8 นิสัยเริ่มต้นออมเงิน ฉบับวัยรุ่นอยากสร้างตัว

พื้นฐานการเงินเป็นเรื่องที่ควรให้ความสำคัญตั้งแต่ยังเป็นเด็กเพื่อปลูกฝังจนกลายเป็นลักษณะนิสัยและเป็นวินัยที่ดีที่ทำเป็นประจำอย่างสม่ำเสมอ เพราะการรู้เร็วก็จะช่วยให้เราสามารถสร้างความมั่นคงในอนาคตของตนเองได้ก่อนใคร

เมื่อเป็นเช่นนั้นแล้ว สำหรับเด็ก ๆ วัยเรียนมาเริ่มต้นปรับเปลี่ยนนิสัยเพื่อให้ออมเงินไปถึงเป้าหมายตามที่ต้องการกัน

 

  1. ฝึกให้มีเป้าหมายการเงินที่ชัดเจน

เป้าหมายการเงินที่แน่วแน่ชัดเจน จะช่วยให้เราสามารถเซ็ตชีวิตได้ว่าการออมเงินในแต่ละครั้งเรามีวัตถุประสงค์หรือทำไปเพื่ออะไร เช่น ออมเงินเพื่อศึกษาต่อต่างประเทศ ออมเงินเพื่อซื้อรถยนต์ เป็นต้น เมื่อเรามีเป้าหมายที่ชัดเจนจะทำให้เราเข้าใจเหตุผลในการออมเงินและมีแพชชันกับสิ่งเหล่านี้มากขึ้น

 

  1. สร้างวินัยการออมเงินอย่างสม่ำเสมอ

การมีวินัยเป็นเรื่องที่สำคัญมากในเรื่องของการออมเงิน ดังนั้นในช่วงวัยเรียนแม้จะไม่มีรายได้จากการทำงานก็สามารถเริ่มต้นเก็บออมเงินจากค่าขนมที่พ่อแม่ให้ในบัญชีเงินออมทุกเดือน และจะต้องไม่นำเอาออกมาใช้โดยไม่จำเป็น

 

  1. หาเกมออมเงินให้สนุกและไม่น่าเบื่อ

การตั้งเป้าว่าต้องออมเงินในทุกวัน ทุกเดือนคงจะเป็นเรื่องที่น่าเบื่อ แต่หากเราพยายามมีเกม หรือกิจกรรมที่เชื่อมโยงกับการออมเงินให้สนุกมากขึ้น เช่น เกมเศรษฐี เกมบันไดงู ตารางออมเงินประจำปี เป็นต้น เข้ามาช่วยก็จะทำให้การออมเงินเรามีความหลากหลาย ไม่น่าเบื่อได้

 

  1. ฝึกเขียนบันทึกรายรับ-รายจ่ายให้เป็น

วิธีฝึกนิสัยทางการเงินที่ดีอีกข้อนึงคือ เราต้องรู้ว่าเงินที่เรามี หรือรายรับของเราหมดไปกับค่าใช้จ่ายอะไร และการเขียนบันทึกรายรับ-รายจ่ายจะทำให้เราเห็นภาพรวมการเงินทั้งหมดของเรา และนั่นจะช่วยให้เราคำนวณได้ว่ารายจ่ายที่ไม่จำเป็นในส่วนไหนที่สามารถนำมาเป็นเงินออมได้

 

  1. ศึกษาการลงทุนในรูปแบบต่าง ๆ

เรื่องของการลงทุนหากเริ่มศึกษาตั้งแต่เนิ่น ๆ จะยิ่งได้เปรียบ เพื่อที่เราจะได้รู้รูปแบบการลงทุนที่เหมาะสมกับตัวเราในแต่ละช่วงวัย ซึ่งในปัจจุบันมีการลงทุนหลากหลายรูปแบบ เช่น  สลากออมสิน กองทุนรวม หุ้น ประกันสะสมทรัพย์ เป็นต้น เมื่อรู้ข้อมูลการลงทุนแต่ละแบบก็จะทำให้เราเข้าใจวิธีการทำงานที่ทำให้เงินงอกเงย และให้เราตัดสินใจเกี่ยวกับการลงทุนได้ง่ายขึ้น

 

  1. มีบัญชีเงินฝากประจำของตนเอง

การออมเงินให้ได้ผลควรมีบัญชีเงินฝากประจำสำหรับการเก็บออมเงินไว้โดยเฉพาะ ซึ่งจะเป็นเครื่องมือที่จะช่วยรักษาวินัยทางการเงินของเราได้เป็นอย่างดี และเช็กจำนวนเงินออมสะสมของเราได้ง่ายขึ้นด้วย

 

  1. ซื้อของใช้เท่าที่จำเป็น

ระมัดระวังในเรื่องของค่าใช้จ่ายไม่ว่าจะเป็นสิ่งของที่มีราคาสูงเกินความจำเป็น หรือสิ่งของที่ไม่จำเป็นต่อในชีวิตประจำวัน

 

  1. รู้จักการใช้สิทธิประโยชน์สำหรับนักเรียน/นักศึกษา

ในข่วงวัยเรียน นักเรียน/นักศึกษา จะมีสิทธิประโยชน์พิเศษมากมาย เช่น ส่วนลดสำหรับนักศึกษา หรือโปรโมชันพิเศษในการใช้บัตรนักศึกษา ในการซื้อสินค้า หรือทำกิจกรรมต่าง ๆ เป็นต้น ซึ่งในส่วนนี้จะช่วยประหยัดเงินในรายจ่ายต่าง ๆ ขึ้นไปได้อีก

 

ทั้ง 8 ข้อนี้ ถือเป็นพื้นฐานการเงินที่สามารถเริ่มต้นได้ง่าย ๆ จนติดกลายเป็นนิสัยของตัวเราและช่วยสร้างความแข็งแกร่งทางการเงินตั้งแต่วัยเด็กเพื่อให้สามารถรับมือกับสถานการณ์การเงินได้อย่างไม่มีปัญหา