คอลัมน์เศรษฐกิจคิดง่ายๆ  “เร่งยกระดับความมั่นใจบริการดิจิทัล” วันจันทร์ที่ 3 กันยายน 2561

คอลัมน์เศรษฐกิจคิดง่ายๆ 

เร่งยกระดับความมั่นใจบริการดิจิทัล

นสพ.โพสต์ทูเดย์ วันจันทร์ที่ 3 กันยายน 2561

เมื่อวันนี้ 31 ส.ค. 2561 ผู้คนที่ต้องทำรายการตอนสิ้นเดือนผ่านธนาคารอิเล็กทรอนิกส์ ตั้งแต่เวลาประมาณ 06.00 น. เพื่อการโอนเงิน เพื่อการโอนชำระหนี้ โอนเงินเพื่อการชำระโน่นนั่นนี่ หรือที่เราเรียกกันจนเป็นที่เข้าใจว่ามันคือระบบธนาคารบนมือถือ หรือโมบายแบงก์กิ้งนี่เองนั้น เกิดปัญหาขัดข้องไม่สามารถทำรายการได้ โดยเฉพาะธุรกรรมการโอนเงินข้ามธนาคาร
          

ผู้ใต้บังคับบัญชาของผมวิ่งมาขออนุญาตออกไปที่สาขาธนาคารเพื่อเอาเงินสดไปทำรายการแทน เหตุเพราะเป็นเรื่องของการชำระหนี้ หากไม่ทำรายการให้เรียบร้อยอาจเกิดรายการและประวัติค้างชำระได้ เรื่องนี้ได้ส่งผลทำให้ใครต่อใครที่ต้องการทำธุรกรรมทางการเงินในช่วงสิ้นเดือนต่างได้รับความเดือดร้อนจำนวนมาก สิ่งที่ปรากฏในหน้าจอของการทำรายการคือ ข้อความว่า “การสื่อสารขัดข้อง ไม่สามารถทำรายการได้”
          

ขณะที่ธนาคารต่างๆ ไม่ว่าเล็กใหญ่ต่างออกประกาศแจ้งเตือนเหตุขัดข้องดังกล่าวแล้ว โดยที่ไม่มีกำหนดว่าจะแล้วเสร็จเมื่อใด
          

สำหรับบางธนาคารก็แนะนำให้ลูกค้าใช้บริการฝาก-ถอน-โอนที่สาขาของธนาคารโดยตรง (ยกเว้นกรณีโอนข้ามแบงก์ยังใช้ไม่ได้) และยังบอกต่อไปอีกนิดว่าถ้าหากไม่มีความจำเป็นที่จะต้องรีบเร่งทำรายการแล้ว ธนาคารขอแนะนำให้ลูกค้าชะลอการทำธุรกรรมใดๆ ไว้ก่อน เพื่อป้องกันความเสี่ยง
          

ทีนี้ก็มาถึงข่าวลือสิครับ ตามแบบฉบับของวัฒนธรรมมุงข่าวรุมข่าวแชร์ข่าวขยายข่าว แบบไทยๆ บนความที่ชอบบอกกันว่า ได้ยินเขาบอกมาว่า… ทราบจากไลน์มาว่า… เขาแชร์กันมาว่า… คือบอกไม่ได้ว่าแหล่งข่าวเชื่อถือได้แค่ไหนเนื้อข่าวที่ลือกันคือ
          

1.ฉันว่าน่าจะมีใครโดนแฮ็ก อีกแล้ว
          

2.ฉันรู้มาว่ามีธนาคารใหญ่แห่งหนึ่งมีปัญหาเลยทำให้ทั้งวงจรติดขัดไปหมด
          

3.มีใครสร้างเหตุการณ์หรือไม่

4.รายการเพิ่มสูงจนขีดความสามารถรองรับไม่ได้
          

5.อื่นๆ อีกพอสมควร… ในมุมของผมคิดว่าเมื่อมีเหตุการณ์แบบนี้เกิดขึ้น ซึ่งเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นได้ตลอดเวลานะครับ ประเด็นไม่ได้อยู่ที่ห้ามไม่ให้เกิดประเด็นคือ
          

1.เกิดแล้วจะกู้กลับมาให้เหมือนเดิมได้หรือไม่
          

2.กลับมาเหมือนเดิมในเวลาเท่าไร

3.สาเหตุที่แท้จริงมันคืออะไร

4.ต้องทำอะไรเพิ่มมันจึงจะ ไม่เกิดเรื่องแบบนี้อีกในอนาคต

5.ถ้ามีความเสียหายจะเยียวยาใคร อย่างไร โดยใคร เมื่อไหร่และท้ายสุดเยียวยาด้วยอะไร เป็นต้น

ตอนสุดท้ายของเรื่องก็มีการสรุปออกมาโดยผู้ที่เกี่ยวข้องทุก ช่องทางการสื่อสารว่าน่าจะมาจากประเด็นปริมาณธุรกรรมที่มากและมากจริงๆ (อาจผสมเรื่องวันหวยออกด้วยหรือไม่)จนทำให้การจราจรของข้อมูลและขีดความสามารถในการรองรับธุรกรรมมันไปไม่ได้

เมื่อมันสะสมมากๆ ในที่สุดมันก็ล่มลง  ทางการก็มีคำสั่งเร่งให้สถาบันการเงินผู้ให้บริการลงทุนเพิ่ม ยกระดับเพิ่ม เพิ่มประสิทธิภาพอีก เพื่อรองรับปริมาณธุรกิจและยืนยันว่าไม่มีเรื่องการแฮ็กข้อมูลใดๆ ทั้งสิ้น อันนี้ผมฟังแบบภาษาชาวบ้านนะครับ ผิดถูก ขาดเกินต้องขออภัย

การออกมาให้ข้อมูลที่ถูกต้องชัดเจนและเยียวยาคนเสียหาย (ถ้ามี) คือมาตรฐานที่จะทำให้ผู้ใช้งานในระบบเกิดมีความเชื่อมั่น แต่ที่สำคัญคือต้องไม่เกิดขึ้นบ่อยๆ นะครับ เราเข้าสู่ดิจิทัล 4.0 กันแล้วนะครับ