เศรษฐกิจคิดง่ายๆ (ดิจิทัล) “อย่าไปโทษสินเชื่อ​ 0% ให้โทษใจของเรา (ทุกฝ่าย)​ ที่ทำลงไป” www.posttoday.com วันจันทร์ที่ 30 กันยายน 2562

อย่าไปโทษสินเชื่อ​ 0% ให้โทษใจของเรา (ทุกฝ่าย)​ ที่ทำลงไป

เมื่อมีข่าวคราวบนหน้าสื่อเกี่ยวกับหนี้สินครัวเรือนไทยออกมา​ มันเหมือนกับการเอาหินทุ่มลงไปในแผ่นน้ำที่ราบเรียบ​ สังคมเราก็จะตั้งหน้าตั้งตาวิจารณ์​ สังคมที่เอาแต่พูดแต่ไม่ทำ​ที่ฝรั่งมันมาประชดเราว่า​ No action talk only ตัวอย่างเช่น
1.คนเป็นลูกหนี้ก็โทษคนปล่อยกู้ว่าเอาของมายั่วยุ​ ยั่วยวน​ ในการขาย ทั้งที่ถ้าเราใจแข็งไม่ซื้อมันก็จบ
2.คนที่เป็นคนให้กู้​ ก็คิดแต่จะเอาให้ได้เป้า​ เอาให้ผ่าน​ KPI ไม่ทำก็ถูกนายกดดันทั้งที่รู้ว่าให้เงินกู้ไป​ เดี๋ยวก็อาจมีปัญหา
3.คนที่คุมกติกา​ ก็ออกมาว่าคนที่​ 1 ว่ามีพฤติกรรมสุ่มเสี่ยง​ ออกมาตำหนิคนที่​2 ว่าให้กู้โดยอาจจะขาดความรับผิดชอบ​ แล้วก็ออกเกณฑ์​วันนี้ทั้งที่มันควรจะทำตั้งแต่เมื่อวาน​
4.นักวิชาการที่ออกมาบอกว่าต้องให้ความรู้สิ ความรู้ทางการเงิน แล้วก็ไม่บอกว่าจะต้องทำอย่างไร​ หรือ​ How to พูดกันไปจนป่านนี้ในหลักสูตรการเรียนการสอนในสถาบันการศึกษา​ยังไม่มีอะไร​ คุณครูบางท่านจะสอนอย่างไรในเมื่อท่านกลับบ้านไปท่านยังเจ็บใจว่าตนเองยังทำไม่ได้ในสิ่งที่สอนเพราะหนี้สหกรณ์ออมทรัพย์​ที่กู้มายังเพียบ
5.คนที่เก็บข้อมูลก็พยายามจะเสนอ​ จะบอกว่าให้เก็บข้อมูลรายได้ตอนที่สถาบันการเงินอนุมัติแล้วกำหนด​ DSR​ เหมือนในไต้หวันตั้งแต่ปี​ 2558 เพราะว่าเขาเคยเจอเรื่องหนี้บัตรหนี้สินเชื่อส่วนบุคคล​ พูดในเวทีวิชาการก็แล้ว คำตอบที่ได้คือเห็นด้วยนะ​ น่าสนใจ​ แต่เราติดขัดกฎหมาย​ คนเก็บข้อมูลก็บกพร่องที่ยอมแพ้ตั้งแต่วันนั้น​ พอได้ฟังข่าววันนี้ว่าจะเริ่มเก็บข้อมูลรายได้ตั้งแต่มิถุนายน​ 2562​ แล้วค่อยออกกติกาแบบเบาๆในปี​ 2563 ก็ได้แต่นึกถึงคติไทย​ กว่าถั่วจะสุก​ งาก็ไหม้  หรือตีเหล็กเมื่อร้อน​ มาตีเหล็กตอนเย็น​ พอดีพอร้ายฆ้อนก็กระดอนใส่หน้าเอา​

ดังนั้นหนี้ครัวเรือนที่พุ่งขึ้นมาจนถึงขณะนี้ล้วนเกิดจากการบริหารจัดการจากน้ำมือพวกเราเหล่าบุคคลที่เกี่ยวข้องทั้งสิ้น​ ในอดีตมีคำกล่าวของท่านอาจารย์​ที่ดำรงตำแหน่งในธนาคารกลางที่ผมเคารพนับถือท่านได้พูดไว้ว่า​ “หากเราเป็นคนที่ต้องรับผิดชอบงานแล้ว​ เราต้องทำสิ่งที่ควรทำ​ และที่สำคัญมากกว่าคือเราต้องไม่ทำในสิ่งที่ไม่ควรทำ” คำถามที่ผมขอทิ้งไว้คือ​ สิ่งที่ไม่ควรทำในวันนั้นคือการละเลยแล้วปล่อยให้ปัญหาที่คาดว่าจะเกิดมันผ่านหน้าเราไปโดยเราไม่จัดการงานตามสมควรแก่เหตุปัจจัย​ จะด้วยอะไรก็แล้วแต่จะหาเหตุผลมาอธิบาย​ แต่วันนี้งานชิ้นนั้นมันได้กลับมาอยู่ตรงหน้าอีกครั้งหนึ่งแล้ว… และเรายังจะทำแบบเดิมๆ​ เพื่อหวังให้ได้ผลที่แตกต่างจากเดิมหรือ​ ถามใจเราดูอย่าไปถามใคร

สินเชื่อ​ 0% มันถูกออกแบบมาให้กับคนที่พร้อมจะเป็นหนี้​ ผ่อนได้​ บริหารจัดการรายได้ที่จะเอามาชำระได้​ ถ้าคนที่เป็นลูกหนี้มีภาระหนี้ที่ต้องชำระในแต่ละเดือนรวมไอ้ตัว​ 0% นี้เข้าไปแล้วคิดเป็นไม่เกิน​ 40-50% ของรายได้ เช่น​ เป็นพนักงานออฟฟิศ​ มีรายได้ 40,000 บาทต่อเดือน​ มียอดผ่อน​รถ ยอดจ่ายบัตรเครดิตรวมไอ้​ 0% ที่ผ่อนกล้องถ่ายรูปเพื่อจะเอามาถ่ายรูปหารายได้พิเศษส่งพวกรีวิวสินค้า​รวม 20,000 บาท​ เหลือกินใช้และออมแต่ละเดือน 20,000 บาท อย่างนี้มันก็ปลอดภัย​ แต่กลับกันถ้าเป็นอีกคนที่มีรายได้ 30,000 บาทต่อเดือน​ ผ่อนทุกสิ่งอย่าง 20,000 บาทอยู่แล้ว​ คิดจะไปเที่ยวบาหลีจึงไปผ่อน 5,000บาทต่อเดือน 6 งวด​ 0% คือเป็นหนี้เพิ่ม 30,000 บาท (เที่ยวไปก่อนผ่อนทีหลัง) รวมยอดผ่อนมันก็จะกลายเป็น 25,000 บาท หลังจากที่ไปเที่ยวกลับมา​ คำถามคือเงินที่เหลือในแต่ละเดือน​จำนวน 5,000 บาท​ จะอยู่อย่างไรใน​ 30 วันครับ​ ถ้าคำตอบคือไปตายเอาดาบหน้า​ หรือไม่เป็นไร​ เดี๋ยวค่อยว่ากัน​ ไปเที่ยวก่อนไม่งั้นไม่มีโอกาส​ ถ้าอย่างนี้ก็จบข่าว​

คนที่มีลักษณะเปราะบางและไม่ควรเติมหนี้แม้ว่าอยากจะได้ของผ่านการกู้​ 0%ก็ตามได้แก่
1.น้องๆที่เพิ่งเริ่มทำงาน​ เริ่มมีรายได้​ ยังไม่มีเงินออมมากพอ​ ที่สำคัญยังพ่ายแพ้ต่อใจในการอยากได้ของต่างๆที่ไม่จำเป็น​ แต่อยากได้โน่นนี่บนความอยาก
2.ท่านที่มีรายได้น้อยกว่า​ 30,000 บาทต่อเดือนและท่านมีหนี้ที่ต้งผ่อนเยอะอยู่แล้วจำนวนหนึ่งในแต่ละเดือน​ หรือท่านมียอดเงินหลังหักหนี้ที่ต้องจ่ายแล้วในแต่ละเดือนเหลือประมาณ​ 10,000บาทต่อเดือน​ ท่านจะอยู่อย่างไรใน​ 30วันด้วยเงินจำนวนดังกล่าว
3.ท่านผู้สูงวัยอายุประมาณ​ 55 ปีที่กำลังจะเกษียณ​ แต่เวลานี้มีหนี้ก้อนใหญ่ที่ยังคิดไม่ตกว่าหลังเกษียณแล้วจะเอารายได้ตรงไหนไปผ่อน​ ดังนั้นไม่ว่าหนี้ก้อนเล็กก้อนน้อย​ ท่านไม่ควรสร้างเพิ่มอีกแล้ว

ท่านที่กำลังวางแผนจะขยายธุรกิจสินเชื่อในปีหน้าขอความกรุณาคิดสักนิดว่าการทำธุรกิจ​ มีกำไร​ ได้เป้า​ ทะลุ​ KPI แต่อาจทำร้ายคนที่เป็นลูกหนี้ในระยะยาวนั้นสมควรไหม… มันไม่ต่างจากการล่อให้น้องพริตตี้กินเหล้าเพียวๆ เป็นช็อต โดยล่อด้วยเงินช็อตละหนึ่งพันเป็นรางวัล​ เพราะฉากจบสุดท้ายลูกของน้องพริตตี้ต้องกำพร้าแม่…. เราทุกท่านล้วนรักและอยากเห็นสังคมไทยในระยะต่อไป​ มีความอยู่เย็นเป็นสุขตามฐานานุรูปใช่หรือไม่​ เรามาร่วมมือกันแก้ไข​ ไม่แก้ตัว​ และเริ่มต้นวิพากษ์ตัวเอง​ จากนั้นลงมือทำกันครับ

จะสายไปหรือไม่​อย่าไปคิด​
ลงมือทำ​ครับ และทำในสิ่งที่ควรทำเดี๋ยวนี้ครับ