ข้อผิดพลาดทางการเงินในแต่ละช่วงวัย รู้ก่อนแก้ไขทัน

การใช้เงินแม้จะเป็นเงินส่วนตัวของเราก็ตาม ก็ควรมีกลยุทธ์การใช้จ่ายและการวางแผนที่ดีนะคะ เพราะโลกนี้คือความไม่แน่นอนหากวันหนึ่งเกิดอุบัติเหตุขึ้นมา (ไม่ว่าจะเป็นอุบัติเหตุทางการเงินหรือใดๆ ก็ตาม) ชีวิตอาจพลิกผันจนยากที่จะฟื้นคืนได้หากไม่ได้เตรียมการเผื่อรับมือ ดังนั้นนอกจากเราจะรู้หลักการออมแล้ว เราควรรู้ทันข้อผิดพลาดก่อนเพื่อวางแผนสกัดข้อผิดพลาดทางการเงินต่างๆ ไว้แต่เนิ่นๆ ค่ะ แต่ทั้งนี้แต่ละช่วงวัยก็จะมีข้อผิดพลาดใหญ่ๆ ที่แตกต่างกันไป เมื่อเราเจริญวัยถึงช่วงอายุหนึ่ง เราก็จะเจอปัญหาอีกอย่างหนึ่ง เมื่อรู้ทันข้อผิดพลาดแต่ละช่วงวัย ก็รับมือได้ทันท่วงที รู้ก่อนได้เปรียบกว่าค่ะ

รู้ทันข้อผิดพลาดทางการเงิน ชีวิตดีไม่มีสะดุด

  1. ในชีวิตคนเราต้องมีอุปสรรคขวากหนามบ้าง มีปัญหามาให้แก้ไขกันตลอด แก้ได้บ้าง ไม่ได้บ้าง ก็ต้องปรับตัวตามสถานการณ์กันไป การวางแผนการเงินก็เช่นกันค่ะ มันมักจะมีสถานการณ์มาท้าทายปณิธานทางการเงินตลอด ไม่ว่าจะเป็นกระแสสังคมที่ทำให้ต้องจ่ายเงินเพิ่มกว่าที่คิดไว้ สภาพเศรษฐกิจที่ทำให้ค่าใช้จ่ายที่สูงขึ้น ปัญหาชีวิตที่ต้องใช้เงินในการแก้ปัญหา เป็นต้น
  2. ใช้จ่ายเกินตัว รายจ่ายสูงกว่ารายรับ ถ้าคุณรู้ตัวว่ามีพฤติกรรมใช้เงินเกินตัว หรือมีรายจ่ายที่หมดไปกับสิ่งฟุ่มเฟือยที่เกินกำลังทรัพย์ คุณต้องรู้จักประเมินตัวเองเสียใหม่ ต้องรู้จักวิธีทำให้รายรับและรายจ่ายสมดุลกัน คือมีรายได้ไม่น้อยกว่ารายจ่าย ด้วยการประหยัดทุกบาททุกสตางค์ก่อนที่จะจ่ายเงินในแต่ละครั้ง
  3. ไม่ทำบัญชีรายรับรายจ่าย คุณต้องทำบัญชีรายรับรายจ่าย เพื่อทบทวนการใช้เงินในแต่ละเดือน และหาวิธีการจัดการทางการเงินได้อย่างลงตัว ทั้งเงินออม ค่าใช้จ่ายประจำ หรือค่าใช้จ่ายฟุ่มเฟือย
  4. ไม่วางแผนการออมเพื่ออนาคตและเหตุฉุกเฉิน การออมเงินมีวิธีให้เลือกตามความเหมาะสม เช่น การออมเงินประจำ ลงทุนในกองทุน ลงทุนในหุ้น หรือออมเพื่อการเกษียณอายุ การออมเป็นสิ่งสำคัญในอนาคตที่ไม่แน่นอนของมนุษย์เงินเดือนในปัจจุบัน เมื่อไม่ได้มีการออมเงิน พอมีเหตุฉุกเฉินเกิดขึ้น เราก็ลำบากเลยค่ะทีนี้ กลายเป็นว่าต้องไปกู้หนี้ยืมสินมาเพื่อแก้ปัญหา หนักเข้าไปอีกค่ะ
  5. ลงทุนก่อนที่จะมีเป้าหมายและแผนการลงทุนที่ชัดเจน หากปราศจากเป้าหมายและแผนการลงทุนที่ดี การลงทุนของคุณก็จะเป็นไปอย่างไม่มีจุดหมาย เป้าหมายที่คุณอยากได้จะเป็นตัวบ่งบอกว่าคุณอยากเป็นอย่างไรในอนาคต ในขณะที่แผนการที่ดีจะเป็นเครื่องมือที่จะพาคุณไปสู่เป้าหมาย ดังนั้นต้องวิเคราะห์ตัวเองและตั้งเป้าหมายการลงทุนให้ชัดเจน เมื่อนั้นคุณก็จะสามารถเลือกการลงทุนที่เหมาะสมและตอบโจทย์ชีวิตของคุณได้ค่ะ
  6. ประเมินความน่ากลัวของเงินเฟ้อต่ำเกินไป มันคือสภาวะที่เงินลดค่าลงเรื่อยๆ เช่น เงิน 100 บาทในอีก 10 ปีข้างหน้าจะไม่สามารถซื้อข้าวของ เครื่องใช้ได้เท่ากับการใช้เงิน 100 บาทซื้อข้าวของในวันนี้ เป็นต้น อย่าประเมินความน่ากลัวของเงินเฟ้อต่ำจนเกินไป เผื่อเหลือดีกว่าเผื่อขาด เพราะเงินเฟ้อน่ากลัวนะคะ
  7. ไม่ให้ความสำคัญกับการเก็บเงินเพื่อวัยเกษียณ เวลาผ่านไปเร็วมากๆ เลยนะคะ แล้วเราก็ไม่รู้อนาคตว่าจะมีแรงหาเงินทำงานได้อีกนานแค่ไหน เมื่อถึงวัยเกษียณแต่ไม่ได้เตรียมการ ชีวิตลำบากตอนแก่แน่ค่ะ เพราะเมื่อถึงเวลานั้น กว่าจะหาเงินมาได้ก็ลำบากกว่าหนุ่มสาวแน่นอน ดังนั้นควรเริ่มคิดเรื่องการออมเงินเพื่อเกษียณตั้งแต่เนิ่นๆ ไว้จะดีที่สุดค่ะ อ่าน เคล็ด (ไม่) ลับ ออมเงินอย่างง่ายไว้ใช้วัยเกษียณ เพิ่มเติมที่นี่เลย (https://www.ncb.co.th/fin-knowledge/saving-money)

รู้ทันข้อผิดพลาดทางการเงินในแต่ละช่วงวัย ชีวิตปลอดภัยแน่นอน
ที่กล่าวมาข้างต้นเป็นข้อผิดพลาดทางการเงินโดยทั่วไปที่ทุกคนควรระวังกัน แต่อย่างที่เกริ่นไปแล้วค่ะว่าแต่ละช่วงวัยก็มีข้อผิดพลาดทางการเงินที่ต้องตระหนักมากๆ แตกต่างกัน เรามาดูกันค่ะว่าแต่ละช่วงวัยควรรู้เท่าทันข้อผิดพลาดทางการเงินอย่างไรบ้าง

ช่วงวัยเริ่มต้นของชีวิตการทำงาน 20-29 ปี
เนื่องจากเป็นวัยที่เพิ่งออกมาหาประสบการณ์นอกรั้วมหาวิทยาลัย ส่วนใหญ่จึงเลือกที่จะใช้ชีวิตในแบบที่ตัวเองต้องการ โดยคิดว่า เรื่องของการใช้จ่าย และวางแผนไกลไปจนถึงตอนเกษียณ เป็นเรื่องที่สามารถรอไปก่อนได้ วัยนี้จึงเป็นวัยที่เพลิดเพลินกับการตอบสนองไลฟ์สไตล์ ใช้เงินเพื่อให้ได้มาซึ่งสิ่งที่ปรารถนา หลายคนในวัยนี้จึงประสบกับปัญหาทางการเงินมากมาย เช่น เงินเดือนไม่พอใช้ เป็นหนี้บัตรเครดิต ฯลฯ เรามาดูกันว่าคนช่วงวัยนี้มีปัญหาทางการเงินอะไรบ้างค่ะ

  • ไม่มีเงินเก็บออมเผื่อฉุกเฉิน คนช่วงวัยนี้จำนวนมากไม่ได้มองว่าการมีเงินเก็บเป็นเรื่องสำคัญ เพราะว่าเพิ่งจบมาทำงานมาได้ไม่นาน ก็มักจะหลงระเริงและสนุกกับการใช้ชีวิตไปกับเงินที่เราเพิ่งได้มาใหม่ หรือนอกจากนี้ บางคนก็โชคร้ายได้งานที่ไม่ค่อยดีนัก เงินเดือนก็ยังไม่ค่อยดี ยังต้องมีเรียนรู้ทักษะอื่นๆ เพื่อเพิ่มมูลค่าตัวเอง เช่น เรียนภาษา เรียนวิชาชีพ ทำให้ไม่ค่อยมีเงินเก็บ ดังนั้น ถ้าหากมีการเตรียมตัววางแผนการเงินให้พร้อมและหาทางเก็บเงินในส่วนนี้ได้ชีวิตก็ดูปลอดภัยขึ้นนะคะ
  • ไม่มีการวางแผนการเงิน จัดทำบัญชี ถ้าอยากวางแผนการเงิน สิ่งแรกที่ต้องทำก็คือการจัดทำงบประมาณ เพื่อจะได้รู้ว่าเรามีรายรับรายจ่ายอย่างไรเท่าไหร่ ถ้าหากเรามีวินัยทางการเงิน มีการวางแผนการเงินแล้วจัดทำงบประมาณที่ดี เราก็จะสามารถมีเงินเก็บเพิ่มเติมได้ค่ะ
  • ใช้จ่ายเกินตัว คนช่วงวัยนี้มักสนุกกับการใช้เงินเพราะเห็นใครๆ ก็ใช้กัน ทั้งการไปเที่ยวหรือการซื้อรถใหม่ เกิดการใช้จ่ายเงินเกินตัว เราก็จะเป็นหนี้ตั้งแต่ยังเด็ก ซึ่งไม่ดีแน่นอน เพราะฉะนั้น ก่อนจะซื้อของอะไรต้องวางแผนทางการเงินให้ดี ซื้อแค่พอตัว และพยายามจ่ายหนี้บัตรเครดิตให้หมดโดยเร็วที่สุดนะคะ

ช่วงวัยทำงานเริ่มสร้างครอบครัว 30-39 ปี
ในช่วงวัยนี้รายได้เริ่มมั่นคงมากขึ้น หลายคนเริ่มสร้างครอบครัว ส่วนคนที่ไม่ได้แต่งงานก็เริ่มมองเรื่องของความมั่นคงในอนาคตมากขึ้น อย่างไรก็ตามแม้ว่าช่วงวัยนี้จะสามารถหารายได้มากขึ้น แต่ก็มีรายจ่ายเพิ่มขึ้นตามมาเช่นกัน หลายคนซื้อบ้านก็ต้องมีภาระผ่อนบ้าน บางคนก็ต้องดูแลรับภาระทางครอบครัวเนื่องจากคุณพ่อคุณแม่อายุมากขึ้น ดังนั้นการวางแผนการเงินของคนในวัยนี้จะต้องให้ความสำคัญกับความเสี่ยงที่กำลังเผชิญ เช่น ภาระหนี้สินก้อนโต และที่สำคัญคือปัญหาเรื่องสุขภาพและอุบัติเหตุ การวางแผนการเงินจึงควรต้องกระจายความเสี่ยง เพราะมีภาระทางการเงินสูงขึ้น และควรเพิ่มในส่วนของแผนภาษี แผนการออมและการลงทุนเพื่อวัยเกษียณมากขึ้น ปัญหาทางการเงินที่คนในข่วงวัยนี้ประสบก็จะแตกต่างจากคนในวัยเริ่มต้นทำงานไปบ้าง เรามาดูข้อผิดพลาดและปัญหาทางการเงินที่คนช่วงวัยนี้ประสบกันค่ะ

  • ไม่เริ่มทำประกันชีวิต การเริ่มทำประกันชีวิตหรือประกันสุขภาพนั้น ควรทำเสียตั้งแต่ตอนที่เรายังมีสภาพร่างกายแข็งแรงที่สุด เราจึงจะได้เบี้ยประกันที่ดี แม้ในช่วงวัยนี้อาจจะมีภาระค่าใช้จ่ายมากมายทั้งค่าบ้าน ค่าเลี้ยงดูครอบครัว และค่าใช้จ่ายทางการเงินอื่นๆ แต่การซื้อประกันชีวิตก็เป็นการวางแผนการเงินที่ดีเพื่อจะได้คุ้มครองครอบครัวในกรณีที่เหตุไม่คาดฝัน
  • แต่งงานโดยที่ยังไม่ได้คุยกันเรื่องเงิน การพูดคุยกันเรื่องเงินก่อนที่จะแต่งงานเป็นสิ่งจำเป็นมากๆ เนื่องจากคนแต่ละคนก็มีวิธีคิดเกี่ยวกับเรื่องเงินแตกต่างกันไป เพราะฉะนั้น ควรคุยกันให้เคลียร์ถึงวิธีวางแผนทางการเงินที่จะทำร่วมกัน เช่นมุมมองที่มีต่อการใช้จ่ายต่างๆ มุมมองที่มีต่อการเป็นหนี้ การวางแผนเงินเก็บ และเป้าหมายทางการเงินระยะยาวร่วมกัน
  • ซื้อบ้านใหญ่เกินตัว ใครๆ ก็อยากมีบ้านสวยๆ แต่ก็ต้องพิจารณาดูฐานะทางการเงินของตนเอง หากคำนวณแล้วจะทำให้เกิดสภาวะใช้เงินเกินตัว ก็เลี่ยงไปเสีย มิฉะนั้นจะทำให้มีหนี้ก้อนใหญ่ติดตัวไปนานเลยค่ะ

ช่วงวัยที่การงานมั่นคง 40-49 ปี
คนในวัยนี้เริ่มมีการงานที่มั่นคง มีรายได้สูง จึงเริ่มแสวงหาความสุขให้กับตัวเองหลังจากผ่านประสบการณ์ชีวิตมาพอสมควร แต่ลักษณะการหาความสุขของคนช่วงวัยนี้จะต่างกับช่วงวัย 20-29 ปี เพราะจะมองในแง่ของการเติมเต็มชีวิตของตังเองมากกว่าจะสนองความปรารถนาแบบหวือหวา เริ่มมีการสะสมสิ่งที่ตัวเองรัก แต่สิ่งที่คนในช่วงวัยนี้ต้องตระหนักมากๆ คือแผนการเงินหลังเกษียณ อย่าประมาทเด็ดขาดนะคะ อีกไม่นานแล้วค่ะ สำหรับคนช่วงวัยนี้แลดูชีวิตดี แต่ก็มีข้อผิดพลาดและปัญหาทางการเงินเช่นกันนะคะ เรามาดูปัญหาทางการเงินของคนวัยนี้กันค่ะ

  • ไม่สนใจแผนเก็บเงินเกษียณ เมื่อเริ่มเข้าสู่วัยกลางคน ก็จะต้องหันมาสนใจการวางแผนการเงินเตรียมเกษียณอย่างจริงจัง ทั้งแผนเกษียณที่มาพร้อมกับที่ทำงานของเรา หรือแผนเกษียณอื่นๆ
  • ไม่หาหนทางเอาเงินไปลงทุน ในวัยนี้หากศึกษาเรื่องแนวทางการลงทุนย่อมเป็นเรื่องที่ดี เพราะหากทิ้งเงินที่เก็บไว้ในบัญชีออมทรัพย์เฉยๆ รอคอยดอกเบี้ยที่ต่ำแสนต่ำก็เป็นเรื่องที่น่าเสียดาย แต่การลงทุนย่อมมีความเสี่ยง ดังนั้นเราควรศึกษาข้อมูลต่างๆ ให้รอบคอบนะคะ

ช่วงวัยก่อนเกษียณ 50-59 ปี
ถึงช่วงวัยนี้ ทุกคนจะคิดถึงตอนเกษียณอย่างจริงจัง กำลังเตรียมความพร้อมที่จะเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุเลย เริ่มเห็นความสำคัญในการเก็บออมเงินเพื่ออนาคต การรักษาสุขภาพ ฯลฯ ปัญหาทางการเงินในช่วงวัยนี้บางส่วนมาจากปัญหาสะสมจากวัยหนุ่มสาว บางส่วนก็ยังไม่มีความมั่นคงมากพอ เรามาดูกันเลยค่ะว่าข้อผิดพลาดและปัญหาทางการเงินของช่วงวัยนี้เกิดอะไรขึ้นบ้าง

  • ไม่วางแผนเงินเก็บด้านสุขภาพ ในช่วงวัยนี้ค่าใช้จ่ายทางด้านการรักษาพยาบาลและการดูแลสุขภาพก็จะเพิ่มขึ้นและมีความสำคัญมากขึ้น แต่คนส่วนใหญ่ก็ยังไม่รู้ตัวและไม่ได้เตรียมวางแผนการเงินสำหรับเรื่องนี้
  • ยังเก็บเงินเกษียณไม่ถึงไหน ในช่วงวัยโค้งสุดท้ายก่อนเกษียณ ต้องคอยเช็กสถานะทางการเงินของให้ดีค่ะว่าเงินเกษียณตอนนี้มีเท่าไหร่แล้ว และให้ลองคิดคำนวณให้ดีอีกครั้งว่า เงินที่เราจำเป็นต้องใช้ก่อนเกษียณเมื่อเทียบกับแผนเกษียณของเราตอนนี้ มีเพียงพอจริงๆ หรือไม่ และถ้าหากไม่เพียงพอ จะทำอย่างไรต่อไป

ขอบคุณข้อมูลจาก
http://info.thebkkresidence.com/news/index.php/2018/05/18/news_445173/