ข่าวเครดิตบูโร 003/2567 : รายงานสินเชื่อบ้านไตรมาสที่​ 1/2567 จากข้อมู​ลสถิติของเครดิตบูโร

ข่าวเครดิตบูโร 003/2567

รายงานสินเชื่อบ้านไตรมาสที่​ 1/2567 จากข้อมู​ลสถิติของเครดิตบูโร

15 พฤษภาคม 2567 :  นายสุรพล โอภาสเสถียร ผู้จัดการใหญ่ บริษัท ข้อมูลเครดิตแห่งชาติ จำกัด (เครดิตบูโร) เปิดเผยว่า รายงานสินเชื่อบ้าน จากข้อมู​ลสถิติของเครดิตบูโร ในไตรมาสที่​ 1/2567  ข้อมู​ลที่สมาชิก​สถาบันการเงิน​ส่งเข้ามาในระบบของเครดิตบูโร ดังนี้​

ภาพรวมในการยื่นขอสินเชื่อบ้านจะพบว่ามีการถูกปฎิเสธสูงมาก​ เรียกได้ว่า​ 100 ใบ สมัครผ่านการพิจารณา​เบื้องต้น​ 50 ใบ​  เหตุเพราะมีการตรวจประเมินรายได้เข้มข้น​ เพื่อให้แน่ใจว่าผู้ขอกู้มีศักยภาพ คือ ต้องมีรายได้แน่นอน​ มั่นคง​ เพียงพอ​ สม่ำเสมอ​ เพื่อให้เป็นไปตามเกณฑ์​ว่าลูกหนี้จะต้องมีความสามารถ​ในการชำระหนี้ตามตารางการชำระหนี้ได้ตลอด ​ ลำดับถัดไปคือ ตรวจเครดิตบูโร​ว่ามีภาระหนี้มากแค่ไหน​ มีประวัติการค้างชำระหรือไม่​ เพื่อประเมินความตั้งใจในการชำระหนี้​

บัญชีที่เปิดใหม่ของสินเชื่อบ้านในแต่ละปีจำนวนเท่าไหร่​ และคนวัยไหนเป็นผู้ได้สินเชื่อ​  จากข้อมูลพบว่าส่วนใหญ่คือ​ Gen Y​  สัดส่วนสูงขึ้นทุก ๆ ปี​ ที่สำคัญคือ​ วงเงินสินเชื่อบ้านระดับที่ไม่เกิน​ 3 ล้านบาท​

เมื่อเราดูตารางการเปิดบัญชี​ใหม่ของสินเชื่อบ้านในแต่ละปีก็จะพบว่า​ปี​ 2018​ หรือ​ ปี 2561 มีจำนวนเกินกว่า​ 4.3 แสนบัญชี​ ปีก่อนสถานการณ์โควิดอยู่ที่ระดับ​ 3.7​ แสนบัญชี​  ปีที่แล้วอยู่ที่​ 3.3 แสนบัญชี​  ในไตรมาสแรกของปี 2567 ได้เพียง 5.9 หมื่นบัญชี​ พบว่าน้อยลงตามลำดับ ​ ส่งผลให้ผู้ประกอบการขายได้ยาก​ กู้ไม่ผ่าน​ ปริมาณเหลือมาก​ อยากให้ลดเงื่อนไข เช่น​ LTV​ หลังที่สองหลังที่สาม​ เป็นต้น

สถานการณ์​ในภาพรวมของสินเชื่อบ้าน​ เส้นสีดำที่พุ่งขึ้น คือหนี้บ้านที่เคยเป็น​ NPLs แล้วมีการนำมาปรับโครงสร้างหนี้ที่มีปัญหา (หนี้ทำ​ TDR)​ ภาพมันบอกว่าปรับกันมาก​ เส้นสีแดงคือหนี้เสีย​ ไตรมาสนี้มีการยกตัวขึ้นมาอยู่ที่​  2.0 แสนล้านบาทเติบโต​ 18%YoY (Year on Year) สัดส่วนในหนี้เสียรวม (1.09 ล้านล้านบาท) ประมาณ​ 20% ​ เส้นสีเหลืองคือหนี้บ้านที่เริ่มค้างชำระแต่ยังไม่เลย​ 90 วัน​ เรียกหนี้ตรงนี้ว่าหนี้กำลังจะเสียหรือ​ (Special Mention Loan: SM)  มันมาหยุดที่​ 1.8 แสนล้านบาทเติบโต​ 15% YoY ดีขึ้นกว่า​ Q4/2566 ที่เติบโต​ 31% YoY ที่สำคัญคือ​ 1.2 แสนล้านบาทอยู่ในความดูแลขอแบงก์​ภาครัฐ​ การปรับโครงสร้างหนี้จะมีความยืดหยุ่น​ ผ่อนปรน​ ไม่ขึงตึงเท่าทางฝั่งเอกชน ​ สามารถจะดูเป็นยอดเงิน จำนวนบัญชี หรือเป็น​เปอร์เซ็นต์ได้ตามเหมาะสม

จากภาพแสดงกราฟแท่งสีแดง คือหนี้ที่ค้างเกิน​ 90 วันหรือหนี้เสียของสินเชื่อบ้าน​ แท่งสีเหลืองคือหนี้กำลังจะเสียหรือ​ SM สินเชื่อบ้าน​ กราฟแทงด้านซ้ายคือจำนวนบัญชีแยกตามช่วงวัยของ​ Generation ในแต่ละไตรมาส​ เช่น ไตรมาส​ 1 ปี​ 2567​ Gen Y ถือสัญญาสินเชื่อบ้านที่เป็น​ NPL เท่ากับ​ 83,281 สัญญา​ คิดเป็นเงิน​ 1.24 แสนล้านบาท​ ในกรณีของ​ SM​ บ้านที่อยู่ในมือคน​ Gen Y​ ช่วงเวลาเดียวกันนี้​มีจำนวน​ 76,276 สัญญา​ คิดเป็นเงิน​ 1.18 แสนล้านบาท​ คน​ Gen Y​ เป็นหนี้เสียบ้านกว่า​ 50% ของหนี้เสียบ้านทั้งหมด​(1.24/2.0แสนล้านบาท) และก็กว่า​ 50% อีกเหมือนกันที่คน​ Gen Y​ เป็นหนี้กำลังจะเสียส่วนใหญ่ (1.18/1.8แสนล้านบาท)