Blog Page 136

เศรษฐกิจคิดง่ายๆ (ดิจิทัล) “ข้อเสนอที่น่าสนใจของภาคเอกชน” วันจันทร์ที่ 12 สิงหาคม 2562

ข้อเสนอที่น่าสนใจของภาคเอกชน

บทความข้อความเห็นของผู้เขียนหลังจากเหตุการณ์เหนือความคาดหมายของการสร้างความประหลาดใจให้กับตลาดในเรื่องที่ธนาคารแห่งประเทศไทยโดยคณะกรรมการนโยบายการเงินมีมติ​ 5:2 ให้ปรับลดดอกเบี้ยนโยบายลง​ 0.25% มีผลทันที​ ตามเหตุและผลที่ได้มีการชี้แจงกันออกมามากมาย​ ประเด็นวันนี้ที่ผมขอยกเอาข้อเขียนของน้องนักเศรษฐศาสตร์ที่เก่งมากๆท่านหนึ่ง​ ที่ผมชื่นชมมาโดยตลอด​ ได้มีบทสนทนากับผมในเรื่องดังกล่าว​ ต้องขอบอกว่ามุมมองเขาชัดเจน​ อ่อนน้อม​ แต่คงไว้ซึ่งหลักการ​ของคุณค่า “ยืนตรง​ มองไกล​ ติดดิน​ ยื่นมือ” บุคคลภายนอกเช่นผม​ เช่นท่านผู้อ่าน​ ควรค่าแก่การที่จะรับฟัง​ อ่านให้เข้าใจ​ และมีสติที่จะไม่เอาอคติในใจมาตั้งเป้าให้คำตอบมันตรงกับใจที่เราหวัง​ ข้อความมีดังนี้

… เสียงวิพากษ์วิจารณ์จากนักวิเคราะห์ที่นั่งอยู่ข้างสนามย่อมมีอยู่เสมอ ไม่ว่าจะขึ้น คง หรือลดดอกเบี้ย ผู้ดำเนินนโยบายที่ดีย่อมรับฟังอย่างรอบด้าน พร้อมประมวลคำวิพากษ์อย่างรอบคอบและด้วยใจที่เป็นกลาง

แต่ที่สำคัญ การตัดสินใจทางนโยบายไม่ได้จำเป็นต้อง”ถูกใจ”ทุกคนเสมอไป หากแต่จำเป็นต้อง “ถูกต้องตามหลักวิชา” “ถูกต้องกับวัตถุประสงค์ของนโยบาย” และ “ถูกต้องตามความเป็นจริงในขณะนั้น”

การลดดอกเบี้ยในครั้งนี้ มีเหตุผลสำคัญคือ เศรษฐกิจไทยขยายตัวต่ำกว่าที่ประเมินไว้เดิมและต่ำกว่าระดับศักยภาพ รวมทั้งเงินเฟ้อทั่วไปมีแนวโน้มต่ำกว่าขอบล่างของกรอบเป้าหมายเงินเฟ้อ ขณะที่ความเสี่ยงในเสถียรภาพระบบการเงินได้รับการดูแลไปแล้วในบางส่วน ดังนั้น การดำเนินนโยบายการเงินที่ผ่อนคลายขึ้นจะช่วยสนับสนุนการขยายตัวของเศรษฐกิจและช่วยให้เงินเฟ้อกลับเข้าสู่เป้าหมายครับ…

ประเด็นที่น่าสนใจตามมาของผู้เขียนและใครหลายคนคือ​ มันได้ออกมาถูกกับจังหวะเวลาหรือไม่​ การสื่อสารแบบตรงไปตรงมา​แบบบอกว่าถ้าไม่ทำอะไรเลย​ ทั้งที่เห็นอยู่ว่ามันกำลังลง​ คงจะนิ่งนอนใจไม่ได้ส่วนเรื่องเสถียรภาพ​ จริงๆแล้วมันก็มีปัญหาและความเป็นห่วงไม่น้อย​ แต่เครื่องมือก็ลงไปแล้วบางจุด​ และออกผลไปแล้วเช่นลดการเก็งกำไรบ้านหลังที่สอง​ ที่ชอบมากคือการยอมรับเรื่องการแยกแยะเรื่องถูกต้องกับถูกใจ​

อย่างไรก็ตามผลของมันจะถูกต้องหรือไม่ประวัติศาสตร์จะเป็นตัวบอกเมื่อเวลามันผ่านไป​ เหมือนเราพากย์​มวยหลังจากเขาต่อยกันจบแล้ว​

อย่างน้อยเพลานี้ก็มีกระแสลมแรงออกมาชัดเจนในรอบแรกว่า​อะไรคือความหมาย/คำนิยามของคำว่า​ อิสระ​ และการมีส่วนร่วมในการตัดสินใจ​ ตลอดจนการรับผลที่จะตามมาของการตัดสินใจ​นั้น

ซึ่งถ้าติดตามแล้วมันได้อยู่ในข้อเสนอของภาคเอกชนตามข่าวที่ออกมา​ มหากาพย์​นี้คงเพิ่งเริ่ม​ หญ้าแพรกอย่างพวกเราๆท่านๆได้แต่คิดหาทางเอาตัวให้รอดต่อไปนะครับ​ อย่าไปคิดเผลอออกความเห็นกับเขานะครับ​ ก้มหน้าก้มตาทำงานในองค์กรเราที่ถูกเขากำกับ(ดูแล)​ กันต่อไปขอบคุณทุกท่านที่ติดตามครับ

ขอแสดงความนับถือ

เศรษฐกิจคิดง่ายๆ (ดิจิทัล) “ไม่มีสิ่งที่เรียกว่าติดเครดิตบูโร​ มีแต่คำบ้านๆว่า​ เป็นคนเคยค้างชำระหนี้” วันจันทร์ที่ 5 สิงหาคม 2562

ไม่มีสิ่งที่เรียกว่าติดเครดิตบูโร​ มีแต่คำบ้านๆว่า​ เป็นคนเคยค้างชำระหนี้

ผมได้ติดตามข้อมูลกระทู้ที่อยู่ในพันทิปเกี่ยวกับประเด็นปัญหาหนี้สิน​มาก ปัญหาการชำระหนี้แบบค้างมานาน​ ค้างแล้วต่อมาก็ไปชำระหนี้ (ภาษาบ้านๆ คือ ไปปิดหนี้) หรือปัญหาค้างชำระในอดีต​ จนมาถึงปัจจุบันก็ยังค้างอยู่​ ที่กล่าวมาทั้งหมดนี้จะอยู่ในบทนำของเจ้าของกระทู้​ พอมาถึงตอนปลายก็จะมาที่จุดว่าถ้ามีประเด็นปัญหาข้างต้นแล้ว​ และตนเองต้องการจะก่อหนี้ใหม่ในวันนี้แล้ว​ จะมีโอกาสได้รับการอนุมัติหรือไม่​ ผู้เขียนขอให้หลักคิดดังนี้นะครับก่อนจะเข้าไปถึงคำตอบ

1.ถ้าเราเป็นเจ้าของเงินที่จะให้ใครกู้ยืมเราชอบคนแบบนี้ใช่หรือไม่
1.1 สัญญาต้องเป็นสัญญา
1.2​ เป็นหนี้แล้วต้องใช้หนี้
1.3 รับปากแล้วต้องใช้ให้ครบ​ ใช้ให้ตรงวันที่สัญญา
1.4 ไม่ใช่คนที่เป็นหนี้แล้ว​ ก็หนีหน้าและหนีหนี้​ ทำเป็นไม่รู้ไม่ชี้

2. ถ้าเราเป็นคนที่ดูแลเงินที่ไม่ใช่ของเราแต่เจ้าของเงินได้มอบหมายความไว้วางใจมาให้เราดูแล​ ช่วยหาประโยชน์ให้เพราะเชื่อในฝีมือของเราว่าจะบริหารเงินมิให้เกิดความเสียหาย​ ตัวเรานั้นจะต้องมีหลักมีเกณฑ์​ในการตัดสินใจที่ดีใช่หรือไม่​ หรือเราจะคิดจะทำอะไรได้ตามอำเภอใจ​ ท่านผู้อ่านลองคิดดู​

คำถามจากเจ้าของกระทู้มีอยู่ว่า​

… จะยื่นเรื่องกู้ธนาคารซื้อบ้านครับ แต่กลัวไม่ผ่าน เพราะค้างชำระค่างวดไฟแนนซ์ของ บริษัทเช่าซื้อรถยนต์ เกิน 4 เดือน พึ่งไปจ่ายให้เป็นปัจจุบันเดือนนี้ (คือ จ่ายยอดที่ค้างชำระทั้งหมด​ 4 เดือนรวมทั้งค่าติดตามทวงถาม ดอกเบี้ยผิดนัดชำระ​ ดังนั้นเดือนปัจจุบันจึงไม่มียอดค้างชำระอีกต่อไป)​ แบบนี้เรียกติดเครดิตบูโรมั้ยครับ ถ้าติดแล้วมีทางแก้ไขมั้ยครับ

คำตอบจากสถาบันการเงินที่เจ้าของกระทู้ได้ถาม​ เพราะเจ้าของกระทู้ระบุชื่อยี่ห้อของสถาบันคนให้กู้​ จนคนที่รับผิดชอบของสถาบันนั้นได้เข้ามาตอบคำถามดังนี้

…แอดมินแจ้งรายละเอียดเพิ่มเติมครับ กรณีที่ลูกค้าทำสัญญาสินเชื่อกับ… ชื่อยี่ห้อสินเชื่อ… ทางบริษัทในฐานะสมาชิกของเครดิตบูโรจึงมีหน้าที่นำส่งข้อมูลเครดิตของลูกค้าให้แก่บริษัทข้อมูลเครดิตแห่งชาติ โดยจะเป็นการรายงานตามผลจริงที่เกิดขึ้นและไม่สามารถย้อนกลับไปแก้ไขประวัติเดิมได้ หากคุณลูกค้าเคยค้างชำระไว้ ข้อมูลของรอบบัญชีนั้นๆก็จะขึ้น ณ เดือนที่คุณลูกค้าค้างชำระว่า “ค้างชำระ”
ในกรณีที่คุณลูกค้าได้ชำระหนี้หรือปิดบัญชีไปแล้ว จะมีข้อมูลใหม่ขึ้นมาว่า ชำระเรียบร้อยแล้วหรือปิดบัญชีแล้วในเดือนที่คุณลูกค้าได้มาดำเนินการชำระหนี้ที่ค้าง​ (ภาษาชาวบ้านคือเปลี่ยนสถานะคนที่ยังไม่ชำระหนี้​ เป็นหนี้เสีย​ กลายมาเป็นคนเคยค้างชำระในอดีตแต่ในวันนี้​ เวลาปัจจุบันนี้ไม่ได้ค้างแล้ว)​

โดยที่ข้อมูลการค้างชำระเดิมไม่ได้ถูกลบออกไป จนกว่าข้อมูลนั้นจะถูกลบออกไปตามระยะเวลาที่กฎหมายกำหนด คือ 3 ปีหรือ 36 เดือนครับ

เพื่อรักษาประวัติการชำระที่ดีต่อไป แนะนำให้ลูกค้าชำระค่างวดเข้ามาตรงตามวันครบกำหนด หรือหากในบางเดือน
อาจจะมีภาระอื่นๆ ทำให้ชำระล่าช้า สามารถแจ้งเรื่องเข้ามาทางหลังไมค์ แอดมินดูแลให้ทันทีครับ
ขอบคุณครับ

นี่คือข้อความที่เข้าใจได้ง่ายที่สุด​ โดยผู้เขียนขอขอบคุณเจ้าของกระทู้​ และสถาบันที่มาตอบกระทู้​ ที่ช่วยกันในการไม่ส่งเสริมความเข้าใจผิดว่ามันมีสิ่งที่เรียกว่าติดเครดิตบูโรครับ

เรื่องน่าอ่าน