เศรษฐกิจคิดง่ายๆ (ดิจิทัล) : “เมื่อทางการหันหน้ามามองคนไม่เคยค้างแต่จ่ายขั้นต่ำและกำลังจะหมดแรง… มาตรการจะมาทันไหม” www.posttoday.com วันจันทร์ที่ 9 ธันวาคม 2562

เมื่อทางการหันหน้ามามองคนไม่เคยค้างแต่จ่ายขั้นต่ำและกำลังจะหมดแรง… มาตรการจะมาทันไหม

เมื่อวันเสาร์​ที่ผ่านมานอกจากกรุงเทพมหานครจะเจอกับลมหนาวแบบอุณหภูมิ​ตอนกลางคืนต่ำกว่า​ 20 องศา​ นอนหลับ​แบบไม่ต้องเปิดแอร์​ และเมื่อเห็นข่าวออนไลน์​ผ่านโทรศัพท์​เคลื่อน​ที่ยามกำลังดื่มกาแฟดำ​ ก็เป็นต้องประหลาดใจกับหัวข่าวเศรษฐกิจ​การเงิน​การธนาคาร​ว่า​ ทางการของเรากำลังปั้น โครงการ “รีไฟแนนซ์” หนี้บัตรเครดิต-บัตรกดเงินสด ลูกหนี้ที่มีการชำระดี ไม่มีประวัติผิดนัดชำระ แต่มีอาการจ่ายได้แต่ขั้นต่ำ​ เลี้ยงงวดกันไปเดือนต่อเดือน​ ไม่สามารถชำระยอดเต็มได้​ โดยการย้ายเจ้าหนี้บัตรทั้งสองประเภทดังกล่าวมาเป็นเงินกู้แบบมีระยะเวลาแน่นอน​ มีการผ่อนชำระรายเดือนเป็นงวดๆแน่นอน​และไม่มีการคิดดอกเบี้ยทบต้น​กับเจ้าหนี้รายใหม่ ที่สำคัญมากคืออัตราดอกเบี้ยที่ลูกค้าต้องจ่ายนั้นมันจะลดลงจาก​ 18%ในกรณีบัตรเครดิต​ และ​ 28%ในกรณีของบัตรกดเงินสด​ คิดดอกเบี้ยต่ำ 7-12% ช่วยลดภาระการเงินที่ต้องชำระรายเดือน ในช่วงเศรษฐกิจมีการชะลอตัว​ เป็นมาตรการเชิงรุกในการป้องปัญหาเสียแต่ต้นมือ​ แบบจับควันให้ไว​ ดับไฟอย่าให้ลาม​ เพราะอาการน่าจะบอกได้ว่าอีกอึดใจเดียวก็จะกลายเป็นหนี้ค้างชำระ​ และเป็นหนี้เสียต่อไป ตามข่าวระบุว่ามีลูกหนี้ที่เข้าข่ายกว่า 4.7 ล้านบัญชีซึ่งไม่น้อยนะครับ

ในวันเสาร์​อีกเช่นกันผมได้พูดคุยกับน้องคนหนึ่งซึ่งมีหน้าที่การงานดี​ มีรายได้เดือนละเกือบหกหมื่นบาทแต่ที่ผมงงมากตอนคุยกันคือน้องเขาบอกผมว่า​ เขาจะผ่อนชำระหนี้ไม่ไหวแล้ว​ พอสืบสาวราวเรื่องเลยแจกแจงออกมาได้ดังนี้

1.มีหนี้บัตรเครดิต​ 5ใบเต็มวงเงินจ่ายขั้นต่ำ​ 10%มาโดยตลอดตั้งแต่ปลายปี​ 2561
2.มีหนี้เงินผ่อนเฟอร์นิเจอร์ เครื่องใช้ไฟฟ้า​ เพื่อใส่บ้านใหม่ที่มีอายุไม่ถึงปี
3.มีหนี้บ้านราคา​ 7ล้านบาทยอดผ่อนต่อเดือนสองหมื่นนิดๆ​ ผ่อนนาน​ 30ปี​ ดอกเบี้ยถูก​ 4ปี​
4.รวมยอดผ่อนทุกรายการข้างต้นตกประมาณ​ 55,000บาทต่อเดือน
5.ตอนนี้ต้องหุงข้าว​ ทำกับข้าวกินที่บ้านและเอามาที่ทำงานด้วย​
6.เครียด​เรื่องหนี้ มีเรื่องทะเลาะกับแม่พ่อที่มาอยู่ด้วยตลอด​ พูดผิดหูไม่ได้เลย​ เห็นเพื่อนๆเดินทางไปดูใบไม้เปลี่ยนสีแล้วก็เจ็บใจที่ตัวเองติดกับดักหนี้​ ไปไหนไม่ได้
7.ไม่ต้องการเป็นคนมีประวัติค้างชำระ​ อยากเป็นคนชำระครบชำระตรง​ เพราะรู้ว่าถ้ามีประวัติค้างชำระแล้วละก็​ ต้องทำดีมาชดเชยประวัติที่ค้างแบบว่าเจ้าหนี้เก่าเจ้าหนี้ใหม่ต้องดูใจอย่างน้อยๆก็อีก​ 24เดือนข้างหน้าถึงจะคิดกู้ใหม่ได้
8.​ไปพบบ้านใหม่ถูกใจในราคา​ 4ล้านบาทจึงคิดวางแผนขายบ้านเก่าแล้วมากู้บ้านใหม่​ โชคร้ายที่ตอนนี้มาตรการเข้มงวดในการให้สินเชื่อบ้านกำลังเป็นประเด็นพอดี​ โอกาสจะได้สินเชื่อคือ​ 50:50​ และเงื่อนไขสำคัญคือต้องขายบ้านขายแบบบ้านมือสอง(ไม่ถึงปี)​ให้ได้ก่อน​ เขาพูดกับผมตอนปรึกษาว่า​ “… ผมไม่อยากมีประวัติเสียในบูโรครับ​ เพราะผมวางแผนไว้ว่าถ้าขายบ้านหลังนี้ได้​ ก็จะไปซื้อบ้านที่ถูกกว่านี้อยู่ ความรู้สึกผมตอนนี้ที่มีหนี้แบบนี้​ ผ่อนได้แค่นี้​ ทั้งที่ทำงานเต็มที่แล้ว​ ตอนใช้บัตร​ กู้บ้านก็คิดว่าไหว​ สู้ไหว​ คิดทุกวัน​ คิดแล้วมันเหมือน
เหล็กที่ทิ่มแทงใจ สาบานกับตัวเองแล้วว่าเข็ดและจะพอแค่นี้ ที่ทำให้ตัวเองและคนอื่นต้องเดือดร้อนจากการไม่ประมาณตัวว่าเราไหวแค่ไหน​ เกินกำลังไปเยอะ​ ถลำตัวไปมากจริงๆ… ”

ตามข่าวของโครงการช่วยเหลือลูกหนี้ดีที่น่าสนใจคือเงื่อนไข​ ห้ามก่อหนี้ใหม่เด็ดขาด​ กล่าวคือโครงการนี้ให้ความสำคัญกับการรักษาวินัยทางการเงินอย่างเคร่งครัด ดังนั้นผู้ที่เข้าโครงการจะต้องยกเลิกวงเงินเดิม เพื่อไม่ทำให้ภาระหนี้โดยรวมสูงขึ้น และลูกหนี้ที่เข้าโครงการจะต้องยินยอมให้ บริษัทข้อมูลเครดิตแห่งชาติ (เครดิตบูโร) ส่งรายงานตรวจสอบสถานะความเป็นหนี้ในที่ต่างๆและการชำระหนี้ในทุกบัญชีให้กับเจ้าหนี้ที่รับรีไฟแนนซ์​ได้ทุกเดือน​ เงื่อนไขนี้ออกไปในแนวดัดนิสัยนิดๆ​ ที่สำคัญมากคือบัตรเครดิต​ บัตรกดเงินสดทุกใบต้องปิดบัญชี​ ไม่อย่างนั้นคนที่มี​ 3 บัตรจะเอมาเข้าโครงการ​ 2 บัตร​ เก็บเอาไว้ใช้ต่ออีกใบ​ และแน่นอนว่าจะหาทางเปิดบัตรใหม่อย่างแน่นอน​ ถ้าไม่ล็อกไว้ก็จะเป็นประเด็นได้​ และในกรณีที่เข้าโครงการแล้วผิดสัญญา​ อัตราดอกเบี้ยที่คิดก็จะเด้งกลับไปที่อัตราผิดนัด​ หรืออัตราสูงสุดที่​ 18%หรือ​ 28%แล้วแต่กรณี

เรามาลุ้นกันครับว่ามาตรการนี้จะออกมาได้หรือไม่​ เพราะคนที่เจ็บตัว​ และขาดรายได้ไปมากคือเจ้าหนี้สถาบันการเงิน​ ไม่แน่ใจว่าราคาหุ้นจะไหลลงมาไหมถ้ามาตรการนี้ออกมาจริงดังข่าว
ขอบคุณครับ