สถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์ พลังปัญญาเพื่อสังคมไทย
สถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์ ก่อตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2558 โดยปีนี้ได้ดำเนินการมาครบรอบ 5 ปีแล้ว สถาบันแห่งนี้ได้สร้างสรรค์งานวิจัยที่มีคุณภาพและสนับสนุนนโยบายเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจไทย อีกทั้งยังเป็นที่รวบรวมนักวิจัยชั้นนำมากมายที่มีเป้าหมายเดียวกันคือ การศึกษาค้นคว้าในเรื่องราวที่เป็นประโยชน์ต่อประเทศ
เมื่อหลายปีก่อน ผู้เขียนได้พบกับ ดร.ปิติ ดิษยทัต (อดีตผู้อำนวยการสถาบันฯ คนแรก) ซึ่งดูแลสถาบันวิจัยฯ นี้ในสมัยนั้น พอได้พูดคุยกันและเห็นถึงความมุ่งมั่นเมื่อเวลาที่ต้องแสดงความคิดเห็นบนเวทีสาธารณะ ทำให้ภาพจำในระบบคิดสังคมไทยที่มักถูกใครต่อใครกล่าวว่าไว้ถูกทำลายลงไป
… คำกล่าวที่ว่ากลุ่มนักวิชาการ เอาแต่ศึกษา วิจัย ผลัดกันเขียน เวียนกันอ่าน ผ่านกันชม ไม่มีความเข้าใจสังคมที่หลากหลายซับซ้อน โดยเฉพาะประเด็นที่เป็นปัญหาประเทศที่ซ่อนอยู่และได้สร้างความอยุติธรรมในหลายเรื่อง ย้ำอีกครั้งนะครับว่าวาทกรรมดังกล่าวได้ถูกความตั้งใจของนักวิจัยไทยกลุ่มนี้ “ทำลายลงไป” ในระดับที่น่าพอใจ
ความมุ่งมั่นในการหาฐานข้อมูลดิบเพื่อนำมาวิจัยในประเด็นต่างๆ ทำให้องค์กรที่ดูแลข้อมูลคนที่เป็นหนี้ในระบบสถาบันการเงินไทยอย่างเครดิตบูโรตัดสินใจดำเนินการจัดเตรียมและส่งมอบข้อมูลจำนวนมากภายใต้กฎระเบียบที่ออกมากำกับดูแลการใช้ข้อมูล เช่น ข้อมูลสถิติระดับรายสัญญาเงินกู้ ในช่วงเวลานับสิบปี และที่สำคัญข้อมูลดังกล่าวได้ถูกทำให้ปราศจากตัวตน ไม่กระทบสิทธิความเป็นส่วนตัว และท้ายที่สุดสามารถทำให้ข้อมูลสถิตินี้เป็นสินค้าสาธารณะ (public good) ที่คนเก่ง คนดี ได้สามารถเข้าถึง เอาไปทำเป็นความรู้ เอาไปสร้างปัญญาในการแก้ไขปัญหาของชาติบ้านเมืองผ่านการออกแบบนโยบายที่มาจากฐานความรู้จริง ไม่ใช่มาจากความรู้สึก เช่นมาตรการเข้มงวดในการก่อหนี้บัตรเครดิต สินเชื่อส่วนบุคคล ในบางกลุ่มรายได้ เป็นต้น
กลับมาที่งานของผู้คนในสถาบันวิจัยแห่งนี้อีกครั้งครับ จุดที่ผู้เขียนมองเห็นเด่นชัดมากๆ คือ นักวิจัยในสถาบันฯ แห่งนี้คือ
1.ไม่ใช่คนที่เบื้อใบ้อยู่แต่ในเรือน ไม่ฟังคนอื่น คิดว่าตนเองถูก และสูงส่งกว่าใครต่อใคร (อาจเป็นเพราะมีอวิชาว่าฉันคือPublic trust คนจึงต้องเชื่อต้องฟังสิ)
2. สร้างเครือข่ายแห่งผู้คนที่ค้นหาความรู้แจ้งเห็นจริง ไม่จำกัดคนที่ทำงานด้วยว่าเป็นนักวิชาการ เป็นคนทำงานแบบไหน ไม่ต้องเรียนเศรษฐศาสตร์ ไม่ต้องเรียนสถาบันระดับโลก แต่เป็นกลุ่มคนที่เข้าถึง-เข้าหาง่าย บ้านๆ มีอารมณ์ขันในงานที่เครียด อันนี้มาจากสิ่งที่ผู้เขียนสัมผัส
3. มีความเป็นอิสระในการนำเสนอความเห็นและสิ่งที่ค้นพบอย่างตรงไปตรงมา เพราะในบางองค์กร เมื่อผลงานผ่านสายการบังคับบัญชาที่ยาว โบราณ และขลาดกลัวต่อการถูกกระแทกจากพลังภายนอก ที่สุดก็มาปรับแต่งความแหลมคมของงานวิจัยให้ไร้พลัง ประนีประนอม จึงยากที่จะสร้างการเปลี่ยนแปลงไปสู่สิ่งใหม่ๆ
ท่านผู้อ่านสามารถติดตามการเผยแพร่บทความวิจัยเชิงลึก (PIER Discussion Paper) และบทความวิจัยฉบับย่อ (aBRIDGEd) ผ่านเว็บไซต์ www.pier.or.th รวมถึงได้สนับสนุนนักวิจัยภายนอก กิจกรรมทางวิชาการที่จะเป็นเวทีในการชี้นำความคิดด้านนโยบายสาธารณะ และให้นักวิชาการนำเสนอผลงานและแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันอย่างเปิดกว้าง
สิ่งที่ผู้เขียนในฐานะที่เป็นกัลยาณมิตรกับผู้คนของสถาบันนี้มาในระยะเวลาหนึ่ง อยากจะเห็น อยากจะเสนอความท้าทายกับก้าวที่กล้าในงานลำดับต่อไปของสถาบันวิจัยอันทรงคุณค่านี้คือ
อยากเห็นบทบาทและงานวิจัยที่จะส่งผลถึงการวิพากษ์บทบาท หน้าที่ ความรับผิดรับชอบขององค์กรการกำกับเสถียรภาพเศรษฐกิจไทยที่ทันต่อการแข่งขัน ทันต่อนายทุน ทันต่อปัญหาการกดทับทางชนชั้นของสังคมในกรอบของความมีอิสระในการนำเครื่องมือที่ตนเองคิดว่าดีไปใช้ให้เกิดผลอย่างที่ตนเองกำหนดเป้า และพิสูจน์ถึงการมีความรับผิดรับชอบในทางการเมืองกับความไว้วางใจของชาวบ้านตาดำๆ ที่เรียกว่าการเมืองของพลเมือง (คล้ายๆ กับการสอบวิทยานิพนธ์กับชาวบ้าน) ท้ายสุดคือความมีประสิทธิผลในการสื่อสาร พูดจา พูดคุยในกับคนในชนชั้นรากแก้ว รากหญ้า คนแบบบ้านๆให้ได้เข้าใจได้ว่า ความอยูดีมีสุดของเขาเหล่านั้นบางส่วนไม่มากก็น้อยอยู่ในความรับผิดชอบของใคร
ท่านอาจารย์ป๋วย เคยแสดงความกล้าหาญวิพากษ์และชี้แนะรัฐบาลที่ตั้งท่านมาดำรงตำแหน่งต่างๆ หากแต่ลาภ ยศ สรรเสริญ ผลตอบแทนรายปีรายเดือน และอำนาจในการสั่งผู้คนที่มากล้นจากการแต่งตั้ง ไม่อาจทำลายหรือบั่นทอนขีดความสามารถในการแสดงความเป็นอิสระทางวิชาการบริสุทธิ์ที่เอาบ้านเอาเมืองเป็นที่ตั้งได้ ในโอกาสนี้ผู้เขียนจึงขอแสดงความชื่นชมสถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์ และผู้คนภายในองค์กรด้วยจิตคารวะยิ่งครับ