“ปลูกฝังวินัยการเงิน’คนรุ่นใหม่’ ลดปัญหาหนี้ครัวเรือน’ยั่งยืน’ “
นสพ.กรุงเทพธุรกิจ วันที่ 29 เมษายน 2562
วิชชุลดา ภักดีสุวรรณ
กรุงเทพธุรกิจ
“คนไทยเป็นหนี้ตั้งแต่อายุยังน้อย เป็นหนี้เร็วขึ้น นานขึ้น จนเข้าสู่วัยเกษียณ ก็ยังมีภาระหนี้สินอยู่” นั่นคือสิ่งที่ธนาคาร แห่งประเทศไทย (ธปท.) สะท้อนให้เห็นภาพ ตลอดในระยะหลังๆ ส่วนหนึ่งมาจากการขาดทักษะ ขาดความรู้และความเข้าใจ ด้านการเงิน และขาดการวางแผนด้าน การบริหารจัดการทางการเงินที่ดี จึงไม่แปลกที่คนเป็นหนี้ตั้งแต่อายุยังน้อย จนแก่ก็ยัง เป็นหนี้อยู่ เพราะสิ่งเร้า และตัวกระตุ้น ให้คนเป็นหนี้มากขึ้น มีมากมายอย่าง นับไม่ถ้วน
โดยเฉพาะปัจจุบันที่เริ่มเห็นการหันไป เจาะตลาดใหม่ๆ อย่าง “วัยเริ่มทำงาน” ของผู้ให้บริการทางการเงิน หรือเด็กจบใหม่ ก็ล้วนเป็นสิ่งที่กระตุ้นให้คนเป็นหนี้ เร็วขึ้นได้ เพราะความอยากมี จึงต้องดึงเงินในอนาคตมาใช้ ดังนั้นหากไม่ตระหนักถึงการวางแผนทางการเงิน การชำระหนี้ให้ดี หรือการคำนวณรายรับรายจ่ายให้ดี ก็อาจตกอยู่ใน”วงจรหนี้” อย่างไม่จบสิ้นสุรพล โอภาสเสถียร ผู้จัดการใหญ่บริษัท ข้อมูลเครดิตแห่งชาติ หรือเครดิตบูโร เปิดเผยข้อมูลหนี้ค้างชำระตั้งแต่ 30 วันขึ้นไป พบว่า หนี้ค้างชำระส่วนใหญ่ หลักๆ แล้วอยู่ที่เจนวายที่มีอายุ 22-39 ปี และกลุ่ม เจนเอ็กซ์ อายุ 40-54 ปี ประชาชนส่วนใหญ่ เข้าถึงสินเชื่อได้ตั้งแต่อายุยังน้อย ตั้งแต่เริ่มทำงาน หรือตั้งแต่อายุ 19-20 ปีซึ่งกลุ่มนี้เริ่มมีหนี้สินเชื่อส่วนบุคคล หรือสินเชื่อเงินผ่อน บัตรผ่อนชำระต่างๆ มากที่สุดังนั้น หากต้องการขจัดปัญหาหนี้ครัวเรือน และทำให้วงจรหนี้เหล่านี้ลดลง ต้องกำกับหรือลดหนี้สินเชื่อบุคคล หรือเงินผ่อนให้ได้!!
ไพบูลย์ กิตติศรีกังวาน รองผู้ว่าการ ด้านบริหาร ธปท. กล่าวว่า การเป็นหนี้ อย่างรวดเร็ว ตั้งแต่อายุยังน้อย ลากยาวไปจนแก่ เหตุผลหนึ่งมาจากการขาดความรู้ ขาดทักษะและการปลูกฝังวินัยด้านการเงินตั้งแต่ต้น ซึ่งถือเป็นทักษะที่สำคัญของชีวิต และเป็นพื้นฐานที่สำคัญที่ทำให้เศรษฐกิจของประเทศมั่นคง
ปัจจุบัน “หนี้ครัวเรือน” มีทิศทางปรับตัวสูงขึ้นต่อเนื่อง โดยล่าสุดอยู่ที่ระดับ 78.6% ซึ่งถือเป็นสิ่งที่ธปท.เป็นห่วงมาโดยตลอด เพราะพบการก่อหนี้ที่สูงขึ้น หากเทียบกับรายได้ ต้นตอส่วนหนึ่ง มาจากผู้ให้บริการทางการเงิน และสถาบันการเงิน มีแรงจูงใจต่างๆ ในการแข่งขัน ปล่อยสินเชื่อมากขึ้น จากภาวะการเงิน ที่คล่องตัว บวกกับภาวะดอกเบี้ยที่อยู่ในระดับต่ำในปัจจุบัน อาจกระตุ้นให้เกิด การสร้างหนี้ได้ง่ายขึ้น จึงไปกระตุ้นให้ประชาชนที่ไม่วางแผนทางการเงิน อยู่ใน ภาวะที่เป็น “หนี้” โดยที่ไม่รู้ตัว เมื่อถึงจุดหนึ่ง ที่เกิดปัญหาในชีวิต อาจประสบปัญหา การชำระคืน หรือกระทบต่อการประกอบอาชีพ ในอนาคตได้
กลุ่มที่ธปท.เป็นห่วงมากที่สุดคือ กลุ่มผู้มีรายได้น้อย ที่เป็นกลุ่มที่อ่อนไหว และมีโอกาสประสบปัญหาทางการเงินได้มากกว่ากลุ่มอื่นๆ สิ่งที่สำคัญคือ แบงก์ หรือผู้ให้บริการทางการเงิน ต้องให้ความสำคัญกับมาตรฐานการปล่อยกู้ และควรตระหนักถึงความรับผิดชอบ ต้องให้กู้ กับคนที่มีแนวโน้มจะชำระหนี้คืนได้มาก ที่ผ่านมาธปท.มีการสื่อสารกับสถาบันการเงิน และผู้ให้บริการทางการเงิน ให้รับทราบถึง ความเป็นห่วงนี้อย่างต่อเนื่อง ดังนั้นเชื่อว่า การช่วยกันทุกฝ่าย จะช่วยลดความร้อนแรงของ “หนี้ครัวเรือน” ให้ลดลงได้
ดังนั้น การสอนให้คนมีความรู้ มีทักษะด้านการบริหารการเงินถือเป็น สิ่งที่ควรทำอย่างยิ่ง โดยเฉพาะการปลูกฝังความรู้ทางการเงินให้กับประชาชนตั้งแต่ อายุน้อยๆ ธปท.จึงผลักดันโครการ”Fin.ดี We can do!!” Season2 จาก ความร่วมมือระหว่างหน่วยงานรัฐและ เอกชน ที่เห็นความสำคัญของการเร่ง สร้างความรู้ทางการเงินให้กับประชาชน ในกลุ่มต่างๆ ตั้งแต่อายุยังน้อย เช่น นักศึกษาอาชีวะ เป็นกลุ่มหนึ่งที่ควรให้ความสำคัญมากขึ้น เพื่อส่งเสริมให้เยาวชนมีภูมิคุ้มกันในการรับมือสิ่งที่ไม่คาดฝัน
ทรงธรรม ปิ่นโต ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายส่งเสริมความรู้ทางการเงิน ธปท. กล่าวว่า การจัดโครงการ “Fin.ดี We can do!!” Season2 เน้นเจาะกลุ่มเยาวชน อาชีวะทั่วประเทศกว่า 900 แห่ง ทั้งภาครัฐ และเอกชน เพื่อให้นักศึกษามีการพัฒนาทักษะทางการเงินผ่านการปฏิบัติการจริง จึงสนับสนุนในการสร้าง “ผลงานของ คนอาชีวะ” เพื่อให้นักศึกษานำความรู้ทางการการเงินไปประยุกต์ใช้ ทั้งการป้องกัน และแก้ไขปัญหาในสภาพแวดล้อมจริง ของสถานศึกษาหรือชุมชนได้
เมื่อถามว่า…ทำไมต้องเป็นเด็กอาชีวะ?เพราะทุกฝ่ายตระหนักดีกว่า กลุ่มนี้ ถือเป็นกลุ่มสำคัญในการพัฒนาประเทศ และเป็นที่ต้องการของตลาดแรงงานดังนั้นการสร้างความรู้ และทักษะทางการเงิน จึงเป็นการวางรากฐานของทักษะทางการเงิน อีกทั้งยังเป็นการวางรากฐานให้กับชีวิต ในระยะข้างหน้าให้เข้มแข็ง เพื่อสนับสนุนให้กลุ่มนี้เป็นกลุ่มที่จะก้าวสู่วัยแรงงาน อย่างมีคุณภาพต่อไป
โครงการนี้จัดขึ้นเป็นครั้งที่สอง ต่อยอด มาจากโครงการแรกที่ธปท.เริ่มทำไปเมื่อ 1-2 ปีก่อน โครงการเดิมเริ่มกับสถาบันอาชีวะศึกษาเพียง 17 แห่งจากทั่วทุกภูมิภาค และจากโครงการนี้ทำให้เริ่มเห็นพฤติกรรม ด้านการเงินของเยาวชน นักศึกษา เด็กจบใหม่ มีความรู้ที่ดีขึ้น จึงมีการต่อยอดโครงการนี้ เป็นซีซั่น 2
โดยโครงการนี้จะเปิดให้นักศึกษา ที่สนใจ ส่งผลงานเข้ามาสมัครได้ตั้งแต่ 16 พ.ค.-17 มิ.ย.2562 โดยครั้งนี้ ทีมที่ ผ่านเข้ารอบจะได้รับเงินทุนสนับสนุน เพื่อจัดทำผลงานและเงินรางวัลกว่า 1 ล้านบาท