Blog Page 135

อ่านก่อนกู้เงิน : ก่อนขอสินเชื่อต้องรู้อะไรบ้าง

อ่านก่อนกู้เงิน : ก่อนขอสินเชื่อต้องรู้อะไรบ้าง

หากต้องการที่จะขอสินเชื่อ สิ่งที่ต้องคำนึงถึงคือความสามารถในการชำระหนี้ของผู้กู้ เราต้องประเมินตัวเองว่ามีความสามารถในการชำระหนี้หรือไม่ เมื่อเราประเมินสถานการณ์การชำระหนี้ของเราแล้ว ก็เลือกประเภทของสินเชื่อและสถาบันการเงินที่เราจะไปขอสินเชื่อ โดยต้องศึกษารายละเอียดและข้อเสนอให้ดี ทำความเข้าใจและกระบวนการของการขอสินเชื่อให้ละเอียด

เอกสารที่ใช้ในการขอสินเชื่อ

การเตรียมเอกสารหลักฐานประกอบคำขอสินเชื่อนั้นอาจแตกต่างกันไปตามประเภทของสินเชื่อ ซึ่งเอกสารประกอบคำขอสินเชื่อแบ่งได้เป็น 3 กลุ่มหลัก คือ

เอกสารประจำตัว เช่น สำเนาบัตรประจำตัวประชาชน หรือสำเนาบัตรข้าราชการ/รัฐวิสาหกิจ สำเนาทะเบียนบ้าน สำเนาทะเบียนสมรส ทะเบียนหย่า หรือใบมรณบัตร สำเนาหลักฐานการเปลี่ยนชื่อ สกุล (ถ้ามี) กรณีนิติบุคคล อาจใช้สำเนาทะเบียนการค้า หนังสือรับรองการจดทะเบียนนิติบุคคล

เอกสารเกี่ยวกับรายได้ ได้แก่

  • ผู้มีรายได้ประจำ ใบรับรองเงินเดือน หรือหลักฐานการรับ/จ่ายเงินเดือนจากนายจ้าง สมุดบัญชีเงินฝากธนาคาร
  • ผู้มีอาชีพอิสระ กรณีเป็นสัญญาจ้าง อาจใช้สำเนาสัญญาว่าจ้างและหลักฐานการจ่ายเงินค่าจ้าง กรณีเป็นแพทย์ ทนายความ ผู้สอบบัญชี วิศวกร สถาปนิก ควรแสดงใบอนุญาตประกอบวิชาชีพด้วยบัญชีเงินฝาก พร้อมใบแจ้งยอดบัญชี หรือสเตทเมนต์ (statement) ของบัญชีเงินฝากของตนเองหรือของกิจการย้อนหลังอย่างน้อย 6 เดือน หลักฐานรายได้หรือทรัพย์สินอื่นๆ เช่น ใบหุ้น พันธบัตรรัฐบาล บัญชีเงินฝากธนาคาร
  • นิติบุคคล ได้แก่ สำเนางบการเงินปีล่าสุด และย้อนหลังไม่น้อยกว่า 3 ปี สำเนาแสดงรายการภาษีเงินได้ประจำปี สำเนาเอกสารสิทธิในทรัพย์สินที่เสนอเป็นหลักประกัน และแผนที่แสดงที่ตั้งสถานประกอบการ

เอกสารอื่น ๆ  เช่น  สำเนาสัญญาจะซื้อจะขาย หรือสัญญามัดจำ สำเนาโฉนดที่ดิน หรือสำเนาหนังสือแสดงกรรมสิทธิ์ สัญญากู้เงิน และสัญญาจำนองจากสถาบันการเงินเดิม ในกรณีมีผู้กู้ร่วม จะต้องมีหลักฐานประจำตัว และหลักฐานรายได้ของผู้กู้ร่วม ในกรณีที่ขอสินเชื่อเพื่อธุรกิจ สิ่งที่จำเป็นคือแผนธุรกิจ เช่น แผนธุรกิจของ SMEs แผนโครงการที่ต้องการดำเนินการ

การค้ำประกันและหลักประกัน

การค้ำประกันและหลักประกันเป็นปัจจัยหนึ่งที่ผู้ให้สินเชื่ออาจใช้ประกอบการพิจารณาให้สินเชื่อ เพื่อให้มั่นใจว่าหากผู้ขอสินเชื่อชำระหนี้ไม่ได้ สถาบันการเงินยังมีทางที่จะได้เงินคืน เช่น สามารถยึดหลักประกันมาขายทอดตลาดเพื่อชำระหนี้ที่ค้างอยู่ หรือให้ผู้ค้ำประกันชำระหนี้แทน โดยหลักทรัพย์ที่นิยมนำมาเป็นหลักประกัน เช่น เงินฝาก พันธบัตรรัฐบาล ตั๋วเงิน หุ้นกู้ และอสังหาริมทรัพย์ ในกรณีสินเชื่อที่มีบุคคลค้ำประกัน สถาบันการเงินก็จะพิจารณาถึงความสามารถในการชำระหนี้ของผู้ค้ำประกันประกอบด้วย

เกณฑ์ที่สถาบันการเงินใช้พิจารณาสินเชื่อ

ในการพิจารณาอนุมัติสินเชื่อจะขึ้นอยู่กับนโยบายและหลักเกณฑ์ของผู้ให้สินเชื่อแต่ละราย โดยทั่วไปแล้วมีปัจจัยหลัก ๆ ที่ใช้ประกอบการพิจารณา คือ

  • นโยบายสินเชื่อของผู้ให้สินเชื่อ เช่น ผู้ให้สินเชื่อบางรายอาจกำหนดว่าผู้ยื่นขอสินเชื่อต้องไม่มีประวัติการค้างชำระในช่วง 12 เดือนย้อนหลัง หรืองดให้สินเชื่อแก่ลูกค้าใหม่ในกลุ่มอาชีพหรือกลุ่มอุตสาหกรรมที่มีความเสี่ยงสูง
  • วัตถุประสงค์ในการขอสินเชื่อ เช่น ใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนในการทำธุรกิจ หรือลงทุนขยายโรงงาน ซึ่งจะเป็นข้อมูลประกอบการพิจารณาความสามารถในการชำระหนี้ในอนาคต
  • คุณลักษณะและความสามารถในการชำระหนี้ของผู้ขอสินเชื่อ ซึ่งสถาบันการเงินส่วนใหญ่จะใช้หลัก 5 Cs ประกอบด้วย
  1. Character คือ คุณลักษณะและความน่าเชื่อถือของผู้ขอสินเชื่อ วินัยในการใช้และการชำระสินเชื่อในอดีต ซึ่งบอกถึงความสามารถในการใช้หนี้และการบริหารจัดการสินเชื่อ เช่น ในกรณีบุคคลธรรมดาอาจพิจารณาอายุ อาชีพ สถานะภาพสมรส ส่วนกรณีผู้ขอสินเชื่อประกอบธุรกิจอาจพิจารณาประเภทของธุรกิจ ประวัติของผู้บริหาร ระยะเวลาในการดำเนินธุรกิจ
  2. Capacity คือ ความสามารถในการจ่ายชำระหนี้คืนได้ตามระยะเวลาที่กำหนดไว้ รวมถึงความมั่นคงของรายได้ที่จะนำมาชำระหนี้ในอนาคต เช่น รายได้ในปัจจุบัน ภาระหนี้สินที่มีอยู่ ประวัติการชำระยอดการใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิตและสินเชื่ออื่น ๆ
  3. Capital คือ เงินทุน สินทรัพย์ หรือเงินฝากของผู้ขอสินเชื่อ เพื่อเป็นหลักประกันการให้กู้ยืม ซึ่งจำเป็นอย่างยิ่งในสินเชื่อธุรกิจ แม้ว่าสินทรัพย์เหล่านี้จะไม่ใช่แหล่งเงินสำหรับชำระหนี้ แต่จะเป็นแหล่งเงินสำรองสำหรับการชำระหนี้ของผู้ขอสินเชื่อในกรณีที่เกิดปัญหาไม่สามารถชำระหนี้ได้
  4. Collateral คือ ผู้ค้ำประกันหรือหลักประกันที่ผู้ขอสินเชื่อนำมาจำนำ หรือจำนองเพื่อให้สถาบันการเงินมีความมั่นใจและลดความเสี่ยงหากผู้ขอสินเชื่อไม่ชำระหนี้ตามกำหนด ซึ่งสามารถให้ผู้ค้ำประกันชำระหนี้แทนหรือนำหลักประกันมาขายทอดตลาดได้ตามที่กฎหมายกำหนด
  5. Conditions คือ ปัจจัยภายนอกที่มีผลกระทบต่อรายได้ของผู้ขอสินเชื่อ เช่น เศรษฐกิจ เงินเฟ้อ ความมั่นคงในรายได้และการงาน ปัญหาสงคราม สิ่งแวดล้อม ที่มีผลกระทบต่อความเป็นไปได้ของโครงการลงทุนหรือรายได้ของผู้ขอสินเชื่อ ซึ่งจะมีผลต่อความสามารถในการชำระหนี้ในอนาคต

สิทธิของผู้ขอสินเชื่อจากสถาบันการเงินกรณีไม่ได้รับอนุมัติหรือถูกปฏิเสธสินเชื่อจากสถาบันการเงิน *

หากผู้ขอสินเชื่อถูกปฏิเสธสินเชื่อจากสถาบันการเงิน ผู้ขอสินเชื่อสามารถขอทราบเหตุผลของการไม่อนุมัติสินเชื่อจากสถาบันการเงินเป็นลายลักษณ์อักษรได้ ทั้งนี้ เพื่อให้ผู้ขอสินเชื่อมีข้อมูลที่สามารถนำมาใช้ปรับปรุงศักยภาพ และสามารถขอสินเชื่อได้ใหม่ในอนาคต โดยตัวอย่างคำชี้แจง เช่น รายได้ไม่เพียงพอต่อการชำระหนี้ มูลหนี้คงค้างสูงเกินไป นอกจากนั้น ในกรณีการขอสินเชื่อเพื่อการประกอบธุรกิจ หากถูกปฏิเสธสินเชื่อ ก็สามารถขอรับคืนเอกสารสำคัญที่เคยยื่นไว้เพื่อประกอบการพิจารณาสินเชื่อได้ เช่น งบการเงิน แผนประกอบธุรกิจ รายละเอียดหลักประกัน โดยสถาบันการเงินจะต้องคืนให้ภายในเวลาอันควร

* ไม่ใช้บังคับกับ Non-bank ที่เป็นผู้ให้บริการสินเชื่อส่วนบุคคล และสินเชื่อบัตรเครดิต

การติดตามทวงถามหนี้

“ก่อหนี้เท่าที่จำเป็นและจ่ายไหว” และ “เป็นหนี้ต้องชำระ” เป็นกฎเหล็กที่ลูกหนี้ควรปฏิบัติ แต่เมื่อถึงกำหนดชำระหนี้แล้วลูกหนี้กลับไม่ยอมจ่ายหนี้ เจ้าหนี้ก็มีสิทธิ์ที่จะทวงเงินคืนหรือจ้างตัวแทนที่เป็นผู้ประกอบธุรกิจทวงหนี้ ซึ่งต้องปฏิบัติตามพระราชบัญญัติการทวงถามหนี้ พ.ศ. 2558​​ เช่น ​

  • ห้ามทวงถามหนี้กับบุคคลอื่นที่ไม่ใช่ลูกหนี้ และห้ามเปิดเผยข้อมูลการเป็นหนี้ของลูกหนี้ให้ผู้อื่นทราบ เว้นแต่เป็นบุคคลซึ่งลูกหนี้ระบุไว้
  • กรณีเป็นผู้รับมอบอำนาจให้ดำเนินการทวงหนี้ ต้องแสดงตัวตนต่อลูกหนี้โดยแจ้งชื่อ นามสกุล ชื่อหน่วยงานของตนและของเจ้าหนี้ รวมทั้งจำนวนหนี้ และถ้าเป็นการทวงหนี้ต่อหน้าให้แสดงหลักฐานการมอบอำนาจให้ทวงถามหนี้ด้วย​​
  • กรณีทวงหนี้และขอรับชำระหนี้ด้วย ต้องแสดงหลักฐานการรับมอบอำนาจให้รับชำระหนี้ และเมื่อ ลูกหนี้ชำระหนี้แล้วต้องออกหลักฐานให้ด้วย
  • ให้ติดต่อกับลูกหนี้ตามสถานที่ที่ระบุไว้ หากไม่สามารถติดต่อได้ สามารถติดต่อที่ภูมิลำเนา ถิ่นที่อยู่ หรือสถานที่ทำงานของลูกหนี้ได้ ในวันจันทร์ – วันศุกร์ เวลา 08.00 – 00 น. และวันหยุดราชการ เวลา 08.00 – 18.00 น. ซึ่งต้องติดต่อในจำนวนครั้งที่เหมาะสม
  • ห้ามติดต่อลูกหนี้โดยวิธีที่สื่อให้ทราบว่าเป็นการทวงหนี้ เช่น ใช้ไปรษณียบัตร เอกสารเปิดผนึก โทรสาร หรือสิ่งอื่นใดที่สื่อว่าเป็นการทวงหนี้อย่างชัดเจน รวมทั้งการใช้ข้อความ เครื่องหมาย สัญลักษณ์ หรือชื่อทางธุรกิจของผู้ทวงถามหนี้บนซองจดหมายที่ทำให้เข้าใจได้ว่าเป็นการติดต่อเพื่อการทวงถามหนี้
  • ห้ามข่มขู่ ดูหมิ่น ใช้ความรุนแรงที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่ร่างกาย ชื่อเสียง และทรัพย์สิน
  • ห้ามทวงถามหนี้ในลักษณะที่เป็นเท็จหรือทำให้เกิดความเข้าใจผิด เช่น ใช้สัญลักษณ์ที่ทำให้เข้าใจผิดว่าเป็นการกระทำของศาล หน่วยงานของรัฐ สำนักงานกฎหมาย บริษัทข้อมูลเครดิต รวมทั้งแสดงข้อความที่ทำให้เชื่อว่าจะถูกดำเนินคดี หรือถูกยึดหรืออายัดทรัพย์หรือเงินเดือน
  • ห้ามทวงหนี้ในลักษณะที่ไม่เป็นธรรม เช่น เรียกเก็บค่าธรรมเนียมหรือค่าใช้จ่ายเกินกว่าอัตราที่กำหนดชักจูงให้ลูกหนี้ออกเช็คทั้งที่รู้อยู่ว่าลูกหนี้ไม่สามารถชำระได้

หากผู้ทวงหนี้ปฏิบัติขัดต่อพระราชบัญญัตินี้หรือลูกหนี้ไม่ได้รับความเป็นธรรม สามารถร้องเรียนได้ที่หน่ว​ยงานต่าง ๆ ดังต่อไปนี้

1) กรมการปกครอง โทร. 0 2356 9660

2) สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง โทร. 1359

3) ที่ทำการปกครองจังหวัด

4) กองบัญชาการตำรวจนครบาล โทร. 0 2354 5249

5) สถานีตำรวจ ​

6) ที่ว่าการอำเภอ

ขอบคุณที่มาและข้อมูลจาก ศคง.
https://www.1213.or.th/th/serviceunderbot/loans/Pages/beforeloan.aspx

รู้มั้ย? ทำไมต้องวางแผนทางการเงิน

รู้มั้ย? ทำไมต้องวางแผนทางการเงิน

การใช้เงินเป็นกิจกรรมอย่างหนึ่งที่อยู่ในชีวิตประจำวันของทุกคน แต่รายรับเราไม่ได้มีทุกวันเหมือนรายจ่าย แถมเราจะสามารถหาเงินใช้ได้จนถึงเมื่อไหร่ก็ไม่มีใครทราบได้ ดังนั้นทุกคนจึงต้องวางแผนทางการเงินให้ดี ให้พอใช้ ให้อยู่สบาย เพื่อจะได้มีชีวิตอยู่อย่างราบรื่นไม่ลำบาก ให้มีรายได้เพียงพอกับรายจ่าย และมีเงินเหลือไว้ใช้ยามฉุกเฉิน มีเงินออมไว้เก็บเกี่ยวดอกผล หรือลงทุนในอนาคตได้ ซึ่งทั้งหมดนี้ก็เพื่อสร้างอนาคตที่สดใสและมั่นคงนั่นเอง

ใครบ้างที่ต้องวางแผนการเงิน

ไม่ว่าจะวัยไหน ๆ ก็ต้องรู้จักเก็บออมและวางแผนการเงินให้เหมาะสมกับวัยและอาชีพของตนเอง เริ่มตั้งแต่วัยเด็กที่ต้องเริ่มฝึกวินัยทางการเงินเพื่อเป็นนิสัยไปตอนโต จนไปถึงวัยเกษียณที่ต้องใช้เงินอย่างระมัดระวัง เพื่อให้มีเงินเหลือใช้ได้อย่างสบายตลอดชีวิต

วัยเด็ก เป็นวัยที่พ่อแม่จะบ่มเพาะนิสัยการเก็บออมและวินัยในการใช้เงิน ซึ่งหากมีการปลูกฝังที่ดีตั้งแต่วัยนี้ เด็ก ๆ ก็จะเติบโตมาโดยมีนิสัยประหยัด มัธยัสถ์ มีวินัยในการใช้เงินติดตัวมา จนเป็นพื้นฐานที่ดีให้เขาเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่ใช้เงินเป็น

วัยทำงาน เป็นวัยที่กำลังสร้างเนื้อสร้างตัว มีรายได้เป็นของตัวเองและมีอิสระในการใช้จ่าย ซึ่งหากไม่มีการวางแผนการเงินที่ดีแล้ว โอกาสที่เงินจะรั่วไหลไปตามกระแสสังคม กิน เที่ยว ใช้ ช็อป ย่อมเกิดขึ้นได้มาก และโอกาสที่จะสร้างเนื้อสร้างตัว เช่น ซื้อรถ ซื้อบ้าน แต่งงาน สร้างครอบครัว ก็ย่อมถอยห่างออกไปเช่นกัน

วัยสร้างครอบครัว การสร้างครอบครัวเป็นเรื่องใหญ่ เพราะไม่ได้รับผิดชอบเฉพาะตัวเอง หากยังมีสมาชิกในครอบครัวที่ต้องดูแล จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องวางแผนการเงินให้รัดกุม เพราะนอกจากจะต้องจัดสรรรายได้ให้เพียงพอต่อรายจ่ายในแต่ละเดือน เช่น ค่ากินใช้ ค่าขนมลูก ค่าผ่อนบ้าน ผ่อนรถ ฯลฯ แล้วยังมี ค่าเทอมลูก และรายจ่ายจำเป็น เช่น ค่าซ่อมรถ ซ่อมบ้าน ค่ารักษาพยาบาล ค่าใช้จ่ายในการท่องเที่ยว ฯลฯ

วัยเกษียณ แม้ว่าภาระการเงินต่าง ๆ จะน้อยลงแต่ก็ยังจำเป็นต้องวางแผนการเงินเช่นกัน เพื่อไม่เป็นภาระของลูกหลาน เนื่องจากคนวัยนี้ส่วนใหญ่รายรับจะน้อยลง ในขณะที่รายจ่ายด้านการดูแลสุขภาพมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น

เพราะอะไรทำไมต้องวางแผนการเงิน

  1. คนมีอายุเฉลี่ยมากขึ้น

เพราะเทคโนโลยีทางการแพทย์ที่พัฒนามากขึ้นเมื่อเราอายุมากขึ้น ก็จำเป็นที่ต้องเตรียมเงินเผื่อตอนเราเกษียณอายุมากขึ้นเช่นกัน แค่ลองคิดง่าย ๆ ว่าเมื่อก่อนอายุขัยเฉลี่ยอยู่ที่ 70 ปี เราจะมีอายุเฉลี่ยหลังเกษียณเท่ากับ 10 ปีเท่านั้นเอง (หากคิดคำนวณการเกษียณอายุอยู่ที่ 60 ปี) แต่ในปัจจุบันอายุขัยเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 76 ปี นั่นแปลว่า เรามีเวลาทำงานเท่าเดิมแต่เราต้องเก็บเงินไว้ใช้หลังเกษียณอายุสูงขึ้น ถ้าเรายังทำงานอยู่จนถึงอายุ 60 ปี เท่ากับว่าเราจะต้องวางแผนอย่างน้อย 15 ปีหลังเกษียณ

  1. โครงสร้างประชากรเปลี่ยนไป ผู้สูงอายุมีมากขึ้น และเราเองอาจไม่มีบุตร

ยุค Baby Boomer เป็นยุคที่มีอัตราการเกิดสูงที่สุด และปัจจุบันคนกลุ่มนี้ก็เข้าสู่ช่วงทำงานตอนปลายทำให้คนทำงานจะน้อยลง นั่นหมายความว่าประชากรส่วนใหญ่ของประเทศกำลังจะเป็นผู้สูงอายุ คนเกษียณจะมากขึ้นสวัสดิการของรัฐที่มีอยู่ ก็มีแนวโน้มที่จะไม่เพียงพอ การวางแผนการเงินเพื่อดูแลตัวเองโดยที่พึ่งพารัฐบาลให้น้อยที่สุดก็เลยเป็นสิ่งที่จำเป็นมากขึ้น ถ้าใครมีบุตรก็อาจจะโชคดีถ้าอนาคตบุตรให้ความช่วยเหลือเรื่องการเงิน แต่ถ้าเป็นโสดหรือไม่มีบุตร ก็ต้องเตรียมเงินไว้ใช้หลังเกษียณ และเพื่อให้มีโอกาสในการเข้าถึงบริการต่าง ๆ ได้อย่างสะดวกสบายมากขึ้น

  1. เงินเฟ้อเพิ่มขึ้น แต่ดอกเบี้ยต่ำลง

เชื่อหรือไม่ว่า เมื่อในอดีตดอกเบี้ยเงินฝากธนาคารของประเทศไทยเราเคยสูงถึง 15% ชนิดที่เรียกว่าฝากธนาคารก็เอาดอกผลมากินมาใช้ได้สบาย ๆ เลย แต่ตอนนี้ดอกเบี้ยที่มีอยู่น้อยลงอย่างมาก ถ้าเราไปดูที่ธนาคารตอนนี้ก็น่าจะอยู่ 0.5-1% เท่านั้น ไม่นับเงินฝากชนิดพิเศษต่าง ๆ หากเราย้อนกลับมาดูที่เงินเฟ้อที่ตอนนี้อยู่ที่ 2.5-3% แปลว่า ถ้าเราไม่ทำอะไรเลยเอาแต่ฝากเงิน ก็จะมีความมั่งคั่งลดลงไปเรื่อย ๆ

  1. ความไม่แน่นอนของชีวิต

บางครั้งสิ่งที่ไม่คาดฝันก็เกิดขึ้นได้ เช่น อุบัติเหตุ หรือการเจ็บป่วยต่าง ๆ หรือเหตุการณ์วาตภัย อัคคีภัย อุทกภัยใหญ่ที่เราไม่ทราบว่าจะเกิดขึ้นกับเราเมื่อไหร่ บางเหตุการณ์อาจเป็นอุปสรรคเล็ก ๆ ในชีวิต แต่บางเหตุการณ์อาจเป็นอุปสรรคใหญ่ ที่ทำให้เรารับมือได้ยาก ดังนั้นการมีเงินสดฉุกเฉิน (Emergency Fund) และการบริหารความเสี่ยง (Risk Management) จึงมีความสำคัญมากยิ่งขึ้น

  1. เพื่อที่จะปลดภาระหนี้สิน

สำหรับบางคนแล้ว การไม่มีหนี้ถือเป็นลาภอันประเสริฐ เพราะมีหลาย ๆ คนที่มีภาระหนี้สินอยู่หลายอย่าง เช่น ต้องผ่อนรถ ผ่อนบ้าน แถมยังมีหนี้บัตรเครดิตอีก ดังนั้นการไม่มีหนี้สินเลยถือเป็นความสำเร็จอย่างหนึ่ง และยิ่งไปกว่านั้นการที่จะมีเงินเก็บได้ยิ่งเป็นความสำเร็จที่สูงขึ้นไปอีก เพราะเขาสามารถเปลี่ยนสถานะตนเองจากคนที่มีหนี้เป็นคนที่มีเงินเก็บได้ซึ่งไม่ใช่เรื่องง่ายหากไม่มีการวางแผนที่ดี

การวางแผนการเงินเป็นเรื่องสำคัญที่ทุกคนไม่ควรมองข้าม เมื่อทราบอย่างนี้แล้ว ก็ถึงเวลาที่เราจะเริ่มเก็บออมเงินและมีวินัยในการใช้เงิน และเริ่มวางแผนทางการเงินอย่างจริงจัง เพื่อชีวิตที่มีความสุขโดยแท้จริง

ขอขอบคุณข้อมูลจาก ศคง. และธนาคารกรุงไทย
http://multimedia.gpf.or.th/microsite/content/c14b331a42112c4d6b74fe6176de435f.pdf
https://www.ktb.co.th/th/financial-partner/learn-financial/145

ข้อคิดดี ๆ ก่อนเป็นหนี้ต้องรู้ไว้

ข้อคิดดี ๆ ก่อนเป็นหนี้ต้องรู้ไว้

เชื่อว่าทุกคนก็อยากจะมีอิสระทางการเงิน แต่หลายครั้งที่ความจำเป็นในชีวิตที่ทำให้ต้องยอมกู้เงินเป็นหนี้เพื่อเสริมสภาพคล่องหรือต้องใช้เงินเพื่อแก้ปัญหาบางอย่าง ซึ่งก่อนที่จะตกลงปลงใจจะเป็นหนี้นั้น ลองฉุกคิดสักหน่อยมองความพร้อมและพิจารณาให้รอบด้าน ก่อนจะตัดสินใจเป็นหนี้

ช่วงขอกู้เงิน 

ถามตัวเองว่า รายได้เมื่อหักเงินออมและค่าใช้จ่าย รวมถึงภาระหนี้เดิมที่ผ่อนอยู่แต่ละเดือน (ถ้ามี) ยังมีเงินเหลือพอที่จะผ่อนหนี้ก้อนใหม่หรือไม่ มีความจำเป็นที่จะกู้เงินแค่ไหน แล้วจึงเลือกแหล่งเงินกู้ โดยควรเปรียบเทียบข้อมูลจากหลาย ๆ แห่งก่อนตัดสินใจ นอกจากนั้น ในการขอกู้เงินคุณต้องยินยอมให้สถาบันการเงินตรวจสอบข้อมูลเครดิตของคุณได้ด้วย

ถ้าไม่ได้รับอนุมัติเงินกู้ คุณมีสิทธิขอให้สถาบันการเงินชี้แจงเหตุผล ซึ่งธนาคารอาจแจ้งมาเป็นลายลักษณ์อักษรว่ารายได้ของคุณไม่เพียงพอต่อการชำระหนี้ เป็นต้น

ในระหว่างนี้ก็ควรหาความรู้เรื่องของดอกเบี้ยเงินกู้ กฎหมายในการกู้ยืมต่าง ๆ ซึ่งทุกอย่างจะต้องเป็นไปตามที่กฎหมายกำหนด ในขณะที่ผู้กู้ยืมเองก็ต้องมีหน้าที่ในการชำระเงินพร้อมดอกเบี้ยให้ครบถ้วนด้วย

ช่วงทำสัญญาเงินกู้

ก่อนเซ็นชื่อในสัญญาเงินกู้ ต้องอ่านและทำความเข้าใจเงื่อนไขการให้กู้ยืม โดยเฉพาะในสาระสำคัญ เช่น

  • จำนวนเงินทั้งที่เป็นตัวเลขและตัวอักษรถูกต้อง ตรงกัน
  • วัตถุประสงค์ในการกู้เงินตรงตามที่ขอกู้
  • ระยะเวลาที่ให้กู้เงิน วันที่ชำระเงิน และความถี่ในการชำระเงิน
  • อัตราดอกเบี้ยที่เรียกเก็บ ประเภทแบบคงที่หรือลอยตัว หากเป็นแบบลอยตัว ธนาคารต้องแจ้งประเภทของอัตราดอกเบี้ยอ้างอิง เช่น MRR MLR MLR+X% หรือ MLR-X*
  • ตารางแสดงจำนวนเงินผ่อนต่องวด ที่แสดงเงินต้นแยกจากดอกเบี้ย
  • ประเภทและรายละเอียดของหลักประกันในสัญญาจำนองหลักประกันว่าสอดคล้องกับสัญญากู้เงินหรือไม่ เงื่อนไขการไถ่ถอนและการเปลี่ยนแปลงหลักประกันเป็นอย่างไร
  • เงื่อนไขการผิดนัดชำระหนี้ เช่น ดอกเบี้ยผิดนัด ซึ่งส่วนใหญ่จะสูงกว่าดอกเบี้ยการชำระเงินปกติ ค่าใช้จ่ายในการติดตามทวงถามหนี้ เงื่อนไขการยึดหลักประกันเมื่อคุณผิดนัดชำระหนี้
  • เงื่อนไขการชำระคืนเงินกู้ก่อนกำหนด เช่น หากอยากเอาเงินก้อนมาโปะหนี้ก่อนครบอายุเงินกู้จะทำได้หรือไม่ และมีค่าใช้จ่ายอะไรบ้าง

นอกจากสัญญาเงินกู้แล้ว ยังมีรายละเอียดอื่น ๆ ที่ควรสอบถามเพิ่มเติม เช่น ค่าจดจำนองหลักประกัน ค่าประเมิน ราคาหลักประกัน ราคาประเมินของ หลักประกัน (ถ้ามี) ค่าใช้จ่ายในการทำประกันวินาศภัยต่าง ๆ และอย่าลืมว่าสถาบันการเงินต้องให้สำเนาสัญญาเงินกู้กับคุณด้วย ซึ่งต้องมีข้อมูลตรงกับต้นฉบับ

*MRR คือ อัตราดอกเบี้ยอ้างอิงของธนาคารพาณิชย์สำหรับลูกค้าสินเชื่อรายย่อยชั้นดี

MLR คือ อัตราดอกเบี้ยอ้างอิงของธนาคารพาณิชย์สำหรับลูกค้าสินเชื่อรายใหญ่ชั้นดี ใช้กับเงินกู้ระยะยาวที่มีกำหนดระยะเวลาแน่นอน

MLR+X%/MLR-X% คือ อัตราดอกเบี้ยที่ธนาคารพาณิชย์คิดจากลูกค้าซึ่งอาจสูงหรือตํ่ากว่า MLR ตามอัตราที่ธนาคารกำหนด 

ช่วงผ่อนหนี้

ในระหว่างที่ผ่อนหนี้ สถาบันการเงินต้องแจ้งข้อมูล  การผ่อนหนี้ของคุณ เช่น จัดส่งใบเสร็จรับเงินให้ทุกครั้งเมื่อมีการชำระหนี้โดยมีรายละเอียดเกี่ยวกับยอดเงินที่ผ่อนชำระ และงวดที่ผ่อนชำระ หรือจัดส่งรายการเคลื่อนไหวของยอดหนี้คงค้าง(Statement) ที่ระบุยอดหนี้ และจำนวนเงินที่ชำระ ยอดหนี้คงเหลือ รวมถึงรายละเอียดเกี่ยวกับเงินกู้ที่มีการเปลี่ยนแปลง เช่น อัตราดอกเบี้ยให้คุณทราบด้วย

ในฐานะลูกหนี้ คุณมีหน้าที่ชำระหนี้ให้ครบถ้วน ตรงเวลา และควรตรวจสอบความถูกต้องของใบเสร็จที่ชำระหนี้และเก็บไว้เป็นหลักฐาน แจ้งสถาบันการเงินหากมีการเปลี่ยนแปลงข้อมูลส่วนตัวที่สำคัญ ๆ เช่น ชื่อ ที่อยู่ หรือหากคุณมีปัญหาในการชำระหนี้ อย่าหนีหนี้ แต่ต้องรีบติดต่อและเจรจากับสถาบันการเงิน

ขอบคุณข้อมูลทั้งหมดจาก ศคง. http://www.nhpcoop.com/images/ebook/e3.pdf

พิเศษสุด…รับส่วนลด 10 บาท เมื่อชำระค่าตรวจเครดิตบูโร ผ่าน QR Code (Bureau Easy Pay) ตั้งแต่วันนี้ ถึง 30 ธันวาคม 2562 ได้ที่ศูนย์ตรวจเครดิตบูโร (เฉพาะรายการลูกค้าบุคคลธรรมดายื่นขอตรวจของตนเองเท่านั้น)

พิเศษสุด…รับส่วนลด 10 บาท เมื่อชำระค่าตรวจเครดิตบูโร ผ่าน QR Code (Bureau Easy Pay)

ตั้งแต่วันนี้ ถึง 30 ธันวาคม 2562 ได้ที่ศูนย์ตรวจเครดิตบูโร ได้แก่ 

1. ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) อาคาร 2 ชั้น 2 ทุกวันจันทร์-ศุกร์ 9.00-16.30 น.
2. อาคารเพิร์ล แบงก์ค็อก ชั้น 3 (โซนธนาคาร) ทุกวันจันทร์-ศุกร์ 9.00-18.00 น.
3. สถานีรถไฟฟ้า BTS ศาลาแดง (ภายในสถานี) ทุกวันจันทร์-ศุกร์ 9.00-18.00 น.
4. สถานีรถไฟฟ้า BTS อนุสาวรีย์ชัยฯ (ภายในสถานี) ทุกวันจันทร์-อาทิตย์ 9.00-18.00 น.
5. ห้างเจ-เวนิว (นวนคร) ชั้น 3 ติดประกันสังคม ทุกวันจันทร์-อาทิตย์ 9.00-18.00 น.

(เฉพาะรายการลูกค้าบุคคลธรรมดายื่นขอตรวจของตนเองเท่านั้น)

วางแผนเงินออมอย่างมั่นใจ ด้วยการแยกบัญชี

วางแผนเงินออมอย่างมั่นใจ ด้วยการแยกบัญชี

การเก็บออมเงินวิธีหนึ่งที่ได้ผลกันมาและกำลังได้รับความนิยมอยู่ก็คือวิธีการแยกบัญชีธนาคาร วัตถุประสงค์ของการแยกบัญชีธนาคารนั้นหลัก ๆ ก็จะแลกเป็น 2 ส่วนคือ ส่วนที่เอาไว้จับจ่ายใช้สอย กับส่วนที่เก็บเงินออมไว้โดยเฉพาะ แต่สำหรับบางคนยังมีการแบ่งบัญชีไว้ละเอียดกว่านั้น เช่น มีบัญชีเพื่อการศึกษาบุตร บัญชีเพื่อการท่องเที่ยว เป็นต้น โดยทั่วไปทุกคนควรมีบัญชีเงินออมแบบไหนบ้าง ควรมีกี่เล่มดี เรามาดูกัน

โดยทั่วไปแล้วการแยกบัญชีนั้นไม่ควรมีมากไปนัก บทความนี้จะนำแสนอไอเดียการแยกบัญชีออกเป็น 4 บัญชี โดยแยกแต่ละบัญชีตามวัตถุประสงค์การออมให้ชัดเจน ได้แก่ บัญชีไว้สำรองเงินยามฉุกเฉิน บัญชีเงินออมระยะสั้น บัญชีเงินออมระยะยาว รวมไปถึงบัญชีเพื่อการลงทุน

บัญชีไว้สำรองเงินยามฉุกเฉิน

เงินก้อนนี้สำรองไว้สำหรับเหตุการณ์ไม่คาดฝันต่าง ๆ ที่อาจเกิดขึ้นได้ เช่น การซ่อมแซมบ้านเรือน ค่าซ่อมรถยนต์ ค่ารักษาพยาบาล หรือเงินสำรองยามว่างงาน ฯลฯ ในทางที่ดีควรมีเงินสำรองนี้ 5-6 เท่าของค่าใช้จ่าย เพื่อจะได้ไม่ลำบากหากช่วงนั้นไม่สามารถหารายได้ได้แล้ว

บัญชีเงินออมระยะสั้น

บัญชีเงินออมระยะสั้นหรือระยะกลางนั้น ส่วนใหญ่จะเป็นเงินที่ออมไว้อย่างมีวัตถุประสงค์ของการใช้จ่าย เช่น ออมเพื่อค่าผ่อนบ้าน ค่าผ่อนรถ เงินเก็บสำหรับเดินทางท่องเที่ยวหรือแต่งงาน การแบ่งเงินอย่างเป็นสัดส่วนเช่นนี้ทำให้เราไม่ลำบากในการใช้เงินไม่ต้องกังวลว่าเงินจะหมด และสามารถวางแผนและควบคุมค่าใช้จ่ายในการใช้เงินได้

บัญชีเงินออมระยะยาว

เป็นบัญชีที่เราเข้าใจดีว่าเป็นเงินออมเพื่อวัยเกษียณนั่นเอง หรือเก็บไว้เพื่อเป็นค่าเล่าเรียนของลูกยามที่เขาเติบโต เงินก้อนนี้ต้องใช้ระยะเวลาการออมตลอดช่วงชีวิตที่ยังมีรายได้ด้วยความมีวินัยเป็นอย่างสูง ที่สำคัญคือถ้าไม่จำเป็นห้ามถอนออกมาใช้โดยเด็ดขาด ทางที่ดีเงินในส่วนนี้ควรเป็นเงินก้อนแรกที่เราหักออมหลังจากรับเงินที่เป็นรายได้แล้ว

บัญชีเพื่อการลงทุน

สำหรับบัญชีนี้ต้องแล้วแต่ความพร้อม บางคนอาจจะไม่มีก็ได้ แต่ถ้าใครคิดจะลงทุนหรือหารายได้เสริมเพิ่มเติมจากรายได้ประจำ ควรแยกบัญชีออกมาไว้ต่างหากเพื่อนำไปลงทุนโดยที่ไม่ได้ปะปนกับเงินออมส่วนอื่น ๆ เพราะการลงทุนมีความเสี่ยง ถ้าเกิดมีข้อขัดข้องทางการเงินเกิดขึ้น ก็จะได้ไม่เดือดร้อน แต่ถ้ามีรายได้เสริมวันละนิดวันละหน่อยก็ยังดี เมื่อมีเงินเป็นกอบเป็นกำ ค่อยถอนไปลงทุนในทางเลือกอื่น ๆ ที่มีโอกาสได้ผลตอบแทนมากกว่าดอกเบี้ยเงินฝาก เพื่อให้เงินทำงาน สร้างเงินให้กับเรา

เคล็ดลับหรือเทคนิคสำหรับผู้ที่มีรายได้ แต่ออมเงินไม่อยู่ ออมเงินไม่ได้ ไม่รู้ว่าจะออมจำนวนเท่าไหร่ จะเริ่มออมตอนไหนดี  แนวทางการเริ่มต้นเก็บออม และทำให้การออมประสบผลสำเร็จก็คือ การมีวินัยอย่างสูงนั่นเอง สำหรับการลงมือเก็บออมและวางแผนออมเงินไม่ใช่เรื่องไกลตัวเลย ยิ่งออมก่อนก็จะรวยก่อน เมื่อเวลาผ่านไปเราก็จะรวยกว่าคนอื่นเพราะเราเริ่มออมก่อนนั่นเอง ถ้าอยากสบายตลอดชีวิตไม่อยากลำบาก ก็ต้องออมเงินไว้ใช้สบายตลอดชีพเลย

ขอบคุณข้อมูลจาก ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย
https://www.set.or.th/education/th/start/start_start_3_1.pdf

เรื่องน่าอ่าน