เมื่อคุณคิดจะซื้อของสักชิ้น ย่อมต้องใช้เวลาในการพิจารณาก่อนตัดสินใจ หากของชิ้นนั้นเป็นของจำเป็น ราคาไม่สูง หรือเป็นยี่ห้อที่คุณคุ้นเคย ก็อาจจะหยิบลงตะกร้าได้โดยไม่คิดอะไรมาก แต่หากของชิ้นนั้นราคาแพง แถมไม่ได้จำเป็นกับชีวิตสักเท่าไร คุณคงต้องคิดกลับไปกลับมาหลายตลบ ว่าจะคุ้มค่าไหมถ้าจะจ่ายเพื่อสนอง “ความอยาก” นั้น วันนี้เราจะพาคุณมาชอปปิ้งอย่างมีสติ เซฟสตางค์ ด้วย 5 คำถามง่ายๆ ควบคุมการใช้จ่าย ที่ควรถามตัวเองให้ดีก่อนตัดสินใจควักกระเป๋า
5 คำถามง่ายๆ ควบคุมการใช้จ่าย ก่อนควักกระเป๋าเพื่อช้อปปิ้ง
1. “ถ้าไม่มีป้าย Sale ฉันจะยังอยากได้ไหม?”
ป้าย Sale กับนักชอปเป็นของที่อยู่คู่กันมาช้านาน แต่ก่อนจะจ่าย ลองถามตัวเองดูสักนิดว่าถ้าไม่ใช่เพราะของชิ้นนั้นลดราคา คุณจะยังอยากได้มันไหม เช่น กระเป๋าสะพายที่ติดป้าย Sale จากราคา 1,000 บาท เหลือ 800 บาท ลองตอบตัวเองดูว่าถ้ากระเป๋าใบนั้นขายราคา 800 ตั้งแต่แรก จะนับว่าราคาคุ้มค่าไหม คุณจะยังอยากซื้อรึเปล่า
2. “ถ้าตัดป้ายยี่ห้อออก ฉันจะยังยอมจ่ายราคานี้รึเปล่า?”
หลายครั้งที่เราเผลอซื้อของราคาสูงลิบเกินตัว เพียงเพราะเห็นแก่ชื่อยี่ห้อ ทั้งที่ประโยชน์ใช้สอย ไม่คุ้มค่าคุ้มราคาเลย แต่เราก็ยังปลอบใจตัวเองว่าสมเหตุสมผลเพราะเป็นของแบรนด์เนม พฤติกรรมแบบนี้ค่อนข้างน่าห่วง สุ่มเสี่ยงสภาพการเงินในระยะยาวอย่างยิ่ง ก่อนซื้อลองหยุดถามตัวเองก่อน ว่าคุณอยากได้ของชิ้นนั้นจริง ๆ หรือแค่อยากได้โลโก้ของมันมาประดับตัวกันแน่
3. “ฉันจะได้ใช้มันจริง ๆ รึเปล่า?”
บางครั้งเราซื้อของไม่จำเป็นมากองไว้ที่บ้าน โดยคิดเอาเองว่า “ซื้อ ๆ ไปก่อน เดี๋ยวก็ได้ใช้” แล้วก็ลงเอยโดยการที่ของชิ้นนั้นนอนตายอยู่มุมตู้โดยแทบไม่ได้แตะเลย เงินก็เท่ากับละลายน้ำไปเปล่า ฉะนั้นก่อนซื้อ ตอบตัวเองให้ดีก่อนว่าคุณจะมีโอกาสได้ใช้มันมากแค่ไหน จะเอาไปใช้ในโอกาสอะไรได้บ้าง แล้วนอกจากคุณคนอื่นจะใช้มันได้รึเปล่า
4. “ราคานี้คิดเป็นกี่เปอร์เซ็นต์ของรายได้ของฉันกันนะ?”
ถ้าคุณซื้อของเพียงเพราะความอยาก โดยลืมคิดไปว่ามันเหมาะสมกับรายได้ของตัวเองแค่ไหน พอถึงปลายเดือนก็อาจต้องเสียใจทีหลัง เพื่อป้องกันสภาวะถังแตก คุณควรคำนวณก่อนคร่าว ๆ ก่อนตัดสินใจซื้อ ว่าราคาของสิ่งนั้นคิดเป็นกี่เปอร์เซ็นต์ของเงินเดือนหรือรายได้ของคุณ เช่น ถ้าคุณมีรายได้เดือนละ 20,000 บาท คิดจะซื้อครีมทาผิวราคา 5,000 บาท คิดดูแล้วก็เท่ากับ 25% ของรายได้ หรือเท่ากับค่าแรง 1 สัปดาห์เต็ม ๆ รู้แบบนี้แล้วยังจะอยากได้อยู่รึเปล่า
5. “ถ้าฉันไม่ซื้อ เงินจำนวนนี้จะเอาไปใช้จ่ายสิ่งจำเป็นได้มากแค่ไหน?”
ก่อนควักเงินซื้อของฟุ่มเฟือย ลองหันกลับมาดูของที่จำเป็นกับชีวิตของคุณก่อน ว่าหากคุณเก็บเงินจำนวนนั้นเอาไว้ จะเอาไปจ่ายซื้อของจำเป็นได้มากน้อยแค่ไหน เช่นถ้าคุณคิดจะซื้อกางเกงยีนส์ตัวละ 3,000 บาท ลองคำนวณดูว่าเงิน 3,000 บาท หากนำไปจ่ายค่าบริการโทรศัพท์เดือนละ 299 บาท ก็สามารถจ่ายได้ถึง 10 เดือน จะว่าไปแล้วก็ไม่ใช่เงินน้อย ๆ เลย แล้วแบบนี้จะยังอยากซื้ออยู่ไหม
เพียงท่อง 5 ข้อนี้ไว้ในใจ แล้วหาคำตอบให้ตัวเองให้ได้ก่อนจะจ่ายเงิน คุณก็สามารถเป็นนักชอปรุ่นใหม่ที่ใช้จ่ายอย่างชาญฉลาดได้ รู้ทันตัวเองไว้ ไม่ตกหลุมพรางนักการตลาดอย่างแน่นอน