เศรษฐกิจคิดง่ายๆ (ดิจิทัล) : “คนที่กลับไม่ได้แต่ก็ไปไม่ถึง เวลานี้จะมีอะไรช่วยเขาได้บ้าง” www.posttoday.com วันจันทร์ที่ 11 พฤศจิกายน 2562

คนที่กลับไม่ได้แต่ก็ไปไม่ถึง​ เวลานี้จะมีอะไรช่วยเขาได้บ้าง

บทความวันนี้เกิดจากการได้สนทนากับผู้คนที่มีปัญหาการชำระหนี้เพราะก่อหนี้มาเป็นจำนวนหนึ่งซึ่งมากพอสมควรแล้วก็พอกพูน​ เพิ่มเติมขึ้นมาเรื่อยๆ​ แม้ว่าท่านเหล่านั้นจะมีความรู้เรื่องทางการเงินระดับหนึ่ง​ ไม่ใช่คนที่ไม่รู้เรื่องเลย​ เข้าใจเหตุและผลของการก่อหนี้​ แต่จะด้วยอะไรก็ไม่รู้ได้ดลบันดาลใจให้ท่านเหล่านั้นก่อหนี้​ และก่อหนี้อย่างต่อเนื่อง​ บางคนที่ผมคุยด้วยมีหนี้ที่ต้องชำระเดือนละสี่หมื่นบาททั้งค่าผ่อนบ้าน​ ผ่อนรถยนต์​ ผ่อนเฟอร์นิเจอร์​ ผ่อนเครื่องใช้​ไฟฟ้า​ ผ่อนโทรศัพท์​เคลื่อนที่​ คือลิสต์​รายการออกมาแล้วต้องตอบว่า​ “แม่เจ้า… ผ่อนทุกสิ่งอย่าง” แล้วยังต้องมีค่าใช้จ่าย​ในการยังชีพอีกเดือนละอย่างน้อยสองหมื่น​ ในขณะที่เรากำลังคุยเรื่องจะจัดการกับกระแส​เงินสด​รับจ่ายอย่างไรให้สมดุล​ก็พบว่าบทสนทนาคืออยากไปดูใบไม้เปลี่ยนสี​ที่ญี่ปุ่น​ ผมก็ได้แต่คิดในใจว่าดูใบหน้าที่เปลี่ยนสีจากสดใสเป็นหมองคล้ำดูจะเหมาะมากกว่า​ ผมถามน้องคนนั้นว่า​ รู้ไหมว่าก่อนการก่อหนี้มันมีสูตรคิดนะ​ เขาก็เอาสิ่งที่เราๆท่านๆพยายามจะใส่เข้าไปในนิสัยมาเล่าให้ผมฟังอย่างภาคภูมิใจว่า

…. ก่อนเป็นหนี้ คิดดีแล้วหรือยัง?
การเป็นหนี้ต้องมีการวางแผนให้รอบคอบ ตอบคำถาม 4 ข้อนี้ให้ได้ก่อนที่จะเริ่มเป็นหนี้อีกครั้ง

1.การกู้ครั้งนี้ เป็นความอยากหรือจำเป็น?
ถ้าเป็นแค่ความอยาก กรุณาคิดพิจารณาให้ดีก่อนอาจสร้างความเดือดร้อน เกิดปัญหาขึ้นมาในภายหลัง

2.หนี้เดิมที่มีอยู่จะชำระคืนอย่างไร?
คิดพิจารณาให้ดีว่ามีแผนจะชำระหนี้อย่างไร ได้มีการวางแผนไว้หรือเปล่า?

3.หนี้ใหม่ที่ก่อ จะเอาเงินจากไหนมาชำระ?
กู้เงินมาแล้ว มีแผนที่จะหาเงินจากทางไหน หรือนำเงินส่วนไหนมาชำระ

4.หนี้ใหม่ + หนี้เก่า เกิน 70% ของรายได้ไหม?
คิดคำนวณยอดผ่อนที่จะต้องผ่อนในแต่ละเดือน ต้องใช้เงินส่วนไหนมาชำระ ถ้าจำเป็นต้องในเงินในกรณีฉุกเฉินเรามีเงินเหลือพอที่จะใช้ไหม?

5.ก่อนการก่อหนี้สิน​เราต้องสะสมเงินออม​ให้มากพอจำนวนหนึ่งเป็นกันชนชีวิตยามฉุกเฉิน​ ตัวเลขที่ต้องทำให้​ได้คือ​ ออมเงินสดให้ได้หกเท่าของค่าใช้จ่ายในแต่ละเดือน​ ถ้าเรามีค่าใช้จ่าย​เดือนละสองหมื่น​ เราก็ควรมีเงินออมกันชน​ แสนสองหมื่นบาททุกขณะ
(ขอบคุณข้อมูลจาก Wealth Me Up ที่เป็นแหล่งข้อมูลสำหรับคนที่ต้องการเรียนรู้)​

คำถามคือ​ คนที่รู้ทั้งรู้ว่าอะไรต้องทำ​ อะไรควรทำ​ อะไรที่ต้องไม่ทำ​ แต่ทำไมยังทำในสิ่งที่ไม่ควรทำ​ เมื่อทำแล้วก็เกิดทุกข์​ แม้รู้สาเหตุแห่งทุกข์​ รู้หนทางการดับทุกข์​ แต่ก็ยังพยายามสร้างสุข(วันนี้​เวลานี้)​บนความทุกข์(วันหน้าในอนาคต)​ทำไมยังพยายามทำกันเช่น​ ไปดูใบไม้เปลี่ยนสีด้วยเงินกู้ศูนย์​เปอร์เซ็นต์​ผ่อนหกงวด​ คือเที่ยวไปก่อนผ่อนทีหลัง​ ถ่ายรูปมาเป็นพันรูป​ แต่ต้องมานั่งคุยเรื่องยอดผ่อนทุกสิ่งอย่าง​ โดยยังหาทางออกไม่พบ​ และก็สรุปง่ายๆว่า​ เดี๋ยวมันก็มีทางไปของมัน​ เดี๋ยวมันก็ผ่านไป​ ทุกข์​ไปก็เท่านั้นเอง​

สุดท้ายเราก็จากกันด้วยบทสนทนาที่ว่า​ สุดท้ายถ้าจ่ายไม่ได้​ ต้องเป็นหนี้เสีย​ ก็คงต้องไปเข้าโครงการคลินิคแก้หนี้​ ผมได้แต่คิดในใจว่า​ ตอนนี้น้องเขาอยู่ในโรงพยาบาลแล้วเพียงแต่เชื้อโรคหนี้ร้ายในร่างกายมันรอเวลาปะทุออกมาเท่านั้น​

… ใบไม้เปลี่ยนสี​ เสื้อผ้าสวยงาม​ รองเท้าที่มันต้องมี​ รูปถ่ายเป็นพัน​ Update​ เฟซบุ๊กนิ้วไถไปบนมือถือ​ ยิ้มกับตัวเอง​ ชีวิตมันต้อง​ worklife balance แต่ตอนกลืนน้ำลายระหว่างจิบกาแฟคาปูชิโน่ร้านดังแก้วละ​ 115บาท​ ทำไมน้ำตามันรื้นขึ้นมา​ เดือนนี้จะเอาตรงไหนไปผ่อนสี่หมื่นอ่ะ….