Blog Page 140

เศรษฐกิจคิดง่ายๆ (ดิจิทัล) : “การเป็นสมาชิกเครดิตบูโรกับการใช้ข้อมูลเครดิตบูโร ความเข้าใจคนละเรื่องเดียวกัน” : วันที่ 20 พฤษภาคม 2562

เศรษฐกิจคิดง่ายๆ (ดิจิทัล) วันที่ 20 พฤษภาคม 2562

“การเป็นสมาชิกเครดิตบูโรกับการใช้ข้อมูลเครดิตบูโร ความเข้าใจคนละเรื่องเดียวกัน”

โดย คุณสุรพล โอภาสเสถียร ผู้จัดการใหญ่ เครดิตบูโร

คลิกอ่านได้ที่ https://www.posttoday.com/finance/money/589535

เหตุที่ผมต้องลุกขึ้นมาเขียนเรื่องนี้ก็เพราะเหตุว่าในการประชุมรับฟังความเห็นเรื่องกฎระเบียบที่จะออกมากำกับดูแลการปล่อยสินเชื่อของสถาบันการเงินประเภทหนึ่งในประเทศไทยให้มีความระมัดระวัง​ มีมาตรฐานมากขึ้น​ ป้องกันความเสี่ยงในเรื่องหนี้เสีย​ และป้องกันความเสียหายที่อาจจะเกิดขึ้นกับผู้ฝากเงินเพราะเหตุว่าตัวเลขสินเชื่อที่สถาบันการเงินประเภทนี้ได้ปล่อยออกไปให้กับครัวเรือนไทย​ ภายใต้คำนิยามหนี้ครัวเรือนไทย​มีจำนวนถึง​ 2ล้านล้านบาท​ สถาบันการเงินดังกล่าวคือ​ สหกรณ์ออมทรัพย์ครับ​ ด้วยความเคารพทุกท่าน​ สิ่งที่ผมใคร่ขอนำเรียนเป็นข้อมูลต่อไปนี้เป็นความเห็นส่วนตัวของผม​ ไม่เกี่ยวกับตำแหน่งหรือองค์กรที่ผมสังกัดนะครับ​ ผมมีข้อมูลมาลองชวนคิด​ จะเห็นด้วย​ เห็นต่างก็เป็นสิทธิ์ของท่านผู้อ่านนะครับ​ ข้อมูลมีดังนี้ครับ

1.การที่เราจะตัดสินใจให้กู้กับใครโดยเงินที่เอามาให้กู้นั้นมันไม่ใช่เงินของเรา​ แต่เป็นเงินที่ผู้คนทำมาหาได้ด้วยความลำบากและเขาหวังพึ่งความรู้ความสามารถเราให้ช่วยดูแล​ เขาได้ส่งผ่านความไว้เนื้อเชื่อใจมากับเงินฝาก​ เพื่อให้เรามาหาประโยชน์ผ่านบริการให้กู้​ เราคนนั้นต้องมีความรับผิดรับชอบเยี่ยงผู้บริหารสถาบันการเงินโดยทั่วไปหรือไม่

2.เราในฐานะบุคคลหรือคณะบุคคลในรูปกรรมการเงินกู้​ จำเป็นต้องรู้ข้อมูลหรือไม่ว่าสมาชิกที่มายื่นขอกู้ไม่ว่าเราจะรู้จักดีหรือไม่รู้จักก็ตาม​ เราต้องรู้​ ควรจะรู้หรือไม่ว่าเขามีหนี้ทั้งหมดก่อนมาหาเราเท่าไหร่​ เป็นหนี้อะไรบ้าง​ เป็นหนี้บ้าน​ บัตร​ รถยนต์​ สินเชื่อบุคคลอย่างละเท่าไหร่​ เป็นหนี้ที่ไหนบ้าง​ ที่สำคัญคือมีประวัติการชำระหนี้พวกนั้นเป็นอย่างไรในช่วงที่ผ่านมา​ ผ่อนได้ปกติ​ มีการค้างชำระ​ มีการเคยค้างชำระแต่ตอนนี้โอเคแล้ว​ พักหนี้ที่ไหนบ้าง​ ถูกดำเนินการทางกฎหมายหรือไม่​ มีหนี้บางบัญชีถูกโอนขายไปหรือไม่​ มีการปรับโครงสร้างหนี้บัญชีไหนบ้าง​ ปรับเมื่อไหร่​ หลังปรับผ่อนเป็นอย่างไร​

3.ข้อมูลตามข้อ​ 2. คือข้อมูลเครดิตครับ​ ภาษาชาวบ้านคือ​ ข้อมูลเครดิตบูโร​ ข้อมูลบูโรนั่นเอง​ ข้อมูลนี้ปัจจุบันมีสมาชิกของเครดิตบูโรที่เป็นสถาบันการเงินจำน​วน​ 99 แห่ง ทั้งส่งเข้ามาในระบบ​ และใช้ข้อมูลไปเพื่อประโยชน์ในการวิเคราะห์ความน่าเชื่อถือ​ ความตั้งใจ​ในการชำระ​หนี้​ของคนที่มายื่นขอกู้​ และในจำนวนนี้มีสหกรณ์ออมทรัพย์​ 3 แห่งเป็นสมาชิกเครดิตบูโรครับ

4.ทีนี้การได้มาซึ่งข้อมูลเครดิตบูโรนั้นจะทำได้​ 2แบบครับคือ
4.1​ เข้ามาเป็นสมาชิกเครดิตบูโร​ ปฏิบัติตามกฎหมาย​ ต้องส่งข้อมูลลูกหนี้และบัญชีเงินกู้ที่ตนเองอนุมัติเข้าระบบทุกเดือน​ เวลาจะดูข้อมูลใคร​ คนๆ นั้นต้องให้ความยินยอมและมีธุรกรรมการขอสินเชื่อ​ จะเที่ยวไปแอบดูแอบเช็คไม่ได้​ ใครไม่ทำตามกฎหมายปกป้องความเป็นส่วนตัวก็มีโทษถึงติดคุกติดตะราง​ วิธีนี้คือทางตรง​ สหกรณ์ออมทรัพย์ส่วนใหญ่ยังมีข้อกังวลสารพัด​ แม้ว่าทางการจะขอให้เครดิตบูโรลดเงื่อนไขไม่คิดค่าสมาชิกเป็นเวลา​ 3 ปีนับแต่วันที่เป็นสมาชิกก็ตาม

4.2​ สหกรณ์ออมทรัพย์ที่จะพิจารณาคำขอกู้​ กำหนดให้คนที่มายื่นคำขอกู้ไปตรวจเครดิตบูโรของตัวเอง​ ตามช่องทางที่มีอยู่​ รายละเอียดดูได้ที่​ www.ncb.co.th จากนั้นให้นำเอาข้อมูลรายงานเครดิตบูโรนั้นมายื่นพร้อมกับคำขอกู้​ เพื่อให้กรรมการเงินกู้มีข้อมูลตามข้อ​ 2 ใช้ในการพิจารณาตัวคนขอกู้ว่าจะอนุมัติหรือไม่อนุมัติ

5.การเป็นสมาชิกเครดิตบูโรจะมีประโยชน์ต่อระบบการเงินครับ​ เพราะสถาบันการเงินอื่นเขาก็จะลดความเสี่ยงลงเพราะว่าคนที่ขอกู้​ เขาก็วิ่งขอกู้ไปทั่ว​ ทีนี้ถ้าสหกรณ์ออมทรัพย์เป็นสมาชิกก็ส่งข้อมูลลูกหนี้เข้ามาในระบบ​ พอคนนี้ไปกู้ที่อื่น​ ที่อื่นนั้นก็จะเห็นว่าอ้าว.. คนนี้มีหนี้อีกหนึ่งที่คือสหกรณ์ออมทรัพย์​ การจะให้กู้ไม่ให้กู้ก็เป็นเรื่องของเจ้านั้นว่าจะคิดอย่างไร​ แต่ตัวสหกรณ์ออมทรัพย์อาจจะไม่อยากแชร์ข้อมูลลูกหนี้ตัวเองก็ได้​ นานาจิตตังครับ

6.มันเป็นไปได้หรือไม่ครับ​ ผมสมมติเหตุการณ์ว่า​ กรรมการเงินกู้ไม่อยากได้ข้อมูลตามข้อ​ 2 มาดู​ เพราะรู้ดีว่าลูกหนี้กู้เงินขาประจำนั้นเป็นอย่างไร​ อาจจะมีหนี้เยอะแต่ไม่เคยค้างเพราะหักเงินเดือนไว้แล้ว​ ส่วนจะพอกินพอใช้หรือไม่​ ไม่เกี่ยว​ อาจจะมีประวัติค้างชำระ​ หรือเป็นคนเคยค้าง​ หรือมีตำหนิอย่างใดอย่างหนึ่ง​ การไม่มีข้อมูลพวกนี้ก็ทำให้การอนุมัติมันก็อยู่บนพื้นฐานว่า​ ก็ในเวลาพิจารณามันมีข้อมูลแค่นี้​ เท่านี้​ ดังนั้นการตัดสินใจของเราก็รอบคอบเท่าที่ข้อมูลมีอยู่​
ถ้าเป็นตัวผม​ ผมก็กลัว​ กลัวคนฝากเงินครับ​ กลัวเขามา​ด่า​ กลัวเขาจะมาฟ้องให้เรารับผิดว่า​ ก็ถ้ามีข้อมูลเครดิตบูโรแล้ว​ เห็นลูกหนี้ที่มาขอกู้​ อาการขนาดนี้แล้ว​ ยังอนุมัติให้กู้​ เหตุเพราะหักเงินเดือนได้ก่อนแล้ว​ ถ้าเกิดเป็นหนี้เสีย​ หรือถูกฟ้องจากที่อื่นแต่ยังให้กู้อยู่​ มันก็หมิ่นเหม่​ใช่หรือไม่​ ดังนั้นการไม่มีข้อมูลชุดนี้ในข้อมูลการพิจารณาให้กู้หรือไม่​ตั้งแต่ต้น มันจะเป็นบวกกับคนพิจารณาหรือไม่​ มันจะเป็นบวกกับคนฝากเงินที่เขาไว้ใจเราหรือไม่​ อันนี้ข้อตั้งเป็นคำถามที่รอคำตอบนะครับ

ข้อมูลตามสื่อที่สะท้อนออกมาระบุว่าความกังวลของสหกรณ์ออมทรัพย์ที่ว่า

…. สำหรับผู้กู้จะต้องเข้าระบบตรวจสอบเครดิตบูโร ก่อนปล่อยกู้ จึงเป็นข้อกังวลด้วย โดยสหกรณ์ได้ใช้วิธีตรวจสอบดูแลกันเอง เพราะกรรมการ กับสมาชิก รู้จักกัน ใครฐานะการเงินเป็นอย่างไร เป็นหนี้ที่ไหนบ้างจึงไม่เห็นความจำเป็น ที่สมาชิกต้องมีค่าใช้จ่ายในการตรวจสอบเครดิตบูโร…

ขอเรียนอีกครั้งนะครับ​ ถ้าเป็นสมาชิกตามข้อ​ 4.1​ ไม่มีการเรียกเก็บค่าสมาชิกเป็นเวลา​ 3ปี​ เสียแต่ค่าดูข้อมูล​ 12บาทต่อครั้ง​ แต่ถ้าเลือก​แบบ​ 4.2​ คนยื่นขอกู้เป็นคนเสียค่าใช้จ่าย (กฎหมายกำหนดให้เสียไม่เกิน​ 200บาท​ครับ)​ ตัวสหกรณ์ออมทรัพย์ไม่มีค่าใช้จ่ายนะครับ

ทิ้งท้ายครับ​ คำโบราณพูดไว้เสมอว่า​ รู้หน้า​ ไม่รู้ใจ หรือจิตมนุษย์นี้ไซร้​ ยากแท้หยั่งถึง​ คำว่ารู้จักกันในนิยามเดิมแบบไทยๆ จะเอาอยู่หรือไม่กับหนี้ครัวเรือนในยุคสมัยนี้​ หรือคำสมัยใหม่​ มีข้อมูลยิ่งเยอะยิ่งลดความเสี่ยง​

ท่านผู้อ่านลองใจนิ่งๆ​ ไม่คิดเราคิดเขา​ ไม่คิดเล็กคิดน้อย​ คิดอย่างเดียวถ้าเป็นเงินครอบครัวเราแล้วเราจะเอาไปให้ใครเขากู้แล้ว​ ไม่ว่าจะเป็นญาติหรือเป็นมิตร​ เราควรขนขวายให้มีข้อมูลตามข้อ​ 2 ข้างต้นมาดูประกอบหรือไม่​ มันยากลำบากมากมายหรือไม่ในการหามาดู​ ฝากในอ้อมอกอ้อมใจของคนที่ถูกเรียกขานว่า​ ผู้บริหารองค์กรครับ

 

WealthMeUp ค้นหาคำตอบที่อยากรู้ 1:1 ตอน “ทางออกคนเป็นหนี้”

WealthMeUp ค้นหาคำตอบที่อยากรู้ 1:1

ตอน “ทางออกคนเป็นหนี้” กับ คุณสุรพล โอภาสเสถียร ผู้จัดการใหญ่ เครดิตบูโร
ออกอากาศวันที่ 13 พฤษภาคม 2562

สัมภาษณ์สดทางวิทยุ “คัดข่าวมาคุย” ช่วง “หัวใจเศรษฐี” ทุกวันอังคารเว้นอังคารของเดือน เวลา 11.10 – 11.30 น. (วันที่ 14 และ 28 พฤษภาคม 2562) – ทางคลื่น FM 105 Smile Thailand

สัมภาษณ์สดทางวิทยุ “คัดข่าวมาคุย” ช่วง “หัวใจเศรษฐี”
ทุกวันอังคารเว้นอังคารของเดือน เวลา 11.10 – 11.30 น. (วันที่ 14 และ 28 พฤษภาคม 2562)
– ทางคลื่น FM 105 Smile Thailand
– อออนไลน์ www.105smilethailand.com
– www.facebook.com/105smilethailand

ผู้ให้สัมภาษณ์ : คุณสุรพล โอภาสเสถียร ผู้จัดการใหญ่ บริษัท ข้อมูลเครดิตแห่งชาติ จำกัด
ผู้ดำเนินรายการ : คุณศลิลนา ภู่เอี่ยม

ติดตามชมรายการ “พอง พอง” Wealth Me Up ตอน “ทางออกของคนเป็นหนี้”จะมีวิธีจัดการและหาทางออกอย่างไร ” วันที่ 13 พฤษภาคม 2562 เวลา 19.00 น. ได้ที่ Facebook Page : Wealth Me Up : โดยคุณสุรพล โอภาสเสถียร ผู้จัดการใหญ่ เครดิตบูโร

ติดตามชมรายการ “พอง พอง” Wealth Me Up ตอน “ทางออกของคนเป็นหนี้”จะมีวิธีจัดการและหาทางออกอย่างไร ” ออกอากาศวันที่ 13 พฤษภาคม 2562 เวลา 19.00 น. ได้ที่ Facebook Page : Wealth Me Up : โดยคุณสุรพล โอภาสเสถียร ผู้จัดการใหญ่ เครดิตบูโร

เศรษฐกิจคิดง่ายๆ (ดิจิทัล) : “ทำธุรกิจเมื่อเจออุปสรรคก็ต้องปรับตัว​ แก้ไข​ ไม่ใช่เอาแต่ร้องให้ใครเขาแก้ไข” : วันที่ 13 พฤษภาคม 2562

เศรษฐกิจคิดง่ายๆ (ดิจิทัล) วันที่ 13 พฤษภาคม 2562

“ทำธุรกิจเมื่อเจออุปสรรคก็ต้องปรับตัว​ แก้ไข​ ไม่ใช่เอาแต่ร้องให้ใครเขาแก้ไข”

โดย คุณสุรพล โอภาสเสถียร ผู้จัดการใหญ่ เครดิตบูโร

คลิกอ่านได้ที่ https://www.posttoday.com/finance/money/588899

บทความในวันนี้ต้องขอออกตัวไว้ก่อนไว้ว่าไม่ใช่การตอบโต้​ หรือการตั้งป้อมต่อสู้กันแต่เป็นการชี้ให้เห็นว่าหากเราเป็นผู้บริหารที่เรียกตัวเองอย่างภาคภูมิใจว่า “มืออาชีพ” รับจ้างเถ้าแก่หรือเจ้าของเงินมาบริหารกิจการให้รุ่งเรือง​ เติบโต​ และก้าวหน้า​ แน่นอนว่าสภาพเศรษฐกิจ​ เงื่อนไขทางกฎระเบียบ​ พฤติกรรมของลูกค้าย่อมไม่อยู่นิ่งให้เราบริหารได้ง่ายๆ เหมือนกินข้าวต้มกับไข่เค็มตอนเช้าแน่นอน​ โลกของการบริหารจัดการจึงมีบทเรียนตั้งแต่ปริญญาตรี​ ปริญญาโทว่า “ทำธุรกิจเมื่อเจออุปสรรคก็ต้องปรับตัว​ แก้ไข​ ไม่ใช่แก้ตัว(กับเถ้าแก่ว่าทำไม่ได้​ ทำได้ยาก)​ หรือเอาแต่ร้องให้ใครเขาแก้ไขโดยเฉพาะภาครัฐที่เขามีอำนาจหน้าที่​ เขามีข้อมูล​ และเขาก็เปิดโอกาสให้เข้าไปดูข้อมูล​ เข้าไปให้ความเห็นแล้ว​ เมื่อเถียงไม่ชนะ​ หรือสู้แล้วไม่ชนะด้วยวิชาการ​ ก็ไม่ควรใช้วิชามารไปอิงภาคการเมืองที่กำลังจะเข้ามาใหม่​ โดยเอาความมั่นคงของระบบเศรษฐกิจผ่านความสามารถในการชำระหนี้ของลูกค้ามาเป็นตัวประกัน​ แบบที่ตอนจบฉันยังคงมีกำไรไปแบ่งปันผลครบเหมือนเดิม

เรื่องมันมีอยู่ว่า​ เมื่อทางธนาคารกลางในประเทศของเราออกมาตรการกำกับดูแลการให้สินเชื่อที่อยู่อาศัยในสามมิติ คือ
1. ถ้ายังผ่อนเงินกู้ที่อยู่อาศัยหลังที่หนึ่งยังไม่จบหากจะก่อหนี้หลังที่สอง​ หรือสามก็ต้องมีการวางดาวน์เพิ่ม​ กู้ในสัดส่วนกับหลักประกันน้อยลง
2. สินเชื่อที่นำมา​ Top up จะไม่ใช่อะไรก็ได้​ เพื่อป้องกันการก่อหนี้ไม่มีหลักประกันมาแฝงกับส่วนต่างของหลักประกันของสูตรมาตรการควบคุมสินเชื่ออสังหาริมทรัพย์ ​ (LTV)
3. ป้องกันการเก็งกำไร​ การกู้เงินสินเชื่อที่อยู่อาศัยแต่ไม่ได้เอาไว้อยู่​ แต่เอาไปปล่อยเช่า​ หรือกู้เพื่อลงทุนกะเอาไว้ขายต่อฟันกำไรในอนาคต​ ซึ่งมันจะทำให้ราคาที่อยู่อาศัยสูงเกินจริง

ในฝั่งของคนที่ทำบ้าน​ ทำคอนโด​ ทำที่อยู่อาศัยขาย​ ก็เจอกับปัญหาแน่ๆ
1. โครงการที่กำลังสร้างกำลังขายจะทำอย่างไร​ กติกาสำหรับคนที่กู้มาซื้อมันเปลี่ยนแบบเป็นผลลบกับการบริหารของฝั่งคนขายของ
2. โครงการที่สร้างเสร็จแล้ว​ กำลังขายอยู่​ ตอนแรกคิดว่าจะใช้เวลาปิดขายทั้งหมด​ 14 เดือน​ เจอกติกาใหม่อาจต้องลากยาวไปเป็​น​ 18 หรือ​ 24​ เดือนแทน​ ต้นทุนที่เพิ่มจะทำอย่างไร

ทางออกสำหรับคนที่เป็นมืออาชีพตามที่ได้ร่ำเรียนมาก็คือ​ เร่งแก้ไขมิใช่แก้ตัว​ เร่งทำงานหนักขึ้น​ มิใช่ผ่อนงานหนักไปให้คนอื่น​ ไม่อย่างนั้นเขาจะเรียกว่านักผลักภาระมิใช่นักบริหารจัดการภาระ​

ผมขอยกคำพูดที่มีการนำเสนอในข่าวที่ระบุว่า…. สิ่งที่รัฐบาล (ผู้เขียน: คงหมายถึงรัฐบาลใหม่ที่กำลังจะมา) ​น่าจะดำเนินการ คือ ควรไปดำเนินการกับธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ในเรื่องมาตรการควบคุมสินเชื่ออสังหาริมทรัพย์ (LTV) ซึ่งเป็นประเด็นใหญ่ที่ส่งผลกระทบต่อความต้องการซื้อที่อยู่อาศัย (ผู้เขียน​: คงหมายรวมถึงกำไรจากการทำธุรกิจด้วย)​ ทั้งนี้ ตนเสนอว่าควรจะผ่อนปรนเรื่องมาตรการ LTV โดยให้เลื่อนไปใช้เดือนมกราคม 2563 เนื่องจากจะได้ให้เวลากลุ่มผู้ซื้อ ระดับกลาง-ล่าง มีวินัยในการเก็บเงินออม (ผู้เขียน​: แล้วช่วงเวลาที่ขยายก็ทำแบบเดิมได้ใช่หรือไม่​ ดาวน์น้อย​ กู้มากเกิ​น​ LTV.​ ใครจะเก็งกำไรก็ทำไป​ แต่ขอเพียงของฉันขายได้อย่างนั้นหรือ)​ ส่วนการจะบังคับช่วงไหนก็พิจารณาตามความ เหมาะสมในปีหน้า(ผู้เขียน​ :ประเด็นนี้ได้มีการเสนอ และเจรจาต่อรองแล้วใช่หรือไม่​ สามารถหักล้างเหตุผลกับคนที่เขามีหน้าที่ออกกฎแล้วใช่หรือไม่)​ รวมถึงได้เสนอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ปรับลดระยะเวลาการเก็บข้อมูลลูกหนี้จากศูนย์ข้อมูลเครดิตบูโรจาก 3 ปีเป็นเหลือ 2 ปี เพื่อส่งผลดีต่อลูกหนี้ในเรื่องของการเข้าถึงธุรกรรมการเงิน​ ผู้เขียนขอเรียนในประเด็นเรื่องระยะเวลาเก็บข้อมูลลูกหนี้ ดังนี้
1. ระยะเวลาที่เป็นมาตรฐานต่ำสุดของสากลในกว่า​ 190 ประเทศ คือ​ 3 ปี​ ประเทศเราจะต่ำกว่ามาตรฐานสากลหรือ​ แม้แต่เอธิโอเปียยังกำหนด​ 5 ปี​ กัมพูชากำหนด​ 10 ปี​ ท่านจะรับได้ไหมถ้าธนาคารโลกประเมินเราเรื่องนี้ลดลง
2. ความเสี่ยงของคนฝากเงินเพิ่มเพราะคนกลางคือธนาคารเห็นประวัติความตั้งใจในการชำระหนี้คนยื่นขอกู้น้อยลง​ การไปหยิบเอาเงินของคนฝากมาให้คนกู้มีความเสี่ยงมากขึ้น​ ท่านยังจำวิกฤติการณ์ปี​ 2540 ได้หรือไม่
3. แล้วคนที่เขามีประวัติการชำระหนี้ที่ดีหล่ะครับ​ เขาควรได้ประโยชน์จากประวัติที่ดี​ในเรื่องอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ที่ถูกลง​ คนที่มีวินัยเขาควรได้ประโยชน์ใช่หรือไม่

สุดท้ายครับ​ ผมเปรียบเทียบง่ายๆ​ เวลาท่านรับนักบัญชี​ สถาปนิก​ วิศวกร​ เข้ามาทำงานที่กิจการท่าน​ เขาเรียน 4 ปี​อย่างน้อย​ ทำไมท่านไม่ดูประวัติเขาสองปีในการรับคนเข้าทำงานหล่ะครับ​ ทำไมท่านไม่ลดราคาลงมา​ ยอมรับกำไรต่อยูนิตที่ลดลง​ เพราะถ้าราคามันลดลง​ ยอดเงินกู้ก็ลดลง​ ยอดผ่อนก็ลดลง​ ลูกค้าที่มีกำลังผ่อนก็มากขึ้นหรือไม่​ หรือวิธีคิดของผู้บริหารมืออาชีพคือ​ ได้เอา​ เสียไม่เอา​ เถียงแพ้ในเวที​ ก็มาออกสื่อขอนักการเมืองครับ
ผู้เขียนขอใช้พื้นที่สื่อ​ สนทนาธรรมกับท่านผู้บริหารมืออาชีพอีกครั้งนะครับ​ หากมีส่วนใดส่วนหนึ่งกระทบจิต​ สะเทือนใจก็ต้องขออภัยมา​ ณ​ โอกาสนี้ด้วยนะครับ

เศรษฐกิจคิดง่ายๆ (ดิจิทัล) : “การรุกคืบเข้ามาของการให้บริการแบบออนไลน์ในเรื่องการให้กู้” : วันที่ 6 พฤษภาคม 2562

เศรษฐกิจคิดง่ายๆ (ดิจิทัล) วันที่ 6 พฤษภาคม 2562

“การรุกคืบเข้ามาของการให้บริการแบบออนไลน์ในเรื่องการให้กู้”

โดย คุณสุรพล โอภาสเสถียร ผู้จัดการใหญ่ เครดิตบูโร

คลิกอ่านได้ที่ https://www.posttoday.com/finance/money/588267

ผู้เขียนไม่ได้รู้สึกแปลกใจเลยเมื่อผู้บริหารระดับสูงของธนาคารพาณิชย์ไทยได้เปิดเผยต่อสื่อมวลชนว่า กลยุทธ์ของธนาคารปีนี้ จะมุ่งสร้างการเติบโตและขยายฐานลูกค้าผ่านช่องทางออนไลน์และดิจิทัลมากขึ้น โดยธนาคารได้ตั้งเป้าหมายปล่อยสินเชื่อออนไลน์ (Digital​ Lending) รวม 30,000 ล้านบาท แบ่งเป็น ลูกค้าบุคคลรายย่อย 10,000 ล้านบาท และลูกค้าผู้ประกอบการธุรกิจ SME 20,000 ล้านบาท เป็นการเติบโตอย่างก้าวกระโดดเทียบปี 2561 โดยเหตุที่ว่าธนาคารมีระบบการบริหารจัดการแบบ​ End​ to End ดีขึ้นโดยเฉพาะ การพิสูจน์และยืนยันตัวตนหรือ​ KYC/CDD การจัดกลุ่มลูกค้าเป้าหมาย​ การคัดกรองลูกค้า การประเมินความเสี่ยงด้านเครดิตและด้านต่างๆ จนมีผลทำให้ธนาคารมีข้อมูลมากเพียงพอในการเข้าใจ​ เข้าถึง​ และประเมินความเสี่ยง (ประเมินโอกาสที่จะได้รับชำระหนี้จากการให้กู้ในปัจจุบันและความเสียหายที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคตข้างหน้าได้แม่นยำ​ มั่นใจมากขึ้น​

นายธนาคารที่เป็นผู้นำในตลาดสินเชื่อ​ SME และนวัตกรรมในบริการทางการเงินได้ระบุต่อไปอีกว่า​
ไตรมาสแรกปี 2562 ทำสินเชื่อประเภทนี้ค่อนข้างน้อย โดยอยู่ในระดับ 5,000 ล้านบาท ลูกค้าสินเชื่อส่วนใหญ่ที่ได้รับอนุมัติยังอยู่ที่รายย่อย และผู้ประกอบการร้านค้าอิสระ ร้านค้าออนไลน์ที่เป็นลูกค้าธนาคารเป็นหลักอยู่ เนื่องจากฐานลูกค้ากลุ่มนี้มีบัญชีเงินหมุนเวียนกับธนาคาร (Having Transaction Data)​ มีข้อมูลจาก​ Platform E-Commerce ที่ลูกค้าคนขอสินเชื่อได้ไปค้าขายในระบบนั้น​ มันทำให้ธนาคารสามารถปล่อยสินเชื่อผ่านระบบดิจิทัลได้ง่ายมากขึ้น เราต้องไม่ลืมคือธนาคารคือกิจการที่มีข้อมูล​ มีการค้นหาโอกาสในการนำเงินฝากมาหาประโยชน์โดยการปล่อยสินเชื่อกับการลงทุน​ และด้วยการไปร่วมมือกับ Platform E-Commerce​ จะยิ่งเติมพลังและขีดความสามารถในการดำเนินธุรกิจได้อีกมากมาย​ ลองคิดตามผมนะครับจากข่าวที่บอกว่า​ ดอกเบี้ยสำหรับสินเชื่อออนไลน์ (Digital​ Lending) หากเป็นผู้กู้รายย่อยคิดอยู่ที่ราว 10-20% เทียบกับดอกเบี้ยสินเชื่อบุคคลทั่วไปที่คิดไม่เกิน 28%  ท่านผู้อ่านลองเทียบกับอัตราดอกเบี้ยเงินฝากระยะยาวที่ยากจะเกิน​ 2-3%ในเวลานี้​ นี่คือโอกาสในการหาผลตอบแทนที่ดีมากๆ​

ประเด็นสำคัญที่ผู้เขียนอยากจะกล่าวย้ำในวันนี้ที่กำลังจะเกิดขึ้นในวันข้างหน้าในไม่ช้าก็คือ​ ขีดความสามารถในการพิสูจน์ว่าบุคลนี้คือคนๆนี้​ ถ้าเราหรือระบบเราสามารถตอบคำถามจนเชื่อได้ว่า You are who you say you are ด้วยเทคโนโลยีที่สามารถนำสิ่งที่เรียกว่า
Something you have หรือ
Something you know หรือ
Something you are มาผสมผสานกับเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์​ ตัวอย่างเช่นใช้สิ่งที่เราเป็นอยู่คือ​ เสียงของเรา​ ลายนิ้วมือของเรา​ ม่านตาของเรา​ หรือใบหน้าของเรา​ ที่รวมๆเรียกว่า​ ไบโอเมตทริกซ์ มาดำเนินการจนมั่นใจและมีกฎหมายรองรับว่านาย​ A คือนาย​ A โดยนาย​ A ไม่ต้องนำพาตัวเอง​ หรือนำพาตัวเป็นๆของตัวเองมายังสถานที่ของผู้ให้บริการทางการเงินอีกต่อไป (Non face – to – face)​ แต่ได้กระทำผ่านเครื่องมือและระบบคอมพิวเตอร์/ระบบอินเทอร์เน็ต​ จนมีมาตรฐานที่ยอมรับนับถือกันโดยทั่วไปและเมื่อระบบนิเวศทางดิจิทัลยิ่งมีพัฒนาการด้านความปลอดภัยมากขึ้นเราก็จะได้เห็นความทันสมัยในการบริการทางการเงินในอนาคตมากขึ้น

มีข้อมูลปรากฏในข่าวสารที่เผยแพร่โดยสื่อมวลชนระบุว่าผลสำรวจของ​ Visa ใน พ.ศ.2561 ระบุว่าผู้บริโภคหรือลูกค้าที่ยื่นขอใช้บริการทางการเงินยินดีที่จะใช้ ไบโอเมตทริกซ์ ของตัวเอง (Something you are)​ มาพิสูจน์ตัวตนก่อนการใช้บริการทางการเงินเหตุเพราะมันมีความสะดวก รวดเร็ว และเป็นทางเลือกที่ปลอดภัยกว่าการใช้​ Error! Hyperlink reference not valid. Somethings you know ที่นับวันจะลดบทบาทลงไป​เหตุเพราะปัญหาการลืม​ การถูกขโมย​ และความยุ่งยากในการทำซ้ำๆ ในแต่ละขั้นตอนการใช้บริการ

โดยข่าวได้ระบุว่า 86 %ของผู้บริโภคที่ทำแบบสำรวจสนใจที่จะลองใช้ ไบโอเมตทริกซ์ เพื่อยืนยันตัวตนหรือทำการชำระเงิน  65 %ของผู้ทำแบบสำรวจมีความคุ้นเคยกับการใช้ไบโอเมตทริกซ์ ประกอบกับความก้าวหน้าในอุปกรณ์มือถือที่ส่งผลให้การสแกนลายนิ้วมือ​ การสแกนใบหน้านั้นมีความรวดเร็วยิ่งขึ้น หรือแม้แต่การใช้เสียงเพื่อพิสูจน์และยืนยันตัวตนมีความแม่นยำมากขึ้น ปัจจุบันอาจถึงเวลาแล้วที่จะนำเทคโนโลยี ไบโอเมตทริกซ์ มาใช้ในแอปพลิเคชัน ของธนาคารมากขึ้น​ มากขึ้น​ และมากยิ่งขึ้นเพื่อมอบประสบการณ์การชำระเงิน (Payment service) ที่ดียิ่งขึ้นให้แก่ลูกค้าของตน

ท่านผู้อ่านลองคิดตามผมนะครับ
1.เราไม่ต้องเอาตัวเองไปยังธนาคารเพื่อขอใช้บริการสินเชื่อแต่เราสามารถทำได้ด้วยตัวเองผ่านโทรศัพท์มือถือ​
2.ไม่ต้องทำเอกสารเป็นกระดาษ​ ไปส่งเจ้าหน้าที่สินเชื่อแต่ส่งโดยการถ่ายภาพเอกสารส่งไปให้แทน
3.ทำการพิสูจน์และยืนยันตัวตนได้ผ่านสิ่งที่เราเป็นหรือไบโอเมตทริกซ์ในวันนี้
4.ลงนามในหนังสือให้ความยินยอมโดยไม่ต้องมีเอกสารและเซ็นสดต่อหน้าเจ้าหน้าที่ธนาคาร
Error! Hyperlink reference not valid. 15-30นาที
6. ถ้าได้รับอนุมัติ​ เงินที่ขอกู้ไปจะถูกส่งตรงไปยังบัญชีของผู้ขอกู้ทันที​ สภาพคล่องของคนที่ได้รับเงินกู้ก็จะทันการณ์

ปี​ 2562​ ยังมีอะไรที่จะออกมาอีกมากมายและผู้เขียนก็เชื่อว่าการรุกคืบเข้ามาของการให้บริการแบบออนไลน์ในเรื่องการให้กู้จะเพิ่มมากขึ้นเป็นทวีคูณในปีนี้นะครับ​ เรามาลองติดตามเป้าเงินกู้ด้วยกันนะครับ

เรื่องน่าอ่าน