ตัวเลข ณ สิ้นไตรมาส 1 ก่อนผลกระทบของ COVID-19 จะเริ่มรุนแรงตัวเลขที่เห็นเป็นอย่างไร
หลายๆ สถาบันที่มีข้อมูล มีความรู้ มีการศึกษาเรื่องราวความเป็นไปต่างๆในระบบเศรษฐกิจของประเทศไทยเราในแง่มุมต่างๆ จะออกมาให้ข้อมูลที่น่าสนใจต่อสาธารณะให้ได้รับทราบด้วยมูลเหตุจูงใจหลายประการคือ
1.แสดงผลงานที่ตนได้ศึกษาวิจัยออกมาในวงกว้าง
2.แสดงข้อมูลที่สำคัญเพื่อชักชวนให้คนคิดตาม และนำไปวางแผนในการดำเนินงาน ดำเนินชีวิต อันนี้รวมถึงการให้คำแนะนำ และการส่งสัญญาณเตือนในทางบวกและลบ
3.ให้ข้อมูลพื้นฐานเพื่อให้คนที่สนใจและมีวิชาความรู้นำไปศึกษาเพิ่มเติม นำไปผสมผสานกับข้อมูลที่เขาคนนั้นมี แล้วในท้ายที่สุด ก็จะนำไปสู่การสร้างทางเลือก ทางแก้ไขปัญหาที่กำลังเกิดขึ้น หรือคาดว่ากำลังจะเกิดขึ้น เพื่อลดความรุนแรงและผบกระทบต่อระบบเศรษฐกิจในท้ายที่สุด
บริษัท ข้อมูลเครดิตแห่งชาติ จำกัด (เครดิตบูโร) ในฐานะที่เป็นบริษัทซึ่งมีคำว่า “แห่งชาติ” ต่อท้ายก็มีบทบาทตามข้อ 2 และ 3 ข้างต้นเหมือนกัน ในยามที่ทุกภาคส่วนได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสสายพันธุ์ใหม่หรือ COVID-19 โดยเฉพาะระบบเศรษฐกิจ การเงิน สถาบันการเงิน และคนที่เป็นลูกหนี้ ดังนั้นเมื่อสิ้นไตรมาส 1 ของปี 2563 เครดิตบูโรจึงใคร่ขอเสนอข้อมูลบางส่วนที่สำคัญมากดังนี้คือว่า ณ 31 มีนาคม 2563
1.ที่เครดิตบูโรมีสมาชิกที่เป็นสถาบันการเงินจำนวน 103แห่ง หากแต่ยังไม่รวมถึงสหกรณ์ออมทรัพย์หลายร้อยแห่ง และไม่รวม 2 บริษัทผู้ให้สินเชื่อรถแลกเงินรายใหญ่ของตลาดสินเชื่อดังกล่าว
2.ที่เครดิตบูโร เรามีจำนวนบัญชีสินเชื่อของบุคคลธรรมดาคือ นาย ก. นาย ข. กว่า 108 ล้านบัญชี ครอบคลุมคนที่เป็นลูกหนี้ของ 103 แห่งของสถาบันการเงินสมาชิกจำนวนประมาณ 28 ล้านคน
3.ที่เครดิตบูโร เรามีข้อมูลจำนวนมูลค่าหนี้ที่บุคคลธรรมดากู้มาแล้วไม่ว่าจะเป็นสินเชื่อบ้าน สินเชื่อรถยนต์รวมเช่าซื้อ สินเชื่อบัตรเครดิต และสินเชื่อส่วนบุคคลจำนวนรวมกันถึง 11.7 ล้านล้านบาทเทียบกับหนี้ครัวเรือนไทยที่มีอยู่ถึง 13.3 ล้านล้านบาท
4.ในช่วง 3 เดือนแรกของปี 2563 สถาบันการเงินสมาชิกของเครดิตบูโรได้เข้ามาดูข้อมูลลูกค้าคนที่มาขอยื่นกู้ที่เรียกว่า Credit bureau report enquiry for new loan จำนวนเฉลี่ยเดือนละ 1.5 ล้านรายการ ซึ่งก็จะอนุมานเอาได้ว่ามีคนมายื่นขอกู้สถาบันการเงินสมาชิกของเครดิตบูโรคิดเป็นใบสมัครสินเชื่อของนาย ก. นาย ข. จำนวนเฉลี่ย 1.5 ล้านใบสมัครต่อเดือน (ในปีที่ประเทศเรามีโครงการรถยนต์คันแรก ในครั้งนั้นมีการเข้ามาดูข้อมูลในเครดิตบูโรสูงถึง 1.8 ล้านรายการต่อเดือนครับ)
5. ในช่วง 3 เดือนแรกของปี 2563 สถาบันการเงินสมาชิกของเครดิตบูโรได้เข้ามาดูข้อมูลลูกค้าเก่าที่ได้ให้กู้ไปแล้วในอดีต (Existing customer) ที่เรียกว่า Portfolio credit review enquiry จำนวนเฉลี่ยเดือนละ 5 ล้านรายการ ซึ่งก็จะอนุมานเอาได้ว่ามีการดูข้อมูลของลูกหนี้เก่าที่ตนเองได้อนุมัติไปแล้วเพื่อการบริหารความเสี่ยง เช่น
ดูว่าในเวลาตอนอนุมัติเขามีหนี้ทั้งหมดเท่าไหร่ มีหนี้ที่ไหนบ้าง เป็นหนี้ประเภทไหนบ้าง กี่บัญชี เทียบกับในปัจจุบันสถานะความเป็นหนี้เขาเป็นอย่างไร ดีขึ้น แย่ลง คงเดิม แล้วก็ลองเทียบดูกับรายได้ของลูกหนี้รายนั้นในตอนอนุมัติกับในเวลาปัจจุบันซึ่งเป็นช่วงเวลาเริ่มต้นของสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัส COVID-19 หรือจะดูว่า ทำไมลูกค้ารายนี้ค้างชำระที่บัญชีของสถาบันการเงินเรา แต่กับบัญชีเงินกู้ของสถาบันการเงินอื่นนั้นเขายอมไปชำระ ไม่เป็นหนี้ค้างชำระเหมือนที่ทำกับสถาบันการเงินเรา
หรือจะเอาข้อมูลไปแยกแยะลูกหนี้ใน Portfolio ของสถาบันการเงินเราว่า
ดีหนึ่งประเภทหนึ่งเป็นอย่างไร
ดีหนึ่งประเภทสองเป็นอย่างไร
หรือจะเอาไปแบ่งเกรดเป็น A, B, C, D
… ทั้งนี้ก็เพื่อไปกำหนดมาตรการป้องกัน มาตรการติดตามทวงถาม เป็นต้น
สาระดีกับเครดิตบูโร เศรษฐกิจคิดง่ายๆ (ดิจิทัล) : “ตัวเลข ณ สิ้นไตรมาส 1 ก่อนผลกระทบของ COVID-19 จะเริ่มรุนแรงตัวเลขที่เห็นเป็นอย่างไร” www.posttoday.com วันจันทร์ที่...