Blog Page 10

คอลัมน์เครดิตบูโรคิดเป็นเห็นต่าง : เช็กก่อน…ชัวร์แน่นอน ติดตามรายงานเครดิตบูโรทางอีเมล : หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ ฉบับวันศุกร์ 19 เมษายน 2567

เช็กก่อน…ชัวร์แน่นอน ติดตามรายงานเครดิตบูโรทางอีเมลและไปรษณีย์

มีหลาย ๆ ท่านสอบถามกันเข้ามาว่า ยื่นคำขอตรวจเครดิตบูโรไปแล้ว แต่ทำไมรายงานข้อมูลเครดิตยังไม่ส่งมาสักที วันนี้เราจะบอกวิธีการติดตามรายงานข้อมูลเครดิตกันครับ

1.กรณีรับรายงานทางอีเมล (NCB e-Credit Report) ยื่นคำขอตรวจเครดิตบูโรผ่านโมบาย แอปพลิเคชัน

เช็กให้ชัวร์ก่อนครับ ว่าอีเมลในส่วน Inbox (กล่องเข้า) ของท่าน มีข้อความแจ้งการนำส่งรายงาน…หรือไม่ หากไม่พบข้อความการนำส่งรายงาน โปรดตรวจสอบเพิ่มเติมในส่วนอื่น ๆ เช่น Junk (ขยะ จดหมายขยะ) Spambox (สแปมเมล อีเมลขยะ) Trash (ถังขยะ) Social (โซเชียล) Promotion (โปรโมชัน) เป็นต้น

และขอให้ท่านเช็กข้อมูลส่วนบุคคลในระบบแอปพลิเคชันที่ใช้บริการ ได้แก่ ชื่อ-นามสกุล อีเมล เบอร์โทรศัพท์ มือถือ และที่อยู่ของท่าน  กรณีมีการเปลี่ยนแปลง กรุณาปรับแก้ไขในระบบให้ถูกต้อง ก่อนใช้บริการ หากยังไม่ได้รับรายงาน โปรดแจ้งรายละเอียดการยื่นคำขอตรวจเครดิตบูโร ได้ที่อีเมล consumer@ncb.co.th ครับ

ข้อแนะนำเพิ่มเติม คือ โปรดตรวจสอบก่อนทำรายการ ดังนี้ กรณีท่านใช้โทรศัพท์มือถือ 2 ซิม (Dual SIM) ขอให้เลือกใช้ซิมที่ยืนยันตัวตน หรือได้ลงทะเบียนไว้กับธนาคารเป็นซิมหลัก เพื่อรับรหัสผ่านบนโทรศัพท์มือถือของท่าน (หากใช้ซิมสำรอง อาจไม่ได้รับรหัสผ่าน)

ซึ่งปัจจุบันมีช่องทางการตรวจเครดิตบูโรออนไลน์ผ่านโมบายแอปพลิเคชัน รับรายงานทางอีเมล มีดังนี้ครับ

–  แบบรับรายงานได้ทันที ผ่านแอป “KKP Mobile” (ธนาคารเกียรตินาคินภัทร) หรือโมบายแบงก์กิ้งจากธนาคารกรุงเทพ 

– แบบรับรายงานภายใน 24 ชั่วโมง ผ่านแอป “Krungthai NEXT” (ธนาคารกรุงไทย)  หรือแอป “MyMo” (ธนาคารออมสิน) หรือ “เป๋าตังเปย์” บนแอปเป๋าตัง  หรือแอป “Flash Express” (Flash Money)

– แบบรับรายงานภายใน 3 วันทำการ ผ่านแอป “ttb touch” (ธนาคารทีทีบี)

2.กรณีรับรายงานทางไปรษณีย์ลงทะเบียน (ภายใน 7 วันทำการ)  ยื่นคำขอตรวจเครดิตบูโรผ่านเคาน์เตอร์ธนาคารกรุงไทย กรุงศรี ธอส. ธ.ก.ส. หรือตู้ ATM กรุงไทย ไทยพาณิชย์ หรือที่ทำการไปรษณีย์เคาน์เตอร์รับบริการไปรษณีย์ทั่วประเทศ

หากท่านยังไม่ได้รับรายงาน ขอให้แจ้งชื่อ-นามสกุล เลขที่บัตรประชาชน และรายละเอียดการยื่นคำขอตรวจเครดิตบูโร ได้ที่อีเมล consumer@ncb.co.th  เครดิตบูโรจะมีอีเมลตอบกลับ และแจ้งเลขที่เอกสาร ลงทะเบียน 13 หลัก  [ตัวอย่าง : EF582568151TH] เพื่อให้ท่านเช็กสถานะทางไปรษณีย์ออนไลน์ที่ http://track.thailandpost.co.th ครับ

ทั้งนี้ เครดิตบูโรได้ให้ความสำคัญในการสร้างวินัยทางการเงินด้วยตนเอง และการเข้าถึงข้อมูลเครดิตของตนเองมาอย่างต่อเนื่อง ภายใต้การรณรงค์สร้างวัฒนธรรม “ออมก่อนกู้ คิดก่อนใช้ มีวินัย เมื่อมีหนี้” เพื่อเป็นการส่งเสริมให้ประชาชนมีการวางแผนการเงิน พร้อมมีวินัยในการออมเงินและรักษาเครดิตของตนเอง เป็นการกระตุ้นและส่งเสริมให้ประชาชนทั่วไปได้ตระหนักในเรื่องการออม ภาระหนี้ การบริหารจัดการหนี้ การมีวินัย ใช้หนี้ครบใช้หนี้ตรงตามเวลา เพราะอยากเห็นคนไทยมีวินัยทางการเงินเพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น

คอลัมน์เครดิตบูโรคิดเป็นเห็นต่าง : ตรวจเครดิตบูโร  ผ่านโมบาย แอปพลิเคชัน  สะดวกรวดเร็ว ทุกที่ทุกเวลา : หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ ฉบับวันศุกร์ 5 เมษายน 2567

ตรวจเครดิตบูโร  ผ่านโมบาย แอปพลิเคชัน  สะดวกรวดเร็ว ทุกที่ทุกเวลา

เครดิตบูโรได้ดำเนินการพัฒนาและให้ความสำคัญในการเข้าถึงข้อมูลเครดิตของตนเองมาอย่างต่อเนื่อง โดยอำนวยความสะดวกให้กับเจ้าของข้อมูลในการตรวจสอบรายงานเครดิตบูโร บทความวันนี้ ผมจึงขออัปเดตช่องทางตรวจเครดิตบูโรออนไลน์ ผ่านโมบาย แอปพลิเคชัน ที่สะดวก รวดเร็ว ทุกที่ทุกเวลา รับรายงานรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์ (NCB e-Credit Report) ทางอีเมลได้เลย นับว่าเป็นการรองรับไลฟ์สไตล์ของประชาชนในยุคสังคมดิจิทัลมากยิ่งขี้น ดังนี้ครับ

 แบบรับรายงานได้ทันที บริการตรวจรายงานข้อมูลเครดิตและเครดิตสกอริ่ง

1.โมบายแบงก์กิ้งธนาคารกรุงเทพ  

2.โมบายแอป “KKP Mobile” (ธนาคารเกียรตินาคินภัทร) 

แบบรับรายงานภายใน 24 ชั่วโมง (เป็นไปตามเงื่อนไขที่เครดิตบูโรกำหนด)  บริการตรวจรายงานข้อมูลเครดิตและเครดิตสกอริ่ง 

3.โมบายแอป “Krungthai NEXT” (ธนาคารกรุงไทย)

4.โมบายแอป “MyMo” (ธนาคารออมสิน)

5.โมบายแอป เป๋าตังเปย์ บนแอปเป๋าตัง 

6.โมบายแอป “Flash Express” (Flash Money)

แบบรับรายงานภายใน 3 วันทำการ บริการตรวจรายงานข้อมูลเครดิต 

7.โมบายแอป “ttb touch” (ธนาคารทีทีบี) 

 กรณีชื่อ-นามสกุล อีเมล เบอร์โทรศัพท์มือถือ และที่อยู่ของท่านมีการเปลี่ยนแปลง กรุณาปรับแก้ไขในระบบให้ถูกต้อง ก่อนใช้บริการ

หรือสามารถเลือกรับรายงานแบบส่งทางไปรษณีย์ลงทะเบียนภายใน 7 วันผ่านโมบายแอปธนาคารกรุงไทย ออมสิน เป๋าตัง และ Flash Express ได้อีกด้วยครับ

 ทั้งนี้ การยื่นขอตรวจข้อมูลเครดิตของตนเองเป็นสิทธิพื้นฐานในการเข้าถึงข้อมูลเครดิต เจ้าของข้อมูลยื่นขอตรวจข้อมูลเครดิตของตนเอง ผ่านช่องทางต่าง ๆ ที่เครดิตบูโรให้บริการนั้น จะตรวจเครดิตบูโรกี่ครั้งก็ไม่มีผลต่อการพิจารณาขอสินเชื่อของธนาคารหรือสถาบันการเงินแต่อย่างใด

ข่าวเครดิตบูโร 001/2567 : “สหกรณ์มหิดล” ต้นแบบสมาชิกเครดิตบูโรมหาวิทยาลัยรายแรก

ข่าวเครดิตบูโร 001/2567

“สหกรณ์มหิดล” ต้นแบบสมาชิกเครดิตบูโรมหาวิทยาลัยรายแรก

 1 เมษายน 2567 : สหกรณ์ออมทรัพย์มหาวิทยาลัยมหิดล จำกัด (สหกรณ์มหิดล) สมาชิกบริษัท ข้อมูลเครดิตแห่งชาติ จำกัด (เครดิตบูโร) ต้นแบบสหกรณ์ออมทรัพย์ของมหาวิทยาลัยรายแรกที่ลงนามเป็นสมาชิกเครดิตบูโร เป็นการให้ความสำคัญการบริหารและการจัดการความเสี่ยงเพื่อสร้างสมดุลในการก่อหนี้ บริหารหนี้ของสมาชิกสหกร​ณ์มหิดล  นับว่าเป็นจุดประกายในยกระดับสหกรณ์ในการจัดการอย่างเป็นมาตรฐานในระบบการเงินไทย และสร้างเสริมเสถียรภาพให้กับระบบเศรษฐกิจของประเทศ

 ผู้บริหารของทั้ง 2 หน่วยงาน ได้แก่ โดย นพ.วิโรจน์ จงกลวัฒนา ประธานกรรมการ สหกรณ์มหิดล และนายสุรพล โอภาสเสถียร ผู้จัดการใหญ่ เครดิตบูโร ร่วมลงนามในสัญญาให้บริการสมาชิกสหกรณ์ออมทรัพย์ โดย นพ.วิโรจน์ จงกลวัฒนา ประธานกรรมการ สหกรณ์มหิดล กล่าวถึงความลงนามในครั้งนี้ว่า “สหกรณ์มหิดลได้ตัดสินใจในการเข้าร่วมแบ่งปันข้อมูลสมาชิกที่เป็นลูกหนี้สหกรณ์มหิดลกับเครดิตบูโร ทางคณะกรรมการมีความคิดเริ่มต้นเมื่อประมาณ 6 ปีที่ผ่านมา และได้ลงนามหนังสือสัญญาแสดงความร่วมมือเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2567 ปรกติแล้วสถาบันที่ทำธุรกรรมการปล่อยสินเชื่อไม่ว่าจะขนาดเล็กหรือขนาดใหญ่แบบธนาคารพาณิชย์ ต่างต้องการข้อมูลลูกหนี้ที่มาติดต่อขอสินเชื่อ เพื่อใช้ข้อมูลนี้ในการประเมินความสามารถและพฤติกรรมในการชำระหนี้ ในอดีตสหกรณ์มหิดลมีเพียงข้อมูลเงินเดือนและหนี้สินของสมาชิกที่อยู่กับสหกรณ์มหิดล เราไม่ทราบว่าสมาชิกมีหนี้สินภายนอกกับองค์กรอื่นๆ มากน้อยเพียงใด ความสำคัญของการทำธุรกิจการปล่อยสินเชื่อ สถาบันหรือองค์กรต้องมีข้อมูลและสามารถประเมินว่าผู้ที่มาติดต่อขอกู้เงินมีความสามารถและพฤติกรรมในการผ่อนชำระเพียงใด สหกรณ์มหิดลคงไม่สามารถปิดหูปิดตาตัวเอง ไม่หาข้อมูลมาประกอบการพิจารณา อีกทั้งในปัจจุบันสมาชิกเอง มีช่องทางในการกู้ยืมเงินภายนอกสหกรณ์มหิดลอยู่หลายช่องทาง และอาจสร้างปัญหาต่อการชำระหนี้ทั้งภายในสหกรณ์มหิดลและต่อองค์กรภายนอกได้ แม้ว่าเพื่อนสมาชิกส่วนหนึ่งบอกว่าทางสหกรณ์มหิดลสามารถตัดเงินเดือนเพื่อการชำระหนี้ได้ก่อนหน่วยงานอื่น แต่เมื่อสมาชิกมีปัญหาหนี้สินมากขึ้นไม่สามารถชำระหนี้ได้ ผลตามมาจะกระทบต่อสินทรัพย์ ผู้ค้ำประกันและความมั่นคงต่อสหกรณ์มหิดลแน่นอน  ผมขอเรียนสมาชิกให้ทราบไว้และอนุญาตให้สหกรณ์มหิดลรับทราบข้อมูลเครดิตของสมาชิก เฉพาะสมาชิกที่เป็นลูกหนี้สหกรณ์มหิดลเท่านั้น เพื่อสุขภาพทางการเงิน สร้างวินัยทางการเงิน และเพื่อความมั่นคงของสหกรณ์มหิดลที่ต้องรักษาไว้ให้องค์กรสามารถทำประโยชน์ให้สมาชิกทั้งหมดได้ต่อไปอย่างสมบูรณ์”

นายสุรพล โอภาสเสถียร ผู้จัดการใหญ่ เครดิตบูโร เปิดเผยว่า “กราบขอบพระคุณ​ท่านอาจารย์​หมอ ท่านผู้ทรงคุณวุฒิ คณะผู้บริหารสหกรณ์มหิดล​ทุกท่าน ที่กรุณาทุ่มเทเวลา​ ทรัพยากร​ ในการเข้ามาเป็นสมาชิกเครดิตบูโร​ เพื่อยกระดับการบริหารและการจัดการความเสี่ยงเพื่อการสร้างสมดุลในการก่อหนี้ บริหารหนี้ของสมาชิกสหกร​ณ์ให้มีความพอดี​ เหมาะควรและยั่งยืน อีกทั้ง สหกรณ์มหิดลถือเป็นสหกรณ์ออมทรัพย์ของมหาวิทยาลัยต้นแบบรายแรกที่ลงนามเป็นสมาชิกเครดิตบูโร ซึ่งจะเป็นการจุดประกายในการยกระดับการบริหารความเสี่ยงของสหกรณ์ออมทรัพย์ให้มีความเข้มแข็ง มีความมั่นคงและเป็นมาตรฐานเทียบได้กับสถาบันการเงินชั้นในระบบการเงินไทย เพิ่มความมั่นใจให้กับสมาชิกผู้ฝากเงินที่เงินออมนั้นจะไม่สูญไปความเสี่ยงการพิจารณาให้สินเชื่อ ตลอดจนจะเป็นการส่งสัญญาณของการปฏิรูปสหกรณ์บนพื้นฐานของความสมัครใจเป็นสำคัญ อนึ่ง เครดิตบูโรเป็นส่วนหนึ่งของโครงสร้างพื้นฐานทางการเงิน เป็นองค์กรหลักในการให้บริการข้อมูลเครดิตที่มีคุณภาพสำหรับสถาบันการเงิน และส่งเสริมให้ประชาชนมีวินัยทางการเงินเพื่อสร้างเสริมเสถียรภาพให้กับระบบเศรษฐกิจของประเทศ”

(ในภาพ) นพ.วิโรจน์ จงกลวัฒนา (ขวา) ประธานกรรมการ สหกรณ์ออมทรัพย์มหาวิทยาลัยมหิดล จำกัด และ นายสุรพล โอภาสเสถียร (ซ้าย) ผู้จัดการใหญ่ บริษัท ข้อมูลเครดิตแห่งชาติ จำกัด ร่วมถ่ายภาพเป็นที่ระลึกร่วมกันใน “พิธีลงนามสัญญาให้บริการสมาชิก (สหกรณ์) ระหว่าง บริษัท ข้อมูลเครดิตแห่งชาติ จำกัด และ สหกรณ์ออมทรัพย์มหาวิทยาลัยมหิดล จำกัด” ณ สหกรณ์ออมทรัพย์มหาวิทยาลัยมหิดล จำกัด เมื่อเร็ว ๆ นี้

 

 

ต้องการข้อมูลเพิ่มเติมกรุณาติดต่อ

บริษัท ข้อมูลเครดิตแห่งชาติ จำกัด (เครดิตบูโร)

ฝ่ายธุรกิจสัมพันธ์และภาพลักษณ์องค์กร

E-mail: ilovebureau@ncb.co.th / website: www.ncb.co.th / facebook: www.facebook.com/ilovebureau

คอลัมน์เครดิตบูโรคิดเป็นเห็นต่าง : เช็กสุขภาพการเงิน ตรวจเครดิตบูโร (ฟรี) ได้ที่ไหน : หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ ฉบับวันศุกร์ 22 มีนาคม 2567

เช็กสุขภาพการเงิน ตรวจเครดิตบูโร (ฟรี) ได้ที่ไหน

บทความวันนี้ จะขอกล่าวถึงการพัฒนาและให้ความสำคัญในการเข้าถึงข้อมูลเครดิตของตนเอง โดยอำนวยความสะดวกให้กับเจ้าของข้อมูลในการตรวจสอบรายงานข้อมูลเครดิตได้อย่างรวดเร็ว หลากหลายช่องทางมาอย่างต่อเนื่อง เพื่อเช็กสุขภาพการเงินของตนเอง และช่วยตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลเครดิตของตนเองเพื่อให้รู้เท่าทันและป้องกันภัยไซเบอร์ทางการเงินในยุคปัจจุบัน สำหรับการบริการตรวจเครดิตบูโร (ฟรี) มีช่องทางการเข้าถึงข้อมูลเครดิต ดังนี้ครับ

  1. ตรวจเครดิตบูโร (ฟรี) ผ่านตู้ตรวจเครดิตบูโรด้วยตนเอง (ตู้คีออส) ณ ศูนย์การเรียนรู้ธนาคารแห่งประเทศไทย (อาคาร A) ชั้น 2 (โถงต้อนรับเยื้องจุดสอบถาม) นับว่าเป็นเครื่องแรกในประเทศไทยที่ให้บริการครบ 3 ประเภท ได้แก่ 1) รายงานข้อมูลเครดิตแบบสรุป 2) รายงานข้อมูลเครดิต 3) รายงานข้อมูลเครดิตและเครดิตสกอริ่ง  ท่านสามารถรับรายงานรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์ (NCB e-Credit Report) ทางอีเมลได้ทันที    เพียงใช้บัตรประชาชนของตนเอง  เบอร์โทรศัพท์มือถือของตนเอง (เพื่อรับรหัส OTP และรหัสเปิดรายงาน) และอีเมลของตนเอง (สำหรับจัดส่งรายงาน) เปิดให้บริการวันอังคารถึงวันอาทิตย์ เวลา 9.30-20.00 น. ครับ

สำหรับการยื่นขอตรวจข้อมูลเครดิตของตนเองเป็นสิทธิพื้นฐานในการเข้าถึงข้อมูลเครดิต เจ้าของข้อมูลยื่นขอตรวจข้อมูลเครดิตของตนเอง ผ่านช่องทางที่เครดิตบูโรให้บริการนั้น จะตรวจเครดิตบูโรกี่ครั้งก็ไม่มีผลต่อการพิจารณาขอสินเชื่อของธนาคารหรือสถาบันการเงินแต่อย่างใด

  1. ตรวจข้อมูลเครดิตแบบสรุป (ฟรี) เป็นรายงานที่ประกอบด้วยข้อมูลจำนวนบัญชีสินเชื่อ ที่จะแสดงจำนวนบัญชีทั้งหมด บัญชีที่เปิดอยู่ บัญชีที่ปิดแล้ว วงเงินสินเชื่อรวม และยอดหนี้คงเหลือรวม  รวมทั้งจะมีประเภทบัญชีสินเชื่อ ได้แก่ บัตรเครดิต สินเชื่อบุคคล บ้าน เช่าซื้อ อื่น ๆ และยอดหนี้คงเหลือแต่ละประเภทบัญชีอีกด้วย  ทั้งนี้ รายงานข้อมูลเครดิตแบบสรุป เป็นข้อมูลเบื้องต้นสำหรับเจ้าของข้อมูล เพื่อตรวจสอบจำนวนบัญชีสินเชื่อ และยอดหนี้ที่ถูกจัดเก็บไว้ในเครดิตบูโรเท่านั้น ไม่สามารถนำไปอ้างอิงต่อบุคคลใดได้  โดยเครดิตบูโรได้พัฒนาบูรณาการร่วมมือจากหน่วยงานต่าง ๆ ที่สะดวกสบาย รวดเร็วหลากหลายช่องทางมากยิ่งขึ้นครับ  ได้แก่

1.1 โมบายแอป “ทางรัฐ” บริการออนไลน์ภาครัฐ โดยสำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (องค์การมหาชน) หรือ สพร. ลงทะเบียนใช้งานแอปพลิเคชัน “ทางรัฐ” เลือกเมนู “ตรวจเครดิตบูโรแบบสรุป”

1.2 ตู้บริการอเนกประสงค์ภาครัฐ  (Government Smart Kiosk) โดย สพร. เป็นการเข้าถึงข้อมูลและบริการภาครัฐ แบบครบวงจร ในรูปแบบดิจิทัล เลือกเมนู “ตรวจเครดิตบูโรแบบสรุป” สามารถตรวจสอบตู้บริการได้ที่ www.dga.or.th

1.3 ที่ทำการไปรษณีย์ และเคาน์เตอร์บริการไปรษณีย์ ทุกแห่งทั่วประเทศ โดยแจ้งเจ้าหน้าที่เคาน์เตอร์บริการ ขอตรวจเครดิตบูโรแบบสรุป ยื่นบัตรประชาชนของตนเองและรอรับได้เลย

1.4 ตู้ตรวจเครดิตบูโรด้วยตนเอง (ตู้คีออส) ใช้บัตรประชาชนของตนเอง เลือกบริการตรวจเครดิตบูโรแบบสรุป ได้ที่   1) ศูนย์ตรวจเครดิตบูโร อาคาร เดอะไนน์ ทาวเวอร์ส แกรนด์ พระรามเก้า ชั้น 2 (โซนพลาซา) (อยู่ใกล้สถานีรถไฟฟ้าใต้ดิน MRT พระราม 9 และอยู่ด้านหลังห้างเซ็นทรัล พระราม 9)  2)เครดิตบูโรคาเฟ่ อาคารเพิร์ล แบงก์ค็อก ชั้น 3 (BTS สถานีอารีย์ ทางออก 1) 3) ศูนย์ตรวจเครดิตบูโร ห้างเจ-เวนิว (นวนคร) ชั้น 1  4) สถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ (สถานีกลางบางซื่อ) (ด้านหลังเคาน์เตอร์ประชาสัมพันธ์ ประตูทางเข้า 1 จุดติดตั้งนาฬิกาประจำสถานี หรือนาฬิกาหน้าปัดหมายเลข ๙) 5) ธนาคารเกียรตินาคินภัทร (สำนักงานใหญ่) อาคารเคเคพีทาวเวอร์ ชั้น 1 ใกล้ประตูทางเข้าอาคาร 6) อาคารสาธรนครทาวเวอร์ ชั้น 1 โซนตู้เอทีเอ็ม (BTS ช่องนนทรี ทางออก2) 7) ศูนย์การเรียนรู้ธนาคารแห่งประเทศไทย (อาคาร A) ชั้น 2 โถงต้อนรับเยื้องจุดสอบถาม

เครดิตบูโรรณรงค์สร้างวัฒนธรรม “ออมก่อนกู้ คิดก่อนใช้ มีวินัย เมื่อมีหนี้” เพื่อเป็นการส่งเสริมให้ประชาชนมีการวางแผนการเงิน พร้อมมีวินัยในการออมเงินและรักษาเครดิตของตนเอง เป็นการกระตุ้นและส่งเสริมให้ประชาชนทั่วไปได้ตระหนักในเรื่องภาระหนี้ การบริหารจัดการหนี้ การมีวินัย ใช้หนี้ครบใช้หนี้ตรงตามเวลา เพราะอยากเห็นคนไทยมีวินัยทางการเงินเพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น

คอลัมน์เครดิตบูโรคิดเป็นเห็นต่าง : ข้อมูลเครดิตสำคัญอย่างไร : หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ ฉบับวันศุกร์ 8 มีนาคม 2567

ข้อมูลเครดิตสำคัญอย่างไร

บทความวันนี้ ผมขอกล่าวถึงความสำคัญของข้อมูลเครดิต  โดยเครดิตบูโรจะเปรียบเสมือนเป็น “ถังข้อมูลที่บ่งบอกพฤติกรรมในเรื่องการก่อหนี้ การชำระหนี้” ที่ใหญ่ที่สุดของระบบการเงินไทย หากใครก็ตามที่เข้ามาเกี่ยวข้องกับธุรกรรมสินเชื่อในระบบ ก็สามารถขอตรวจสอบข้อมูลเครดิตเหล่านี้ได้จากเครดิตบูโรครับ

เครดิตบูโรนับได้ว่าเป็นส่วนหนึ่งของโครงสร้างพื้นฐานทางการเงินของประเทศ และมีความสำคัญต่อระบบเศรษฐกิจไทย ทั้งสามภาคส่วน ดังนี้ครับ

1.ระบบเศรษฐกิจไทย

 – เป็นสัญญาณเตือนภัยของระบบการเงิน คือ สามารถนำเอาข้อมูลเชิงสถิติมาวิเคราะห์ให้เห็นทิศทางและความเสี่ยงของธุรกรรมสินเชื่อในระบบ 

 – เป็นเครื่องมือในการอ่านสัญญาณเศรษฐกิจของสถาบันต่างๆ เพื่อไปคิดต่อว่าควรต้องออกมาตรการหรือต้องไปทำอะไรในเชิงการบริหารความเสี่ยง

 – เป็น “โครงสร้างพื้นฐาน” ของระบบการเงิน คือ เป็นแหล่งข้อมูลที่เชื่อถือได้ของระบบสถาบันการเงินในการนำมาใช้บริหารความเสี่ยงด้านการให้สินเชื่อ

“ป้องกันการเกิดความล่มสลายอย่างที่เกิดมาในอดีต หากระบบทุกส่วนตรงนี้ดีมีประสิทธิภาพ เชื่อว่าระบบการเงินจะไม่มีปัญหารุนแรงถึงขั้นต้องไปยุ่งกับการค้ำประกันเงินฝาก เพราะปัญหาจะถูกจัดการตั้งแต่ต้นมือ อีกทั้งก่อนที่เหตุการณ์ต่างๆ จะไปถึงจุดนั้น ต้องผ่านระบบการบริหารความเสี่ยงของสถาบันการเงินที่เข้มงวดเป็นอย่างมาก”

2.สถาบันการเงินในฐานะผู้ให้กู้หรือเจ้าหนี้

 – มีระบบการบริหารความเสี่ยงในการให้กู้ยืม ป้องกันการเกิดหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ ซึ่งอาจส่งผลต่อปัญหาความไม่มั่นคงแก่ระบบสถาบันการเงิน และระบบเศรษฐกิจไทยโดยรวม ผ่านการใช้ข้อมูลเครดิตบูโร

  – ตรวจเช็กอาการของลูกหนี้ เพื่อวิเคราะห์หรือทบทวนสินเชื่อ จึงจำเป็นต้องทราบฐานะทางการเงินและประวัติการชำระหนี้ของผู้กู้อย่างเพียงพอ ว่ามีประวัติการชำระหนี้อย่างไร และมีภาระหนี้อยู่กับสถาบันการเงินอื่นมากน้อยเพียงใดในขณะใดขณะหนึ่ง

3.ผู้กู้หรือลูกหนี้

 – ตรวจเช็กข้อมูลเครดิต หรือตรวจเช็คสุขภาพทางการเงินของตัวเอง เพื่อเตรียมพร้อมวางแผนก่อนจะไปขอกู้

 – ตรวจเช็กประวัติการชำระทุกข้อมูลบัญชีสินเชื่อ หากข้อมูลไม่ถูกต้อง ขอแก้ไขได้

 – มีโอกาสที่จะได้ลดดอกเบี้ยเงินกู้ให้ผู้กู้ที่มีประวัติผ่อนชำระดี

ศึกษารายละเอียดหรือข้อมูลเครดิตบูโรได้ที่ www.ncb.co.th

เรื่องน่าอ่าน