เป้าหมายให้ผู้คน สามารถ “รู้ ยื่น จ่าย รับ” ผ่านโทรศัพท์มือถือโดยภาครัฐ
ปัจจุบัน และอนาคต เรา ๆ ท่าน ๆ ต้องเข้าไปเกี่ยวข้องกับการให้บริการจากภาครัฐไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง เหตุเพราะเราทุกคนในประเทศกำลังเจอกับภาวะสงครามโรคระบาดโควิด-19 และความยากในการดำเนินชีวิตภายใต้ภาวะเศรษฐกิจที่ผันผวน ภาครัฐคือเจ้ามือใหญ่รายเดียวที่มีทั้งเงิน มีอำนาจในการออกข้อห้าม ข้อปฏิบัติ ที่ผ่าน ๆ มาเราก็จะไปเกี่ยวข้องกับรัฐบาล หน่วยงานของรัฐก็ต่อเมื่อมีเหตุจำเป็น ขณะเดียวกันเรา ๆ ท่าน ๆ ก็จะมีภาพจำของความยุ่งยาก ไม่สะดวก วุ่นวาย ขาดการอธิบายว่าทำไมต้องทำอย่างนั้นอย่างนี้ จนสุดท้ายคือเวลาที่เสียไปจากการติดต่อ รอแล้วก็รอว่าจะเสร็จเมื่อไหร่ ที่สำคัญคือเงื่อนไขการให้บริการนั้นต้องมาพบเห็นต่อหน้า ต้องมีการแสดงตน ต้องมีการพิสูจน์ ตัวตนว่าใช่คนนี้แน่ ๆ และยังต้องมีการยืนยันตัวตนจากหลักฐานต่าง ๆ ตามเงื่อนไขที่กำหนด พอโรคระบาดโควิด-19 มา มันก็มาเจอหน้ากันไม่ได้ เพราะต่างคนต่างกลัวอีกคนเอาเชื้อมาแพร่ใส่ให้กัน มันจึงมีความจำเป็นที่หน่วยงานของรัฐที่มีงานต้องไปเกี่ยวข้องกับชีวิตจริง ชีวิตประจําวัน ของผู้คน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องที่
ประชาชนควรต้องรู้
ประชาชนต้องยื่นเรื่องต่าง ๆ
ประชาชนต้องจ่ายชำระค่าอะไรก็ตาม
และเรื่องที่ประชาชนต้องเป็นขารับ รับเงิน รับบริการ รับประโยชน์ จากมาตรการต่าง ๆ
เรื่อง รู้ ยื่น จ่าย รับ แบบลดการเดินทางไม่ต้องมาเจอกัน แต่ยังมีผลครบทางกฎหมายจึงต้องมีการออกแบบมาเป็นการให้บริการประชาชนโดยหน่วยงาน แบบดิจิทัล ผ่านอะไร… ก็ผ่านอวัยวะที่ห้าของเราคือ “โทรศัพท์เคลื่อนที่” หรือที่เราเรียกว่า “มือถือ” นั่นเอง การทำงานร่วมกันของ สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (ก.พ.ร.) และหน่วยงานให้บริการ และสำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (องค์การมหาชน) สพร. หรือ DGA จึงได้เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรมจับต้องได้
เมื่อวันที่ 10 กันยายน 2564 ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล จึงได้มาเล่าให้ฟังถึงความสะดวกสบายของประชาชนในการเข้าถึงบริการรัฐในช่วงสถานการณ์การระบาดของไวรัสโคโรนา (COVID-19) ในเรื่อง “แอปฯ ทางรัฐ : บริการออนไลน์ภาครัฐที่เข้าถึงง่ายแค่ปลายนิ้ว” บริการต่าง ๆ ที่นำมาแสดงนั้น ใช้งานได้จริง ง่าย สะดวก ใคร ๆ ก็เข้าถึงผ่านโทรศัพท์มือถือ และทุกช่วงวัยน่าจะอยู่ในวิสัยทำได้แน่นอน เช่น
– กรมการปกครอง ดูแลเรื่องการพิสูจน์ และยืนยันตัวตน
– สำนักงานปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ดูแลบริการต่าง ๆ ให้กับผู้คนที่ด้อยโอกาส เปราะบาง ตามสิทธิ ที่คนไทยพึงมีพึงได้
– สถาบันทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติ (องค์การมหาชน) ดูแลเรื่องการประเมินผลและทดสอบทางการศึกษา
– บริษัท ข้อมูลเครดิตแห่งชาติ จำกัด (เครดิตบูโร) ดูแลเรื่องการตรวจสอบฐานะและความเป็นหนี้ของคนที่ขอตรวจสภาพทางการเงินของตนเอง
– สำนักงานประกันสังคม ก็มาพูดถึงบริการต่าง ๆ ในฐานะผู้ประกันตนตามมาตราต่าง ๆ ว่าสิทธิ ประโยชน์ และการเข้าถึง การได้รับตามมาตรการต่าง ๆ ที่รัฐจัดให้
จากแนวทางดังกล่าว สพร. จึงได้พัฒนาแพลตฟอร์มกลางขึ้นมาภายใต้ชื่อ “ทางรัฐ” ซึ่งเป็นแอปพลิเคชันที่ให้ประชาชนสามารถเข้าถึงบริการภาครัฐได้จากจุดเดียวได้ ทุกที่ทุกเวลาผ่านสมาร์ทโฟน โดยได้รับความร่วมมือจากหลากหลายส่วนราชการที่ต้องการให้บริการดิจิทัลที่สะดวกสบายแก่ประชาชน เมื่อประชาชนดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน ทางรัฐ ลงบนโทรศัพท์มือถือแล้วจะพบว่า สามารถเข้าถึงบริการต่าง ๆ จากภาครัฐ ได้ง่าย ๆ
ตัวอย่าง เช่น วัยแรกเกิด ซึ่งมีโครงการเงินอุดหนุนเพื่อการเลี้ยงดูเด็กแรกเกิดของประเทศไทยช่วยครอบครัวยากจนให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ของกรมกิจการเด็กและเยาวชน กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ที่สามารถเข้ามาตรวจสอบสถานะสิทธิได้ วัยเรียน ก็มีเมนูหนังสือรับรองผลฯ O-Net ที่สามารถดูผลคะแนนจากสถาบันทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติได้ และสำหรับวัยทำงานก็มีบริการภาครัฐรองรับการเติบโตต่อยอด ด้วยเมนูตรวจสอบเครดิตบูโร (แบบสรุป) ของบริษัท ข้อมูลเครดิตแห่งชาติ จำกัด และสามารถตรวจสอบสิทธิประกันสังคม ของ สำนักงานประกันสังคม สิทธิการรักษาพยาบาล สถานะผู้ประกันตนได้เพียงไม่กี่นาที สำหรับช่วงรอยต่อของวัยทำงานที่กำลังเตรียมเข้าสู่ช่วงวัยชรา ก็สามารถเช็กยอดเงินสมทบชราภาพผ่านแอปฯ ทางรัฐได้ด้วย โดยอนาคตจะมีการขยายความร่วมมือจากหน่วยงานต่าง ๆ เพื่อนำบริการที่มีความหลากหลายมากขึ้น มาให้บริการประชาชนได้อย่างใกล้ชิดติดมือถือ ซึ่งนับเป็นมิติใหม่ของบริการรัฐที่ร่วมมือกันทำให้เกิดศูนย์รวมบริการภาครัฐที่สามารถบริการประชาชนได้แบบเบ็ดเสร็จ ณ จุดเดียว ตอบสนองความต้องการของประชาชนได้ในทุกช่วงวัย ซึ่งต้องขอขอบคุณหน่วยงานรัฐทุกหน่วยงานที่เป็นเจ้าของบริการบนแอปพลิเคชันทางรัฐ ที่เล็งเห็นถึงความสำคัญของความร่วมมือในการสร้างองค์ประกอบต่างๆ ของการเป็นรัฐบาลดิจิทัลให้เกิดขึ้นได้อย่างครบถ้วนสมบูรณ์
ที่ผู้เขียนชอบก็คือการตั้งชื่อแอปพลิเคชันว่า “ทางรัฐ โดยล้อคำพ้องเสียงมาจากคำว่า “ทางลัด” อาจจะเนื่องเพราะจริตคนไทยเราทั่ว ๆ ไปก็จะชอบทำอะไรที่เป็นทางลัด ทางสะดวก เพราะที่ผ่านมาในอดีตประสบการณ์ มันทำให้ไม่พอใจ บ้างก็เลยเถิดไปจนเป็นการให้อามิสสินจ้าง เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับตนเอง บ้างก็ลัดคิวคนอื่นเค้า เป็นต้น ในอนาคตสิ่งที่ผู้เขียนอยากเห็นก็คือ การไปติดต่อราชการผ่านช่องทางนี้ ไม่ต้องมีการส่งเอกสารอะไรอีก หน่วยงานรัฐไปดึงเอกสารของผู้ยื่นเองหลังการพิสูจน์และยืนยันตัวตนผ่านแล้ว โดยเฉพาะเรื่องการฉีดวัคซีน การติดตามผล การออกใบรับรองเพื่อการเดินทาง เป็นต้น
อยากเห็นว่าในปี 2565 เปิด แอปพลิเคชัน “ทางรัฐ” แล้วจบในเรื่องที่มีผลกระทบต่อชีวิตประจำวัน มีการเชื่อมโยงไปยังบริการของสถาบันการเงินของรัฐ สวัสดิการของรัฐ มาตรการเยียวยาต่าง ๆ ที่จะจัดให้ กระดุมเม็ดแรกติดแล้ว ก็ได้แต่รอชมเสื้อที่สวยทั้งตัว ยามสวมใส่นะครับ เป็นกำลังใจให้กับผู้คนที่ทำงานเบื้องหลังหรือมดงานในทุกหน่วยงานนะครับ