เศรษฐกิจคิดง่ายๆ (ดิจิทัล) : หน้าผาหนี้ครัวเรือน…ความจริงที่รออยู่ : วันจันทร์ที่ 20 กรกฎาคม 2563

หน้าผาหนี้ครัวเรือน…ความจริงที่รออยู่

ในช่วงเวลาที่ค่อนข้างยากลำบากของคนที่เป็นหนี้​ ไม่ว่าจะหนี้ที่ก่อเพื่อคุณภาพชีวิต​ หนี้ที่ก่อเพื่อความสะดวก​สบาย​ในชีวิต​ หนี้ที่ก่อเพื่อการประกอบสัมมาอาชีพ​ เมื่อเป็นหนี้แล้วก็ต้องใช้หนี้​ สัญญาต้องเป็นสัญญา​ หลักการดังกล่าวนี้เป็นพื้นฐานที่ทุกๆ คนต่างยอมรับนับถือมาโดยตลอด​ แต่ว่าเหตุการณ์​ในช่วงหกเดือนแรกของปี​ 2563​ ที่เข้ามาเริ่มจากช่วงปลายปีที่แล้วที่พบเห็นการแพร่ระบาดของไวรัสในประเทศ​จีน​ เหตุการณ์​ต่างๆ ที่เราต้องไม่ลืมซึ่งผู้เขียนขอไล่เรียงสรุปมามีดังนี้
1.ทางการยกระดับมาตรการป้องกัน​ด้านสาธารณสุขในระดับสูงสุด​ เพื่อแก้ไขปัญหาการแพร่ระบาดให้อยู่ในระดับที่ต่ำกว่าขีดความสามารถในการรองรับด้านสาธารณสุข​
2.ทางการสั่งให้ระงับการดำเนินธุรกรรมทางเศรษฐกิจ​ ส่งผลให้เกิดการชะงักของการหารายได้ (Income shock) ธุรกิจที่ต้องมีการรับเงินเข้าจ่ายเงินออกมีปัญหาติดขัด​ สะดุด​ การรักษาลูกจ้างพนักงานต้องใช้เงินทุนที่มีจำกัด
3.ทางการจัดชุดมาตรการเยียวยา​ แก้ไขกลุ่มที่ต้องได้รับความช่วยเหลือเช่นเติมเงิน​ ลดค่าใช้จ่าย​ ท้ายสุดคือรักษาเครดิต​ โดยใช้เงินหลวงในจำนวนที่มากมายแบบไม่เคยพบเห็นมาก่อน​
4.มาตการรักษาเครดิตคือการ “แช่แข็งหนี้” หมายถึงการชะลอการจ่ายเงินต้น​ จ่ายดอกเบี้ย​ ในรูปแบบต่างๆ​ โดยที่ไม่ถือว่าเป็นการ “ผิดนัดชำระ” ไม่มีการรายงานทางลบใดๆ เข้ามาในระบบของเครดิต​บู​โร​ซึ่งมาตรการนี้จะจบสิ้นราวเดือนสิบของปีนี้​ หากแต่ธนาคารของรัฐได้ขยายเวลาไปจนถึงสิ้นปี​ 2563 นี้​ พร้อมไปกับมาตรการเปิดเมืองแบบผ่อนคลายเป็นระยะๆ ตั้งแต่​ระยะ​ 1 ถึงระยะ​ 5 ในปัจจุบันก่อนมีเหตุกระตุกเรื่อง​ทหารอียิปต์​

คำถามคือ​ เมื่อถึงเวลาที่ต้องกลับไปใช้เกณฑ์​เดิมก่อน​เมษายน​ 2563​ คนที่มีหนี้แต่รายได้ไม่เหมือนเดิมจะมีใครบ้างที่ไปต่อไม่ได้​ ไปต่ออย่างทุลักทุเล​ ไปต่อได้อย่างหืดขึ้นคอ​ หรือไปต่อไม่ได้เพราะตกงานถาวร​ เป็นต้น​ ซึ่งเป็นเรื่องที่ทุกฝ่ายกำลังประเมินความรุนแรงของปัญหา

คำตอบคือ​ ยังไม่มีใครรู้​ แต่จำเป็นต้องสร้างความเข้าใจในปัญหาที่อาจจะเกิดขึ้น​ ท่านผู้อ่านต้องเข้าใจก่อนว่ามันมีหลักเกณฑ์​ดังนี้
1.บัญชีสินเชื่อใดมีการค้างชำระเกิน​ 90 วัน​ จะถือว่าเป็นหนี้เสียในภาษาชาวบ้านหรือภาษาทั่วไปคือ​ NPL
2.บัญชีสินเชื่อใดมีการค้างชำระแต่ยังไม่เกิน​ 90 วันจะถือว่าเป็นหนี้ที่ต้องติดตามใกล้ชิด​ ราชการเรียกว่าหนี้ที่กล่าวถึงเป็นพิเศษหรือ​ SM (Special Mention)

ทีนี้พิจารณาต่อตามตัวอย่าง​ นาย​ A. มีหนี้สินเชื่อส่วนบุคคลบัญชีหนึ่ง​ มียอดผ่อนต่องวด​ 1,000 บาท​ นาย​ A. ค้างมาแล้วนับวันได้​ 89 วัน​ จนถึงวันที่เขามีมาตรการแช่แข็งหนี้ คิดง่ายๆ คือค้างมาจะครบสามงวดแล้ว​และกำลังจะค้างต่อเป็นงวดที่สี่ พอดีมีมาตรการแช่แข็ง​หนี้เข้ามาทำให้ทุกอย่างไม่มีการขยับ​ วันที่จะนับว่าค้างต่อไปก็สะดุดหยุดลงไว้ก่อน​ วันเวลาก็ลากยาวมาจนสิ้นสุดโครงการถึงสมมุติ​ว่า​ 31​ ธันวาคม​ 2563 พอเปิดปีใหม่มาถ้านาย​ A. และเจ้าหนี้นาย​ A. ไม่ดำเนินการปรับโครงสร้างหนี้เชิงป้องกันหรือ​ DR (Debt Restructuring) เวลาก็จะเริ่มเดินต่อไป​ วันค้างชำระก็จะเริ่มนับอีกครั้งหนึ่ง​ ดังนั้นวันที่​ 1 มกราคม​ 2564 ก็จะเป็นวันที่​ 90 ของการค้างชำระ​ วันที่​ 2 มกราคม​ 2564 ก็จะเป็นวันที่​ 91​ ของการค้างชำระ​ บัญชีสินเชื่อนี้ของนาย​ A. ก็จะถูกกำหนดให้เป็นหนี้เสีย​ ตัวของนาย​ A.​ ก็จะกลายเป็นลูกหนี้ที่ถือว่าไม่ดี​ เป็นลูกหนี้ที่มีอย่างน้อยหนึ่งบัญชีค้างชำระเกิน​ 90 วัน​ นาย​ A. จะตกหน้าผาหนี้ที่ตนเองก่อ​ด้วยเหตุนี้เอง​

ประเด็นเทคนิคดังกล่าวไม่ยากที่จะทำความเข้าใจนะครับ​ แต่เป็นประเด็นละเอียดอ่อน​ ตอนนี้ทุกฝ่ายต่างต้องเร่งสำรวจ​ บัญชีสินเชื่อของลูกหนี้ตนที่มา​อยู่​ตรงอีก​ 1-2 วันก็จะตกหน้าผา​ ย้อนถอยไปว่ามีอีกกี่บัญชีสินเชื่อที่มีเวลามากกว่า​ 10 วัน 20 วัน 30 วัน 60 วันก่อนตกหน้าผา​ แล้วก็ต้องเร่งดำเนินการปรับโครงสร้างหนี้ตามขีดความสามารถการจ่ายหนี้ได้จริงๆ ของลูกหนี้​ เพื่อให้เป็นสะพานไม้ก้าวข้ามผ่านหน้าผานี้ไปต่อได้​

ในส่วนของคนที่ตกหน้าผาคือกลายไปเป็นหนี้เสีย​ ตัวลูกหนี้ก็ต้องเข้าสู่กระบวนการปรับโครงสร้างหนี้ที่มีปัญหาหรือ​ TDR (Trouble Debt Restructuring )​ ความต่างจาก​ DR คือมันมีคำว่าปัญหามาต่อท้าย​ แสดงให้เห็นถึงความร้ายแรงครับ​ ลูกหนี้อาจเดินต่อไปเข้าคลินิกแก้หนี้ถ้าตนเองมีคุณสมบัติครบ​ ซึ่งผู้เขียนสนับสนุนให้เข้าโครงการ​ หรือถ้าลูกหนี้เพิกเฉย​ ไม่ยอมทำอะไรเลย​ เจ้าหนี้ก็คงใช้สิทธิ​เรียกร้องเอาหนี้คืนตามสัญญา​และตามที่กฎหมายกำหนด​ สิ่งสำคัญในเวลานี้คือ​ บัญชีสินเชื่อและจำนวนลูกหนี้ที่อยู่แถวๆ หน้าผาหนี้ครัวเรือนมีจำนวนเท่าใด​ การปรับโครงสร้างหนี้จะทำได้มากและเร็วขนาดไหน​ ตัวลูกหนี้จะมีขีดความสามารถ​ในการชำระหนี้ได้ขนาดไหน​ และการแพร่ระบาดจะรุนแรงซ้ำเติมอีกหรือไม่​
จากวิกฤติ​ทางสาธารณสุข​ สู่วิกฤติ​ทางธุรกิจ​ ต่อไปยังวิกฤติ​ทางเศรษฐกิจ​ มันจะวนมาที่วิกฤติ​สถานบันการเงิน​ วนๆกันไปจนกว่าจะพบคำตอบทางการแพทย์​ ซึ่งก็ยังไม่ทราบวันเวลาที่แน่นอน​

เดินทีละก้าว
ทานข้าวที่ละคำ
ย้ำเตือนตนเองเสมอและ
ให้ละเมอทุกครั้งว่า​ “สงครามยังไม่จบ”
ขอบคุณครับที่ให้ความสนใจติดตามอ่าน