คอลัมน์เศรษฐกิจภาษาคน โดยคุณสุ : ต้องจุดเศรษฐกิจให้ติด ผู้คนมีรายได้ คือการแก้ไขปัญหาหนี้ : วันจันทร์ที่ 25 เมษายน 2565

ต้องจุดเศรษฐกิจให้ติด ผู้คนมีรายได้ คือการแก้ไขปัญหาหนี้
บทความของผู้เขียนเกิดจากการถูกตั้งคำถามมาโดยตลอดจากผู้คนที่ผู้เขียนรู้จัก หรือเมื่อผู้เขียนมีโอกาสไปบรรยายในหลายครั้งหลายโอกาส คำถามที่ผู้เขียนเจอมากสุดคือ
คำถาม : หนี้ครัวเรือนประเทศเราอยู่ในระดับสูงเกินกว่า 25% ของหนี้ครัวเรือนเราเป็นหนี้เอาไปกินใช้ กินใช้ไปแล้ว ตอนนี้คือการเอารายได้ในปัจจุบันหรือในอนาคตส่วนหนึ่งมาชำระหนี้ทั้งเงินต้นทั้งดอกเบี้ยที่เรียกว่า จ่ายงวดผ่อนรายเดือน แต่พอเราทุกคนเจอกับภาวะรายได้หดหายเฉียบพลัน เหตุเพราะทำกิจกรรมทางเศรษฐกิจไม่ได้ ต้องถูกบังคับให้อยู่ห่าง ๆ กัน รายได้ที่หดหายวูบเลยนั้นคือ Income Shock มันทำให้เกิดการติดขัดไปหมด ดังนั้น ความสามารถในการชำระหนี้ตามเงื่อนไขที่ตกลงกันไว้เดิมมันก็แทบเป็นไปไม่ได้ (เพราะรายได้มันหดหาย) ถึงจะยืดหนี้ให้ยาว จ่ายแต่ดอกเบี้ยโดยมีการเข้าเงินต้นบางส่วน ลดดอกเบี้ยลงมาให้พอจ่ายได้ไปก่อนบางช่วงเวลา หรือวิธีการอื่น ๆ แต่เราก็รู้ด้วยตัวเองลึก ๆ ว่ามันคงไม่ใช่ทางแก้หนี้ที่ตรงกับปัญหาเท่าใดนัก เพราะการปรับโครงสร้างหนี้ที่มีปัญหาหลังจากการเป็นหนี้เสียไปแล้ว เป็น NPL ไปแล้ว การจะได้เม็ดเงินใหม่เข้ามาเสริมมันก็ไม่ได้หวานหมู หรือง่ายดายขนาดนั้น
เราจะแก้ปัญหาหนี้ที่เป็นวัวพันหลักในปี พ.ศ. นี้กันอย่างไรได้บ้าง
เราเห็นแต่ปัญหาในทุกทางออก ยังหาทางออกในทุกปัญหาได้ไม่ชัดเจน.. 
เมื่อพิจารณาข้อมูลประกอบคำถามเพิ่มเติมว่าวันที่ 11 มกราคม 2565 ในงานสื่อมวลชนพบกับท่านผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) มีการระบุว่าภาพเศรษฐกิจไทยในปี 2565 คาดว่าจะฟื้นตัวได้ แต่ยังไม่เร็วและไม่เท่าเทียม โดยคาดว่า GDP ปีนี้จะขยายตัวที่ 3.4% (ปัจจุบันนี้ก็มีการปรับลดลงไปแล้วหลายที่ หลายสำนักที่ออกข่าวมา) และกว่าจะกลับสู่ระดับก่อนโควิด-19 น่าจะต้องรอถึงไตรมาสแรกของปี 2566 เพราะเครื่องยนต์หลักยังกลับมาไม่เต็มที่ โดยเฉพาะภาคท่องเที่ยวที่ฟื้นตัวช้า ทำให้การจ้างงานและรายได้ของกลุ่มที่เกี่ยวข้องกับภาคท่องเที่ยวยังไม่กลับมาเต็มที่ ขณะที่กลุ่มธุรกิจที่เกี่ยวกับการส่งออกฟื้นตัวได้ดี เราจึงยังเห็น การฟื้นตัวแบบไม่ทั่วถึง (K-shaped) 
8 กรกฎาคม 2564 จากบทความที่ระบุถึงความมุ่งมั่นของท่านผู้ว่าการ ธปท. ในนโยบายการแก้หนี้ที่ระบุว่า เรื่องสำคัญคือต้องดูแลปัญหาภาระหนี้ปัจจุบัน ต้องมั่นใจว่าผู้เดือดร้อนสามารถรับภาระตรงนี้ได้ ซึ่ง ธปท. ทำเรื่องนี้แล้ว เช่น มาตรการพักหนี้ ยืด-ลดค่างวด หรือการเปลี่ยนวงเงินในบัตรเครดิตให้เป็นเงินกู้ เรียกว่าเป็นการช่วยเหลือแบบปูพรม แต่เมื่อเห็นแล้วว่า วิกฤติรอบนี้ยาวแน่ก็ประเมินกันใหม่ว่ามาตรการเหล่านี้ไม่ได้แก้ปัญหาอย่างยั่งยืน เพราะต่อให้พักหนี้ ดอกเบี้ยก็ยังวิ่งอยู่และอาจบิดเบือนแรงจูงใจของลูกหนี้บางกลุ่มที่จริง ๆ แล้วสามารถชำระหนี้ตามปกติได้ แต่กลับเลือกไม่จ่ายดีกว่า (ปัญหา moral hazard)
ธปท. พยายามเข้าไปดูแลปัญหาหนี้แบบครบวงจร สมมติว่ามีการยืด-ลดค่างวดแล้วยังเกิดปัญหาอยู่ ก็ต้องสนับสนุนให้มีการปรับโครงสร้างหนี้ ถ้าเป็นไปได้ก็สนับสนุนให้มีการลดเงินต้น หรือถ้ามีปัญหาการผิดนัดชำระหนี้ก็เข้าไปกำกับดูแลค่าปรับและค่าธรรมเนียมต่าง ๆ นอกจากนั้น ต้องทำให้สภาพคล่องไปอยู่ในที่ที่ถูกต้อง ให้คนที่ลำบากและต้องการสภาพคล่องมากที่สุดสามารถเข้าถึงสินเชื่อได้ ซึ่งต้องยอมรับว่าเป็นโจทย์ที่ยากกว่าข้ออื่น ๆ
ในมุมของหลายท่านที่ผู้เขียนได้พบปะพูดคุย ต่างพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า
หลุมรายได้ที่ประมาณการกันขนาด 2.6 ล้านล้านบาทที่หายไปจากปี 2563-2565 มันทำให้รายได้ของผู้คนโดยเฉพาะคนตัวเล็กได้รับผลกระทบสูง ตอนนั้นเรายังไม่มีวัคซีน หลวงท่านเลยต้องเติมเงินเข้ากระเป๋าประชาชนด้วยโครงการต่าง ๆ แต่มันจะแจกตลอดไปก็ไม่มีทางทำได้ ต่อมาคือระดมฉีดวัคซีนแบบสุด ๆ
มาถึงตอนนี้ประเทศเราน่าจะมีของเพียงพอ ประเด็นเราน่าจะไปอยู่ที่เข็มกระตุ้นต้องไปให้เร็ว ไปให้มากพอ พอที่จะเปิดประเทศรับชาวต่างชาติเข้ามาเยือนประเทศไทย โดยเฉพาะ 1 พฤษภาคม 2565 ที่จะเป็นหมุดหมายสำคัญ เราต้องเปิดเศรษฐกิจอีกครั้ง เราต้องลดเงื่อนไขบางประการเพื่อให้ธุรกิจดำเนินกิจกรรมได้มากขึ้น ผู้คนต้องใช้ชีวิตแบบบริหารความเสี่ยงด้วยตนเองมากึ้น เช่น การใส่หน้ากาก ล้างมือ ไม่เข้าไปร่วมกิจกรรมเสี่ยงโดยไม่จำเป็น ไอ้ที่ต้องสู้เอาธุรกิจให้รอดก็ต้องทำ ไอ้ที่ต้องเอาชีวิตให้รอดด้วยความไม่ประมาทก็ต้องทำ ถ้าโชคไม่ดีติดเชื้อโควิด-19 ก็เข้ากระบวนการรักษากันไป เจ็บตายก็ต้องยอมรับกันไปโดยเฉพาะผู้สูงวัยกับมีโรคร้ายแรง ไม่มีทางเลือกกันแล้วเวลานี้ ไม่ติดเชื้อโควิด-19 ตาย ไม่อดตาย ไม่มีรายได้จนกิจการตาย มันคือเป้าหมายในเวลานี้ 
2563 เราต้องอยู่ให้รอด
2564-2565 เราต้องอยู่ให้เป็น เราเจอการระบาดแบบรุนแรง เราพยายามจะเปิดประเทศ
2565 เราต้องอยู่ให้ยาว เพราะเราตัดสินใจเปิดประเทศ และเราต้องไปต่อให้ได้ 
2566 เราหวังว่าเศรษฐกิจจะฟื้นคืนกลับมา
ความเสี่ยงเวลานี้คือ เรายังไม่ทันจะไต่ถึงปากหลุมวิกฤติที่เราตกลงไป อ้าวหันมามองอีกทีเศรษฐกิจโลกมีความเสี่ยงจะเกิดการถดถอย ทุกสิ่งที่เกิดขึ้น ทุก ๆ ท่านอย่าได้ประมาทนะครับ
ขอบคุณทุกท่านที่ติดตามนะครับ