เศรษฐกิจคิดง่ายๆ (ดิจิทัล) : ถอดชีวิตจริงจากเพลง “แจ๊ส ชวนชื่น-แอ๊ด คาราบาว” : วันจันทร์ที่ 5 เมษายน2564

ถอดชีวิตจริงจากเพลง “แจ๊ส ชวนชื่น-แอ๊ด คาราบาว”

เมื่อปรากฏข้อมูลในช่วงต้นเดือนเมษายน 2564 ว่าหนี้ครัวเรือนไทยสิ้นปี 2563 ได้ก้าวไปถึง​ 14 ล้าน​ล้าน​บาท​ ซึ่งคิดเป็น​ 89.3% ของ​ผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศ (Gross Domestic Product หรือ GDP) ตามข่าวระบุว่า​มันคือหนี้ครัวเรือนที่สูงสุดในรอบ​ 18 ปี​ จำนวนหนี้ที่เพิ่มในปี​ 2563​ คิดเป็นจำนวนประมาณ​ 5.3 แสนล้านบาทนั้น​ ประมาณว่าครึ่งหนึ่งนั้นเป็นหนี้เพื่อการซื้อสิ่งปลูกสร้าง อสังหาริมทรัพย์​ และถ้าเราตามไปดูข้อเท็จจริงจะพบว่าในปี​ 2563​ ที่เราเผชิญกับสถานการณ์​การแพร่ระบาดโควิด-19 นั้น​ มาตรการการให้สินเชื่อจะเข้มข้น​มาก​ คนที่จะได้สินเชื่อต้องมีรายได้มากพอ หนี้ไม่มาก ความสามารถ​ในการชำระหนี้ดี ดูได้จากอัตราส่วน​ ยอดหนี้ (เงินต้นบวกดอกเบี้ย)​ ที่ถึงกำหนดชำระหารด้วยรายได้ที่ได้รับหรือ​อัตราส่วนหนี้สินต่อรายได้ (Debt Service Ratio หรือ DSR) มี​ % ที่ต่ำ เช่น​ อยู่ที่ระดับ​ 20-30% เป็นต้น​ กล่าวคือ​ มีรายได้ต่อเดือน​ 100 บาทได้นำมาชำระหนี้ทุกบัญชีเพียง​ 20-30 บาท​ เงินที่เหลือก็นำไปดำรงชีพและเก็บออม​ ข่าวร้ายที่มาจากสถาบันวิจัยค่ายธนาคารสีเขียวพบว่าจากการสำรวจ​อัตราส่วน DSR ดังกล่าวโดยเฉลี่ยคือ​เกิน​ 40% ทั้งกลุ่มที่ค้าขายรายย่อย กลุ่มที่มีรายได้ประจำแต่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดโควิด-19 ในภาษาของคนที่ให้สินเชื่อเราเรียกว่า​ หนี้จะชนคอหอย เติมหนี้เพิ่มอีกไม่ได้​แล้ว​ ลองคิดดูนะครับ​ รายได้​ 20,000​ บาทต่อเดือน​ จ่ายหนี้​ทุกสิ่งอย่าง​ 8,000 บาทต่อเดือน​เหลือเงิน​ 12,000 บาทต่อเดือน คิดเป็น​ 400 บาทต่อวัน​ ท่านผู้อ่านคิดว่าไหวหรือไม่​ ควรจะก่อหนี้เพิ่มได้อีกไหม​ อนาคตถ้าจะลดหนี้ได้เร็วหรือที่เราเรียกว่า​ Deleverage ได้นั้น รายได้ต้องเพิ่มแล้วมองไปในอนาคตในสองปีนี้ ท่านผู้อ่านคิดว่าเราจะมีรายได้เพิ่มได้หรือไม่ มันจะมาจากทางไหน เงินที่หลวงท่านหยอดให้ตามโครงการมันจะมีตลอดอีกสองปีหรือ ถ้าไม่ปรับตัวจะได้ไหม จะหวังพึ่ง​ ม้า​ มวย​ หวย​ บอลหรือกู้แอปพลิเคชันออนไลน์​มาเติมจะรอดหรือไม่… ท่านผู้อ่านลองคิดแทนท่านที่กำลังแหวกว่ายในทะเลหนี้เวลานี้ครับ​ 
มีคนส่งเพลงหนึ่งมาให้ผู้เขียน​ เป็นเพลงของศิลปินที่เรารู้จักดีคือ​ แอ๊ด คาราบาว ร้องคู่กับ แจ๊ส ชวนชื่น​ ผู้เขียนลองเอาเนื้อเพลงมาแสดงให้เห็นว่าเวลานี้ผู้คนที่มีรายได้น้อย ปานกลางค่อนข้างน้อย คนที่มีหนี้มาก​ อะไรคือกำลังใจ​ ท่านผู้อ่านลองหามาฟัง​ และคิดตามนะครับ​ เพราะสังคมเรากำลังได้รับผลกระทบจากผลการแพร่ระบาดโควิด-19 นี้มาก​ มันกดทับกำลังกาย กำลังใจขนาดไหน​ อย่างน้อยหากเราเป็นคนที่ไม่ได้รับผลกระทบมากจะได้คิดขึ้นมาได้ว่า​ หน้าที่ตรงหน้าของเราในการแก้ไขปัญหาให้คนอื่น ๆ จะได้เร่งมือ​ เร่งทำ​ ไม่ใช่อะไรก็อยู่ระหว่างการศึกษาพร้อมจิบกาแฟรับลมเย็นริมน้ำเจ้าพระยา​ เนื้อเพลงนั้นมีอยู่ว่า…
ไม่ใช่ลูกเศรษฐี ชีวิตฉันต้องดิ้นรน
เดินบนถนน อิจฉาคนร่ำรวย
เพชรนิลจินดา ซุปเปอร์คาร์โคตรสวย
ไอฉันโคตรซวย เสือกเกิดมาจน
บ้านคนอื่นใหญ่โตมโหฬาร
บ้านฉันแคมป์คนงานสร้างจากสังกะสี
คนรวยกระซิบกัน กังวาลทั้งปฐพี
คนจนตะโกนทั้งที ใยไม่มีใครฟัง
ลองจับหัวใจ นั่นไงยังไม่หยุดเต้น
มันยังเต้นตุ๊บตั๊บ นี่แหละความหวัง
บางที่เบื้องบนอยากลองของเราบ้าง
ก็ช่างหัวมัน กัดฟันก้าวต่อไป
เจ็บหรือจนอย่าบ่นเบื่อย่อท้อ
ถึงน้ำตาคลอ บอกไปเลยยังไหว
ลุยพร้อมชน ไม่ต้องสนหน้าไหน
เพราะใจกูยังได้อยู่
ต้นทุนต่ำใครว่าดีไม่ได้
แม้ปีนป่ายจนตะวันทอแสง
คนรวยไม่เข้าใจหรอกมาม่ายังแพง
ร่างกายหมดแรง ใจตะแบงว่าได้อยู่
แม้ขัดสนไม่เคยโทษพ่อแม่
แม้ย่ำแย่ไม่เคยโทษฟ้าดิน
ถึงเราเป็นไก่ทะยานใช่นกบิน
พูดโผผินทั้งที่กูบินไม่ได้
ลองจับหัวใจ นั่นไงยังไม่หยุดเต้น
มันยังเต้นตุ๊บตั๊บ นี่แหละความหวัง
บางที่เบื้องบนอยากลองของเราบ้าง
ก็ช่างหัวมัน กัดฟันก้าวต่อไป
เจ็บหรือจนอย่าบ่นเบื่อย่อท้อ
ถึงน้ำตาคลอ บอกไปเลยยังไหว
ลุยพร้อมชน ไม่ต้องสนหน้าไหน
เพราะใจกูยังได้อยู่
ลองจับหัวใจ นั่นไงยังไม่หยุดเต้น
มันยังเต้นตุ๊บตั๊บ นี่แหละความหวัง
บางที่เบื้องบนอยากลองของเราบ้าง
ก็ช่างหัวมัน กัดฟันก้าวต่อไป
เจ็บหรือจนอย่าบ่นเบื่อย่อท้อ
ถึงน้ำตาคลอ บอกไปเลยยังไหว
ลุยพร้อมชน ไม่ต้องสนหน้าไหน
เพราะใจกูยังได้อยู่
ขอบคุณทุกท่านที่ติดตามอ่านนะครับ