คอลัมน์ เศรษฐกิจคิดง่ายๆ
“การกำกับดูแลสหกรณ์ออมทรัพย์ ทิศทางเป็นไปด้วยดี”
วันจันทร์ที่ 23 เมษายน 2561
ผมใคร่ขอชื่นชมท่านผู้บริหารกรม ส่งเสริมสหกรณ์ในส่วนของการก้าวเข้ามากำกับดูแลการนำเงินที่เกินจากการให้กู้ยืมแก่สมาชิก เนื่องจากมีกระแสรับฝากเงินมากกว่าเงินที่ปล่อยกู้ออกไปให้กับสมาชิก เงินที่เป็นสภาพคล่อง ดังกล่าวได้ถูกผันมาลงทุนในตลาดตราสารหนี้หรือตราสารทุน (หุ้น) ใช้วิธีการ
(1) ดำเนินการบริหารจัดการด้วยตนเอง
(2) มอบหมายให้บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนรับไปดำเนินการในรูปแบบการบริหารกองทุนส่วนบุคคล (Private Fund Management) ทั้งนี้ทุกสหกรณ์ มีเป้าหมายเพื่อสร้างรายได้ตามเป้าแต่ก็ต้องเป็นไปตามเกณฑ์ที่คณะกรรมการสหกรณ์แห่งชาติกำหนด โดยหุ้นที่จะซื้อนั้นจะต้องถูกจัดอันดับ (Rating) ไม่ต่ำกว่าระดับ A- ดังคำกล่าวของผู้บริหารจากภาครัฐที่ระบุว่า
“ลงทุนได้แต่ต้องไม่ต่ำกว่า A- ถามว่าเสี่ยงไหม ความเสี่ยงก็คือถ้าอัตราดอกเบี้ยในตลาดผันผวนนั่นแหละเป็นความเสี่ยง ที่คุมได้ในเวลานี้ก็คือคุมให้เขา (หมายถึงสหกรณ์ที่มีเงินเหลือ) ลงตามประกาศของคณะกรรมการฯ ต่ำกว่านี้ไม่ได้ ตอนนี้เรายังไม่จำกัดตัวเงินว่าลงได้เท่าไหร่ แต่เราคุมคุณภาพหุ้นต้องไม่ต่ำกว่า A- แต่เงินเรา (หมายถึงตัวกรมส่งเสริมฯ ในฐานะนายทะเบียน) ไม่ได้คุม เพราะว่าแต่เดิมปัญหาพวกนี้ไม่มี เพิ่งมามี 3-4 ปีนี่เอง หลังที่เงินในระบบสหกรณ์มันล้นมาก”
ถามต่อไปว่าแล้วขนาดของเงินที่จะไปลงทุนมันควรมีเกณฑ์ไหม ไม่ใช่จะลงทุนเท่าไหร่ก็ได้ หรือไปกู้ที่อื่นมาลงทุนได้ตามอำเภอใจ เพราะจะเป็นลักษณะค้าเงิน ค้าหุ้น โดยไม่เสียภาษี มากกว่าการบริหารสภาพคล่อง บริหารผลตอบแทนแน่นอน ทีนี้ถ้าเกิดไปเข้มมาก กำหนดให้ต่ำเกินไป สหกรณ์เงินเหลือมาก หรือลงทุนเกินไปแล้วก่อนกติกาออกมาทีหลังปัญหาก็จะเกิดทันที เพราะเขาก็ต้องเร่งเอาเงินเหลือนั้นไปปล่อยกู้ คุณภาพก็อาจดูน้อยลงไปหรือถ้าเอาไปปล่อยให้สหกรณ์ตามบ้านนอกกู้ก็เหมือน “สามล้อถูกหวย” เพราะสหกรณ์ที่รับไปกู้ต่อ พอได้เงินไปก็เอาไปปล่อยกู้ต่อ ตอนนี้หนี้ครัวเรือนของสมาชิกแต่ละคนตามบ้านนอกมันก็หนักอยู่แล้ว พอได้เงินล้น เงินเหลือให้มาปล่อยกู้ต่อ มันก็เหมือนไปซ้ำเติมปัญหาหนี้สินสมาชิกเข้าไปอีกคล้ายๆ กับโรคซ้ำกรรมซัด
ทั้งนี้ปัจจุบัน ธนาคารแห่งประเทศไทย โดยกระทรวงการคลังเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อกำหนดเกณฑ์ออกมาให้คุมสหกรณ์ที่ไปลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ว่าไม่ให้เกิน 20% ของทุนเรือนหุ้นหรือทุนสำรอง ซึ่งขณะนี้กรมส่งเสริมสหกรณ์กำลังอยู่ในระหว่างการพิจารณาร่างประกาศกำหนด แต่ยังไม่ได้ประกาศออกไป เนื่องจากเกรงว่าจะเกิดผลกระทบต่อสหกรณ์ออมทรัพย์10 กว่าแห่ง ที่ได้นำเงินไปลงทุนในส่วนนี้เกินเกณฑ์ที่กำหนด จะต้องดึงเงินกลับออกมาเป็นจำนวนแสนล้านบาท แล้วสหกรณ์ที่เงินได้ถูกดึงกลับมาก็ไม่รู้ว่าจะเอาเงินส่วนนี้ไปไว้ตรงไหน
ในเรื่องของการบริหารจัดการหากจะลงทุนจะต้องผ่านที่ประชุมใหญ่ให้ได้รับความเห็นชอบจากสมาชิกก่อนจึงจะนำเงินดังกล่าวไปลงทุนได้ เพื่อให้ตัวสหกรณ์ กรรมการบริหาร และสมาชิกสหกรณ์ได้รับรู้ว่าถ้าเอาไปลงทุนแล้วเกิดความเสียหายจะต้องรับผิดชอบร่วมกัน
“…ข้อควรคิดคือการลงทุนในตลาดหลักทรัพย์จำนวนเป็นแสนๆ ล้านบาทนั้น มีความเสี่ยง ถ้าการเจริญเติบโตเศรษฐกิจของประเทศดี การลงทุนก็จะมีผลตอบแทนสูงพอควร แต่ถ้าเมื่อไรเศรษฐกิจไม่ค่อยดี การลงทุนแทนที่จะได้ผลตอบแทน 5-6% ก็อาจจะได้เพียง 2-3% หากแต่จากมุมมองบนความคาดหวังของสมาชิกว่าจะได้เงินปันผลเท่านั้นเท่านี้ มันก็อันตรายต่อความเชื่อมั่น ความเชื่อถือ และความมั่นคง ผู้บริหารกรมส่งเสริมฯ ยังเชื่อมั่นว่า ก.ล.ต. เขายังคุมตลาดทุนได้ จึงไม่ค่อยน่าห่วงเท่าไหร่…”
ผมขอชื่นชมในการทำงานแบบ บัวไม่ให้ช้ำ น้ำไม่ให้ขุ่น ไม่หักด้ามพร้าด้วยเข่า ดูอย่างรอบด้านก่อนลงมือ เพราะเราทุกคนต่างรู้ว่า ความเชื่อถือ เชื่อมั่นสมาชิก คือสิ่งสำคัญที่สุดนั่นเอง