เศรษฐกิจคิดง่ายๆ (ดิจิทัล) “ประเด็นที่น่าห่วงด้านหนี้ครัวเรือน ถ้าเศรษฐกิจชะลอลง” www.posttoday.com วันที่ 29 เมษายน 2562

เศรษฐกิจคิดง่ายๆ (ดิจิทัล) วันที่ 29 เมษายน 2562

“ประเด็นที่น่าห่วงด้านหนี้ครัวเรือน ถ้าเศรษฐกิจชะลอลง”

โดย คุณสุรพล โอภาสเสถียร ผู้จัดการใหญ่ เครดิตบูโร

คลิกอ่านได้ที่ https://www.posttoday.com/finance/money/587584

 

มีข่าวออกมามากมายว่าเศรษฐกิจไทยมีความเสี่ยงเพิ่มมากขึ้นที่จะชะลอตัวลงโดยเอาตัวเลขการเติบโตของ​ GDP​ ในระดับที่เต็มศักยภาพแถวๆ​ 4% มาเป็นเกณฑ์​ โดยมีสาเหตุหลักๆ ที่มีการกล่าวถึงดังนี้

1.การเติบโตของภาคการส่งออก​ มีการเติบโตติดลบจากเดือนก่อนหน้าต่อเนื่อง​บ้างก็ว่ามาจากสงครามการค้า​ บ้างก็ว่าค่าเงินแข่งไม่ได้​ บ้างก็ว่าเป็นปัญหาโครงสร้างที่สิ่งของที่เราผลิตนั้น​ คนซื้อในโลกต้องการน้อยลง

2.การเติบโตของภาคการท่องเที่ยว​ ไม่ดีเท่าที่ผ่านมาในอดีต​ จำนวนนักท่องเที่ยวหลักจากจีนจำนวนอาจไม่มากเท่าที่เราเคยเห็น​ โดยที่บางจุดเราก็เสียโอกาสจากปัญหาหมอกควันในภาคเหนือช่วงฤดูกาลท่องเที่ยวไปอย่างน่าเสียดาย

3.การเปลี่ยนผ่านจากรัฐบาลปัจจุบันไปสู่รัฐบาลหลังเลือกตั้งเกิดประเด็นปัญหาหลายอย่างที่คาดไม่ถึง​ มีความขัดแย้งมากในหลายจุด​ คะแนนเสียงที่ปริ่มน้ำของกลุ่มฝ่ายที่เกาะเกี่ยวกันที่ไม่ชนะกันเด็ดขาด​ จึงเกิดความสั่นไหวว่านโยบายการลงทุนสำคัญจะไม่ต่อเนื่อง​ ดีที่ว่ารัฐบาลชุดปัจจุบันไม่ใช่รัฐบาลรักษาการแต่เป็นรัฐบาลที่มีอำนาจเต็ม​ และมีมาตรา​ 44 อยู่ในมืออีกด้วย​ กระบวนการจัดทำงบประมาณยังคงเดินหน้าต่อไป​โดยเฉพาะเรื่อง​ EEC ในส่วนปัญหาเกียร์ว่างของระบบราชการก็ถูกขันน๊อตจากทีมเศรษฐกิจ​ และเมื่อเห็นระบบเศรษฐกิจมีแนวโน้มว่าจะมีการชะลอลง ก็มีการจัดมาตรการหยอดเงินในจุดที่จะทำให้เกิดการหมุนการใช้จ่าย

หากแต่จุดของหนี้ครัวเรือนไทยในมุมมองทางวิชาการและจากสิ่งที่เปิดเผยออกมาพอจะสรุปได้ดังนี้

1.สินเชื่อบุคคลและบัตรเครดิตถูกคุมเข้มปลายปี​ 2560  สินเชื่อที่อยู่อาศัยถูกวางกติกาเข้มข้นผ่านการส่งสัญญาณปลายปี ​2561​ พอต้นปี​ 2562​ ก็จัดหนักกับสินเชื่อรถแลกเงิน​ จากนั้นต่อมาก็ส่งสัญญาณว่าจะเข้มข้นเรื่องสินเชื่อรถยนต์ มีการพูดถึงการนำเอาอัตราส่วนหนี้ที่ต้องชำระกับรายได้​ หรือ​ Debt service ratio มาเป็นเกณฑ์ในการพิจารณาสินเชื่อ​ แต่ก็ไม่รู้ว่าจะออกมาแบบไหน

2.ครัวเรือนไทยที่มีการสำรวจโดยธนาคารกลางกับสถาบันจัด​ rating สื่อก็พบว่า​ ครัวเรือนที่มีหนี้แต่ไม่มีปัญหานั้นจะมีภาระที่ต้องชำระหนี้กี่บาทต่อเดือนหรือคิดเป็น​ 23% ของรายได้​ หมายถึงว่า​มีรายได้​ 100 บาท​ ต้องเอาไปชำระหนี้​ 23 บาท​ ขณะที่ครัวเรือนไทยที่มีหนี้แต่มีปัญหานั้นจะมีอัตรส่วนดังกล่าว​ 75% คือมีรายได้​ 100 บาทต่อเดือนต้องเอาไปชำระหนี้​ 75 บาท​เหลือ​ 25 บาทเอาไว้กินใช้​ แล้วมันจะพอเหรอ

3.สถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย​ อึ้งภากรณ์​ ก็มีรายงานออกมาว่าทุกช่วงวัยคนเป็นลูกหนี้ตั้งแต่​ 20-80 ปีอย่างน้อย​ 20% ของมูลหนี้ที่ตนเองมีนั้นต้องเป็นสินเชื่อส่วนบุคคล  หมายความว่าการผ่อนของได้เข้าไปอยู่ในชีวิตของลูกหนี้ทุกช่วงวัย

4.บริษัท ข้อมูลเครดิตแห่งชาติ จำกัด (เครดิตบูโร) ออกมาระบุว่า​ หนี้ปรับโครงสร้างมีการเพิ่มขึ้นตลอดในช่วงหลายปีที่ผ่านได้กระโดดจาก​ 1.5 แสนล้าน​ ตอนนี้เวลานี้มันมาอยู่ที่มากกว่า​ 8.0 แสนล้าน​ ถ้าเกิดมีอะไรมาสะดุดเช่น ดอกเบี้ยฐาน หรือ​ MRR เพิ่มขึ้นมันจะทำให้มีภาระหนี้เพิ่มทันที​ มันจะไหวหรือไม่

สุดท้ายนะครับหนี้ครัวเรือนเราทะลุ​ 12 ล้านล้าน​ ในนั้นสหกรณ์ออมทรัพย์ปล่อยกู้ไป​ 2.0 ล้านล้าน​ พวกบัตรเครดิต​ เช่าซื้อ​ ลีสซิ่ง​ สินเชื่อบุคคลก็เกิน​ 1 ล้านล้าน​ นี่ยังไม่รวมธนาคารพาณิชย์​ และสถาบันการเงินเฉพาะกิจ​ และกองทุนเงินกู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) อีก 3-4 แสนล้าน​ และจากข้อมูลของเครดิตบูโรพบว่าปี ​2561​ มีการยื่นใบสมัครขอสินเชื่อ​ 1.3 ล้านใบต่อเดือน​ ปี 2562​ ไตรมาสแรกโตเป็น​ 1.4 ล้านใบต่อเดือน​ แน่นอนว่าคนที่จะไม่ได้สินเชื่อจะต้องผิดหวังมีจำนวนมากขึ้น

จากตัวเลขและข้อมูลทั้งหมดท่านผู้อ่านรู้สึกเป็นห่วงหรือไม่ ถ้าเกิดเหตุทำให้เศรษฐกิจชะลอลง​ สำหรับผมนะครับไม่ได้แค่เป็นห่วง​ แต่มันเกิดความหนาวในขั้วหัวใจเลยหล่ะครับ​ ประเด็นที่น่าห่วงด้านหนี้ครัวเรือนถ้าเศรษฐกิจชะลอลงก็มีด้วยประการนี้แล