จ่ายช้าเพราะลืม หรือได้รับสลิปช้า…ปัญหาบ้านๆ กับเครดิตบูโร
ในช่วงที่ผ่านมา เครดิตบูโรได้มีโอกาสรับข้อมูลและความเห็น ข้อแนะนำตลอดจนคำถามต่างๆ มากมายทางออนไลน์ ในโอกาสนี้ผมขอนำเอาเรื่องของคนที่เป็นหนี้มาคุยกันสัก 2 เรื่องที่มักเป็นความเข้าใจผิดหรือคลาดเคลื่อนอยู่เสมอ ในโอกาสนี้ผมขอนำมาเล่าสู่กันฟังดังนี้นะครับ
คำถาม กรณีการจ่ายบัตรเครดิตล่าช้า อาจเพราะลืม หรือได้รับสลิปช้า บางครั้งแค่ช้ากว่าวันเดียว เครดิตบูโรก็เหมาว่าเรา “ไม่มีเครดิตแล้ว พอจะไปติดต่อสถาบันการเงิน ก็เลยไม่ได้อนุมัติ” ใช่หรือไม่
คำตอบ คือ ไม่ใช่และไม่เกี่ยวกับเครดิตบูโรในเรื่องการที่จะได้-ไม่ได้รับอนุมัติ เพราะว่าการจ่ายบัตรเครดิตล่าช้าไม่ว่าเพราะเหตุใดๆ ถ้ายังอยู่ในระยะเวลาไม่เกิน 30 วัน สถาบันการเงินจะส่งข้อมูลให้เครดิตบูโรบันทึกว่า “ไม่ค้างชำระ” ไม่มีการเหมารวมว่า “ไม่มีเครดิต”
คำว่าไม่มีเครดิตหมายถึง คนที่ไปทำสัญญากับใครเขาแล้วไม่ทำตามสัญญาเรียกว่า “สัญญาไม่เป็นสัญญา เป็นหนี้แล้วไม่ชำระหนี้” ต่างหาก
ท่านที่ถามลองเอาใจเขามาใส่ใจเราว่า หากเป็นเงินออมเงินสะสมของครอบครัวเรา หรือหากเป็นเงินที่เราไปเอามาจากญาติพี่น้องเรา (เอามาให้เขากู้ต่อ) สมมติว่ากลับข้างกันเราในฐานะเจ้าหนี้จะลืมวันเวลาที่ลูกหนี้ต้องมาชำระไหม ก็เรากับเขาสัญญากันแล้วใช่ไหมว่าวันนั้นวันนี้คนที่เป็นลูกหนี้จะมาชำระหนี้ มันไม่ใช่วันที่ทำได้ตามใจลูกหนี้นะครับว่าวันไหนๆ ก็ได้ จำความรู้สึกวันแรกที่ลูกหนี้ได้รับเงินจากเจ้าหนี้ได้มั้ยวันนั้นคำว่า “สัจจะคืออะไร” คำว่า “คำพูดนั้นเวลาพูดออกไปแล้วมันเป็นนายเรานะคืออะไร”
ตัวของท่านลูกหนี้ที่ถามหากท่านมาเป็นเจ้าหนี้บ้าง ท่านจะยอมรับข้ออ้างที่บอกว่าลืมได้ไหม ท่านจะรับข้ออ้างว่าก็ไม่ได้แจ้งทวงมาเป็นหนังสือนี่จะไปจ่ายได้ยังไง หรือไม่ได้รับหนังสือทวงหนี้ในเวลาที่กำหนดทำให้ไปจ่ายหนี้ไม่ทัน ก็แล้วทำไมงวดก่อนหน้านั้นๆ ท่านจ่ายได้ทันเวลาตามที่กำหนดถามใจตัวเองก่อนภายใต้ศีลและธรรมในฐานะชาวพุทธว่า สิ่งที่ยกมานั้นเป็นข้ออ้างหรือเหตุผล “กรรมเป็นเครื่องชี้เจตนา” การยอมรับว่าพลาดหลง หมุนไม่ทัน ไม่มีเจตนาและหาทางเยียวยาแก้ไขจะดีกว่าหรือไม่
ทำไมเราโทษทุกคนที่เกี่ยวข้องยกเว้นตัวเราทั้งๆ ที่เราเป็นคนได้รับประโยชน์จากการได้เงินกู้ในวันแรกไปแล้ว และขอยืนยันว่าเครดิตบูโรไม่เคยแจ้งให้สถาบันการเงินทราบว่า ผู้ใดเป็นคนมีเครดิตหรือไม่มีเครดิตแต่อย่างใด เราทำไม่ได้เพราะผิดกฎหมาย มีโทษติดคุกติดตารางครับ
ท่านที่ถามก็รู้อยู่เต็มอกว่าการอนุมัติหรือไม่อนุมัตินั้น เป็นดุลยพินิจของสถาบันการเงิน และโดยทั่วไปสถาบันการเงินจะนำปัจจัยต่างๆ เช่น รายได้มีมากพอชำระหนี้ที่กำลังขอกู้หรือไม่ มีอาชีพมั่นคงหรือไม่ อายุ หลักประกัน ภาระหนี้ที่มีอยู่ในปัจจุบันมีมากหรือน้อยเมื่อเทียบกับรายได้
ส่วนประวัติการชำระหนี้เก่าที่มีอยู่ในช่วงเวลาที่ผ่านมาเป็นอย่างไร ค้างชำระหรือไม่ค้างชำระ มีการระบุเหตุผลและความจำเป็นในการขอสินเชื่อครั้งนี้หรือไม่ จะเอาเงินไปทำอะไร ไปกินไปใช้หรือไปลงทุนทำมาหากิน สร้างงานสร้างอาชีพ และภาวะเศรษฐกิจในขณะนั้นเป็นอย่างไรบ้าง เป็นต้น มาพิจารณาประกอบกัน เครดิตบูโรไม่ได้มีส่วนร่วมหรือเกี่ยวข้องกับการอนุมัติสินเชื่อ
หากท่านใดมีข้อสอบถามเพิ่มเติมสามารถติดต่อได้ที่ consumer@ncb.co.th ได้ครับเพราะ “ความจริง เป็นสิ่งที่ไม่ตาย”