คอลัมน์ เศรษฐกิจคิดง่ายๆ
“เรียนรู้จากคำฮิต SME Start up Digital Fintech Big data…”
วันจันทร์ที่ 30 เมษายน 2561
บทความวันนี้อยากจะขอเกริ่นนำด้วยการย้อนแย้งไปยังช่วงเวลาไม่ช้าไม่นาน ผ่านคำฮิตติดดาว ไม่ว่าจะเป็น SME, Start up, Digital, Model, Fintech, Big data, AI, Robotic, E-commerce และ ออเจ้า เดี๋ยวก็มาถึงคำว่า Platform ที่ปรากฏตามข่าวสารของสื่อต่างๆ ในเรื่องเศรษฐกิจที่มีการสื่อสารกันออกมาอย่างต่อเนื่อง มากน้อยตามสาระของประเด็นข่าวนั้นๆ
แต่ในมุมของชาวบ้านที่เดินตามถนนหนทาง หรือที่พอจะมีฐานความรู้ ฐานคิด ก็จะมีความเข้าใจกันประมาณนี้ เอาแบบบ้านๆ นะครับ ตัวอย่าง
SME หมายถึง คนที่ทำการค้าขาย ตอนนี้ขายไม่ดี ปรับตัวให้เก่งไม่ทัน (คนที่บอกประเด็นนี้ไม่เคยบอกวิธีแก้) จะไปหากู้เงินก็ยากถึงยากมาก แต่ก็ยังเรียกร้องเสมอว่าขอเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ เงื่อนไขผ่อนปรน มีอยู่ประมาณ 3 ล้านราย แต่พอถามไปลึกๆ ว่าเป็นใคร อยู่ไหน หน้าตาเป็นอย่างไร ใครมีปัญหาอะไร แบบลงทะเบียนผู้มีรายได้น้อยกลับพบว่าไม่มีข้อมูลชัดๆ จะจะ หรือชัดเจนสิ้นสงสัย (เอาแบบมีเลขบัตรประจำตัวประชาชนหรือเลขทะเบียนการค้านะครับ) สุดท้ายคือกลุ่มนี้มักถูกกล่าวถึง กล่าวหาว่ามีบัญชีหลายเล่ม และไม่เสียภาษีให้ถูกต้อง ในประเด็นว่ามีศีลห้าครบหรือไม่ ไม่มีข้อมูลครับ
Start up หมายถึง SME ลักษณะหนึ่ง มีอายุตัว อายุกิจการสั้น อยากจะค้าขาย อยากจะร่ำรวย อยากจะโดดเด่น ด้วยแนวคิดที่ตนเองคิดไม่เหมือนใคร (แต่ก็ไปลอกแนวคิดชาวบ้านเขามาบางส่วน หรือไปเอามาจากต่างบ้านต่างเมือง น้อยมากๆ ที่คิดต่าง คิดได้ใหม่แบบ Wow) แต่ขณะเดียวกันก็อยากมีชีวิตที่ดี แบบไปเที่ยว ไม่ต้องทำงาน หอมกรุ่นกับรสกาแฟทุกๆ เช้า โยคะทุกบ่าย และแฮงเอาต์ทุกศุกร์ คำถามคือเหงื่อไม่ออก มือไม่เปื้อน น้ำตาไม่ไหล เงินหรือรายได้จะมาได้อย่างไร จะอยู่กันแบบขายครีม ขายสาหร่าย ขายถั่งเช่า ขายกาแฟ ขายเบเกอรี่ ขายผลิตภัณฑ์เสริมอาหารเท่านั้นหรือ ยังหาคำตอบไม่ได้ในเวลานี้
Fintech หมายถึง ตัวผู้ให้บริการทางการเงินคนใหม่ๆ ที่แปลกแยกไปจากผู้คน สถาบันการเงินในอดีตและปัจจุบัน เขาเหล่านั้นมองว่า สิ่งที่ให้บริการทางการเงินในวันนี้มันไม่สะดวก มีต้นทุนที่แพง คิดค่าธรรมเนียมสูง ใช้เวลาพิจารณานาน บริการทางการเงินมันต้องชิลๆ มากกว่านี้ โอนเงินไปมาต้องง่ายเหมือนส่งสติ๊กเกอร์ กู้เงินต้องง่ายเหมือนไปดูหนัง อะไรประมาณนี้ เมื่อสถาบันการเงินปัจจุบันไม่คิดจะทำ เขาจึงจะลุกขึ้นมาทำแข่ง และประกาศด้วยว่าจะเข้ามาแย่ง เบียด อัด กระแทก สถาบันการเงินในปัจจุบัน โดยมักจะคิดว่ามีหมัดแย็บที่คม มีการเคลื่อนไหวพลิ้วดั่งผีเสื้อ แบบโมฮัมหมัด อาลี หากแต่ในความเป็นจริง “เวลาเล่นจะเป็นหมู แต่เวลาดูจะเป็นเซียน” พอขึ้นสังเวียนการแข่งขันเจอวิชาเทพ วิชามาร ก็ไปไม่เป็น ตัวอย่างเช่น กฎหมายฟินเทคที่จะมารองรับ หรือนโยบายที่ออกมา ว่าจะส่งเสริมให้ Start up ที่เป็น Fintech ออกมาให้บริการทางการเงิน เช่น P2P loan ที่พูดเมื่อปลายปี 2559 วันนี้ต้นปี 2561 จะเข้าไตรมาส 2 เกิดขึ้นแล้วหรือยัง มีอนุมัติกี่รายครับ ถ้ามีแจ้งออกมาด้วย
Platform หมายถึง …ผมยังไม่มีข้อมูลมาเขียนกระทบกระเทียบเปรียบเปรยครับ…แต่มีข้อมูลที่เป็นข่าวว่ามีเอกชนไทยวัยหนุ่มสาว คนรุ่นใหม่ไทยไปลงนามความร่วมมือกับทางการมาเลเซียหลายโครงการ เพื่อผลักดันการค้าออนไลน์ระหว่างประเทศอย่างเต็มรูปแบบ ตัวอย่างเช่น
(1) โครงการความร่วมมือ Website การค้าออนไลน์ของไทยกับผู้ให้บริการการค้าออนไลน์ของมาเลเซียเพื่อเชื่อมต่อการค้าออนไลน์ระหว่างกันโดยสามารถนำสินค้าจากไทยไปขายยังมาเลเซียและมาเลเซียมายังประเทศไทย
(2) โครงการร่วมลงทุนของผู้ให้บริการขนส่งทางออนไลน์ และการจัดเก็บสินค้าและจัดส่งสินค้า (Fulfilment) ในมาเลเซียกับของประเทศไทย
“เราได้เปิดให้มีการเชื่อมต่อกับระบบขนส่งหลักภายในประเทศมาเลเซียได้หมดแล้ว และมีผู้ใช้เติบโตขึ้น ต่อเนื่องอย่างรวดเร็วทุกๆ เดือน โดยตอนนี้เป็นการให้บริการกับบริษัทในประเทศมาเลเซียเป็นหลัก และอนาคตจะเชื่อมต่อกับระบบขนส่งของประเทศไทยเข้าด้วยกัน โดยการทำงานทางทีมประเทศไทยจะเป็นทีมพัฒนาเทคโนโลยีหลักให้มาเลเซีย การร่วมมือครั้งนี้จะทำให้คนค้าขายทั้งสองประเทศสามารถขยายช่องทางการค้าระหว่างกันผ่านทางออนไลน์ได้สะดวกและง่ายมากขึ้น โดยเป็นการผลักดันของภาคธุรกิจเอกชน นอกเหนือจากการร่วมมือของจีนที่พยายามจะบุกเข้ามาในอาเซียนมากขึ้น”
หรือนี่คือความหมายในความ เป็นจริงของคำว่า Platform ที่ลงมือทำกันจริงๆ