คอลัมน์ เศรษฐกิจคิดง่ายๆ
ยามอากาศขุ่นมัว ดอกเบี้ยก็แอบเริ่มชูช่อเนียนๆ
นสพ.โพสต์ทูเดย์ วันจันทร์ที่ 4 กุมภาพันธ์ 2562
ตื่นเช้าของวันที่ 1 ก.พ. 2562 เป็นวันศุกร์ที่ขมุกขมัว มองออกไปจากรถยนต์ที่นั่งกันสามคน (ตามเกณฑ์เป๊ะ) เห็นสภาพอากาศ ท้องฟ้าที่ยังไม่สดใส อ่านข่าวจากโทรศัพท์เคลื่อนที่ในมือก็มีแต่ข่าวเกี่ยวกับรอบตัวเราและเพื่อนร่วมชะตาชีวิตในกรุงคงต้องเจอมลพิษทางอากาศไปจนถึงต้น มี.ค. (แม่เจ้า…อีกหนึ่งเดือนเลยนะ) พอดูข่าวของหน่วยงานบริหารเมืองหลวงเราประชุมกับพ่อเมือง กทม. (คำโบราณ) ในเฟซบุ๊กที่แชร์ก็ได้แต่คิดถึงหนังตอนที่นักวิทยาศาสตร์ นักพูด นักการเมืองและนักอื่นๆ กำลังหาทางรับมือกับอุกกาบาตที่ชื่อว่า อาร์มาเก็ดดอน เหลียวมามองอีกข่าวก็พบกับอุปนิสัยไทยคือ ต้องยิ้มได้เมื่อภัยมา ข่าวนี้แนะนำให้สวดมนต์ทำสมาธิต้านฝุ่น แนะให้แห่นางแมวขอฝนหลายๆ ตัวเพื่อได้น้ำฝนมาชะล้างฝุ่น ย้อนกลับจากเรื่องของการเจอปัญหามลพิษในระดับตื่นตระหนกของคนเมืองเวลานี้ผมมีความเห็นดังนี้
1.คนที่ทำงานกินเงินค่าจ้าง รายวัน จะสามารถป้องกันตัวเองในต้นทุนที่พอรับได้ขนาดไหน ค่าแรง 300 บาท/วัน เจอค่าหน้ากาก 2 ชิ้น 90 บาทมันจะไม่ไหว องค์กรทางการแพทย์ NGO รักโลกสวยพอจะมีอะไรมาช่วยบรรเทาเขาเหล่านี้หรือไม่ ในอดีตถ้าเรามีภัยพิบัติเรามีการตั้งโรงทาน โรงอาหาร พยาบาลสนาม เราลองเทียบเคียงกรณีนี้ได้หรือไม่…คิดแบบบ้านๆ
2.อาหารที่วางขายตามทางหรือ Street Food มันจะมีผลหรือไม่จากมลพิษฝุ่นละออง ควรมีมาตรการแนะนำ ปกป้อง ตรวจตรา ช่วยเหลือ คุ้มครองคนซื้อ-คนขายหรือไม่ในเวลานี้ หรือจะเอาแต่กฎกติกาเทศกิจไล่จับกันจนไม่ดูตาม้าตาเรือ ยามนี้มันก็ไทยด้วยกัน ทุกข์ด้วยกันทั้งสิ้น
3.ผมขอชื่นชมความคิดริเริ่มของ ผู้บริหารในองค์กรหลายแห่ง ธนาคารกลาง ธนาคารพาณิชย์ที่ออกมาบอกกับหัวหน้าพนักงานต่างๆ ว่า คนท้อง คนเป็นภูมิแพ้ คนที่ต้องดูแลลูกเล็กในยามโรงเรียนปิด สามารถทำงานที่บ้าน หยุดงานโดยไม่นับเป็นวันลาได้ อันนี้น่าชื่นชมครับ ได้ใจผู้คนมากๆ นะครับ มันคือน้ำใจที่คนไทยให้กัน อย่ามองเป็นเรื่องนายจ้างลูกจ้างแต่มันคือใจที่ให้ใจกันในยามนี้
พอเหลียวมามองข่าวการเงินก็มาสะดุดเอากับข่าวรองกรรมการผู้จัดการใหญ่ ธุรกิจรายย่อย ธนาคารลูกครึ่งรายหนึ่งที่มีต่างประเทศเพื่อนบ้านเราทางใต้เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่แจ้งว่าธนาคารได้ปรับดอกเบี้ยเงินกู้อ้างอิงประเภทอัตราดอกเบี้ยรายย่อยชั้นดี (เอ็มอาร์อาร์) ขึ้น 0.125% ต่อปี จาก 7.75% เป็น 7.875% ต่อปี โดยมีผลตั้งแต่ วันที่ 1 ก.พ. 2562 เป็นต้นไป เนื่องจากต้นทุนทางการเงินปรับสูงขึ้น หลังจากคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ได้ปรับดอกเบี้ยนโยบายขึ้น 0.25% เป็น 1.75% ต่อปี
ทั้งนี้ การปรับดอกเบี้ยลูกค้า สินเชื่อที่อยู่อาศัยจะได้รับผลกระทบเล็กน้อยจากภาระค่างวดต่อเดือนเพิ่มหลักร้อยบาทในการกู้ต่อ 1 ล้านบาท(ผู้เขียนขอแย้งนิดๆ นะครับว่าอะไรที่เพิ่มไม่ว่าเล็กว่าน้อยมันขึ้นอยู่กับรายได้คนกู้ครับ 100 บาท สำหรับคนเงินเดือน 2 หมื่นบาท มันมีความหมายที่อาจ ไม่เท่ากับคนกินเงินเดือนระดับผู้บริหารระดับสูงในระบบสถาบันการเงิน…อันนี้ขอมองต่างมุมนิดหนึ่งนะครับ หรือคนที่มี Debt Service Coverage Ratio ที่ต่างกันมันก็มีผลต่างกัน หรือคนที่อยู่บ้านเช่ากินข้าวกล่องโฟมต้องจ่ายหนี้บ้านที่กู้ไว้เพิ่มมันก็ต้องรู้สึกมากกว่าคนมีรถประจำตำแหน่ง
ข้อความตามข่าวที่บรรยายเป็นคำพูดที่ระบุว่า… “หลังจาก ธปท.ขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย ทำให้ตลาดเงินมีต้นทุนเพิ่มขึ้น จึงต้องระดมทุน ทำให้ต้นทุนเพิ่มก็จำเป็นต้องปรับดอกเบี้ยเงินกู้ขึ้น และเชื่อว่าธนาคารอื่นจะปรับขึ้นดอกเบี้ยเงินกู้ตาม” นอกจากนี้ ผมขอความอนุเคราะห์เรียนถามธนาคารกลางในประเทศสารขัณฑ์แห่งนี้ว่า ก็ไหนว่า กนง.ขึ้นดอกเบี้ยนโยบายแล้ว ดอกเบี้ยเงินกู้คงยังไม่ขยับอย่างรวดเร็วนัก ควรขยับดอกเบี้ยเงินฝากก่อน ผมยังจำข้อแนะนำในข่าวสารเวลานั้นได้ มีใครเข้าไปสอดส่องดูแล Asset-Liability Management หรือเปล่าครับ Rate Sensitive Asset สูงกว่าหรือต่ำกว่า Rate Sensitive Liability (คนที่เป็นนักการเงินจะเข้าใจสิ่งที่ผมพยายามสื่อในเวลานี้)
ประเด็นเงินฝากก็มีการขยับเหมือนกันคือ ปรับขึ้นดอกเบี้ยเงินฝากประเภทฝากประจำระยะเวลา 3 เดือน 6 เดือน และ 9 เดือน ในอัตรา 0.25% ต่อปี และปรับดอกเบี้ยเงินฝากประจำ 12 เดือน วงเงินไม่เกิน 2 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 0.10% มีผลวันที่ 1 ก.พ. 2562 ผมมีข้อท้าทายว่าถ้าแน่จริงนะครับให้ปรับดอกเบี้ยออมทรัพย์สิครับ ปรับเพิ่มเลยเป็น 2.5% หากหาเหตุไม่ได้ว่าทำไมต้องขึ้นออมทรัพย์ 2.5% ก็ใช้ไสยศาสตร์ว่าเพราะเราเจอฝุ่น PM2.5 เราเลยขอปรับออมทรัพย์เป็น 2.5% มาสู้ฝุ่นให้มันรู้กันเลยว่าฝุ่นกับดอกเบี้ยใครแน่กว่ากัน