คอลัมน์ เศรษฐกิจคิดง่ายๆ:
ก้าวคนละก้าว กระบวนการสหกรณ์
วันที่ 13 พฤศจิกายน พ.ศ. 2560
ได้อ่านบทความของท่านผู้เขียน คุณจุมพล พูลภัทรชีวิน ที่ระบุไว้น่าฟังมากๆ ว่า
“สังคมสันติสุข จะต้องเป็นสังคมที่คนในสังคมมีความกินดีอยู่ดี มีสุขภาพกาย สุขภาพจิตที่ดี สังคมมีความเป็นธรรม รวมเรียกว่าเป็นสังคมสุขภาวะ และในขณะเดียวกันคนในสังคมควรต้องมีความเอื้ออาทร ร่วมมือ ร่วมใจให้ความช่วยเหลือซึ่งกันและกัน เรียกว่าเป็นสังคมใส่ใจดูแลและแบ่งปันกัน (Sharing & Caring Society)”
เป้าหมายจัดตั้งองค์กรสหกรณ์เพื่อให้สมาชิก (1) มีเงินใช้ (2) ไม่มีหนี้มาก และ (3) มีสุขภาพที่ดี มีการออม กู้ยืมเงินได้อัตราดอกเบี้ยที่ไม่แพง และมีระบบสวัสดิการด้านประกันภัยมาเกื้อหนุน
ปัจจุบันไทยมีสหกรณ์ 8,074 แห่ง มีเงินหมุนเวียน 2.7 ล้านล้านบาท ในจำนวนนี้เป็นสหกรณ์ออมทรัพย์ 1,448 แห่ง มีมูลค่าสินทรัพย์ 2.1 ล้านล้านบาท เมื่อเทียบกับธนาคารพาณิชย์ทั้งระบบที่มี 18 ล้านล้านบาท
มีข่าวทางการที่กำลังไปปฏิรูประบบสหกรณ์ออมทรัพย์ โดยเฉพาะการปล่อยกู้วนซ้ำให้กับสมาชิก คือ มีการทำสัญญากู้ใหม่ หลังส่งเงินชำระยังไม่ถึงหนึ่งปี ส่วนใหญ่เป็นการกู้ไปเพื่อการบริโภค ซึ่งถือว่าเป็นสัญญาณอันตราย จะทำให้ติดอยู่ในวงจรหนี้อย่างไม่รู้จบ…จากสหกรณ์ออมทรัพย์ 933 แห่ง สมาชิก 2.23 ล้านราย พบว่ามีการกู้วนซ้ำ 5 แสนราย คิดเป็น 23% ของจำนวนผู้กู้ ลักษณะการกู้วนซ้ำจะเป็นการกู้รวมหนี้สัญญาเดิม และกู้หลังจากส่งชำระหนี้ 3 เดือน พบมากถึง 50% กู้วนซ้ำภายใน 6 เดือน มี 36% ที่เหลือเป็นการกู้วนซ้ำในรอบ 2 เดือน และ 4 เดือน…
หากเป็นเช่นว่านี้แล้ว ท่านที่รับผิดชอบครับ ท่านต้องดำเนินการอะไรสักอย่างนะครับ
ก้าวคนละก้าว แม้มันต้องวิ่งแบบมาราธอนเหนือลงใต้ บนเส้นทางของกระบวนการสหกรณ์ บนการแก้ไขที่ถูกหลักวิชา เพื่อกลับมายังปรัชญาพื้นฐานนะครับ ทำในสิ่งที่ควรทำแล้วผมก็เชื่อว่า ทุกสิ่งจะปลอดภัย