัญจากการตัดสินใจของ กนง. ว่าเหตุปัจจัยที่ออกมา 5:2​ ให้ลดดอกเบี้ยนโยบายนั้นคืออะไร มีข้อมูล​เพิ่มเติมเล็ก ๆ คือบัญชีสินเชื่อที่ถือว่าเป็นหนี้เรื้อรังที่ควรต้องได้รับการแก้ไข ​(Severe PD) ได้รับข้อเสนอจากเจ้าหนี้ให้เข้าโครงการแก้ไข​ และลูกหนี้ตอบรับการเข้ากระบวนการแก้ไขมีจำนวน​เพียง 5.3 พันบัญชีจากจำนวน​ 5 แสนบัญชีที่เข้าข่ายหนี้เรื้อรัง (ข้อมูล​ตามการแถลง) ​คิดเป็นเงินที่เก็บข้อมูล​ได้​ว่าเข้าโครงการปิดจบใน​ 5 ปีที่ดอกเบี้ยไม่เกิน 15% มีจำนวน 247 ล้านบาทจากยอดที่เข้าข่ายเป็นหนี้เรื้อรัง​ทั้งหมดประมาณ​ 9.7 หมื่นล้านบาท (ข้อมูล​ตามการแถลงเช่นกัน)