คอลัมน์ เศรษฐกิจคิดง่ายๆ
“พิโกไฟแนนซ์ เครื่องมือดีในปี’62”
นสพ.โพสต์ทูเดย์ : วันจันทร์ที่ 21 มกราคม 2562
ในประเทศของเรา ปัญหาการเข้าถึงแหล่งเงินของคนตัวเล็กตัวน้อย คนที่ไม่มีหลักประกัน คนที่สุจริต ขยัน อดทน ที่มีอยู่มากมายนั้น เป็นเรื่องที่สะสมยาวนาน จนอาจถือได้ว่า มันคือเรื่องของความเหลื่อมล้ำในการมีทุนเพื่อทำมาค้าขาย ในขณะที่คนที่รับเงินฝากเอามาปล่อยกู้ก็สนใจแต่จะให้กับคนตัวใหญ่ ให้ยักษ์ใหญ่เป็นร้อยเป็นพันล้าน ดอกเบี้ยก็อาจจะถูกมาก แต่สำหรับคนตัวเล็กตัวน้อยดอกเบี้ยร้อยละ 3 ต่อเดือน ถือว่าวิเศษสุดแล้ว
พิโกไฟแนนซ์จึงได้เกิดขึ้นมาในรัฐบาลชุดนี้เพื่อเป็นเครื่องมือในการลดความเหลื่อมล้ำ ดูแลคนตัวเล็กให้เป็นธรรม ช่วยในการจัดสรรและการ กระจายทุนให้ดีขึ้น ทั่วถึง ดอกเบี้ยที่คิดก็เอากันพอจะอยู่กันไปได้แบบไทยๆ ดีกว่าไปกู้นอกระบบและมีการติดตามหนี้ ทวงถามหนี้แบบไม่คำนึงถึงความเป็นมนุษย์แน่นอน
ข้อมูลล่าสุดจากรายงานของกระทรวงการคลัง พบว่า มีผู้สนใจ ยื่นคำขออนุญาตประกอบธุรกิจสินเชื่อพิโกไฟแนนซ์ ตั้งแต่เดือน ธ.ค. 2559 ถึงเดือน พ.ค. 2561 หรือช่วงสองปีนั้นมีบุคคลยื่นคำขออนุญาตทั้งสิ้น 805 ราย ใน 73 จังหวัด และมีผู้ได้รับ ใบอนุญาตประกอบธุรกิจแล้ว 412 ราย ใน 65 จังหวัด ซึ่งในจำนวนนี้ ได้เปิดดำเนินการแล้ว 350 ราย ใน 64 จังหวัด
ทั้งนี้ ผู้ประกอบการที่ได้รับอนุญาตสามารถปล่อยสินเชื่อได้ภายในเขตจังหวัดให้แก่ผู้มีภูมิลำเนาหรือถิ่นที่อยู่ภายในจังหวัดนั้นๆ จะออกนอกเขต ไม่ได้ในวงเงินรายละไม่เกิน 5 หมื่นบาท คิดดอกเบี้ยในอัตราไม่เกิน 36% ต่อปี
คำถามต่อมาคือแล้วในการปล่อยกู้นั้นเครดิตบูโรในฐานะโครงสร้างพื้นฐานของระบบสถาบันการเงินหรือด้วยความเป็นถังข้อมูลคนที่มีหนี้สินส่วนใหญ่ในประเทศไทยจะเข้าไปมีส่วนช่วยได้หรือไม่ เพราะคนให้กู้ก็ควรมีข้อมูลคนที่มาขอกู้มากพอสมควร มันจะได้ไม่เกิดปัญหาหนี้เสียขึ้นมาแบบในอดีต ดังนั้นคณะกรรมการคุ้มครองข้อมูลเครดิต (กคค.) ซึ่งมีผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทยเป็นประธาน กคค.จึงได้ออกประกาศกำหนดให้นิติบุคคลที่ประกอบธุรกิจสินเชื่อรายย่อยระดับจังหวัดภายใต้การกำกับ (พิโกไฟแนนซ์) และมีการให้สินเชื่อเป็นทางการค้าปกติเป็นสถาบันการเงินตามกฎหมายการประกอบธุรกิจข้อมูลเครดิต โดยมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจาฯ เมื่อวันที่ 14 ม.ค. 2562
ผลของประกาศข้างต้นจะทำให้ พิโกไฟแนนซ์สามารถสมัครเป็นสมาชิกของบริษัท ข้อมูลเครดิตแห่งชาติ หรือเครดิตบูโร อันจะส่งผลให้พิโกไฟแนนซ์ที่เป็นสมาชิกเครดิตบูโร เข้าถึงฐานข้อมูลของผู้กู้ที่เป็นประชาชนรายย่อยเพิ่มขึ้น นอกเหนือจากข้อมูลด้านอื่นๆ เช่น ข้อมูลรายได้ที่คนขอกู้นำมาแสดงอีกด้วย การพิจารณาให้สินเชื่อแก่ประชาชนฐานรากจะได้เกิดความแม่นยำ และลดความเสี่ยงของการเกิดหนี้เสียลง และยังทำให้ลดความเสี่ยงเป็นประโยชน์ต่อระบบสถาบันการเงินโดยรวมเพิ่มขึ้นด้วย เพราะความเสี่ยงเรื่องหนี้เสียจะลดลง และวินัยทางการเงินของผู้คนที่กู้เงินไปน่าจะดีขึ้น
น่าดีใจนะครับ ที่ผลดำเนินงาน ของพิโกไฟแนนซ์เป็นไปอย่างน่าชื่นชม กล่าวคือมียอดสินเชื่ออนุมัติสะสม 46,201 บัญชี รวมเป็นเงิน 1,278.29 ล้านบาท หรือคิดเป็นสินเชื่ออนุมัติเฉลี่ย 27,667.88 บาท/บัญชี ประกอบด้วย สินเชื่อแบบมีหลักประกัน 24,987 บัญชี เป็นเงิน 766.83 ล้านบาท และสินเชื่อแบบไม่มีหลักประกัน 21,214 บัญชี
ขณะที่ยอดสินเชื่อคงค้างรวมของพิโกไฟแนนซ์มีทั้งสิ้น 19,775 บัญชี คิดเป็นเงิน 570.39 ล้านบาท สำหรับสินเชื่อที่ค้างชำระไม่เกิน 3 เดือนเรียกว่าพวกกำลังจะเสียหรือกลุ่มเสี่ยง มีจำนวน 1,793 บัญชี คิดเป็นเงิน 56.36 ล้านบาท หรือ 9.88% ของยอดสินเชื่อคงค้างรวม และมีสินเชื่อค้างชำระเกินกว่า 3 เดือน หรือเป็นหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (หนี้เสีย) จำนวน 477 บัญชี คิดเป็นเงิน 16.65 ล้านบาท หรือ 2.92% ของสินเชื่อคงค้างรวม
ประโยชน์ทางอ้อมเพิ่มเติมยัง มีอีก เช่น
1.ฐานข้อมูลเครดิตบูโรเพิ่มขึ้นและครอบคลุมเจ้าของข้อมูลในกลุ่มต่างๆ อันจะนำมาซึ่งการสร้างความรู้เรื่องทางการเงิน การสร้างวินัยทางการเงิน
2.ระบบของประเทศจะมีข้อมูลประวัติสินเชื่อของ Micro SME, Startup ในระบบ ดังนั้นการทำนโยบายส่งเสริมจะตรงเป้าตรงจุด
3.คนขอกู้ที่ไม่มีประวัติทางการเงินจะได้มีโอกาสในการเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้มากขึ้น
4.ในท้ายที่สุดระบบสถาบันการเงินจะมีเสถียรภาพ เกิดความมั่นคงกับเศรษฐกิจสังคมของประเทศในระยะยาวต่อไป
ขอขอบคุณข่าวสารข้อมูลจากสื่อสารมวลชนที่ได้นำเอาผลงานของสถาบันการเงินภายใต้ใบอนุญาตนี้มาเป็นจุดเริ่มของบทความนี้นะครับ