เศรษฐกิจภาษาคน โดยคุณสุ : โรคระบาดได้ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงจริง ๆ : วันจันทร์ที่ 7 กุมภาพันธ์ 2565

โรคระบาดได้ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงจริง ๆ

บทความวันนี้ของผู้เขียน เกิดจากการอ่านข่าวสารชิ้นเล็ก ๆ ชิ้นหนึ่ง ของสื่อทางเลือกที่ไม่ใช่สื่อมวลชนกระแสหลัก แต่เป็นสื่อที่คนรุ่นใหม่ติดตาม เนื้อหาในข่าวนั้นระบุว่าในโรงเรียนสาธิตของมหาวิทยาลัยแห่งหนึ่งได้กำหนดให้มีวิชาที่ใช้ในการเรียนการสอนแบบที่ว่าถ้าเป็นอย่างผู้อ่านและเป็นอย่างท่านผู้ปกครองทั่วไปที่หัวก้าวหน้า เบื่อหน่ายกับระบบปัจจุบัน และตั้งคำถามอยู่ตลอดเวลาที่ผ่านมาหลายต่อหลายปีว่า การศึกษาของประเทศเรานั้นมีความมุ่งหวังที่จะผลิตคนที่เข้าไปเรียนแล้วนั้นให้ออกมาเป็นอะไร เป็นคนแบบไหน แน่นอนว่าเราทุก ๆ คนย่อมอยากได้

  1. คนที่เข้าใจโลก เข้าใจไทย
  2. รู้เรื่องเศรษฐกิจ สังคม กฎกติกา
  3. รู้เรื่องทั้งบุ๋นและบู๊
  4. เป็นคนดีมีศีลธรรม
  5. เป็นคนว่านอนสอนง่าย (เน้นว่าเชื่อฟัง)

แต่ในความเป็นจริงแล้วเราควรจะได้ คนที่ผ่านกระบวนการบ่มเพาะ ฝึกฝน เปิดโอกาสให้เข้าถึงตนเองจนรู้ว่าตัวเองนั้นชอบอะไร เก่งอะไร และควรจะเป็นอะไรด้วยตัวเอง เลือกเป็นในสิ่งที่ใช่ ทุ่มเทในสิ่งที่ชอบ เพราะการศึกษาที่ดีหรือกระบวนการให้การศึกษาที่ดี จะต้องทำให้คน ๆ หนึ่งนั้นสามารถแสดงศักยภาพของตัวเองออกมาได้อย่างเต็มที่ ไปให้ถึงขีดสุดของความสามารถที่ตนเองมี การศึกษาที่ดีต้องทำให้คน ๆ นั้นสามารถอยู่รอดได้ด้วยตนเอง เพื่อให้ความภาคภูมิใจเกิดกับตนเองอย่างเต็มที่ ต้องยอมรับว่ากระบวนการศึกษาของเราในช่วงหนึ่งเป็นการผลิตเพื่อป้อนเข้าสู่โรงงานของธุรกิจไม่ว่าจะไปเป็นมนุษย์เงินเดือน มนุษย์โรงงาน เหตุเพราะว่าสภาพเศรษฐกิจ สังคม การเมือง ความเชื่อ และการได้ผลตอบแทนมันเป็นแบบนั้น

แต่เวลานี้ การเปลี่ยนแปลงในช่วงการแพร่ระบาดของไวรัส เราจะเห็นว่าการเปลี่ยนแปลงเป็นสิ่งที่แน่นอนที่สุด เป็นสิ่งที่จะเกิดขึ้นตลอดเวลา ดังนั้นการจะให้ตนเอง บุตรหลาน คนรุ่นต่อ ๆ มาได้มีวิชาติดตัวเอาไปใช้ในยามที่ทุกอย่างแปรปรวน คาดเดา คาดการณ์ได้ยากนั้นก็ต้องใช้แนวคิดแนวทางใหม่ ประเภทนั่งท่องบ่นไปวัน ๆ ผลัดกันเขียน เวียนกันอ่าน ผ่านกันชมคงจะเป็นไปได้ยากมากถ้าคิดจะไปต่อในแนวทางแบบนี้ การที่ลูกหลานของเราจะกลายเป็นคนที่สังคมสมัยใหม่ต้องการ ไม่กลายไปเป็นคนที่เป็นโรคซึมเศร้า ก็ต้องใช้กระบวนการบ่มเพาะแบบใหม่หรือไม่ สถาบันการศึกษาที่มีแนวคิดก้าวหน้าตามข่าวสารจึงได้นำเสนอหัวข้อวิชาที่จะมีการเรียนการสอนกันดังที่ผู้เขียนขอยกมาเป็นตัวอย่างดังนี้นะครับ

  1. วิชาอยู่ให้รอดปลอดภัย
  2. วิชาวัยรุ่นศาสตร์
  3. วิชารู้ทันการเงิน***
  4. วิชาเสพติดศิลป์และกลิ่นเสียง
  5. วิชาวิถีศรัทธา (ครอบคลุมทุกศาสนา)
  6. วิชารู้เท่าทันสื่อ***
  7. วิชาว่ายน้ำเพื่อเอาชีวิตรอด
  8. วิชาผู้ประกอบการ***

หมายเหตุ วิชาที่มีเครื่องหมาย *** ในความคิดผู้เขียนคือวิชาที่ระบบเศรษฐกิจของสังคมเราต้องการและพูดถึงมากที่สุด เรียกร้องมาตลอดว่าต้องการให้หน่วยงานที่ทำหน้าที่กำหนดบทบาทสถาบันการศึกษาทำหน้าที่ในเรื่องนี้ ตัวอย่างง่าย ๆ คือ จะให้น้อง ๆ เด็ก ๆ ที่เรียนแยกสิ่งที่ตนเองได้รับผ่านโสตประสาทและเครื่องมือสื่อสารต่าง ๆ ได้อย่างไรว่า อะไรคือ Facts อะไรคือ Fake

หรือจะทำอย่างไรให้น้อง ๆ เด็ก ๆ ที่เรียนกันเวลานี้ แยกได้ว่าอันไหนคือข้อเสนอทางการเงินที่มีอัตราดอกเบี้ยสูง อัตราดอกเบี้ยต่ำ อะไรคือแชร์ลูกโซ่ อะไรคือภัยทางการเงิน

ที่ชอบพูดกันนักว่า การแก้ไขหนี้ครัวเรือนจะต้องให้การศึกษาความรู้เรื่องทางการเงินตั้งแต่ระดับในโรงเรียน ก็คืออันนี้ครับ มันไม่ใช่แค่รู้เรื่องการเงิน แต่ต้องเป็นรู้ทันการเงิน รู้เพื่อไม่ให้เราโตแล้วไปเป็นเหยื่อเขา

หรืออย่างวิชาการเป็นผู้ประกอบการ นั่นก็คือการสร้างสังคมผู้ประกอบการ ออกไปเป็นคนค้าขาย มีหัวคิดของการค้าการขาย ไม่ใช่คิดแบบเดิม ๆ ที่บอกว่าเรียนจบแล้วจะได้ไปเป็นเจ้าคนนายคน ไปรับราชการเพื่อรับเงินเดือนที่บอกว่าน้อยแล้วชดเชยด้วยสวัสดิการที่มากมายจนถึงใครต่อใคร หรือคิดแต่เพียงว่าจบปริญญาตรี ถ่ายรูปกันมากมาย สุดท้ายกินเงินเดือน 15,000 บาทต่อเดือน ถ้าคิดกันแบบนี้มันก็ไม่มีอะไรจะไปสู้กับชาวโลก ประเทศอื่นในเวลานี้

การก้าวไปข้างหน้า เงินอาจไม่ใช่เป้าหมายอย่างเดียว แต่มนุษย์ในระบบเศรษฐกิจก็ต้องการเงินเพื่อไปสนองความต้องการของตนเอง

 

เงินคือสิ่งที่มนุษย์สมมติขึ้นมาและตกลงร่วมกันว่ามันคือตัวเก็บมูลค่าเพื่อเป็นสื่อในการแลกเปลี่ยนเมื่อเข้าทำกิจกรรมทางเศรษฐกิจ

story หรือเรื่องราวที่ว่าฉันมีตัวเลขในบัญชีเท่านั้น-เท่านี้ ในระดับหนึ่งมันก็สร้างความแตกต่างให้ชีวิตเราได้ เรื่องนี้เข้าใจได้เพราะทุก ๆ คนต่างมีกิเลสความอยากได้ใคร่มีมากำกับตลอดเวลา

แต่สิ่งสุดท้าย สิ่งที่จะมีผลกระทบต่อความสุขและสวัสดิภาพของเรามากกว่า คือสิ่งที่เราต้องประสบพบเจอทุกวัน ซึ่งก็หนีไม่พ้น สภาพแวดล้อมของสังคมที่ล้อมตัวเรา ตัวงานที่กดดันเราตลอดเวลา ความคาดหวัง เป้าหมาย ความเป็นจริงในปัจจุบัน (As is) กับสิ่งที่เราจะต้องไปให้ถึง (To be)

สามคำนะครับ อยู่รอด (ปี 2563-2564) อยู่เป็นกับโรคระบาด (ปี 2565-2566) และอยู่ยาว (ปี 2567 เป็นต้นไป) จะเป็นไปอย่างนั้นได้ก็ต้อง คิดใหม่ เรียนเพิ่ม เรียนแบบใหม่ เพื่อลงมือทำแบบใหม่ เพราะปัญหาแบบใหม่นั้นยังไม่มีใครรู้ว่ามันจะถามอะไร

ขอบคุณทุก ๆ ท่านที่ติดตามนะครับ