Blog Page 137

เศรษฐกิจคิดง่ายๆ (ดิจิทัล) “มองหาสาระจากการประชุมรัฐสภาในเรื่องนโยบายรัฐ” วันจันทร์ที่ 29 กรกฎาคม 2562

มองหาสาระจากการประชุมรัฐสภาในเรื่องนโยบายรัฐ

จากการที่ได้ติดตามข่าวสาร​ ร่วมรับฟังในบางช่วงของการอภิปรายของการประชุมรัฐสภาในเรื่องการแถลงนโยบายตลอดช่วง​ 2 วัน​ และหากเราตัดเอาเรื่องดราม่า​ หรือเรื่องที่หาสาระไม่ได้ในส่วนของถ้อยคำที่แซะ​ ที่กระแทกกันออกไปให้หมด​ แล้วทำใจร่มๆ​ คิดแบบผู้เจริญแล้ว​ คิดแบบคนที่มุ่งค้นหาแก่น​แบบไม่สนส่วนที่เป็นเปลือก​ เราจะเห็นสิ่งที่สะท้อนถึงปัญหาของประเทศ​ เหตุที่ขับเคลื่อนให้ไปข้างหน้าได้ยาก​ และการที่คนในแต่ละระดับไม่ว่าจะมีเกณฑ์แบ่งอย่างไร​ มันก็ยากที่จะเท่าเทียมกันโดยเฉพาะการเข้าถึงทรัพยากร​ การเข้าถึงแหล่งทุน​ การเข้าถึงความเท่าเทียมเท่าทันของกฎหมาย​ เรื่องเด็ดๆ ที่ผมต้องหยิบปากกามาจดสาระเพื่อเอามาเขียนเป็นบทความในมุมของตัวเองมีดังนี้ครับ

1.การเขียนนโยบายเป็นไปในรูปของแนวคิดแนวทางที่คิดที่กำหนดว่าจะทำแต่จะมีความยืดหยุ่น​ ปรับเปลี่ยนได้ ไม่ตึงตัวตายตัวจนเกินไป​ ในมุมคนที่อยากจะไล่บี้​ ไล่ขุด​ ไล่วิจารณ์​ ไล่ด่า​ มันจึงทำได้ยาก​ เพราะจากชุดแนวนโยบาย​ มันจะนำไปสู่มาตรการที่จะทำ​ แผนงานที่จะทำ​ งบประมาณที่จะใช้​ เป้าหมายที่จะกำหนดเพื่อติดตามประเมินผลต่อไป

2.มีการพูดถึงการเขียนแนวนโยบายที่ไม่อยู่ในระนาบเดียวกัน​ บางเรื่องเป็นเหตุที่ทำให้เกิด​ บางเรื่องเป็นผลที่ต้องแก้​ บางเรื่องเป็นกระบวนการที่ต้องปรับเปลี่ยนเช่น​ ปัญหาที่เกษตรกร​ขาดที่ดินทำกินเป็นของตัวเอง​ พอจะทำมาหากินก็มีต้นทุนค่าเช่ามารอ​ ปลูกก็ต้องรีบทำให้ได้ผลผลิตเร็วๆ เพื่อขายเอามาชำระหนี้​ ชำระหนี้ได้ยากก็เป็นหนี้นอกระบบ​ พอมาถึงจุดหนึ่งที่มันต้องอยู่ให้รอดแล้ว​ แม้ว่าจะต้องผิดกฎหมาย​ ต้องบุกรุกป่าก็ต้องทำ​ ไม่ทำก็อดตาย​ จำนวนเกษตรกรก็มีสามสิบล้านคนดังที่ท่านรองนายกว่าไว้​ แต่สร้างรายได้ประชาชาติได้เพียง​ 10% มันไม่มีทางจะพอกิน​ รายได้สามหมื่นบาทต่อปี​ สองพันบาทต่อเดือน​ มันอยู่ไม่ได้​ ถ้าไม่มีพวกบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ​ กองทุนหมู่บ้าน​ 30 บาทรักษาทุกโรค​ เบี้ยยังชีพคนชรา​ คนด้อยโอกาส​ คนพิการ​ ก็ต้องมีเป็นฟองน้ำรองรับการล้มลงมาของคนในฐานราก​ เพราะเขาคือคนไทยด้วยกัน

3.มีการพูดถึง​ สมัยหลังวิกฤติ​ต้มยำกุ้ง​ ใช้เวลาหกปีในการซ่อม ไม่มีเวลาสร้าง​ รัฐบาลไม่ต่อเนื่อง​โครงสร้างพื้นฐานล้าสมัย​ พอจะเริ่มทำก็เจอน้ำท่วมใหญ่​ หายนะมากมาย​ รณรงค์​ปลูกยางทั่วประเทศแต่ไม่มีการสร้างมูลค่าเพิ่ม​ จำนำข้าวแบบเริ่มต้นดีต่อมากลายเป็นทุจริต​ พอมีข้าวมากองในมือรัฐถึง​ 17 ล้านตันมันก็ไปทำลายกลไกตลาด​ ราคามันไม่ไป​ คนขายคนปลูกที่เล็งว่าจะมีรายได้ดันไปก่อหนี้แล้ว​ รายได้อนาคตไม่มา​ แต่หนี้ปัจจุบันมีดอก​ มันก็จบข่าว​ ครั้นต่อมาจะเริ่มขยับก็ทะเลาะกันทุกระดับ​ แตกแยกชนิดไม่เคยพบเห็น​ ทำลายกันและกัน​ ไม่มีใครอยากมาประเทศเรา​ ท่องเที่ยวก็จบ​ การลงทุนไม่มีมาเติม​ ชีพจรประเทศแผ่วมาก​ ถ้าเป็นคนก็เรียกว่าจะหายใจด้วยตัวเองไม่ได้แล้ว​ เมื่อมีคณะเข้ามาควบคุมอำนาจ​ ก็ทำอะไรได้ไม่มากเท่าที่คิดไว้​ เวลาหมดก็เข้าสู่ยุคประชาธิปไตยผ่านตัวแทน​ แต่ก็เริ่มการกล่าวหาว่าปล้นอำนาจ​ โกงเข้ามา​ จุดนี้ผู้เขียนคิดว่า​ คนที่ได้รับเลือกตั้งเข้ามาแล้ว​ ควรเคารพตัวเอง​บ้าง​ นึกจะพูดจะทำอะไร​ คิดถึงความเหมาะควร​

4.เราได้เห็นศักยภาพของคนรุ่นใหม่ที่ร้อนวิชามาร​ วิชาเทพ​ วิชาการ​ และวิชาเกิน​ มันจำลองมาให้เห็นเลยว่าจะดีจะชั่วมันไม่ได้อยู่ที่อายุมาก​ อายุน้อยเลยทีเดียว​ ในหมู่คนดีๆมีคนแย่ๆ​ ในหมู่คนที่เราคิดว่าเป็นคณะที่คิดในทางซ้ายแบบสาธารณรัฐ (Republic)​ ก็มีคนที่คิดแบบเสรีนิยมประชาธิปไตยที่มีพระมหากษัตริย์เป็นองค์ประมุข​ คนรุ่นใหม่ที่ให้แนวคิด​ แนวทาง​ ข้อเสนอในการปรับแต่งแนวนโยบายเพื่อที่ตอนที่ตอนลงไปทำมาตรการ​ โครงการ​ มันจะได้สอดคล้องต้องกัน​ คนอายุน้อยพูดได้น่าคิด​ คนอายุมากที่เป็นรัฐมนตรีก็กล่าวขอบคุณและรับจะนำไปคิดไปทำต่อ​ หากเป็นแบบนี้เชื่อว่าชาติเดินหน้าได้แน่นอน

  1. สุดท้ายเราได้เห็นสิ่งที่เรียกว่าความวุ่นวายปั่นป่วนในการประชุมที่ดูได้ว่าเจตนาจะให้เกิดการเผชิญหน้า​ ได้เห็นการประท้วงที่ไม่มีสาระ​ ได้เห็นการใช้ความเก๋า​ ความแม่นในตัวบท​ เอามากำกับพฤติรรมของคนที่พยายามหรือแม้ไม่พยายามแต่ก็ไมให้ความร่วมมือ​ ให้คนเหล่านั้นเกิดความสงบเรียบร้อย​ อันนี้ต้องขอชื่นชมท่านอดีตนายกชวน​ ที่เป็นครูใหญ่ในการประชุมได้เด็ดขาดทีเดียว

ประเทศยังมีความท้าทายอีกมากมาย​ สงครามการค้ายังไม่จบ​ การปกครองและดุลยอำนาจเปลี่ยน​ วัฒนธรรม​ ความคิด​ ความเห็นเปลี่ยน​ วิธีการค้า​ การซื้อ​ การขายเปลี่ยนไป​ สิ่งเดียวที่เหมือนกันคือ​ ทุกคนที่มีส่วนจะต้องโดนคือภาษีและการปฏิบัติตนให้เป็นไปตามที่กฎหมายกำหนด​ ท้ายที่สุดคือเราทุกคนล้วนต้องตาย​ ไม่มีใครเอาอะไรไปได้สักอย่างเดียว

ขอบคุณครับ

เศรษฐกิจคิดง่ายๆ (ดิจิทัล) “บทความ​ เรื่องเร่งด่วนของ​ SME ที่เกี่ยวกับเครดิตบูโร” วันจันทร์ที่ 22 กรกฎาคม 2562

บทความ​ เรื่องเร่งด่วนของ​ SME ที่เกี่ยวกับเครดิตบูโร

เมื่อท่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมคนใหม่ได้เข้าทำหน้าที่​ และเปิดตัวโดยให้นโยบายและแนวทางถึงการที่ ประเทศไทยกำลังปรับตัวเข้าสู่ยุค “Thailand 4.0” ซึ่งเป็นเศรษฐกิจที่เน้นการสร้างมูลค่า (Value-Based Economy) และการขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรม (Innovation-Driven Economy) โดยมีหัวใจสำคัญอยู่ที่การพัฒนาคนของทุกภาคส่วนให้มีความรู้ความสามารถสมัยใหม่โดยเฉพาะเทคโนโลยีดิจิทัล ซึ่งภาคอุตสาหกรรมนับเป็นหัวหอกหลัก​ เป็นกำลังหลักในการลากจูง​ ขับเคลื่อน​ไปสู่เป็าหมายแน่นอนว่าผู้ประกอบการภาคอุตสาหกรรมไทย ทั้งภาคการผลิต ภาคการบริการและภาคการค้า ต้องรีบปรับตัวรองรับการเปลี่ยนผ่านเข้าสู่โลกยุคดิจิทัลไม่ว่าจะเป็น​ อุตสาหกรรมขนาดใหญ่​ SME หรือคนตัวเล็ก​ ธุรกิจขนาดจิ๋ว​ก็ตาม​ อันนี้เป็นภาพใหญ่ที่ใครเข้ามาทำหน้าที่ก็ต้องแก้ไข

ทีนี้ก็มาถึงเรื่องเร่งด่วนที่ฝ่ายนโยบายคณะใหม่จะเข้ามาดำเนินการก่อนคือ
1. การส่งเสริม 10 อุตสาหกรรมเป้าหมายใหม่แห่งอนาคตตามนโยบายของรัฐบาลเดิมต่อเนื่องมายังรัฐบาลใหม่ชุดนี้เช่น อุตสาหกรรมหุ่นยนต์ การบินและโลจิสติกส์ การแพทย์ครบวงจร เชื้อเพลิงชีวภาพและเคมีชีวภาพ ดิจิทัล การแปรรูปอาหาร ยานยนต์แห่งอนาคต อิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ เป็นต้น​

2. การหาแนวทางให้ความช่วยเหลือผู้ประกอบการ​ SME โดยมีแนวคิดที่จะหารือกับกระทรวงการคลัง และธนาคารแห่งประเทศ ไทย (ธปท.) เกี่ยวกับแหล่งเงินทุนและมาตรการด้านการเงิน ช่วยลดข้อจำกัดต่างๆ เช่น เรื่องเครดิตบูโร การลดอุปสรรคในการประกอบธุรกิจ​ เป็นต้น

3. ในเรื่องการปรับค่าจ้างแรงงานขั้นต่ำนั้นก็ให้เป็นหน้าที่ของคณะกรรมการไตรภาคีต้องไปหารือกันให้ได้ข้อสรุปก่อน เพราะค่าแรงเป็นต้นทุนในกระบวนการผลิตสินค้าตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ จึงต้องพิจารณาอย่างรอบคอบเพื่อไม่ให้ส่งผลกระทบต่อผู้บริโภคปลายทาง

จากข้อ 2 ที่ระบุถึงเครดิตบูโรนั้น​ ผู้เขียนขอเรียนรายละเอียดข้อเท็จจริงเพิ่มเติมว่าประเด็นหนึ่งที่ควรหยิบขึ้นมาพิจารณาคือ​ ลูกหนี้​ SME ที่ทำการปรับโครงสร้างหนี้แล้วไปต่อได้ยากในการหาแหล่งทุนมาสนับสนุนทั้งที่เป็นการปรับโครงสร้างหนี้ด้วยความสมัครใจ​ ไม่ใช่การถูกบังคับจากเจ้าหนี้​ หรือเป็นการปรับโครงสร้างหนี้ภายใต้คำพิพากษา​ หรือการทำยอมในศาล​ ผู้เขียนขอเล่ารายละเอียดให้ฟังเพื่อพิจารณา​ จะเห็นด้วยเห็นต่างไม่ว่ากันครับ​ เรื่องมันจะเป็นประมาณนี้…

การเพิ่มโอกาสการเข้าถึงสินเชื่อของลูกค้า​ SME ภายใต้ภาวะเศรษฐกิจชะลอตัวลงและต้องการการผ่อนผันกฏเกณฑ์ที่เห็นได้ว่าเข้มงวดเกินไปในขณะนี้​ จนส่งผลให้สถาบันการเงินไม่มีทางเลือกที่ต้องดำเนินการไปตามทิศทางนั้นตัวอย่างเช่น​ การที่ธนาคารกลางผู้กำกับดูแลสถาบันการเงินไปกำหนดเกณฑ์ว่าหากสัญญาเงินกู้กำหนดให้มีการชำระต้นเงินและดอกเบี้ยเช่น​ การผ่อนสินเชื่อธุรกิจ​ ผ่อนบ้าน​ ผ่อนรถยนต์​ ผ่อนสินเชื่อส่วนบุคคล​ ที่มีการกำหนดต้นและดอกไว้ในเงินงวด​ ซึ่งหากลูกค้าประสบปัญหาบางช่วงที่ไม่สามารถจ่ายเต็มยอด​ แต่สามารถจ่ายได้แค่ดอกเบี้ย​แล้ว​ กฏได้ระบุว่าต้องจัดชั้นสินเชื่อรายนั้น​ ผลคือธนาคารก็ต้องสำรองเพิ่ม​ทันที​ ซึ่งเป็นค่าใช้จ่ายที่สูง​ หากธนาคารไม่ต้องการกันสำรองรายการนั้น​ ธนาคารก็จะให้ลูกค้าปรับโครงสร้างหนี้​ อาจด้วยการปรับตารางการชำระหนี

แต่พอลูกค้าต้องปรับโครงสร้างหนี้ด้วยความสมัครใจ​ และไม่ใช่เป็นปัญหาความสามารถในการชำระหนี้ที่แท้จริง​ แต่เป็นการขาดสภาพคล่องชั่วคราว เช่น​ ลูกหนี้การค้าชำระหนี้ล่าช้าเป็นต้น​ กลับเป็นว่าเมื่อมีการปรับโครงสร้างหนี้​ ผู้ตรวจสอบธนาคารก็จะถือเอาว่าเป็นลูกค้ากลุ่มอ่อนแอ​ หากใครจะให้สินเชื่อเพิ่มเพื่อแก้ไขการขาดสภาพคล่องชั่วคราว​ ก็จะถูกสั่งสำรองเพิ่ม​ ซึ่งก็ทำให้ธนาคารไม่อยากให้สินเชื่อกลุ่มนี้​ และกลายเป็นต้องให้ลูกค้ากลุ่มนี้รอดูใจออกไป​ 12-24เดือนจึงจะพิจารณาสินเชื่อใหม่​ ตรงนี้คือสิ่งที่หากมีมาตรการออกมาผ่อนผันผ่อนปรน​ ประวัติในเครดิตบูโรก็ยังเป็นไปตามความจริง​ และคนให้กู้ก็สบายใจมากขึ้นที่จะพิจารณาให้กู้ครับ​
ขอบคุณที่ติดตามนะครับทุกท่าน

เศรษฐกิจคิดง่ายๆ (ดิจิทัล) “ทบทวนข้อจำกัดในอดีตแล้วมองไปข้างหน้าของการเข้าถึงสินเชื่อ” วันจันทร์ที่ 15 กรกฎาคม 2562

ทบทวนข้อจำกัดในอดีตแล้วมองไปข้างหน้าของการเข้าถึงสินเชื่อ

บทความของผู้เขียนในวันนี้มีภาพประกอบจากเอกสารงานวิชาการของศูนย์วิจัยเศรษฐกิจ​กสิกรไทยที่ได้เคยนำเสนอในงานประชุมวิชาการประจำปีธนาคารแห่งประเทศไทยปี​ 2557 ผมได้ไปเจอเอกสารนี้อีกครั้งด้วยเหตุสองประการ​ ประการแรก​ คือต้องย้ายสถานที่ทำงานทำเลใหม่ประการที่สองได้มีคำถามจากผู้คนในแวดวงสถาบันการส่งเสริม​ สนับสนุน​ SME ให้มีขีดความสามารถเพิ่มขึ้น​

ต้องขอเรียนว่าหัวข้อพวกนี้เรื่องการกู้ไม่ได้​ คนให้กู้ไม่รู้จักคนขอกู้​ มีข้อมูลน้อยเกินไป​ ข้อมูลไม่ชัวร์​ ฟากฝั่งคนขอกู้ก็มองว่าสถาบันการเงินไม่ฉลาด​ หาลูกค้าไม่เป็น​ ดีๆอยู่ตรงนี้ไม่เอา​ พยายามไปหาไอ้ที่จะกลายเป็นหนี้เสีย​ จนมีคำพูดประชดประชันว่า​

“ธนาคารคือสถาบันการเงินคนให้กู้ที่พยายามยัดเยียดเงินกู้ให้กับคนที่ไม่ต้องการ(คงหมายถึงรายใหญ่ๆ)​แต่จะปฏิเสธการขอกู้จากคนที่เขามีความต้องการเงินกู้(คงหมายถึงรายเล็กๆ​ SME​)” คำถามคือทำไมมันเป็นอย่างนั้น​ ผมลองเอาข้อมูลปี 2557 มานำเสนอนะครับ​ ขอท่านผู้อ่านดูรูปแล้วพิจารณาประกอบกันไป​

ท่านผู้อ่านจะเห็นว่า​ ปัจจัยสำคัญคือสิ่งที่อยู่ด้านซ้ายของภาพที่ระบุว่า​

1.การแข่งขันไม่เพียงพอหรือไม่

2.ลูกค้าคนขอสินเชื่อได้รับเงื่อนไขที่ดีหรือยัง​ หากเราพิจารณาสองข้อนี้ในปัจจุบันจะเห็นว่ามันน่าจะเป็นประเด็นได้​ ในระบบเรายังขาดผู้เล่นพวก​ Non​ bank, Fintech,​ TechFin, Platform ที่จะเข้ามาแข่งขันการให้สินเชื่อ​กับคนตัวเล็กหรือ​ SME​ ทุกวันนี้ก็เอาสินเชื่อเพื่อการบริโภคแบบดอกเบี้ยแพงมาหมุน​ เรื่องของ​ P2P Lending ก็ไม่เห็นเด่นชัดว่าจะไปได้ดี​ ในต่างประเทศเขาอนุญาตให้สถาบันตัวกลางเหล่านี้ส่งข้อมูลเข้าเครดิตบูโรและสามารถใช้ข้อมูลจากเครดิตบูโร​ ใช้​ Credit​ Score มาช่วยในการให้สินเชื่อ​ และกระบวนการสินเชื่อจะเป็นแบบ​ Digital​ Lending

เรื่องต่อมาคือปัจจัยด้านขวาของรูปในประเด็นการสร้างกติกาให้เกิดความสมดุลในการตั้งสำรองหนี้สูญหรือหนี้สงสัยจะสูญ​ การเพิ่มโอกาสการเข้าถึงสินเชื่อของลูกค้า​ SME ภายใต้ภาวะเศรษฐกิจชะลอตัวลงและต้องการการผ่อนผันกฎเกณฑ์ที่เห็นได้ว่าเข้มงวดเกินไปในขณะนี้​ จนส่งผลให้สถาบันการเงินไม่มีทางเลือกที่ต้องดำเนินการไปตามทิศทางนั้นเช่น​ การที่ไปกำหนดเกณฑ์ว่าหากสัญญาเงินกู้กำหนดให้มีการชำระต้นเงินและดอกเบี้ย เช่น​ การผ่อนบ้าน​ การผ่อนรถยนต์​ การผ่อนสินเชื่อธุรกิจ ที่จะมีการกำหนดต้นและดอกไว้ในเงินงวด​ ซึ่งหากลูกค้าประสบปัญหาบางช่วงที่จะสามารถจ่ายได้แค่ดอกเบี้ย​แล้ว​ กฏได้ระบุว่าต้องจัดชั้นสินเชื่อรายนั้น​ ผลคือธนาคารก็ต้องสำรองเพิ่ม​ทันที​ ซึ่งเป็นค่าใช้จ่ายที่สูง​ หากธนาคารไม่ต้องการกันสำรองรายการนั้น​ ธนาคารก็จะให้ลูกค้าปรับโครงสร้างหนี้​ อาจด้วยการปรับตารางการชำระหนี้​ หรือพักชำระหนี้ช่วงเวลาสั้นๆ​

แต่พอลูกค้าต้องปรับโครงสร้างหนี้ด้วยความสมัครใจ​ และไม่ใช่เป็นปัญหาความสามารถในการชำระหนี้ที่แท้จริง​ แต่เป็นการขาดสภาพคล่องชั่วคราว เช่น​ ลูกหนี้การค้าชำระหนี้ล่าช้า เป็นต้น​ กลับเป็นว่าเมื่อมีการปรับโครงสร้างหนี้​ ผู้ที่กำกับดูแลก็อาจจะถือเอาว่าเป็นลูกค้ากลุ่มอ่อนแอ​ หากใครจะให้สินเชื่อเพิ่มเพื่อแก้ไขการขาดสภาพคล่องชั่วคราว​ ก็จะถูกสั่งสำรองเพิ่ม​ ซึ่งก็ทำให้ธนาคารไม่อยากให้สินเชื่อกลุ่มนี้​ และกลายเป็นต้องให้ลูกค้ากลุ่มนี้รอดูใจ​ รอดูการชำระหนี้เดิมออกไป​ 12-24 เดือน จึงจะพิจารณาสินเชื่อใหม่​ ข้อเท็จจริงนี้หากคลาดเคลื่อนไปก็ขอให้ท่านผู้รู้หรือบรรดากูรู​ กูรู้ทั้งหลายทั้งปวงได้โปรดออกมาชี้แจงแถลงไขด้วยนะครับ

การกำหนดกติกาป้องกันและบริหารความเสี่ยงโดยคนที่ไม่เคยปล่อยสินเชื่อ​ เคยแต่วิจารณ์​หลังการปล่อยสินเชื่อไปแล้ว​ มันเหมือนคนเชียร์มวยข้างเวที​ ตัวเองไม่ได้ชกแต่ไปคิดว่าเพื่อให้ไม่เจ็บต้องหลบหลีกแบบนี้​ เวลามองก็เห็นแต่สิ่งที่อยู่ตรงหน้า​ ไม่เห็นด้านหลัง​ และถ้ายิ่งมีความคิดว่าเพื่อให้งานของตัวเองไม่เสี่ยง​ ไม่เสี่ยงที่จะถูกตั้งประเด็น​ ก็เลยจัดเต็ม​ ทั้งที่มันไม่ควรจะไปไกลขนาดนั้นไหม ในภาวะเศรษฐกิจที่ต้องเกื้อหนุน​ เกื้อกูลกัน​ อยากเห็นปัญหาว่า​ สินเชื่อ​ SME ปล่อยง่ายเกินไป​ มีแหล่งเงินกู้เพียบ​ แข่งขันจนดอกที่จะคิดเตี้ยติดดิน​ แทบไม่มีกำไร​ เจ้หน้าที่ที่ดูแลลูกค้าแทบจะกราบกรานให้​ SME มาใช้บริการ​ ภาพพวกนี้เราคงจะไม่เห็น​ ไม่มีโอกาสเห็น​ และแทบจะไม่เห็น​ ถ้าเราเป็นคนในยุคเทคโนโลยีที่ดีที่สุดในการส่งเอกสารคือ​ Fax ขณะที่มีความคิดในยุคนั้นเรากลับมาพยายามเอาเทคโนโลยีระดับนั้น​ ที่ดีที่สุดในอดีตเวลานั้นมากำกับดูแลในยุคนี้​ ยุคที่การส่งเอกสารคือใช้​ Line Application อาการแบบนี้ก็ไม่รู้เหมือนกันครับว่าจะหลุดออกมาได้อย่างไรนอกจากเข้าโครงการเกษียณก่อนกำหนด​

คล้ายๆกับว่าคนขอกู้เข้าห้องฉุกเฉิน (ER)​และคนที่พิจารณาเงินให้กู้​ คนกำกับดูแลก็เข้าโครงการ​ ER ด้วยเช่นกัน…. ขอบคุณครับที่ติดตาม

เศรษฐกิจคิดง่ายๆ (ดิจิทัล) “ทุกข์ของคนเป็นหนี้​ ที่คิดจะแก้หนี้ด้วยหนี้” วันจันทร์ที่ 8 กรกฎาคม 2562

ทุกข์ของคนเป็นหนี้​ ที่คิดจะแก้หนี้ด้วยหนี้

บทความวันนี้ผู้เขียนขอนำเอาข้อเท็จจริงขอผู้คนที่ส่งเรื่องเข้ามาที่เครดิตบูโรผ่านช่องทางการสื่อสาร​ ในเนื้อหาไม่ว่าจะเป็นจริงขนาดไหน​ มันได้สะท้อนกลิ่นอายของความทุกข์​ยาก​ ที่เข้าใจได้ว่าคนที่มีหนี้แล้วใช้หนี้ไม่ได้ตามเงื่อนไขของสัญญาในเวลาหนึ่งในอดีต​ มันก็เกิดประวัติการค้างชำระขึ้น​ตามข้อเท็จจริง​ ทีนี้พอไม่ไปจ่ายต่อเนื่องมันก็สะท้อนว่ามีความสามารถในการชำระหนี้น้อยลงไป​ หนี้ที่ค้างยังไม่ได้ไปชำระ​ แต่ก็คิดหาหนทางแก้ไขด้วยการจะไปก่อหนี้ใหม่​ ทางหนึ่งก็เพื่อเอามาชำระหนี้ที่ค้างอยู่เดิม​ ส่วนที่เหลือ (หากกู้ได้มากกว่ายอดหนี้ที่ค้างชำระ)​ ก็จะเอาไปหมุนเวียนใช้จ่าย​ แต่ความเป็นจริงในกระบวนการบริหารและป้องกันความเสี่ยงของสถาบันการเงินที่ถูกกำกับดูแลอย่างเข้มข้นย่อมทำได้ยากจนถึงยากมากที่สุด​ เพราะมันไม่มีใครสามารถให้เงินกู้ใหม่ได้ทั้งที่เงินกู้เก่ายังค้างชำระคาตาอยู่​ มันไม่มีใครสามารถหยิบเงินฝากจากคนฝากที่เขาไว้เนื้อเชื่อใจตัวสถาบันการเงิน​ เพื่อนำไปปล่อยกู้ให้กับคนที่อยากกู้แต่มีคุณสมบัติ​ คุณลักษณะที่อาจจะเชื่อได้ว่าขาดความสามารถในการชำระหนี้ได้นั่นเอง​ ท่านผู้อ่านลองใจร่มๆ​ ใจเย็นๆ​ อ่านในใจ​ คิดเงียบๆ​ มองให้ลึกว่า​ ถ้าเราเป็นคนขอกู้​ ถ้าเราเป็นคนตัดสินใจจะให้กู้ดีหรือไม่​ ถ้าเราเป็นคนฝากเงิน​ ถ้าเราเป็นธนาคารกลาง​ ถ้าเราเป็นผู้ตรวจสอบสถาบันการเงิน​ ถ้าเราเป็นนักวิชาการ​ ถ้าเราเป็นนักวิชาเกิน​ ถ้าเราเป็นคลินิกแก้หนี้​ ถ้าเราเป็นเครดิตบูโร​ ถ้าเราเป็นคนเดินดินกินข้าวแกงและมีหนี้​ เราคิดกันอย่างไร​ อะไรคือคำตอบที่ดีที่สุด​ ข้อความมีดังนี้

…. ผมยื่นขอกู้สถาบันการเงินไป  10  กว่าแห่ง​ ไม่ได้รับอนุมัติสักแห่งเพราะติดเครดิตบูโร ค่างวดรถ  ผมส่งช้าติดกัน  2  งวด

ครอบครัวก็เดือดร้อนเพราะไม่มีเงินใช้จ่าย  ไม่มีเงินซื้อข้าวสาร  ต้องไปยืมข้าวสารข้างบ้านมาหุงให้ครอบครัวกินกับเกลือในวันนี้แล้ววันพรุ่งนี้จะมีอะไรกินกันทรมานไหม

มีบ้านมีที่ดินแต่เป็นที่ สำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (ส.ป.ก.) จะไปจำนำที่ไหนได้  ไม่มีใครเขารับเป็นประกันหนี้​ ขายก็ไม่ได้

บริษัททวงหนี้ก็ทวงทุกวัน​ ทำงานอยู่ก็โทรตาม​ โทรจิก​ ไม่มีความสุขเลย  จะขายชีวิต​ ขายไต​ ขายหัวใจ​ ขายลูกตาก็ไม่มีใครซื้อ

ทางออกอยู่ตรงไหนครับ คลินิกแก้หนี้ก็สมัครไม่ได้​อีก…

ถ้าท่านผู้อ่านคิดว่าที่ผู้เขียนยกมามันเกินเหตุ​ ไม่มีอยู่จริง​ ก็มาขอดูหลักฐานได้นะครับ​ บ้านเราเมืองเรา​ ผู้คนของเราไม่ว่าจะชั่วดีถี่ห่างอย่างไรก็ไทยด้วยกันทั้งสิ้นเวลานี้ได้สะท้อนออกมาเป็นตัวหนังสือที่ชัดเจนแล้ว หนี้ครัวเรือนไทยพิษร้ายมันก็พอๆ กับไข้เลือดออกในเด็กๆ​ หรือเท่ากับวัณโรค​สำหรับผู้ใหญ่​ ท่านนักวิชาเกิน​ ท่านที่เป็นกู้รู้ (อ้างตัวว่าเป็นกูรู) ​ท่านไม่ต้องบอกว่าให้แก้โดยทำบัญชีครัวเรือน​ หรือบอกให้แก้ด้วยการให้ความรู้ทางการเงินนะครับ​ หรือไม่ต้องบอกว่าต้องเร่งเสริมสร้างวินัยทางการเงิน​ หรือบอกว่าต้องรีบให้มีหลักสูตรการบริหารเงินส่วนบุคคลนะครับ​ มันไม่ทันแล้ว​ ไฟกำลังไหม้หลังคาแล้ว​ อย่าบอกให้อ่านคู่มือการทาสีบ้านป้องกันปลวกแมลง​

ผู้เขียนขอสารภาพตรงนี้เลยนะครับว่า​ หมดภูมิความรู้ที่จะให้คำแนะนำ​ หรือคำชี้แนะแล้วครับ​ ได้แต่คิดถึงคำพระในใจแต่ไม่กล้าบอกว่า​
กรรมเป็นเครื่องชี้เจตนา​
อดีตเป็นเหตุ​ ปัจจุบันเป็นผล
ปัจจุบันเป็นเหตุ​ อนาคตเป็นผล
การไม่มีหนี้​ เป็นลาภอันประเสริฐ
ไม่มีใครรอด​ ด้วยการเอาหนี้มาใช้หนี้
กราบขอบพระคุณทุกท่านที่ติดตามครับ

เศรษฐกิจคิดง่ายๆ (ดิจิทัล) “3 เรื่อง​ 3อารมณ์​ มองลึกๆเราน่าจะเห็นอะไรถ้าไม่หลอกตัวเอง” วันจันทร์ที่ 24 มิถุนายน 2562

3 เรื่อง​ 3อารมณ์​ มองลึกๆเราน่าจะเห็นอะไรถ้าไม่หลอกตัวเอง 

บทความวันนี้ผมใคร่ขอนำเรียนข่าวสารที่ออกมาจากองค์กรที่มีความแตกต่างในภารกิจแต่หากมองแบบมีสติเต็มเปี่ยม​ คิดพิเคราะห์ดีๆ​ มองให้ลึกๆแล้ว​ เราน่าจะเห็น”อะไร” บางอย่างในความจริงเรื่องการเป็นหนี้​ การก่อหนี้​ การเป็นทุกข์กับหนี้​ การแก้หนี้​ และผมได้พบกับผู้คนมากมายที่คาดหวัง​ “อัศวินขี่ม้าขาว” มาช่วยปัดเป่าทุกข์ด้วยนโยบายประชานิยมประเภท​… ยุบหนี้​ ยืดหนี้​ โยกหนี้​ พักชำระหนี้… ซึ่งเราจะได้เห็นหรือไม่เห็นก็คงอีกไม่นานนี้ครับ​ เรื่องราวที่อยากนำเสนอคือ

เรื่องที่​ 1 : ผู้บริหารทันสมัย​ หัวก้าวหน้า ซึ่งดำเนินธุรกิจ โรงรับจำนำรูปแบบใหม่ได้ให้ข่าวเปิดเผยว่า บริษัทมีเป้าหมายที่จะขยายโรงรับจำนำให้มีสาขาเพิ่มขึ้นและสาขาทั้งหมดจะอยู่ในภาคตะวันออกเพื่อรองรับโครงการ EEC ที่ถือเป็นพื้นที่ที่มีศักยภาพในการประกอบธุรกิจโรงรับจำนำอย่างมาก​ สำหรับผลประกอบการในปี​ 2562​ นี้คาดว่าจะเติบโตประมาณ 25% โดยมียอดรับจำนำเดือนละประมาณ 3,000 ล้านบาท​ โดยคาดว่าจะมียอดเพิ่มขึ้น 20% ต่อเดือนในปี 2563
มีการคิดดอกเบี้ยตามที่ กฎหมายกำหนดโดยทรัพย์ไม่เกิน 2,000 บาท ดอกเบี้ยไม่เกิน 2% ต่อเดือน หากเกิน 2,000 บาท คิดอัตราดอกเบี้ย 1.25% ต่อเดือน สำหรับสินค้าจะรับจำนำจะเปิดกว้างรับตั้งแต่นาฬิกาข้อมือ ทอง เพชร พลอย เครื่องใช้ไฟฟ้า สินค้าแบรนด์เนมและอื่นๆ ที่ถือเป็นทรัพย์เอาแลกเปลี่ยนเป็นเงิน

โรงรับจำนำถือเป็นสถาบันการเงินที่เก่าแก่ที่อยู่กับสังคมไทยมายาวนานและเป็นที่พึ่งของคนที่ขาดสภาพคล่อง (ผู้เขียน​ : การขาดสภาพคล่องมาจากสาเหตุใด​ จากกลุ่มฐานะใด​ ควรมีการศึกษาและเปิดเผยออกมาหรือไม่​ ตลอดจนภาครัฐควรจัดมาตรการแก้ไขแบบเบ็ดเสร็จในบางกลุ่มที่ต้องช่วยแบบสวัสดิการเลยหรือไม่​ ขอตั้งเป็นประเด็นไว้ก่อน)​ การทำธุรกิจจะใช้แนวคิดโรงจำนำที่มีความทันสมัย ใช้เวลาการบริการลูกค้าแบบง่ายๆ สะดวกรวดเร็ว ใช้เพียงบัตรประชาชน ไม่นำเอาเครดิตบูโรหรือข้อมูลเครดิตมาพิจารณาและใช้เวลาไม่เกิน 3 นาทีต่อราย

 

เรื่องที่​ 2 : ผู้บริหารกิจการธุรกิจสินเชื่อส่วนบุคคลหรือ​ P-Loan ประเภทกู้เป็นก้อน​ ผ่อนเป็นงวด​ สินเชื่อ​ 0% ระบุว่าภาพรวมตลาดสินเชื่อบุคคลยังขยายตัวได้ปีนี้ แต่มีแรงกดดันจากสถานการณ์หนี้ครัวเรือนที่ปรับเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ราว 79% อยู่ในระดับและภาครัฐมีความกังวลและติดตามสถานการณ์อยู่ ซึ่งล่าสุดทราบว่า​ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เตรียมจะออกเกณฑ์เกี่ยวกับสัดส่วนภาระหนี้ต่อรายได้ (DSR) ออกมากำกับดูแลการปล่อยสินเชื่อให้กับกลุ่มที่มีภาระหนี้สูง(ผู้เขียน:ยังไม่ชัดว่ากลุ่มไหนนะครับ)​ ต้องติดตามเกณฑ์ที่ชัดเจนจะเป็นอย่างไรและจะมีผลต่อการปล่อยสินเชื่อบุคคลใหม่หรือไม่ แต่มองว่าอาจจะกระทบกับการผ่อนสินค้าเพราะการคิดภาระหนี้จะคิดเป็นยอดรวม ไม่ได้แยกเป็นยอดแบ่งชำระในแต่ละเดือน ทั้งนี้ที่ผ่านมา ธปท. ได้ออกเกณฑ์กำกับดูแลการปล่อยสินเชื่อบุคคลโดยให้ขอกู้ไม่เกิน 3 ผู้ประกอบการ ซึ่งมีผลกระทบให้ลูกค้าใหม่ลดลงไปราว 5-10% สอดคล้องกับอุตสาหกรรม โดยในช่วงครึ่งปีหลัง 2562 จะเดินหน้าธุรกิจต่อเนื่อง คาดว่าความต้องการสินเชื่อในช่วงครึ่งปีหลังจะขยายตัวมากกว่า ครึ่งปีแรก(ผู้เขียน:หนี้ครัวเรือนสูง​ กำลังจะออกมาตรการเข้ม​ แต่คนปล่อยกู้มีแผนขยายตัว​ และคาดว่าคนอยากขอกู้มากขึ้น… ผู้เขียนน่าจะแปลความสรุปได้ถูกนะครับ)​

เรื่องที่​ 3 : กรรมการผู้จัดการ บริษัท บริหารสินทรัพย์สุขุมวิท (บสส.) หรือ SAM จัดงาน “พบกันวันหยุดกับคลินิกแก้หนี้” ทุกวันเสาร์ตลอดเดือนมิถุนายน ตั้งแต่เวลา 09.00-16.00 น. โดยย้ายสถานที่จัดงานเป็นที่สำนักงานใหญ่ของ SAM ณ ชั้น 24 อาคารซันทาวเวอร์ส บี บริเวณห้าแยกลาดพร้าว กรุงเทพฯ เพื่อเปิดโอกาสและอำนวยความสะดวกให้กับผู้ที่เป็นหนี้เสียบัตรเครดิต บัตรกดเงินสด สินเชื่อส่วนบุคคลที่ไม่มีหลักประกันของธนาคารพาณิชย์ที่เข้าร่วมโครงการ 16 แห่ง รวมทั้งผู้ประกอบธุรกิจทางการเงิน หรือที่เรียกว่า Non-Bank จำนวน 19 แห่ง (หมายถึง คนที่ค้างชำระเกิน​ 90วันหรือค้างเกินสามงวดหรือคนที่เป็น​ NPL)​ ที่ไม่สามารถเข้ามาขอคำปรึกษากับเจ้าหน้าที่ได้ในวันทำการปกติ ได้มีโอกาสเข้ามาสมัครเข้าร่วมโครงการ และขอคำปรึกษาจากเจ้าหน้าที่ นอกจากนี้ ในวันที่ 29 มิถุนายน ศกนี้ ยังจัดให้มีบริการตรวจเครดิตบูโรโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย พร้อมรู้ผลทันที ซึ่งนอกจากจะเป็นการลดภาระของลูกหนี้แล้ว ยังทำให้กระบวนการปรับโครงสร้างหนี้เริ่มต้นได้เร็วขึ้นและใช้เวลาโดยรวมสั้นลง ผู้ที่สนใจติดต่อสอบถามได้ที่ Call Center 0-2610-2266 ทุกวันจันทร์-ศุกร์ เวลา 08.30-17.00 น. หรือสมัครเข้าร่วมโครงการคลินิกแก้หนี้ผ่านเว็บไซต์ได้ที่ www.คลินิกแก้หนี้.com และ www.debtclinicbysam.com แอดไลน์ @debtclinicbysam

ทั้งสามเรื่องสามรส​ ลองดูความสอดคล้องเรียงร้อยกันให้ดีจะเห็นสภาพการณ์แบบบ้านๆในประเทศอันเป็นที่รักของเราครับ… เราคงต้องอยู่กับหนี้ไปอีกตราบนานเท่านาน… ขอบคุณครับ

เรื่องน่าอ่าน