คอลัมน์เศรษฐกิจคิดง่ายๆ
“Ease of Doing business ธนาคารโลกที่ควรสนใจ”
นสพ.โพสต์ทูเดย์ วันจันทร์ที่ 5 พฤศจิกายน 2561
เมื่อปลายเดือน ต.ค. 2561 ที่ผ่านมา ธนาคารโลกได้เผยแพร่รายงาน ฉบับหนึ่ง ซึ่งมีผลกระทบต่อประเทศในโลกกว่า 190 ประเทศ ที่ถูกประเมิน ถูกวัด ถูกเปรียบเทียบว่าในแต่ละปีนั้นใคร ประเทศใด ทำได้ดีขึ้นกว่ากัน ดีขึ้นในด้านไหน อยู่ในอันดับที่เท่าไร คำถามที่สำคัญ ที่เราต้องให้ความสนใจคือ ธนาคารโลกต้องการวัดอะไรผ่านตัวแปรปัจจัยต่างๆ
คำตอบ คือ เขาต้องการวัดความยากความง่ายในการทำธุรกิจในประเทศต่างๆ ว่า หากใครสักคนไม่ว่าต่างชาติหรือคนในประเทศนั้นจะ
ทำธุรกิจ ก่อตั้งกิจการ ระดมทุนจากผู้ถือหุ้น ขอใบอนุญาตติดตั้งน้ำ ไฟ โทรศัพท์ ยื่นขอใบอนุญาตก่อสร้าง ใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงาน การนำเข้าส่งออกง่ายหรือยากใบอนุญาตหรือใบรับรองอาหารและยาการจัดทำรายงานผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม การจัดเก็บภาษีมีความลึกความกว้างประมาณไหน มีอัตราการจัดเก็บที่สามารถบริหารอย่างมีประสิทธิภาพหรือเปล่า
แน่นอนว่าต้องมีเรื่องการหาแหล่งเงินทุนด้วยการขอสินเชื่อ มันมีข้อมูลมากพอไหมในระบบเครดิตบูโรมีกฎหมายรองรับหลักประกันทางธุรกิจที่หลากหลาย เชื่อถือได้หรือไม่ มีการให้บริการแบบไม่ใช้กระดาษ มายื่นมาแสดงด้วยตนเอง สามารถทำผ่านระบบคอมพิวเตอร์ ระบบอินเทอร์เน็ตหรือที่เราเข้าใจในเวลานี้คือให้บริการแบบดิจิทัลนั่นเอง
ในส่วนท้ายเขาจะวัดเรื่องในกรณีที่กิจการมีปัญหา กระบวนการทางศาล ทางคดีความทำได้รวดเร็วหรือไม่ การยึดทรัพย์บังคับคดีเร็วไหม การแก้ไขฟื้นฟูกิจการทำได้รวดเร็วไหม
คนทำธุรกิจล้ม ได้ แต่ลุกขึ้นได้เร็ว สามารถไปต่อได้ เจ้าหนี้เสียหายก็ได้รับคืนในอัตราสูง และถ้าเราเป็นผู้ถือหุ้นรายย่อย หรือเป็นเสียง ส่วนน้อย กฎหมายได้รองรับสิทธิในการเป็นเสียงส่วนน้อยที่เจ้าของกิจการหรือผู้ถือหุ้นใหญ่ต้องรับฟังเป็นต้น
จะเห็นได้ว่ารายงานดังกล่าวเป็นการวัดและประเมินสิ่งที่ระบบเศรษฐกิจ ภาคราชการ กฎหมาย กฎระเบียบ และการทำงานของภาครัฐกระทำ หรือปฏิบัติต่อกิจการต่างๆ ที่ก่อตั้งส่วนใหญ่คือเอกชนว่ามีการอำนวยความสะดวกไหม ถ้าเอกชนจะทำธุรกิจ หรือสร้างแต่ปัญหา สร้างแต่อุปสรรค ไม่ทำแบบที่โลกเขาทำกัน และสิ่งที่กำหนดให้เอกชน ทำ เจ้าของธุรกิจทำนั้นมันมีตั้งแต่เริ่มต้น จนจบชีวิตของธุรกิจนั่นเอง เรียกว่าครบวงจรกันเลยทีเดียว
รายงานฉบับล่าสุดพบว่าประเทศไทยถูกประเมินอยู่ในอันดับที่27 หรืออยู่ในประเทศ 30 ประเทศแรกที่มีความยากง่ายในการประกอบธุรกิจจากจำนวนมากกว่า 190 กว่าประเทศ
เราจึงควรภาคภูมิใจและตบมือให้กับหน่วยงานภาครัฐโดยเฉพาะ สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (ก.พ.ร.) ที่เป็นแม่งานหลักในการประสานงาน ผลักดันงาน สร้างกลไกการขับเคลื่อน ให้เกิดกับหน่วยงานต่างๆ
มิฉะนั้นมันก็จะเข้าสู่วงจรแห่งการต่อต้านการสร้างแรงเฉื่อยและการไม่ร่วมมือภายใต้ความมุ่งมั่นของรัฐบาลที่เอาจริงเอาจังลงมากำกับบทบาทจี้บี้ตั้งเป้าตรวจการบ้านอย่างหนักอย่างบ่อยประเทศเราจึงมาได้ถึงตรงนี้ และคงจะเดินต่อไปอีก เพราะทุกประเทศต่างก็พัฒนาอย่างไม่หยุดยั้งไม่มีใครรอใคร
สิ่งที่ผู้เขียนกังวลใจคือ คณะที่จะมารับไม้ต่อ คณะที่มาขออาสารับทำงานเพื่อบ้านเพื่อเมืองเรา จะทำได้ดีขนาดไหน เข้าใจไหมว่ามันสำคัญ เข้าใจไหมว่าประเทศต้องถูกประเมิน และธุรกิจต้องการความสะดวกที่รอบคอบรัดกุมโปร่งใสในการทำงาน
แต่ที่ผมเห็นพวกเขากำลังดำเนินการกันอยู่มันมีแต่ วาทกรรม คุณแย่ ข้าทำได้ดีกว่า ดีแต่พูด ไม่เห็นรูปธรรมที่จับต้องได้ คิดแต่จะรื้อรัฐธรรมนูญ เอาแต่จะจัดสรรอำนาจราชศักดิ์กัน พอมีเรื่องตูมตามขึ้นมาหรือพอมีคนเสียชีวิตจากเหตุทางการเมือง ก็ปัดว่าข้าไม่เกี่ยวคนอื่นทำ มันจะมีใครบ้างหนอในอนาคต ในปีหน้าที่จะเข้าอกเข้าใจว่าโลกมันหมุนไวกว่าที่คิด เพียงรายงานประเมินฉบับเดียวมันส่งพลังให้เกิดการ
เปลี่ยนแปลงในกระบวนการให้บริการจากฝั่งภาครัฐได้ถึงขนาดนี้ขนาดที่ทำให้ประเทศไทยต้องถีบตัวเองไปอยู่ในกลุ่ม 30 ประเทศแรกของโลกเลยทีเดียว