ระบาดใหม่ครั้งนี้ กับมาตรการช่วยเหลือของธนาคารแห่งประเทศไทยมาได้ตรงกับสถานการณ์
ภายใต้สถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 ระลอกใหม่ตั้งแต่ปลายเดือนธันวาคม 2563 ต่อเนื่องมาถึงเดือนใหม่ปีใหม่ และคาดว่าต้องใช้เวลาอีกระยะหนึ่งกว่าที่ทางการแพทย์ไทยจะสามารถจัดการควบคุมได้ การจัดการกับปัญหาการแพร่ระบาดครั้งนี้จะดำเนินไปกับการเปิดให้สถานประกอบการ ผู้ประกอบธุรกิจ และผู้คนยังคงดำเนินชีวิตแบบมีเงื่อนไขบางอย่างทางสาธารณสุข เพื่อประคองระบบเศรษฐกิจให้เดินไปได้แบบทุลักทุเลและซื้อเวลากันไป เพื่อให้อาวุธที่ดีที่สุดได้มีการใช้อย่างเต็มที่ซึ่งนั่นก็คือวัคซีน และการมีภูมิคุ้มกันหมู่
สิ่งที่เป็นความท้าทายในช่วงเวลานี้คือ
1.จะประคองให้การจ้างงานยังเดินต่อไปได้อย่างไร
2.คนที่โดนผลกระทบจนเป็นคนเสมือนคนว่างงานคือทำงานไม่เต็มเวลา ถูกลดชั่วโมงการทำงาน ทำงานไม่เต็มศักยภาพทำงานไม่เกิน 35-40 ชม.ต่อสัปดาห์ จะมีจำนวนเพิ่มจากหลักล้านคนเป็นหลายล้านคน
3.ปัญหาการชำระหนี้ อย่าลืมว่าในช่วงเวลานี้คนส่วนใหญ่ที่รายได้ลดแต่มีหนี้สินจะมีอาการ “หนี้ยังมีเท่าเดิม ที่เพิ่มเติมคือไม่รู้จะจ่ายอย่างไร”
4.หากข้อ 1 และ 2 ข้างต้นมีปัญหาแล้วมาประกอบกับข้อ 3 ก็จะนำมาสู่การฟ้องร้องดำเนินคดีของเจ้าหนี้ตามกลไกรักษาสิทธิตามกฎหมาย
ตัวอย่างที่เกิดขึ้นจริงในเวลานี้ผ่านชุมชนพันทิปจะเห็นเจ้าของกระทู้หลายรายเข้ามาขอความเห็นเพื่อแก้ไขปัญหา เช่น
กรณีที่ 1 …ถูกพิจารณาดำเนินคดีตามกฎหมาย โดยได้รับจดหมายแจ้งจากบริษัทตัวแทนดำเนินการแทนธนาคารเจ้าหนี้
คือ เราได้รับจดหมายดังกล่าวข้างต้นก่อนเป็นลำดับแรก ต่อมาได้รับเอกสารเป็น หนังสือแจ้งข้อมูลเครดิตที่รายงานบริษัท ข้อมูลเครดิตแห่งชาติ จำกัด
โดยในหนังสือเป็นการสรุปการใช้จ่าย การชำระหนี้ที่ผ่านมา (ภาษาชาวบ้านคือใบเรียกเก็บหนี้รายเดือนที่เจ้าหนี้ส่งมาให้ลูกหนี้) วันที่เริ่มต้นผิดนัดชำระ และสถานะบัญชี ซึ่งส่งมาในนามจดหมายจากธนาคารแห่งหนึ่งค่ะ
เราจึงอยากรู้ว่า การส่งจดหมายมาแบบนี้ คือ สัญญาณก่อนจะดำเนินคดีจริง ๆใช่ไหมคะ
กรณีต่อมาคือ… เคยถูกโทรทวงหนี้ และเจรจา ไต่ถามบอกกล่าวถึงทางออกในการปรับโครงสร้างหนี้ มีหลายแบบตั้งแต่ชำระหนเดียวแล้วได้รับส่วนลดในการเป็นหนี้ ปรับตารางการชำระหนี้ใหม่ เราก็รับฟังและชี้แจงตามความจริง คือ เราตกงาน ถ้ามีงานก็จะมีเงินคืน ไม่ได้หนีไปไหน ตอนนี้หางานอยู่ ก็ดูเหมือนเขาจะเข้าใจ แต่ในที่สุดก็ต้องเป็นไปตามกฎหมายอะแหละ ซึ่งเราก็ทำใจว่าถ้าเกิดคดีความขึ้นมาจริง ๆ เราไม่รู้ว่าต้องทำไงบ้างเลยมาขอคำแนะนำจากคนที่อาจเคยมีประสบการณ์เป็นหนี้บัตรเครดิตค่ะ
ภาพสะท้อนสิ่งนี้มันไม่ได้มีจำนวนคนสองคน พันสองพันคน แต่มีเป็นเรือนหมื่นเรือนแสนลูกหนี้ จำนวนที่เป็นหนี้ก็มากน้อยต่างกันไป
ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) คงจะได้เล็งเห็นประเด็นนี้ และมีข้อมูลจากภาคสนาม ในการกำหนดมาตรการช่วยเหลือรอบใหม่จนถึงเดือนมิถุนายน 2564 จึงออกแบบในลักษณะ เฉพาะเจาะจง ตอบโจทย์ของแต่ละกลุ่มลูกหนี้ ขอร้องกึ่งกดดันให้สถาบันการเงินเร่งปรับปรุงโครงสร้างหนี้ที่สอดคล้องกับรายได้ที่ถูกกระทบของลูกหนี้เป็นสำคัญ ท่านผู้อ่านลองคิดภาพ คนที่เป็นลูกหนี้บัตรเครดิตมีหนี้ 100 บาท ในแต่ละรอบบัญชีต้องชำระขั้นต่ำ 3-5 บาทหรือ 3-5% แต่จำนวนหนี้ต้นเงินไม่ลด ซึ่งจะถูกคิดดอกเบี้ยที่ 16-18% ดังนั้นลูกหนี้จะรู้สึกว่าการจ่ายหนี้แบบเลี้ยงงวด มันคือจ่ายดอกต้นอยู่ครบ เงินที่จ่ายไม่เข้าต้น แถมดอกเบี้ยก็แพง โอกาสผิดนัดชำระสูงมาก การที่ ธปท. กำหนดเป็นทางออกว่า ถ้าจะมีการปรับใหม่ว่า คนที่เป็นลูกหนี้ตัดยอดหนี้บัตรเครดิตเดิมทั้งหมดหรือบางส่วนมาแปลงเป็นหนี้ที่ผ่อนชำระเป็นงวด (Installment loan) โดยยอดเงินที่ผ่อนชำระจะมีทั้งส่วนที่จ่ายดอกเบี้ย และส่วนที่เข้าต้น แบบลดต้นลดดอกเบี้ย ผสมกับลดดอกเบี้ยลงมาเหลือ 12% ก็จะก่อให้เกิดการประหยัดดอกเบี้ย ในขณะที่ระยะเวลาในการผ่อนก็ยาวได้ถึง 48 งวดหรือ ไม่เกิน 4ปี ก็น่าจะเป็นทางออกได้อีกกรณีหนึ่ง
ในส่วนของลูกหนี้ที่มีการฟ้องร้อง ศาลท่านก็มีกระบวนการไกล่เกลี่ยก่อนฟ้องหรือมันก็คือการปรับโครงสร้างหนี้แบบมีตัวกลางที่ทั้งสองฝ่ายเกรงใจ เพื่อให้การเจรจามันไม่เกิดการเอาเปรียบเกินไป ขณะที่กรมบังคับคดีก็มีมาตรการมาช่วยการไกล่เกลี่ยก่อนการบังคับคดีแบบในที่แตกต่างจากสถานการณ์ปกติมาช่วยคนที่ลำบากเดือดร้อนอีกทางหนึ่ง
ท่านรองผู้ว่าการด้านเสถียรภาพสถาบันการเงิน ธปท. ระบุว่า การระบาดโควิด-19 ระลอกใหม่นี้ ภาครัฐไม่ได้ประกาศล็อกดาวน์ทั่วประเทศ ทำให้ผลกระทบอาจไม่เท่ากับปีก่อน แต่ ธปท. และธนาคารพาณิชย์ก็หารือกันเพื่อช่วยเหลือลูกหนี้ โดยเฉพาะลูกหนี้กลุ่มภาคแรงงาน เพราะโดนลดชั่วโมงการทำงานจากโรงงานปิดชั่วคราว
แต่สิ่งหนึ่งที่อยากให้ลูกหนี้ได้เข้าใจว่าหากเข้าโครงการพักหนี้ทั้งเงินต้นและดอกเบี้ย ลูกหนี้จะต้องมีภาระเพิ่มขึ้นหลังหมดมาตรการพักหนี้แล้ว เพราะหนี้ที่พักหรือดอกเบี้ยยังเดินอยู่ไม่ได้หายไปไหนซึ่งมันจะทำให้ไปเพิ่มภาระเป็นค่างวดที่จะเพิ่มขึ้นในแต่ละงวดหรือไปเพิ่มภาระงวดการชำระช่วงท้ายสัญญาได้
ธปท. จึงอยากเห็นการปรับโครงสร้างหนี้มากกว่า การชะลอการชำระหนี้ หรือพักการชำระหนี้สองสามงวดในช่วงเวลาดังกล่าว เพราะการปรับโครงสร้างหนี้ที่สอดคล้องกับรายได้จะช่วยลูกหนี้ได้ยั่งยืนกว่า แต่ก็ยอมรับว่าขึ้นอยู่กับตัวลูกหนี้ที่บางกลุ่มอาจต้องจำเป็นช่วยชะลอหรือพักหนี้ไปก่อน ในระยะต่อไปก็ต้องมาดูกันว่าจะต้องออกมาตรการเพิ่มเติมอีกหรือไม่ ข้อมูลจากฝั่งเจ้าหนี้จะทยอยเข้ามาเรื่อย ๆ
หนี้ยังมีเท่าเดิม ที่เพิ่มเติมคือจะจ่ายได้อย่างไร ใจเราไม่อยากค้าง ไม่เคยคิดจะหนีหน้าหรือหนีหนี้ แต่ชีวีต้องรอดก่อน ขอท่าน (เจ้าหนี้) อย่าใจร้อน หากใช้ค้อน (กฎหมาย) ทุบเอา.. มันก็หมดกัน เราจะต้องซื้อเวลาและเดินหน้ากันไปอย่างทุลักทุเลครับในเวลานี้