เศรษฐกิจคิดง่ายๆ (ดิจิทัล) “เคสจริง เรื่องจริงของคนที่คิดจะขอกู้ในเวลานี้ ” วันจันทร์ที่ 2 กันยายน 2562
เคสจริง เรื่องจริงของคนที่คิดจะขอกู้ในเวลานี้
จากการที่เครดิตบูโร ได้ปรับปรุงวิธีการในเรื่องการติดต่อสื่อสารระหว่างตัวลูกค้าเจ้าของข้อมูลกับทาง call center ของเราดังนี้ว่า
1. Call center จะให้ข้อมูลพูดคุย ปรึกษาแนะนำในกรณีที่เป็นเรื่องทั่วไป ไม่ซับซ้อน เช่น จะตรวจเครดิตบูโรได้ที่ไหน ต้องทำอย่างไร เป็นต้น
2. ในกรณีที่เป็นประเด็นที่เริ่มยาก เริ่มลงรายละเอียด ซึ่งมีข้อเท็จจริงมากมาย จนเราไม่อาจเชื่อได้ว่า ใครพูดความจริง ใครพูดความจริงครึ่งเดียว ใครมีวัตถุประสงค์แท้จริงอะไร มีผู้คนปลอมเป็นลูกค้าเข้ามาขอเก็บข้อมูลอย่างนั้นอย่างนี้ ก็จะเป็นเรื่องที่ต้องมีการส่งหลักฐานประกอบมายังเครดิตบูโรเพิ่มว่า ท่านที่ถามเป็นใคร มีปัญหากับสมาชิกเครดิตบูโรรายใด มีประเด็นอย่างไร หลักฐานคืออะไร เพื่อที่เราจะได้ดำเนินการให้เป็นไปตามกระบวนการที่กฎหมายกำหนด เครดิตบูโรถูกหนังสือจากทางการผู้กำกับดูแลกำหนดไว้ว่า “ห้ามมิให้เครดิตบูโรแก้ไขข้อมูลใดๆ ให้ต่างไปจากที่สมาชิกนำส่ง” ดังนั้นสิ่งที่เห็นในรายงานเครดิตบูโร คนที่จะบอกได้จริงว่าอันไหนคือใช่หรือไม่ใช่คือตัวเจ้าของข้อมูลหรือลูกค้ากับตัวของสถาบันการเงินสมาชิกที่เป็นส่งข้อมูล หากว่าทั้งสองคนนี้บอกว่ามันใช่ มันก็คือใช่ ถ้าสองคนนี้ทะเลาะกันมันก็ต้องไปจบที่คนกลางคือคณะกรรมการคุ้มครองข้อมูลเครดิตที่มีท่านผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทยเป็นประธาน (ซึ่งไม่มีใครในเครดิตบูโรไปนั่งเป็นกรรมการชุดนี้เลย) และถ้ายังไม่พอใจ คนที่เป็นลูกค้าก็สามารถยื่นเรื่องต่อศาลท่านให้ยุติเรื่องด้วยความเป็นธรรมอีกครั้งหนึ่งในท้ายสุด
ท่านผู้อ่านลองดูสิ่งที่เป็นเคสจริงๆของวันนี้คือ….. ผมขอความกรุณาปรึกษาครับ
พอดีผมติดเครดิตบูโร จากการที่ไม่ได้ผ่อนชำระค่างวดรถยนต์ เนื่องจากรถถูกขโมยไปเมื่อปี 2549 และต่อมาตำรวจสามารถจับคนร้ายได้ และศาลมีคำพิพากษาให้คนร้ายชดใช้เงินตามจำนวนมูลค่าของรถ ซึ่งตอนนี้ก็ผ่านมาเกิน 10 ปีแล้ว
บริษัทที่เป็นคู่สัญญาของผมได้ขายหนี้และผมควรจะทำยังไงดีครับ เพราะตอนนี้จะกู้เงินธนาคารต่างๆ อีกครั้งก็เกิดปัญหากับประวัติตัวนี้อยู่ครับ…
จากข้อมูลเท่านี้ที่มีการส่งผ่านอีเมลเข้ามา หากท่านเป็นคนรับเรื่องท่านจะเชื่อเลยหรือไม่ ท่านจะแยกแยะอย่างไร ท่านจะให้ความจริงบางประการที่ถูกต้องแต่อาจไม่ถูกใจเขาได้อย่างไร ผมขอลองให้พิจารณาดังนี้ครับ
1.บอกกับเขาก่อนว่า คำว่าติดเครดิตบูโรนั้นคือความเข้าใจผิด เพื่อแก้ไขความเข้าใจผิดให้เข้าใจถูกก่อนว่า
เครดิตบูโรขอเรียนว่า ไม่ได้จัดทำและไม่เคยจัดทำ “ให้บุคคลใดบุคคลหนึ่งติดเครดิตบูโรหรือติดบัญชีดำหรือแบล็กลิสต์” ในฐานข้อมูลของบริษัทและในรายงานข้อมูลเครดิตของเจ้าของข้อมูลเลยแม้แต่รายเดียว ความเข้าใจในเรื่องที่ว่า เมื่อมีหนี้ค้างชำระหรือผิดนัดชำระหนี้แล้ว จะทำให้ “ติดเครดิตบูโรหรือติดแบล็กลิสต์” และไม่สามารถขอสินเชื่อได้จนกว่าจะชำระหนี้เสร็จหรือปิดบัญชีและถูกปลดชื่อจาก “การติดเครดิตบูโรหรือติดแบล็กลิสต์” ของเครดิตบูโร นั้น จึงเป็นความเข้าใจที่ไม่ถูกต้อง
เครดิตบูโร มีหน้าที่ในการรวบรวมและประมวลผลข้อมูลที่ได้รับจากสถาบันการเงินที่เป็นสมาชิกของบริษัท โดยสถาบันการเงินที่เป็นสมาชิกมีหน้าที่รายงานและส่งข้อมูลของลูกค้าสินเชื่อและบัตรเครดิตให้กับบริษัททุกเดือน ซึ่งมีลักษณะเป็นการรายงานข้อเท็จจริงหรือมีความเคลื่อนไหวของบัญชีสินเชื่อในแต่ละบัญชีที่ลูกค้ามีอยู่กับสถาบันการเงินที่เป็นสมาชิก ไม่ว่าลูกค้าจะมีประวัติผิดนัดชำระหนี้หรือไม่ก็ตาม โดยบริษัทจะเก็บข้อมูลไว้ระยะเวลาหนึ่ง แต่ไม่เกินกว่าระยะเวลาที่กฎหมายกำหนด
2. ในปัจจุบันในรายงานเครดิตบูโรของเจ้าของข้อมูลที่เป็นลูกค้ารายนี้น่าจะมีสถานะทางบัญชีสินเชื่อนี้ว่า “ได้ถูกโอนขายไปให้กับนิติบุคคลอื่นแล้ว” เพราะเจ้าหนี้เดิมเมื่อไม่ได้รับชำระหนี้ ก็จะทวงถาม ต่อเมื่อมองว่าบัญชีนี้คงจะได้รับชำระยากจึงตัดสินใจขายหนี้บัญชีนี้ให้กับนิติบุคคลที่มารับซื้อหนี้ค้างชำระนี้ไปบริหารต่อ
3. ในข้อเท็จจริงไม่ระบุว่า
3.1 ใครไปแจ้งความว่ารถหาย หายเพราะถูกขโมย ขโมยเป็นใคร สัมพันธ์หรือไม่อย่างไรกับลูกค้า
3.2 เมื่อศาลท่านพิพากษาแล้วให้คนร้ายชดใช้หนี้ มีการทำอย่างไรต่อ มีการนำรถทีถูกขโมยไปออกประมูลขายเอาเงินมาใช้หนี้คนให้กู้ไปมา หรือมีเพียงคำพิพากษาแต่ไม่มีใครไปบังคับคดีใช่หรือไม่
3.3 ตัวเจ้าของข้อมูลได้ติดต่อกับนิติบุคคลที่เขาซื้อหนี้ไปหรือไม่ เพราะเขาคงไม่อาจทราบได้ว่าลูกหนี้ที่เขาซื้อมานั้นที่ไม่ชำระหนี้เพราะเกิดเหตุอะไร เขาก็รู้แต่ว่าคนนี้ บัญชีหนี้ เป็นหนี้กับสถาบันคนขายหนี้ แต่ยังไม่มีการชำระหนี้ เขาซื้อหนี้มาบริหาร เขาก็ต้องทวงหนี้ตามสิทธิที่เขามี
เรื่องทั้งหมดที่เปิดมา คนที่รู้คือตัวลูกหนี้ แต่เจ้าหนี้เปลี่ยนไปแล้ว ประวัติมันนิ่งตอนขายหนี้ออกไป และเมื่อนับจากวันที่มีการขายหนี้ออกไปแล้ว ยอดหนี้ก้อนนี้จะแสดงตัวเลขเป็นศูนย์ มีรหัสสถานะบัญชีว่า 42 โอนขายหนี้ให้กับนิติบุคคลภายนอก ที่สำคัญบัญชีนี้จะถูกลบออกจากระบบหลังจากครบกำหนดสามปีนับแต่วันที่มีการโอนขายหนี้บัญชีนี้
ตอนนี้คำแนะนำคือตัวลูกหนี้ต้องไปคุยกับนิติบุคคลที่รับซื้อหนี้ว่า หนี้ตามคำพิพากษาที่ให้คนร้ายใช้หนี้นั้นเป็นมาอย่างไร มีการชำระแล้วหรือไม่ ชำระให้ใคร คนฟ้องคือใคร เพราะตราบใดที่คนซื้อหนี้ยังไม่ได้รับชำระหนี้ เขาก็ตามหนี้ก้อนนี้
ส่วนการที่ท่านเจ้าของข้อมูลท่านจะยื่นขอกู้ใหม่กับใคร ท่านก็ต้องไปแสดงหลักฐานความสามารถในการชำระหนี้ว่าท่านไหว ท่านรับผิดชอบได้ จะไปเอาสองเรื่องมาผูกกันเสียทั้งหมดมันคงไม่ได้ มันต่างกันนะครับคือถ้า เจ้าหนี้เขาฟ้องคนเป็นลูกหนี้ให้ชำระ แล้วคนเป็นลูกหนี้ไปฟ้องคนขโมย แล้วศาลพิพากษามาให้ขโมยชดใช้ ไล่กันมาอย่างนี้มันจะเป็นอีกเรื่องหนึ่งที่ต่างออกไป
นี่คือเหตุผลที่เครดิตบูโรเราให้คนที่มีเรื่องเขียนอีเมลเข้ามาครับ ต้องเขียน หลักฐานจะได้ชัด เล่าเรื่องไม่เอาครับ ความจริงมันมีหลายชุด ทุกคนต่างอ้างความจริงที่ตนได้ประโยชน์ มันคือสัจธรรมของมนุษย์ครับ
ขอบคุณมากที่ติดตาม
เศรษฐกิจคิดง่ายๆ (ดิจิทัล) “คงไม่น่าเบื่อถ้าจะพูดเรื่องคนเป็นหนี้เยอะกับมาตรการที่จะออกมาชนอีกสักหน” วันจันทร์ที่ 26 สิงหาคม 2562
คงไม่น่าเบื่อถ้าจะพูดเรื่องคนเป็นหนี้เยอะกับมาตรการที่จะออกมาชนอีกสักหน
คงเป็นเรื่องที่ต้องติดตามและติดตามอย่างใกล้ชิดถ้าเราเป็นคนกลุ่มที่กำลังคิดจะก่อหนี้มาซื้อบ้าน ซื้อคอนโด ในเวลานี้หรือหากเราเป็นคนในระดับบริหาร ระดับวางแผนงานของสถาบันการเงินคนปล่อยกู้ หรือหากเราจะเป็นผู้ประกอบการที่ทำบ้าน ทำคอนโดออกมาขายให้กับคนที่เขาต้องไปกู้มาซื้อของๆเราที่ทำออกมาขาย หรือถ้าเราเป็นคนทำงานในธนาคารกลางที่มีตำแหน่งหน้าที่รับผิดชอบในการหามาตรการออกมาแก้ไขปัญหาคนเป็นหนี้เยอะ เป็นหนี้เร็ว เป็นหนี้นาน หนี้ไม่ลดลงตามอายุที่เพิ่ม แถมคนที่เป็นหนี้เสียดันเป็นคนอายุไม่มาก สุดท้ายคือถ้าเราเป็นคนในรัฐบาลที่กำลังคิดนโยบาย มาตรการออกมาแก้ไขปัญหาให้ตอบโจทย์ที่กำลังรุกเร้าเข้ามา เพราะเหตุว่าคนเป็นหนี้กันเยอะ จะไปเอากำลังซื้อมาจากไหนกัน ขณะที่ตอนเรียนเศรษฐศาสตร์มันก็มีสมการของ GDP ว่า Y=C+I+G+(X-M) ไอ้ตัว C คือการบริโภค คนมันจะบริโภคเพิ่ม มันก็ต้องมาจากรายได้เพิ่ม ถ้าเขาดันมีหนี้เยอะ มันก็ต้องผ่อนเยอะในแต่ละเดือน แล้วจะเอาที่ไหนไปกินใช้ถ้ายอดผ่อนต่อเดือนมันเยอะมากมายก่ายกอง มันมีคำพูดของคนในข่าวที่เครียด บ่น ระบายออกมาจากการที่มีหนี้เยอะมากๆว่า “…ชีวิตมีแต่โทรศัพท์โทรมาทวงหนี้ ตอนนั้นอยากจะบอกกับเจ้าหน้าที่ไปว่ารู้สึกกดดันและเครียดมากจนไม่สามารถทำงานได้ อยากจะลาออก อยากจะหนีปัญหาโดยการฆ่าตัวตาย แต่ด้วยภาระทางบ้านที่ต้องดูแล ทำให้ล้มเลิกความคิดนี้ไป…” มาถึงเวลานี้ ในประเทศไทยเรานี้ เราต้องเชื่อได้แล้วว่ามีคนคิดจะตายไปเพื่อหนีหนี้ที่ตนเองนั้นก่อเอาไว้ และมันคงจะเกิดขึ้นจริงๆ ที่สำคัญมันอาจจะมาจากการเป็นหนี้ในระบบ ไม่ใช่หนี้นอกระบบอีกต่อไป
ในรายงานข่าววิเคราะห์ที่กระจายไปทั่วได้อ้างถึง พฤติกรรมการก่อหนี้ และพฤติกรรมของการทำธุรกิจให้กู้กับคนที่อยากเป็นหนี้ไว้น่าสนใจว่า
1. ที่ประชุม คณะกรรมการนโยบายการเงินหรือ กนง. เห็นว่าต้องมีการติดตามการขยายสินเชื่อโดยเฉพาะสินเชื่อส่วนบุคคลที่มีมาตรฐานการพิจารณาสินเชื่อที่ผ่อนปรนมากขึ้น และยังเห็นว่าควรเตรียมความพร้อมหากจำเป็นต้องออกมาตรการมาดูแลหนี้ครัวเรือนเพิ่มอีกในอนาคต(ผู้เขียน มาตรการที่ว่านี้คือเรื่อง DSR ที่มีข่าวว่าจะออกมาปลายปีนี้ เริ่มใช้ต้นปีหน้าใช่หรือไม่)
2. ปัญหาครัวเรือนไทยติดกับดักหนี้และมีหนี้สินล้นพ้นตัวนั้นมีให้เห็นในงานวิจัยที่น่าเชื่อถือหลายชิ้น ต่างก็ชี้ว่าคนไทยเป็นหนี้เร็วขึ้น คือ เริ่มก่อหนี้ตั้งแต่อายุยังน้อย และ 1 ใน 5 ของผู้กู้ในช่วงอายุ 29 ปี กลายเป็นหนี้เสีย และยังเป็นหนี้เยอะขึ้น คือมีปริมาณหนี้สินต่อหัวสูงขึ้นกว่าในอดีต ผู้กู้โดยเฉลี่ย มีภาระหนี้รวมทุกประเภทสินเชื่อเพิ่มขึ้นจาก 377,109 บาท เป็น 552,499 บาท ในช่วงเวลา 10 ปีที่ผ่านมา และยังเป็นหนี้นานขึ้นด้วย
3. ความรุนแรงของปัญหาหนี้สินมีผลจากพฤติกรรมของครัวเรือนซึ่งส่วนหนึ่งขาดทักษะความรู้ทางการเงิน (ผู้เขียนคิดว่ามันมีหลายมิติ รู้แต่ละเลย รู้แต่มองว่าน่าจะจัดการได้ รู้แต่ไม่คิดจะทำ รู้ว่าเสี่ยงแต่ก็ยังจะทำ รู้ว่าผิดก็ยังจะทำและถ้าตัดสินใจได้อีกครั้งก็จะทำแบบเดิม รู้แล้วจะทำไมหละก็ทีคนถาม คนสอนก็ยังอยากจะทำแบบที่ตนเองทำไม่ใช่หรือ สุดท้ายคือพวกที่จะไปบอกอะไรให้ฟังก็จะตอบกลับมาว่ารู้แล้วไม่ต้องมาสั่งมาสอน) และ มีค่านิยมมองความสุขแค่ในปัจจุบันโดยไม่คำนึงถึงอนาคต กอปรกับกระแสบริโภคนิยม ความสะดวก รวดเร็วขึ้นในการเข้าถึงสินค้าและบริการที่นำเสนอ(ผู้เขียน รูดไปก่อนผ่อนทีหลัง เที่ยวไปก่อนผ่อนทีหลัง ฉลองไปก่อนผ่อนทีหลัง แม้แต่แต่งกันไปก่อนค่อยผ่อนทีหลัง ศัลยกรรมไปก่อนผ่อนทีหลัง ความสวยความหล่อผ่อนกันได้ เป็นต้น) พร้อมกับแคมเปญโปรโมชั่นและทางเลือกผ่อนชำระ อาทิ ข้อเสนอดอกเบี้ยศูนย์เปอร์เซ็นต์หรือแบ่งจ่ายหลายงวด (ผู้เขียน วาทกรรมการตลาด เก็บเงินสดไว้ ผ่อนเป็นงวด ไม่มีดอกเบี้ย คุณพี่ คุณลูกค้าไม่ได้เสียอะไรเลย ที่แรงสุดคือ จะโง่มากถ้าไม่เอาโปรครั้งนี้ เพราะไม่มีดอกเบี้ยสักบาท) ซึ่งช่วยให้ภาระผ่อนต่อเดือนดูต่ำลง ทั้งหมดนี้เป็นปัจจัยกระตุ้นให้ผู้บริโภคจับจ่ายใช้สอยและก่อหนี้ได้ง่ายขึ้น เรียกกันภาษาชาวบ้านคือ ฝากับโลงมาเจอกัน แถมมีฆ้อนกับตะปูศูนย์เปอร์เซ็นต์ตอกลงไป ก็เป็นอันจบ รอทำพิธฌาปณกิจทางการเงินส่วนบุคคล
4.มีการตีปลาหน้าไซว่า หากทางการประกาศเกณฑ์ปล่อยกู้โดยกำหนดเพดานภาระการชำระหนี้รวมต่อรายได้รายเดือน (DSR) มาใช้ในยามเศรษฐกิจกำลังแกว่งๆ และคนก่อหนี้ยากขึ้น คาดว่าจะส่งผลกระทบต่อการเติบโตของสินเชื่อ รายย่อยของสถาบันผู้ให้กู้ค่อนข้างมาก (ชี้นำนิดๆว่าว่ามีโอกาสจะคุมระดับ DSR ไม่ให้เกิน 60% เนื่องจากหลายประเทศก็จะใช้เกณฑ์นี้… แต่ไม่บอกว่าประเทศไหนบ้าง)
5.นักข่าวสายเศรษฐกิจไปถามผู้บริหารธนาคารกลาง ก็มีการเผยแพร่ออกมาว่า
การจัดทำมาตรการคุมการปล่อยสินเชื่อผ่านการกำหนด DSR ทำได้ยาก เนื่องจากสถาบันการเงินแต่ละแห่งมีวิธีคำนวณ DSR ที่แตกต่างกัน โดยเฉพาะคำนิยามของการนับว่าอะไรคือรายได้ที่จะนำมาใช้ในการคำนวณเพื่อการพิจารณาสินเชื่อ ในขณะเดียวกันเวลานี้ทุกภาคส่วนก็กำลังคุยกันถึง “แนวนโยบายการให้สินเชื่อ รายย่อยอย่างเหมาะสมเพื่อดูแลปัญหาหนี้เกินตัวของภาคครัวเรือน”
…. ที่มีข่าวว่าจะคุม DSR ไม่ให้เกิน 70% กรณีรายได้ไม่เกินสามหมื่นนั้น ยังไม่มีการพูดถึงเปอร์เซ็นต์กันเลย และเกณฑ์ที่จะประกาศใช้วันที่ 1 มกราคม 2563 ไม่ใช่ hard rule แน่นอน น่าจะเป็นการออกแนวนโยบายเพื่อให้ธนาคารปฏิบัติตาม ซึ่งเรื่องนี้ต้องเป็นการเปลี่ยนที่พฤติกรรมเสนอ ขายสินเชื่อของพนักงานที่สาขาธนาคาร จากเดิมที่ทำเช็กลิสต์ แล้วปล่อยสินเชื่อได้ ก็จะต้องทำความเข้าใจลูกค้ามากขึ้นว่า แต่ละคนมีภาระหนี้เท่าไหร่ และเหลือใช้เท่าไหร่ เป็นต้น…
กรรมเป็นเครื่องชี้เจตนา
อดีตเป็นเหตุ ปัจจุบันเป็นผล
ปัจจุบันเป็นเหตุ อนาคตจะเป็นผล
ความไม่มีหนี้ เป็นลาภอันประเสริฐ
แต่เมื่อท่านก่อหนี้ ท่านก็ต้องใช้หนี้
สัญญาต้องเป็นสัญญา
เป็นหนี้ ต้องใช้หนี้
เครดิตดี ไม่มีขาย อยากได้ต้องทำเอง
เศรษฐกิจคิดง่ายๆ (ดิจิทัล) “บทบาทการ “ติดดิน” ของธนาคารกลาง ธุรกิจมันก็ไปต่อได้” วันจันทร์ที่ 19 สิงหาคม 2562
บทบาทการ “ติดดิน” ของธนาคารกลาง ธุรกิจมันก็ไปต่อได้
ท่านผู้อ่านเคยได้ยินได้ฟังข้อความที่มีผู้คนกล่าวถึงคุณค่าบางอย่างของการทำงานของผู้คนในองค์กรที่ต้องมีความเชื่อถือในระดับที่สูง ได้รับความไว้วางใจจากสาธารณะมาก มากจนขนาดยอมออกมาเป็นปราการป้องกันการเข้ามาแทรกแซงจากภาคการเมืองได้ องค์กรแบบนี้เขามีปรัชญา แนวคิดการประพฤติปฏิบัติกันอย่างไร ตัวอย่างหนึ่งของประเทศไทยเราคือ ธนาคารกลาง แนวคิดที่ได้มีการวางฐานคิดมาตั้งแต่ท่านผู้ว่าการรุ่นก่อนๆที่ว่า “ยืนตรง มองไกล ติดดิน และยื่นมือ” คือคำไทยๆ ที่มีความหมาย สิ่งที่ผู้เขียนขอนำมาเสนอในวันนี้คือคำว่า “ติดดิน” ซึ่งน่าจะหมายถึงการจะคิดจะทำอะไรต่อระบบนั้นจำเป็นต้องรับฟังจากทุกภาคส่วน เข้าใจว่าเขาเหล่านั้นทำอะไรกัน และทำไมเขาจึงต้องทำแบบนั้น มันคงไม่ใช่แค่ตั้งสมมติฐาน หาข้อมูล สร้างตัวแบบหรือ model และจัดทำผลสรุป และก็ผลัดกันเขียน เวียนกันอ่าน ผ่านกันชม เหมาะสมครับท่าน แต่ต้องลงไปรับฟังจากผู้ประกอบการ เอาใจเขามาใส่ใจเรา เอาใจไปคิด คิดแบบคนที่มีหัวใจมนุษย์คนหนึ่ง เพราะเราไม่ใช่หุ่นยนต์ และไม่ตกเป็นทาสของอคติว่า ที่คิดที่ทำนั้นดีที่สุดแล้ว เหมาะที่สุดแล้ว มันไม่มีทางผิดไปได้
+ คนที่ไม่เคยมีหนี้สิน ไม่เคยต้องขวนขวายทำงานหนักเพื่อให้ได้บ้านสักหลัง คอนโดสักห้องหรือ
+ คนที่ไม่เคยตัดสินใจว่าจะให้กู้หรือไม่ให้กู้กับใคร เคยแต่วิพากษ์วิจารณ์หลังจากเรื่องมันผ่านไปแล้วหรือ
+ คนที่ไม่เคยมีแรงกดดันทางธุรกิจ แรงกดดันจาก KPI ในเป้าหมายทางธุรกิจ
คนทำงานเหล่านี้ถ้าไม่เปิดใจรับข้อมูลจากคนที่ยื่นขอกู้ คนที่ทำธุรกิจสร้างบ้านขายบ้าน คนที่ต้องตัดสินใจให้กู้ไม่ให้กู้ เอาแต่คิดไปเองจากข้อมูลในมือ ที่สุดแล้วถ้าแม้นมันผิดจุดไปสักแห่ง มันเท่ากับไปลงโทษคนที่เขาไม่ได้ทำอะไรผิด
เมื่อผมได้ทราบว่า ธนาคารกลางได้ดำเนินการผ่อนผันผ่อนปรนการนับสัญญาเงินกู้ สินเชื่อที่อยู่อาศัย ในกรณีที่ผู้กู้ร่วมไม่มีชื่อเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์จะถือว่ายังไม่เป็นผู้กู้ จากเกณฑ์เดิมที่นับรวมผู้กู้ร่วมเป็นสัญญาแรก ซึ่งหากจะซื้อบ้านเป็นของตัวเองจะถูกนับเป็นหลังที่ 2 และต้องวางดาวน์ 20% มากกว่าหลังแรกที่ 5-10%
ผลบุญจากดวงตาที่เห็นธรรมดังกล่าวนี้จะทำให้คนที่เข้าไปร่วมด้วยช่วยผ่อน (เฉยๆ) แต่ไม่ได้คิดจะไปเป็นเจ้าข้าวเจ้าของในอสังหาริมทรัพย์ชิ้นนั้น ไม่ถูกลงโทษด้วยกติกาที่ออกมาป้องกันการเก็งกำไร เหตุเพราะคนที่ไปช่วยเขาเกิดอยากจะไปกู้ซื้อบ้าน ซื้อคอนโด เป็นที่อยู่อาศัยสัญญาแรก จะได้ไม่ต้องเจอเกณฑ์เหมือนตนเองกู้เป็นสัญญาที่สอง มันเหมือนกับกรณีชาวบ้านเขาอยู่ในป่าของเขามาแต่อดีต พอประกาศเขตป่าสงวนภายหลัง กลายเป็นพวกเขารุกป่า อย่างนี้มันก็ดูเหมือนไม่ยุติธรรม
อีกประการหนึ่งคนที่ไปช่วยเขาผ่อนสัญญาแรกที่เรียกว่ากู้ร่วมนั้น ตอนเขาไปขอกู้บ้าง เขาต้องมีรายได้เหลือหลังหักยอดผ่อนที่ไปช่วยเขา เพื่อเอามาคำนวณยอดผ่อนต่อรายได้สำหรับเงินกู้ของเขาผ่านเกณฑ์คนให้กู้ซึ่งก็ไม่ง่าย การจะมาให้เขาไปวางดาวน์ที่สูงเหมือนเขามีเงินกู้บ้าน/คอนโดเหมือนสัญญาที่สองคงจะไม่แฟร์ ผู้เขียนจึงขอปรบมือให้กับ ผู้ประกอบการที่หยิบเอาปัญหาจริงๆมาเสนอขอให้แก้ไข มิใช่เสนอปัญหาที่จะเอาตัวรอดในเรื่องธุรกิจ แต่มันคือการช่วยคนที่อยากมีบ้านให้ได้บ้าน ขอปรบมือให้กับทางการ ธนาคารกลาง ที่ติดดิน ไม่คิดว่านี่คือการเสียหน้าว่าออกกฎบกพร่อง แต่เข้าใจเรื่อง ยอมปรับปรุงเพื่อให้คนที่ไปช่วยผ่อนหรือผู้กู้ร่วมได้มีโอกาสได้บ้านตามเกณฑ์ตามสิทธิที่พึงจะเป็น เรื่องดีๆแบบนี้จะเป็นบวกต่อภาพรวมตลาดอสังหาริมทรัพย์ เพราะจะช่วยบรรเทาผลกระทบของเกณฑ์ LTV ใหม่ต่อผู้ซื้อเพื่ออยู่จริง และผู้กู้ร่วมที่ตัองการซื้อบ้านของตัวเอง และจะเป็นปัจจัยหนุนให้โมเมนตัมฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไปได้ในช่วงที่เหลือของปี 2562
ทั้งนี้จากการคาดการณ์ของสำนักวิจัยหลักทรัพย์บางแห่งคาดว่า ผู้กู้ร่วมน่าจะมีสัดส่วนราว 20% ของตลาดรวม และพบมากในทาวน์เฮ้าส์ และกลุ่ม Mid-to-Low End (ราคาต่ำกว่า 3 ลบ.) ซึ่งต้องพึ่งพาเงินกู้ไปซื้ออสังหาริมทรัพย์นั้น
ในสังคมบ้านเรามีคำกล่าวไว้ว่า Cost of Face สูงกว่า Cost of Fund หรือบางครั้งสูงกว่า Cost of Fact ดังที่ผู้เขียนเคยได้รับการกระทำในอดีต ไม่มีใครตำหนิท่านที่ออกกติกาเก่านะครับว่า ไม่มีเจตนากระทำผิด เพราะเนื้อแท้แล้ว ท่านไม่ได้กระทำผิดตั้งแต่ต้น ความสุจริตเป็นศาสตร์กำบังป้องคนทำงานเสมอ อันต่างจากใครบางคนที่แม้วันนี้ก็ยังขาดสำนึกว่ากระทำกับคนสุจริตจนเขาเจียนตายแต่เพราะมี Cost of Face จึงยังจะมีโอกาสกระทำผิดครั้งต่อไปได้อีก
ขอบคุณทุกท่านที่ติดตามนะครับ