“ปลอดอะไรไม่สุขใจเท่าปลอดหนี้”
แน่นอนว่าเรื่องเงิน ๆ ทอง ๆ ไม่เข้าใครออกใคร มีมากใช้มาก มีน้อยใช้น้อย แต่ถ้าไม่มีแล้วยังใจดีให้คนนั้น คนนี้หยิบยืมจนตัวเราเองเดือดร้อนเรื่องเงินแบบนี้คงไม่ดีแน่ เพราะบางทีก็คงไม่ใช่การยืมแล้วคืนเรื่องก็จบ แต่ถ้าคนที่มาขอยืมเงิน มาขอให้เรากู้ยืมเงินต่อ ๆ กันมา หรือขอให้ช่วยค้ำประกันเงินกู้ คนที่จะแย่ไม่ใช่ใครนอกจากตัวเราเอง
ถ้าไม่อยากให้ตัวเราต้องมาเสียใจในภายหลัง มาดู 4 สิ่งที่ควรระวังในเรื่องของหนี้ที่อาจจะกลายเป็นจุดเริ่มต้นในการเป็นหนี้แทนคนอื่นไปแบบไม่รู้ตัว
– กู้เงินให้คนอื่นยืมต่ออีกที
วันหนึ่งมีคนใกล้ตัวที่สนิทชิดเชื้อมารบเร้าขอยืมเงิน ซึ่งตัวเราตอนนั้นก็ไม่มีเช่นกัน แต่ด้วยความสนิท และความสงสารจึงกดเงินจากบัตรกดเงินสด หรือบัตรเครดิตที่มีให้คนสนิทยืมไป เพราะคิดว่ายังไงคงคืนแน่ ๆ แต่เมื่อถึงเวลาที่ใบแจ้งหนี้มา คนสนิทกลับหายไป ติดต่อไม่ได้ หรืออ้างว่ายังไม่มีเงินมาจ่าย จนสุดท้ายเป็นตัวเราที่เดือดร้อนซะเอง
– กู้เงินแทนคนอื่น
จุดพลาดสำคัญที่หลายคนลืมนึกถึงคือ มีคนมาขอยืมเงิน และเราก็ช่วยคนอื่นโดยการกู้เงิน โดยชื่อของผู้กู้คือชื่อเราเอง เพราะคนที่เราช่วยกู้ คุณสมบัติไม่ผ่านเกณฑ์ ขอสินเชื่อไม่ได้ หรือเหตุผลอื่นใดก็ตาม โดยลืมนึกไปว่าถ้าในอนาคตคนที่เราช่วยกู้นั้นมีปัญหาการเงิน ส่งเงินให้เราไม่ไหว และสุดท้ายก็หายตัวไป แล้วทิ้งหนี้ก้อนนี้ไว้ให้เราใช้แทน โดยที่เขาได้ของไปใช้แบบฟรี ๆ แม้ว่าชื่อผู้กู้จะเป็นชื่อเราก็ตาม
– ค้ำประกันให้คนอื่นโดยไม่ทันระวัง
สิ่งที่เป็นปัญหาอีกเรื่องคือ การเซ็นค้ำประกันให้ผู้อื่นโดยที่ไม่ทันได้อ่านรายละเอียด หรือไม่ได้เอะใจอะไรว่าสัญญานั้นเกี่ยวกับอะไร ซึ่งหากวันดีคืนดีเกิดมีญาติพี่น้องที่ยืมเงินเรา และให้เราเซ็นค้ำประกันให้เกิดมีปัญหาเรื่องการเงิน ไม่สามารถผ่อน หรือใช้หนี้ต่อไปได้ สุดท้ายคนที่จะต้องจ่ายหนี้แทนก็จะเป็นตัวเราทั้งหมด
– ลืมสำรวจสถานะการเงินตนเอง
หากเราเป็นคนที่มีภาระค่าใช้จ่ายมากอยู่แล้ว ไม่ว่าจะค่าบ้าน ค่ารถ ค่าบัตรเครดิต ค่ากิน ค่ารักษาพยาบาล และอีกมากมายสารพัด แต่พอมีคนมีขอยืมเงิน ก็ดันเผลอช่วยไปทุกทีจนลืมไปว่ามีภาระค่าใช้จ่ายต่าง ๆ แบกรับไว้อยู่ และพอถึงเวลากลับไม่คืน เมื่อเป็นแบบนั้นก็กลายเป็นว่าเราจะมีภาระหนี้เพิ่มขึ้นอีกเท่าตัว ทั้งจากของเดิม และจากการกู้หนี้ยืมสินเพื่อมาใช้ของเดิม
ดังนั้นเพื่อไม่ให้เกิดเหตุการณ์แบบนี้ขึ้น ลองมาเช็กลิสต์กันดูว่าก่อนให้คนอื่นยืมเงิน จะต้องคำนึงถึงเรื่องอะไรกันบ้าง
– ถามวัตถุประสงค์แบบตรง ๆ ว่ายืมเงินไปเพื่ออะไร เพื่อช่วยในการตัดสินใจว่าจะให้ยืมหรือไม่
– ประเมินสถานะการเงินของตนเองว่าพร้อมให้ยืมเงินไหม เช็กว่าเดือดร้อนเรื่องเงินหรือเปล่า มีความจำเป็นต้องใช้เงินในช่วงระยะเวลาอันใกล้หรือไม่ แล้วถ้าให้ยืมเงิน หากเราเกิดเหตุฉุกเฉินจะมีเงินพอใช้หรือเปล่า
– เรื่องความสัมพันธ์มาก่อนเรื่องการยืมเงิน หมายถึงว่าคนนั้นจะสนิทกับเรามากแค่ไหนก็ตาม แต่อย่าใจร้อนให้หยิบยืมเงินทันทีโดยเด็ดขาด เพราะหากวันหนึ่งเขาหนีหายไป ไม่สามารถติดต่อได้ อาจทำให้เกิดความบาดหมาง มองหน้ากันไม่ติดได้ในอนาคต
– มีสิ่งของมาเป็นหลักประกันในการกู้ เพื่อช่วยลดความเสี่ยง และเป็นการป้องกันได้ว่าหากเขาไม่คืนเงินเรา เราก็ยังมีของที่เป็นหลักประกันอยู่ แต่จะต้องเป็นสิ่งของที่มีค่าด้วยเช่นกัน
การช่วยเหลือผู้อื่นเป็นสิ่งที่ดี แต่ในการช่วยแต่ละทีจะต้องไม่ทำให้เราเดือดร้อนด้วยเช่นกัน ถ้าประเมินแล้วเห็นว่าเราไม่มีกำลังทรัพย์ที่เพียงพอที่จะช่วยเหลือ ควรที่จะบอกอีกฝ่ายตรง ๆ ไม่ใช่หยิบยืมเงินผู้อื่นมาช่วยเหลืออีกที่ เพราะจะทำให้เราไม่สามารถหลุดออกจากวงจรหนี้ไปได้ค่ะ
ขอบคุณข้อมูลจาก
https://www.1213.or.th/th/Pages/finresilience/beforeyouhelpothers.aspx