สัมภาษณ์พิเศษ :
โลกเปลี่ยน ‘เครดิตบูโร’ ปรับ สแกนพฤติกรรมดิจิทัลแบงกิ้ง
นสพ.ประชาชาติธุรกิจ ฉบับวันที่ 28-31 ธันวาคม 2560
เมื่อ “เทคโนโลยี” ใหม่ ๆ เข้ามามี บทบาท ไม่เพียงแต่ภาคธนาคาร หรือธุรกิจเท่านั้นที่ต้องปรับตัว แต่องค์กรหนึ่งที่กำลังเกิดการเปลี่ยนแปลงก็คือ “เครดิตบูโร” หรือบริษัทข้อมูลเครดิตแห่งชาติ ซึ่งถูกไล่ต้อนจากสิ่งที่มากับเทคโนโลยีเช่นกัน
ล่าสุด “ประชาชาติธุรกิจ” ได้มีโอกาสสัมภาษณ์พิเศษ “สุรพล โอภาสเสถียร” ผู้จัดการใหญ่ของเครดิตบูโร เล่าให้ฟังว่า วันนี้ไม่ใช่มีเพียงแบงก์ที่กลัวว่าจะถูก disrupt (ไล่ล่า) จากเทคโนโลยีที่มาเร็ว เครดิตบูโรเองก็จะถูก disrupt เช่นกัน เพราะบนโลกที่เปลี่ยนแปลงไป ทำให้ทุกภาคธุรกิจ โดยเฉพาะแบงก์ หันไปพึ่งพาเทคโนโลยี เพื่อใช้บริการลูกค้า เข้าถึงลูกค้า ตลอดจนใช้พิจารณาปล่อยสินเชื่อ ดังนั้นเมื่อแบงก์สามารถ
ใช้เทคโนโลยีของตัวเองมาพิจารณาปล่อยกู้ได้เอง ก็ไม่จำเป็นต้องมาวิเคราะห์ หรือมาขอข้อมูลผ่านข้อมูลเครดิตบูโรแล้ว
ภาพความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นทำให้มีคนตั้งคำถามว่า “วันนี้ยังมีความจำเป็นหรือไม่ ที่ต้องใช้ข้อมูลของเครดิตบูโร ?” ในเมื่อยักษ์ใหญ่ในตลาดอีคอมเมิร์ซระดับโลก เช่น แอนทต์ ไฟแนนเชียล อาลีบาลา และเจดีดอทคอม สามารถปล่อยเงินกู้ให้กับร้านค้า หรือลูกค้าที่เข้ามาซื้อขายในตลาดอีคอมเมิร์ซของตัวเองได้โดยตรง ซึ่งยักษ์ใหญ่เหล่านี้ใช้ข้อมูลของเครดิตบูโรค่อนข้างน้อย จะใช้เฉพาะลูกค้าที่ไม่รู้จักเท่านั้น
“ในต่างประเทศพวกอีคอมเมิร์ซ เวลาปล่อยกู้จะไม่อิงประวัติการชำระเงิน แต่ดูจากธุรกรรมการซื้อขาย เงินเข้าออกในบัญชี (เทรดดิ้งเพย์เมนต์) ซึ่งข้อดีก็คือ มีปริมาณมาก เรียลไทม์ ขณะที่เครดิตบูโรมีมุมที่ดีคือ ข้อมูลที่มีอยู่ สามารถวิเคราะห์พฤติกรรมของคนได้ ว่ามีพฤติกรรมการชำระหนี้อย่างไร ซึ่งแบงก์ ก็อาจยังมีความจำเป็นจะต้องใช้ข้อมูลของเครดิตบูโรอยู่ เพียงแต่ไม่ได้ใช้กับลูกค้าทั้งหมด เช่น อาจจะใช้กับลูกค้าเฉพาะบางกลุ่มเท่านั้น ไม่ใช่ลูกค้าทุกคน ” สุรพลกล่าว และเท่าที่เคยคุยกับผู้บริหารแอนต์ไฟแนนเชียล ก็บอกว่ายังใช้ข้อมูลเครดิตบูโรอยู่ หากเป็นการปล่อยกู้เงินก้อนใหญ่ หรือถ้ารู้จักลูกค้า ระยะสั้นเกินไปยังต้องใช้ข้อมูลจากเครดิตบูโรอยู่ดีอย่างไรก็ตาม แม้ธุรกิจอีคอมเมิร์ซจะใช้เทคโนโลยีของตัวเองมาพิจารณาปล่อยเงินกู้ได้ โดยไม่ต้องวิเคราะห์เจาะลึกมาก แต่การปล่อยสินเชื่อของธุรกิจอีคอมเมิร์ซยักษ์ใหญ่ให้กับรายย่อยที่เป็นร้านค้าที่มาซื้อขายผ่านระบบออนไลน์นั้น กลับมียอดหนี้เสียต่ำมาก ไม่ถึง 1%ของการปล่อยกู้ทั้งหมด ซึ่งแบงก์ไม่เคยคุมหนี้เสียให้ต่ำขนาดนี้ได้ นั่นก็เป็นเพราะว่า หากผิดนัดชำระหนี้กับยักษ์ใหญ่ในตลาดอีคอมเมิร์ซ ร้านค้าก็จะถูกตัดสิทธิ หรือไล่ออกจากระบบ จนต้องหยุดซื้อขายและหยุดชำระค่าสินค้าผ่าน “อาลีเพย์” ทันที
ดังนั้นหากให้เลือกระหว่างการไม่ชำระหนี้แบงก์กับถูกไล่ออกจากอาลีเพย์ หรือให้ออกจากตลาดอีคอมเมิร์ซ ร้านค้าจึงยอมที่จะไม่ชำระหนี้แบงก์มากกว่า เพราะอาลีเพย์คือเส้นเลือดของการค้าขาย สร้างรายได้หลักหล่อเลี้ยงธุรกิจทุกวัน
“นี่เป็นจุดเริ่มต้นให้เครดิตบูโร ทั่วโลก รวมถึงเราตื่นตัวหมด เพราะไม่ใช่แบงก์ที่จะถูก Disrupt เท่านั้น แต่เครดิตบูโรก็กำลังจะถูก Disrupt เช่นกัน นี่คือความท้าทายของเครดิตบูโรในอนาคต เพราะถ้าเราเลือกที่จะไม่ทำอะไร แล้วตื่นมาพบว่า ตัวเอง เหมือนโนเกีย ที่ไม่มีใครต้องการ คำถามเราคือ เราต้องแก้อย่างไร !!”
โดยคำตอบของประเด็นนี้ “สุรพล” มองว่า ต้องแก้ไขโดยหาชุดข้อมูลใหม่ เช่น ขยายฐานข้อมูลด้านเครดิตไปยังกลุ่มเอสเอ็มอีและกลุ่มอื่น ๆ ให้มากขึ้น จากเดิมที่เน้นกลุ่มลูกค้ารายย่อย รวมถึงพยายามวิเคราะห์ หรือจัดทำข้อมูลที่แม่นยำมากขึ้น ซึ่งนี่น่าจะเป็นทางรอดของเครดิตบูโร
นี่อาจเป็นเพียงส่วนหนึ่งของการเปลี่ยนแปลงของ “เครดิตบูโร” ที่ต้องปรับตัว เช่นเดียวกับทุกธุรกิจที่ต่างต้องเอาตัวรอด ในยามที่เทคโนโลยีเข้ามามีบทบาท มากขึ้น