คอลัมน์ เศรษฐกิจคิดง่ายๆ
“SME ปัญหาโลกแตกที่แก้ไม่ได้สักที”
นสพ.โพสต์ทูเดย์ วันจันทร์ที่ 16 กรกฎาคม 2561
เมื่อมีผู้คนในแวดวงวิชาการ การเงินการธนาคาร สายนโยบายรัฐ หน่วยงานต่างๆ ที่พยายามจะใช้เงินไปเพื่อการแก้ไขปัญหา SME หรือปัญหาคนค้าขาย คนที่พยายามจะค้าขาย คนที่อยากเริ่มขายของ เมื่อมองดูเม็ดเงินที่ประเทศเราได้ใส่ลงไปผ่านกลไกต่างๆ เช่น การส่งเสริมพัฒนาความรู้ การฝึกอบรม การเพิ่มความสามารถในการแข่งขัน การหาช่องทางการตลาด การพาไปออกงานแสดงสินค้า สารพัดโครงการ ต่อด้วยการให้เงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ ผ่อนปรนหลักประกัน การให้สถาบันการเงินเฉพาะกิจค้ำประกัน การจัดเงินร่วมลงทุน สารพันโครงการ เพื่อให้ SME ที่มีอยู่ประมาณ 3 ล้านราย ในประเทศไทยอยู่ดี อยู่รอด มั่นคง แข็งแรง ยั่งยืน
แต่ทำไมมันเหมือนวนอยู่ในอ่าง ไปมา ไปมา ก็กลับมาที่เดิม มันเหมือนความพยายามพาเด็กทีมหมูป่าออกมาจากถ้ำหลวง-ขุนน้ำนางนอน
ทุกทีมที่มาช่วย SME มันมีทั้งที่จะพยายามเอาออกทางปากถ้ำ คือ เอาออกจากปัญหาเดิมด้วยวิธีการเดิมที่สุดคือต้องออกมาทางเดิมแต่ด้วยวิธีการใหม่ ซึ่งต้องใช้ความรู้ความเชี่ยวชาญนานาสาขา จากนานาประเทศ ปัญหาพื้นฐานที่ผมพยายามหาคำตอบโดยเลียนแบบวิธีลงทะเบียนผู้มีรายได้น้อย คือ การตั้งคำถามดังนี้ครับ
(1) SME คือใครมีหน้าตา นิสัย อย่างไร
(2) SME เหล่านั้นอยู่ที่ไหน ทั้งในโลก Offline และ Online ไม่ใช่คิดแต่ที่อยู่ตามทะเบียนบ้าน
(3) SME เหล่านั้นทำอาชีพอะไร ขายอะไร รายได้เท่าไร ตอนนี้ขายดี หรือไม่ดี
(4) ทำไม SME เหล่านั้นถึงยังทุกข์ ทุกข์เรื่องอะไร
(5) เขาอยากได้อะไร ที่เขาเชื่อว่าถ้าได้ แล้วเขาจะพ้นทุกข์ สิ่งที่คิดว่าจะทำให้ กับสิ่งที่คิดว่าจะได้รับมันต่างกันหรือไม่ ถ้าเลือกได้ อยากเป็น SME กันหรือไม่
(6) ต้องทำอะไรก่อน อะไรหลัง อะไรเร็ว อะไรช้า จึงจะทำให้ทุกข์ของ SME นั้นหมดไป แยกให้ออกว่าเขาบ่นเพราะอยากได้ อยากเอาเปรียบ หรือร้องเพราะจำเป็น จะตายอยู่แล้ว
ตัวเลข 3 ล้านราย ไม่รู้ว่า เป็นใครชัดๆ ข้อมูลอาจไม่ทันสมัย ที่หนักกว่านั้น คือ ข้อมูลเอามาเชื่อมต่อไม่ได้ เช่น ข้อมูลการทำธุรกิจ (Biz Profile) เอามาเชื่อมกับข้อมูลการมีหนี้และพฤติกรรมการใช้หนี้ไม่ได้ เอาไปเชื่อมกับข้อมูลที่แบงก์ทุกแห่งส่งไปธนาคารแห่งประเทศไทยไม่ได้ เอาไปเชื่อมกับการนำเข้า ส่งออก การเสียภาษีไม่ได้ แล้วมันจะมี Big Data เพื่อมาหาคำตอบได้อย่างไร ตัวอย่างง่ายๆ เราควรต้องรู้ว่า SME จำนวน 3 ล้านราย มีรายได้เป็นอย่างไร
แต่ข้อมูลรายได้ที่ถูกตรวจสอบแล้วอยู่ที่แบงก์ตอนให้กู้ ข้อมูลควรจะถูกส่งมารวมศูนย์จัดเก็บที่ศูนย์ข้อมูล นักวิชาการการธนาคารก็พยักหน้า มาเจอนักกฎหมายบอกว่าเข้าใจ แต่ทำไม่ได้เพราะกฎหมายไม่ให้ ข้อมูลรายได้กลับถูกกันออกไปด้วยกฎหมายที่เขียนในปี 2545
ในขณะที่เรากำลังอยู่ในโลกดิจิทัล ปี 2561 เหมือนความพยายามจะเอาจอบ เสียม ไปช่วยเด็กติดถ้ำแบบไม่มีแผนที่ แล้วบอกเด็กๆ รอหน่อยต้องตั้งกรรมการพิจารณา ผู้ทรงคุณวุฒิท่านอายุเยอะเป็นที่ปรึกษาหลายที่เพราะท่านเก่งหลังเกษียณ เวลานี้ท่านเป็นเบาหวาน ความดัน นอนโรงพยาบาลอยู่ สำหรับผู้เชี่ยวชาญต่างประเทศ ติดขอวีซ่าครับ แต่เด็กซึ่งในที่นี้หมายถึง SME อากาศกำลังจะหมด น้ำกำลังจะขึ้น ท่านผู้อ่านคงเข้าใจเนื้อหาที่ผมกระทบกระเทียบเปรียบเปรยแล้วนะครับ
ผมคิดอย่างนี้เลยนะครับ เอาเงินทั้งหมดที่คิดจะทำในปีนี้ปีหน้ามาตั้งเป็นกองกลาง และแจกให้กับ SME จำนวน 3 ล้านราย ใครมาลงทะเบียนถึงจะมีสิทธิได้รับ จากนั้นจัดแบ่งเป็นกลุ่มตามอาการ โดยให้เขากำหนดเกณฑ์แบ่งคุณสมบัติ แบ่งเงินกันเอง ตกลงกันไม่ได้ก็เอาเงินกองไว้ตรงนั้น วิธีตกลงใช้โหวตก็ได้ แต่มีเกณฑ์นะว่าถ้าจับได้ว่าโกง รายไหนรายนั้น ติดคุก อายัดยึดทรัพย์
แล้วผมก็ตื่นจากภวังค์ในวงสัมมนา พบคำตอบว่าให้ตั้งคณะทำงานศึกษาความเป็นไปได้ในการแก้ไขปัญหา โดยใช้งบประมาณ… สำหรับเวลานี้ให้ใช้มาตรการเก่าที่เคยใช้มากว่าห้าปีสิบปีไปพลางก่อน
สำหรับการแก้ไขกฎหมายเรื่องข้อมูล อันนี้มีผลกระทบสูง ควรให้คณะกรรมการชุดใหม่ที่ถาวร มีอำนาจเต็มมารับไปพิจารณา หรือจนกว่าเครดิตบูโรที่เมียนมาจะประกาศว่าได้จัดเก็บข้อมูลอันจำเป็นสำหรับการให้ความช่วยเหลือ SME เมียนมาเป็นที่เรียบร้อยแล้ว อาทิ ข้อมูลรายได้ ข้อมูลสาธารณูปโภคตามแนวทางธนาคารโลกใน Ease of Doing Business เพื่อมาตอบโจทย์ Information Based Lending ที่ประเทศเราได้คิดและยกเป็นนโยบายมาตั้งแต่ปลายปี 2559 …ปิดการประชุม