คอลัมน์เศรษฐกิจคิดง่ายๆ “วันที่ 2 กรกฎาคมทีไร นึกคิดถึงวิกฤตปี 2540” วันจันทร์ที่ 2 กรกฎาคม 2561

คอลัมน์ เศรษฐกิจคิดง่ายๆ

วันที่ 2 กรกฎาคมทีไร นึกคิดถึงวิกฤตปี 2540

นสพ.โพสต์ทูเดย์ วันจันทร์ที่ 2 กรกฎาคม 2561

วันที่ผู้เขียนเขียนบทความนี้ นับเป็นช่วงเวลาใกล้ครบ 21 ปี ของการเกิดวิกฤตการณ์เศรษฐกิจการเงินครั้งยิ่งใหญ่ในประวัติศาสตร์ของไทยและของโลกเลยก็ว่าได้ บทเรียนราคาแพงมาก แพงจนถึงทุกวันนี้ที่ความเสียหายยังเป็นตัวเลขที่ต้องชำระด้วยการตั้งงบประมาณมาจ่ายทุกปี ผู้เขียนไม่ทราบว่าทรัพย์สินที่ยึดมาบริหารจากความเสียหายในวันนี้ยังดำเนินการจบสิ้นไป แล้วหรือไม่ พ่อค้าวาณิช นายธนาคาร มนุษย์ทองคำ คนเล่นหุ้น พนักงานลูกจ้าง และประชาชนทั่วไปที่ได้รับบทเรียนคนละส่วน ต่างคงคิดหาทางออกทางแก้กันไปเยอะแยะมากมายแล้ว ที่รอดก็รอดไป ที่ล้มก็ล้มไป ที่ล้มแล้วลุกได้ก็มีอยู่มาก คนที่มีอายุห้าสิบกว่าปีในวันนี้ต่างระลึกได้เสมอว่าเราเจอกับความทุกข์ขนาดไหน เด็กๆ รุ่นหลังอาจจะไม่มีประสบการณ์ตรง จึงอาจไม่รู้สึกระลึกได้ถึงความหนาวเย็นจับขั้วหัวใจของหัวหน้าครอบครัว หัวหน้าผู้คนในกิจการต่างๆ ของวันนั้น
          

การที่ผู้เขียนกล่าวระลึกถึงนั้นไม่ได้มีจิตเจตนาจะพูดหรือเขียนให้กลัว แต่อยากเขียนให้ระลึกว่าครั้งหนึ่งเราแทบทุกคนหลงระเริงไปกับการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจที่ไม่มั่นคง หลงไปกับการเก็งกำไรที่ดิน หุ้น และทุกสิ่งอย่าง เล็งผลเลิศในการทำธุรกิจ ขยายงานแบบไม่เกรงกลัวความเสี่ยง คิดแต่ว่าน้ำมาแล้วต้องรีบตัก ยืมเงินไปซื้อขันมาตักก็ทำ แล้วในปี พ.ศ.นี้ล่ะ เรากำลังคิดกำลังทำอะไรกันอยู่
          

(1) เราอยู่ในยุคที่ดอกเบี้ยถูกทำให้ต่ำ ต่ำอย่างต่อเนื่องยาวนาน นานจนจำไม่ได้แล้วว่ามันเคยสูง ต่ำจนเรายอมรับ ต่ำจนเป็นความคุ้นชินปกติ หรือ New Normal
          

(2) คนค้าขายตัวเล็กตัวน้อยก็ยังเข้าไม่ถึงสินเชื่อ กู้ไม่ได้ กู้ยาก ระบบถูกตั้งคำถามว่า No Land No Loan อยู่เหรอ สารพัดมาตรการที่ทำออกมาไม่ว่าจะ Micro Finance รูปแบบต่างๆ แต่ปัญหาก็ยังคงมีและปะทุขึ้นมาทุกครั้งเมื่อมีการพูดถึงปัญหา SME Financial Inclusion
          

(3) หนี้นอกระบบ ยังตามมาเป็นทั้งทางออกและปัญหาใหญ่ของการเข้าถึงบริการทางการเงิน ความง่ายสะดวกในการกู้ยืมแลกกับการตามหนี้-ทวงหนี้แบบที่คนเขาไม่ควรทำกับคนด้วยกันก็มีให้เห็น การจ้างอันธพาลเอาน้ำปลาไปปาบ้านลูกหนี้ตามที่ลงข่าว มันเกิดขึ้นบนแผ่นดินที่เราบอกว่าเป็นเมืองพุทธได้อย่างไร มาตรการปราบปรามอย่างเด็ดขาด การยื่นมือเข้าช่วยเหลือแบบการลงทะเบียนผู้มีรายได้น้อย และโครงการพัฒนาตนเองก็เป็นส่วนหนึ่งของกลไกการแก้ปัญหาที่กำลังผลิดอกออกผลในเวลานี้
          

(4) เรามีสถาบันการเงินประเภทหนึ่งที่ทำทุกอย่างเหมือนบริษัทเงินทุนระดมเงินจากประชาชนในฐานะสมาชิก แล้วเอาเงินนั้นมาปล่อยกู้แก่สมาชิก บนหลักการที่ว่า มาจากสมาชิก โดยสมาชิก เพื่อสมาชิก แต่การบริหารจัดการถูกตั้งคำถามว่า
          

ข้อหนึ่ง : กระบวนการพิจารณาให้กู้หรือการลงทุนเป็นไปอย่างรอบคอบรัดกุมหรือไม่
          

ข้อสอง : ทำธุรกิจการเงินแต่ทำไมไม่ยอมสังกัดหน่วยงานที่เขามี หน้าที่ทางด้านการเงินการคลัง ทำไมดึงดันจะอยู่กับกระทรวงทางด้านเกษตร ทั้งที่เป็นสถาบันการเงิน
          

ข้อสาม : การได้สิทธิทางกฎหมายในการหักหนี้ก่อนเจ้าหนี้อื่น มันเกี่ยวอะไรกับการวิเคราะห์ความสามารถในการชำระหนี้ได้ หักได้ก่อนแต่ถ้าเขาไม่อยู่ให้หัก หรือเขามีหนี้ที่อื่นมากมายก่ายกองจนเกินฐานะ ถึงท่านหักได้ก่อนแล้วลูกหนี้ไปรอดหรือไม่ ทำไมจึงไม่ยอมที่จะมีข้อมูลให้ครบว่าผู้ยื่นขอกู้มีหนี้อยู่ที่ใดบ้าง มีมากมายขนาดไหน และการชำระหนี้ในแต่ละที่เป็นอย่างไร
          

สถาบันการเงินตามข้อสามของ (4) มีขนาดเพิ่มขึ้นเป็นล้านล้านบาทแล้วเวลานี้ ในตัวเลขหนี้ครัวเรือนไทย ถ้าคิดเป็นสัดส่วนก็เกิน 10% แล้ว มีจำนวนรายที่มีขนาดใหญ่เกินห้าพันล้านบาทอยู่ร้อยกว่าแห่ง ครอบคลุมไปทั่วประเทศ จุดตรงนี้ควรเข้าไปกำกับดูแลให้เข้มข้นใช่หรือไม่ แบ่งๆ มาตรการที่ใส่แล้วใส่อีกที่ธนาคารพาณิชย์ต้องทำมาให้ทางฝั่งนี้บ้างจะดีไหม เพราะนี่ก็จะครบ 21 ปี นับจากการเกิดวิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจไทยปี 2540  เมื่อใกล้ถึงวันที่ 2 ก.ค. ทีไร ใจมันคิดถึงวิกฤตการณ์ ระบบสถาบันการเงินไทยในครั้งนั้นทุกที วันนั้นเกิดที่ธนาคารพาณิชย์ บริษัทเงินทุน แต่ในอนาคตถ้ามันมีเหตุ จะเกิดขึ้นมา…มันจะมาจากทางไหนกัน ผมจึงคิดถึงคติที่ว่า…สนิมนั้นเกิดแต่เนื้อในตน…ขอบคุณครับที่ติดตาม