Blog Page 146

คอลัมน์เศรษฐกิจคิดง่ายๆ : ยามอากาศขุ่นมัว ดอกเบี้ยก็แอบเริ่มชูช่อเนียนๆ : วันจันทร์ที่ 4 กุมภาพันธ์ 2562

คอลัมน์ เศรษฐกิจคิดง่ายๆ

ยามอากาศขุ่นมัว ดอกเบี้ยก็แอบเริ่มชูช่อเนียนๆ

นสพ.โพสต์ทูเดย์  วันจันทร์ที่ 4 กุมภาพันธ์ 2562

ตื่นเช้าของวันที่ 1 ก.พ. 2562 เป็นวันศุกร์ที่ขมุกขมัว มองออกไปจากรถยนต์ที่นั่งกันสามคน (ตามเกณฑ์เป๊ะ) เห็นสภาพอากาศ ท้องฟ้าที่ยังไม่สดใส อ่านข่าวจากโทรศัพท์เคลื่อนที่ในมือก็มีแต่ข่าวเกี่ยวกับรอบตัวเราและเพื่อนร่วมชะตาชีวิตในกรุงคงต้องเจอมลพิษทางอากาศไปจนถึงต้น มี.ค. (แม่เจ้า…อีกหนึ่งเดือนเลยนะ) พอดูข่าวของหน่วยงานบริหารเมืองหลวงเราประชุมกับพ่อเมือง กทม. (คำโบราณ) ในเฟซบุ๊กที่แชร์ก็ได้แต่คิดถึงหนังตอนที่นักวิทยาศาสตร์ นักพูด นักการเมืองและนักอื่นๆ กำลังหาทางรับมือกับอุกกาบาตที่ชื่อว่า อาร์มาเก็ดดอน เหลียวมามองอีกข่าวก็พบกับอุปนิสัยไทยคือ ต้องยิ้มได้เมื่อภัยมา ข่าวนี้แนะนำให้สวดมนต์ทำสมาธิต้านฝุ่น แนะให้แห่นางแมวขอฝนหลายๆ ตัวเพื่อได้น้ำฝนมาชะล้างฝุ่น ย้อนกลับจากเรื่องของการเจอปัญหามลพิษในระดับตื่นตระหนกของคนเมืองเวลานี้ผมมีความเห็นดังนี้

1.คนที่ทำงานกินเงินค่าจ้าง รายวัน จะสามารถป้องกันตัวเองในต้นทุนที่พอรับได้ขนาดไหน ค่าแรง 300 บาท/วัน เจอค่าหน้ากาก 2 ชิ้น 90 บาทมันจะไม่ไหว องค์กรทางการแพทย์ NGO รักโลกสวยพอจะมีอะไรมาช่วยบรรเทาเขาเหล่านี้หรือไม่ ในอดีตถ้าเรามีภัยพิบัติเรามีการตั้งโรงทาน โรงอาหาร พยาบาลสนาม เราลองเทียบเคียงกรณีนี้ได้หรือไม่…คิดแบบบ้านๆ

2.อาหารที่วางขายตามทางหรือ Street Food  มันจะมีผลหรือไม่จากมลพิษฝุ่นละออง ควรมีมาตรการแนะนำ ปกป้อง ตรวจตรา ช่วยเหลือ คุ้มครองคนซื้อ-คนขายหรือไม่ในเวลานี้ หรือจะเอาแต่กฎกติกาเทศกิจไล่จับกันจนไม่ดูตาม้าตาเรือ ยามนี้มันก็ไทยด้วยกัน ทุกข์ด้วยกันทั้งสิ้น

3.ผมขอชื่นชมความคิดริเริ่มของ ผู้บริหารในองค์กรหลายแห่ง ธนาคารกลาง ธนาคารพาณิชย์ที่ออกมาบอกกับหัวหน้าพนักงานต่างๆ ว่า คนท้อง คนเป็นภูมิแพ้ คนที่ต้องดูแลลูกเล็กในยามโรงเรียนปิด สามารถทำงานที่บ้าน หยุดงานโดยไม่นับเป็นวันลาได้ อันนี้น่าชื่นชมครับ ได้ใจผู้คนมากๆ นะครับ มันคือน้ำใจที่คนไทยให้กัน อย่ามองเป็นเรื่องนายจ้างลูกจ้างแต่มันคือใจที่ให้ใจกันในยามนี้

พอเหลียวมามองข่าวการเงินก็มาสะดุดเอากับข่าวรองกรรมการผู้จัดการใหญ่ ธุรกิจรายย่อย ธนาคารลูกครึ่งรายหนึ่งที่มีต่างประเทศเพื่อนบ้านเราทางใต้เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่แจ้งว่าธนาคารได้ปรับดอกเบี้ยเงินกู้อ้างอิงประเภทอัตราดอกเบี้ยรายย่อยชั้นดี (เอ็มอาร์อาร์) ขึ้น 0.125% ต่อปี จาก 7.75% เป็น 7.875% ต่อปี โดยมีผลตั้งแต่ วันที่ 1 ก.พ. 2562 เป็นต้นไป เนื่องจากต้นทุนทางการเงินปรับสูงขึ้น หลังจากคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ได้ปรับดอกเบี้ยนโยบายขึ้น 0.25% เป็น 1.75% ต่อปี

ทั้งนี้ การปรับดอกเบี้ยลูกค้า สินเชื่อที่อยู่อาศัยจะได้รับผลกระทบเล็กน้อยจากภาระค่างวดต่อเดือนเพิ่มหลักร้อยบาทในการกู้ต่อ 1 ล้านบาท(ผู้เขียนขอแย้งนิดๆ นะครับว่าอะไรที่เพิ่มไม่ว่าเล็กว่าน้อยมันขึ้นอยู่กับรายได้คนกู้ครับ 100 บาท สำหรับคนเงินเดือน 2 หมื่นบาท มันมีความหมายที่อาจ ไม่เท่ากับคนกินเงินเดือนระดับผู้บริหารระดับสูงในระบบสถาบันการเงิน…อันนี้ขอมองต่างมุมนิดหนึ่งนะครับ หรือคนที่มี Debt Service Coverage Ratio ที่ต่างกันมันก็มีผลต่างกัน หรือคนที่อยู่บ้านเช่ากินข้าวกล่องโฟมต้องจ่ายหนี้บ้านที่กู้ไว้เพิ่มมันก็ต้องรู้สึกมากกว่าคนมีรถประจำตำแหน่ง

ข้อความตามข่าวที่บรรยายเป็นคำพูดที่ระบุว่า… “หลังจาก ธปท.ขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย ทำให้ตลาดเงินมีต้นทุนเพิ่มขึ้น จึงต้องระดมทุน ทำให้ต้นทุนเพิ่มก็จำเป็นต้องปรับดอกเบี้ยเงินกู้ขึ้น และเชื่อว่าธนาคารอื่นจะปรับขึ้นดอกเบี้ยเงินกู้ตาม” นอกจากนี้ ผมขอความอนุเคราะห์เรียนถามธนาคารกลางในประเทศสารขัณฑ์แห่งนี้ว่า ก็ไหนว่า  กนง.ขึ้นดอกเบี้ยนโยบายแล้ว ดอกเบี้ยเงินกู้คงยังไม่ขยับอย่างรวดเร็วนัก ควรขยับดอกเบี้ยเงินฝากก่อน ผมยังจำข้อแนะนำในข่าวสารเวลานั้นได้ มีใครเข้าไปสอดส่องดูแล Asset-Liability Management หรือเปล่าครับ Rate Sensitive Asset สูงกว่าหรือต่ำกว่า Rate Sensitive Liability (คนที่เป็นนักการเงินจะเข้าใจสิ่งที่ผมพยายามสื่อในเวลานี้)

ประเด็นเงินฝากก็มีการขยับเหมือนกันคือ ปรับขึ้นดอกเบี้ยเงินฝากประเภทฝากประจำระยะเวลา 3 เดือน 6 เดือน และ 9 เดือน ในอัตรา 0.25% ต่อปี และปรับดอกเบี้ยเงินฝากประจำ 12 เดือน วงเงินไม่เกิน 2 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 0.10% มีผลวันที่ 1 ก.พ. 2562 ผมมีข้อท้าทายว่าถ้าแน่จริงนะครับให้ปรับดอกเบี้ยออมทรัพย์สิครับ ปรับเพิ่มเลยเป็น 2.5% หากหาเหตุไม่ได้ว่าทำไมต้องขึ้นออมทรัพย์ 2.5% ก็ใช้ไสยศาสตร์ว่าเพราะเราเจอฝุ่น PM2.5 เราเลยขอปรับออมทรัพย์เป็น 2.5% มาสู้ฝุ่นให้มันรู้กันเลยว่าฝุ่นกับดอกเบี้ยใครแน่กว่ากัน

เคล็ด (ไม่) ลับ ออมเงินอย่างง่ายไว้ใช้วัยเกษียณ

การออมเป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้ผู้ออมเงินบรรลุเป้าหมายตามที่วางไว้ เช่น การกำหนดเป้าหมายไว้ว่าจะซื้อบ้านให้ได้ในอนาคต ซึ่งการออมถือเป็นปัจจัยสำคัญต่อการบรรลุเป้าหมายที่วางไว้ นอกจากนี้การออมยังช่วยแก้ปัญหาความเดือดร้อนทางการเงินที่อาจเกิดขึ้นอย่างคาดไม่ถึง เช่น มีเงินฉุกเฉินยามเจ็บป่วย หรือมีเงินไว้ใช้ช่วงว่างงาน เป็นต้น ยิ่งไปกว่านั้น เมื่อสังคมไทยกำลังก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ เงินออมจะเป็นสิ่งที่ช่วยคุณในยามแก่เฒ่า ช่วยให้คุณมีเงินใช้ต่อไปในยามที่คุณไม่มีแรงที่จะหารายได้เพิ่มแล้ว (ออมก่อนรวยกว่า มาดูความสำคัญของเงินออมได้ที่นี่เลย https://www.ncb.co.th/fin-knowledge/why-save-money )

ออมเงินก่อนเกษียณอย่างง่าย ทำได้สบายแน่นอน

  1. คำนวณการใช้เงินหลังเกษียณ

ก่อนอื่นเลยคุณต้องคำนวณดูก่อนว่า หลังจากคุณเกษียณอายุไปแล้วคุณต้องใช้เงินต่อเดือนเท่าไหร่ ซึ่งส่วนใหญ่แล้วจะใช้เงินประมาณ 70-90 เปอร์เซ็นต์ของรายได้ต่อเดือนในปัจจุบัน ดังนั้นคุณต้องแน่ใจว่าหลังเกษียณอายุคุณจะมีเงินใช้ 70-90 เปอร์เซ็นต์ของรายได้ต่อเดือนในปัจจุบัน หากคุณไม่แน่ใจว่าจะมีเงินใช้ถึงเป้าหมายดังกล่าว คุณก็อาจต้องหารายได้เสริมอื่นๆ ด้วย

  1. สร้างงบประมาณให้รายได้มากกว่ารายจ่าย

ขั้นตอนต่อไปคือคุณต้องสร้างงบประมาณให้รายได้มากกว่ารายจ่ายในแต่ละเดือน จนมีเงินเหลือเก็บเพื่อเอาไว้เกษียณ และดังที่กล่าวไว้ข้างต้น หากคุณมีรายจ่ายมากกว่ารายรับ หรือไม่ได้เก็บเงินเพื่อเกษียณเลย คุณก็ต้องหารายได้เสริม รวมถึงประหยัดให้มากขึ้น หรือคุณอาจทำบัญชีรายรับรายจ่าย เพื่อดูว่าในหนึ่งเดือนใช้จ่ายอะไรไปบ้าง ทำให้รู้ว่าสิ่งไหนสามารถตัดออกจากรายจ่ายของคุณได้ค่ะ

  1. หาวิธีออมเงินเพื่อเกษียณ

หากอยากเก็บเงินเพื่อเกษียณด้วยวิธีอื่น ๆ คุณสามารถเลือกออมเงินได้หลายทาง ไม่ว่าจะเป็นการลงทุนในกองทุนรวม LTF-RMF การลงทุนในหุ้น หรือจะฝากเงินแบบฝากประจำก็ได้ ซึ่งวิธีนี้คุณยังจะได้ดอกเบี้ยอีกด้วย แต่หากจะใช้วิธีการเหล่านี้คุณจำเป็นจะต้องศึกษารายละเอียดและข้อมูลก่อนการลงทุนให้ดี จะได้ไม่เสียเปรียบหรือพลาดสิทธิประโยชน์

  1. จัดการกับหนี้สิน

เมื่อคุณรู้แล้วว่าคุณต้องเก็บเงินเพื่อเกษียณอายุเท่าไหร่ ขั้นต่อไปคือคุณต้องมาจัดการกับหนี้ของคุณให้หมดเสียก่อน เพราะถ้าคุณไม่รีบจัดการหนี้ให้หมด คุณก็จะเก็บเงินเพื่อเกษียณน้อยลง เพราะฉะนั้นตอนนี้มีหนี้อะไร ก็รับจัดการไปให้หมดเสีย อย่าปล่อยไว้นานหลายปีนะคะ

  1. เก็บเงินก่อนใช้จ่าย

เมื่อคุณได้รับเงินเดือนมาในแต่ละเดือน สิ่งแรกที่คุณควรทำคือเก็บเงินเพื่อเกษียณก่อนเลยค่ะ ส่วนที่เหลือจึงจะเป็นเงินสำหรับใช้จ่ายในเดือนนั้นๆ  ซึ่งวิธีนี้จะทำให้คุณมีวินัยในการใช้เงินมากขึ้น และจะไม่ลำบากหลังเกษียณอายุแน่นอน

  1. รีไฟแนนซ์บ้าน

การมีบ้านส่วนใหญ่มักต้องผ่านขั้นตอนในการขอสินเชื่อบ้านจากสถาบันการเงินต่าง ๆ ก่อน เพื่อแบ่งเบาค่าใช้จ่ายในการผ่อนชำระ แต่หากผ่อนจ่ายไปได้สักระยะหนึ่ง แล้วเกิดมีความจำเป็นต้องใช้เงินก้อน หรืออยากเก็บเงินเพื่อเกษียณอายุ การรีไฟแนนซ์บ้านก็อาจเป็นตัวเลือกที่ดีนะคะ ซึ่งการจัดไฟแนนซ์บ้านเป็นการกู้ยืมสินเชื่อก้อนใหม่มาแทนสินเชื่อเดิม โดยผู้ขอสินเชื่อจะได้เงินก้อนมาปิดภาระสินเชื่อเดิม เพื่อเป็นการลดดอกเบี้ย และอาจมีเงินส่วนต่างมาใช้ในยามฉุนเฉินตอนที่เกษียณอายุแล้วด้วยค่ะ

เมื่อเราอยากบรรลุเป้าหมายทางการเงินไว ๆ  จึงต้องออมให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ ออมให้เร็วที่สุดตั้งแต่อายุยังน้อย แต่ปัญหาจริง ๆ ก็คือ เรื่องค่าใช้จ่าย หลาย ๆ คนมีค่อนข้างมาก เงินเดือนหรือรายได้ที่เข้ามาก็มีรายจ่ายที่ต้องออกไป  ดังนั้นราจึงต้องควบคุมค่าใช้จ่ายให้สมดุลกับรายรับที่มีเข้ามา เพื่อที่จะได้ไม่ติดลบและมีเหลือเก็บ

ตรวจเครดิตบูโรผ่านโมบายแอป”Krungthai Next” รับรายงานข้อมูลเครดิตรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์ (E-Credit report) ทางอีเมล 3 วันทำการ

บริการใหม่ล่าสุด! พร้อมแล้ว

ตรวจเครดิตบูโรผ่านโมบายแอป “Krungthai Next”
รับรายงานข้อมูลเครดิตรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์ (E-Credit report) ทางอีเมลภายใน 3 วันทำการ

รู้ผลทันใจ มั่นใจได้จริง

อยู่ที่ไหน ก็รับข้อมูลเครดิตได้ทุกที่ ทุกเวลา

ไม่ว่าจะเป็นข้อมูลด้านสินเชื่อ บัตรเครดิต หรือสถานะบัญชี ก็ตรวจได้ง่ายๆ ผ่าน โมบายแอป “Krungthai Next” พร้อมเลือกวิธีรับผลได้ดั่งใจ 2 วิธี 

1.รับผลทางอีเมลภายใน 3 วันทำการ (ข้อมูลเครดิตรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์)

2.รับผลทางไปรษณีย์ลงทะเบียนภายใน 7 วันทำการ (ข้อมูลเครดิตรูปแบบเอกสาร)

หมายเหตุ :
– หากไม่ได้รับภายในกำหนด โปรดติดต่อ consumer@ncb.co.th
– บริการยื่นคำขอตรวจเครดิตบูโรผ่านเคาน์เตอร์สาขา และ ATM ของธนาคารกรุงไทย พร้อมรับผลทางไปรษณีย์ลงทะเบียนได้เช่นเดิม

ตรวจสอบเครดิตบูโร - Krungthai NEXT

เพิ่มเติมได้ที่ https://www.ktb.co.th/th/content/personal/krungthai-next/credit-bureau-status-check-service

 

ข่าวเครดิตบูโร 001/2562 : กรุงไทยตั้งเป้าให้บริการสินเชื่อออนไลน์แบบครบวงจรสมบูรณ์แบบเป็นธนาคารแรก     

ข่าวเครดิตบูโร 001/2562

ข่าวประชาสัมพันธ์

กรุงไทยตั้งเป้าให้บริการสินเชื่อออนไลน์แบบครบวงจรสมบูรณ์แบบเป็นธนาคารแรก

ในวันนี้ (30 มกราคม 2562) ที่ธนาคารกรุงไทย อาคารสำนักงานใหญ่ นายผยง ศรีวณิช กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงไทย และ นายสุรพล โอภาสเสถียร ผู้จัดการใหญ่ บริษัทข้อมูลเครดิตแห่งชาติ จํากัด (เครดิตบูโร) ร่วมลงนามในสัญญาให้บริการสมาชิก เรื่องการรับความยินยอมในการเปิดเผยหรือให้ข้อมูลโดยวิธีการผ่านระบบอินเทอร์เน็ตจากเจ้าของข้อมูล เพื่อเตรียมให้บริการสินเชื่อออนไลน์แบบครบวงจรเป็นธนาคารแรกของประเทศ ผ่านแอปพลิเคชั่นกรุงไทย NEXT โดยคาดว่าจะสามารถให้บริการได้ในปลายไตรมาสแรกนี้

นายผยง ศรีวณิช เปิดเผยว่า หลังจากที่ธนาคารกรุงไทย ได้ให้บริการตรวจข้อมูลเครดิตบูโรผ่านแอปพลิเคชั่น กรุงไทย NEXT โดยลูกค้าสามารถตรวจข้อมูลเครดิตบูโรด้วยตนเอง ได้ทุกที่ทุกเวลาตลอด 24 ชั่วโมง ซึ่งกรุงไทยเป็นธนาคารแห่งแรกที่ลูกค้าสามารถตรวจข้อมูลเครดิตบูโรผ่านทาง  Mobile Application และรับรายงานข้อมูลเครดิตรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์ (E-Credit Report) ผ่านทางอีเมลภายใน 3 วันทำการ โดยให้บริการเมื่อปลายปีที่ผ่านมา  จากเดิมที่ใช้เวลา 7 วันทำการ หากขอข้อมูลผ่านสาขาและเครื่องเอทีเอ็ม และนับว่าเป็นธนาคารแห่งแรกที่ลูกค้าสามารถตรวจข้อมูล    เครดิตบูโรได้ครบทุกช่องทางอีกด้วย  ขณะนี้ ธนาคารอยู่ระหว่างเตรียมให้บริการสินเชื่อแบบ Digital Lending หรือสินเชื่อออนไลน์ ผ่านแอปพลิเคชั่น กรุงไทย NEXT  ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งในการเป็น NEXT to Invisible Banking ที่ติดตัวและเคลื่อนที่ไปกับลูกค้าในการทำธุรกรรมได้ทุกที่ทุกเวลา โดยขณะนี้อยู่ในช่วงนำร่องทดสอบ และคาดว่าจะสามารถให้บริการกับลูกค้าทั่วประเทศได้ในปลายเดือนมีนาคมนี้

“ธนาคารกรุงไทย จะเป็นธนาคารแห่งแรกที่สามารถให้บริการสินเชื่อออนไลน์แบบครบวงจรที่สมบูรณ์แบบ ซึ่งทุกขั้นตอนในการขอสินเชื่อจะเป็น Paperless  และทำผ่าน Mobile Application ตั้งแต่ต้นจนจบ ตั้งแต่การสมัครสินเชื่อ (e-Application) การส่งเอกสารประกอบสินเชื่อ (e-Document) การให้ความยินยอมในการเปิดเผยข้อมูลเครดิต (e-NCB Consent) โดยเฉพาะอย่างยิ่งการทำสัญญาสินเชื่อแบบ e-Contract  โดยไม่ต้องเตรียมสำเนาเอกสาร นับเป็นมิติใหม่ในการให้บริการของวงการธนาคารไทย  ซึ่งตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์ลูกค้าในยุค Thailand 4.0  อย่างไรก็ตาม สำหรับความยินยอมในการเปิดเผยหรือให้ข้อมูลโดยวิธีการผ่านระบบอินเทอร์เน็ตจากเจ้าของข้อมูลนั้น เครดิตบูโรต้องได้รับความยินยอมจากเจ้าของข้อมูล ซึ่งคือลูกค้าที่มาขอสินเชื่อกับธนาคาร เพื่อการเปิดเผยข้อมูล”

ด้านนายสุรพล โอภาสเสถียร กล่าวถึงความร่วมมือในครั้งนี้ว่า “นับเป็นเรื่องดีอย่างยิ่งที่ทั้งสองหน่วยงานจับมือกันพัฒนาและส่งเสริมธุรกรรมการขอสินเชื่อออนไลน์ให้เกิดประโยชน์อย่างเต็มที่ รวมทั้งการเพิ่มบริการตรวจข้อมูลเครดิตออนไลน์ในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์ (E-Credit report) เพื่อตอบสนองความต้องการของประชาชนในสังคมยุคดิจิทัลได้เป็นอย่างดี  ที่ผ่านมา เครดิตบูโรดำเนินการพัฒนาและให้ความสำคัญในการเข้าถึงข้อมูลเครดิตของตนเองมาอย่างต่อเนื่อง โดยอำนวยความสะดวกให้กับเจ้าของข้อมูลในการตรวจสอบรายงานข้อมูลเครดิต  อันจะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งในการเตรียมความพร้อมก่อนขอสินเชื่อต่างๆ ช่วยตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลเครดิตของตนเองและเพื่อป้องกันภัยการเงินในยุคปัจจุบันอีกด้วย”

 

อวสานสายเปย์ ภัยของคนใช้เงินเก่ง

อวสานสายเปย์ ภัยของคนใช้เงินเก่ง

หนึ่งในนิสัยทางการเงินที่ควรลด ละ เลิกให้เด็ดขาดเห็นจะเป็นเรื่องของการไม่มีสติในตอนจ่ายเงินค่ะ อยากได้ก็ซื้อ เพื่อนมีเรามีบ้าง ลิมิเต็ดคอลเล็กชั่นเราต้องเก็บ ใจใหญ่เลี้ยงไปหมด และอื่นๆ ที่เป็นพฤติกรรมทำให้เงินปลิวว่อนออกจากกระเป๋าอย่างไว คือมันก็เพลิดเพลินสนุกสนาน แต่ถ้าเพลินมากไปอาจตกใจกับผลของความเป็น “สายเปย์” ในภายหลังได้ ดังนั้นจึงต้องดึงสติให้เหล่าสายเปย์หรือกำลังจะเป็นสายเปย์ได้ฉุกคิดก่อนที่สุขภาพทางการเงินจะเข้าขั้นโคม่าค่ะ

จุดจบสายเปย์ เมื่อเงินที่ปลิวไปสร้างปัญหากลับมา
เงินสักวันก็มีวันหมด ต่อให้หาเงินเก่งสักแค่ไหนถ้าใช้ไม่ระวัง สุขภาพทางการเงินก็พังไม่เป็นท่าได้อยู่ดีค่ะ เรามาดูภัยของสายเปย์กัน เมื่อเวลาที่เงินหมดอดเปย์แล้วจะเกิดอะไรขึ้นบ้าง จะได้ระวังการใช้เงินกันไว้นะคะ

  1. เงินเริ่มไม่พอใช้ เมื่อใช้เพลินไปหน่อย เงินก็เริ่มไม่พอทีนี้แค่รายได้หลักก็ไม่พอแล้ว ต้องหาช่องทางเพิ่มรายได้ แรกๆ ก็ดี พอนานไปทำงานหนัก เงินที่หาได้จะต้องหมดไปกับสุขภาพและการรักษาพยาบาล มันดูไม่คุ้มกันเลยค่ะ หาพอดี ใช้พอดี มีเวลาสร้างสุขรักษาสุขภาพทั้งกายและใจตามอัตภาพ ชีวิตดีกว่าเยอะ สิ่งนี้แก้ปัญหาได้ด้วยการทำบันทึกรายรับรายจ่ายค่ะ เพื่อควบคุมการจ่ายเงินของเรานะคะ
  2. ไม่มีเงินเก็บ เพราะใช้เงินมากเกินเพลิดเพลินจนลืมเก็บ เมื่อเกิดสถานการณ์ฉุกเฉินที่จำเป็นต้องใช้เงินขึ้นมา ทีนี้จะเกิดปัญหาตามมาเลยค่ะ เพราะเราไม่มีเงินสำรองนี่เอง เราจึงต้องทำการเก็บเงินบ้างนะคะ
  3. วงเงินบัตรเครดิตเริ่มเต็ม เมื่อจ่ายสดไม่พอก็ต้องรูดปรื๊ดๆ กันหน่อย มีทั้งโปรโมชั่นแลกรับเงินคืนบ้างล่ะ ผ่อน 0% บ้างล่ะ แลกแต้มบ้างล่ะ ถ้าระวังๆ มันก็คุ้มค่าน่าใช้นะคะ แต่ถ้ารูดไปไม่มีเบรกนี่อันตรายมากเลยค่ะ รูดไปรูดมาวงเงินเต็ม ใบหนึ่งเต็มยังพอว่า ถ้าเต็มหลายใบนี่เป็นหนี้หนักเลยค่ะ ระวังๆ กันหน่อยนะคะ
  4. ต้องยืมเงินคนอื่น เป็นสายเปย์สายป๋าอยู่ดีๆ เมื่อไม่มีก็ต้องหยิบยืมกันบ้าง เพื่อนฝูงหรือญาติมิตรทั้งหลายก็เป็นบุคคลกลุ่มแรกๆ ที่นึกถึง บางทีอันตรายอาจเสียเพื่อนได้เลยนะคะเรื่องหยิบยืมเงินนี้ คิดให้ดีก่อนยืมเงินใคร หรือถ้าจะดีที่สุด ลดความเปย์ในตัวคุณก่อนเลยค่ะ
  5. เป็นหนี้หัวโต แล้วสิ่งที่ไม่อยากจะให้เกิดก็เกิดขึ้นค่ะ โดยเฉพาะหนี้บัตรเครดิต บัตรกดเงินสดทั้งหลาย เมื่อต้องถึงวันที่เป็นหนี้ ทบต้น ทบดอก ทบไปทบมา ยังไงก็ไม่หมดเสียที จนบางคนต้องขายทรัพย์สินอย่างจำใจเพื่อนำมาใช้หนี้กันเลย สายเปย์ทั้งหลายระวังให้ดี อย่าเดินทางมาจนถึงจุดนี้นะคะ ขอเดือนจากใจ
  6. เพื่อนหาย อันนี้เป็นสัจธรรมของสายเปย์ที่วันหนึ่งเมื่อไม่มีให้เปย์แล้ว ผู้คนที่รายล้อมก็จะเริ่มหายหน้าไปทีละคนๆ เพราะพวกเขาคบคุณเพราะใจกว้างกล้าได้กล้าเสีย แต่ถ้าถึงวันที่คุณไม่มีจะเสีย คนเหล่านั้นก็ไม่เห็นประโยชน์ที่จะคบค้ากับคุณค่ะ นี่จึงเป็นเวลาทดสอบความจริงใจของคนเลย แต่แนะนำว่าควรทดสอบความจริงใจด้วยวิธีอื่นดีกว่านะคะ

เมื่อเห็นภัยของการเป็นสายเปย์เด่นชัดขนาดนี้ก็เพิ่มสติในการเปย์กันหน่อยนะคะ อย่าจ่ายหนักนักเดี๋ยวจะเกิดปัญหาให้กับชีวิตโดยไม่จำเป็น ขอให้ทุกคนรักษาสุขภาพทางการเงินกันด้วยค่ะ

วางแผนมีบ้านหลังแรกเป็นของตัวเอง ต้องทำอย่างไรบ้าง

วางแผนมีบ้านหลังแรกเป็นของตัวเอง ต้องทำอย่างไรบ้าง

การมีบ้านเป็นของตัวเอง เป็นความใฝ่ฝันของทุกคนที่ต้องการความมั่นคงและมีทรัพย์สินที่เราเป็นเจ้าของเองอย่างภูมิใจ แต่บ้านหลังหนี่งมูลค่ามันสูง เราไม่สามารถตัดสินใจซื้อได้ในระยะเวลาอันสั้น สิ่งที่ต้องคำนึงก่อนที่จะซ้อบ้านก็ต้องสำรวจกำลังทรัพย์ของตัวเองเองก่อนแล้วตั้งงบประมาณว่าบ้านที่เราพอจะเป็นเจ้าของได้นั้นควรราคาเท่าไหร่ดี ทำเลเป็นอย่างไร แบบบ้าน จำนวนสมาชิกในครอบครัว ฯลฯ

ดังนั้นก่อนที่จะตัดสินใจเลือกบ้านสักหลัง เราควรมีขั้นตอนและหลักการเลือกบ้าน ต้องพิจารณาอะไรบ้าง มาดูกันเลยค่ะ

  1. สำรวจฐานะทางการเงินของตัวเอง ถ้าเรามีเงินสดมากพอจะซื้อบ้านเงินสดก็ย่อมได้ ดีเสียอีกไม่เป็นภาระระยะยาว ไม่ต้องเสียดอกเบี้ย แต่น้อยคนนักที่จะมีเงินพอซื้อบ้านด้วยเงินสด ดังนั้นการขอสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยจึงเป็นทางออกในการจะได้มาซึ่งบ้านสักหลัง ดังนั้นผู้ที่อยากจะมีบ้านเป็นของตัวเองจะต้องยอมที่จะเป็นหนี้ระยะยาว เราจึงต้องมีความพร้อมในการชำระหนี้ทุกๆ เดือนเป็นเวลา 20 ปี ควรมีรายได้ที่มั่นคงและมากพอ คิดให้ถี่ถ้วนนะคะ ก่อนที่จะซื้อบ้าน
  2. ทำเลที่ตั้ง ตอนนี้บ้านในเมืองแพงมากกว่าชานเมือง บางคนที่คำนึงเรื่องทำเลเป็นหลักอาจจะเลือกอสังหาริมทรัพย์เป็นคอนโดมีเนียมที่มีความสะดวกสบายมากกว่า ส่วนถ้าใครอยากได้บ้านแต่อยู่ในทำเลใจกลางเมือง อาจจะต้องยอมจ่ายเงินที่มากกว่า หรือยอมซื้อเป็นบ้านมืองสองไป แต่ทั้งนี้ก็ต้อองพิจารณาวิถีชีวิตประจำวันมากที่สุดนะคะว่าสะดวกแบบไหน และเลือกให้เหมาะกับเรามากที่สุดค่ะ
  3. จำนวนสมาชิกในครอบครัว มีผลต่อขนาดและแบบบ้านที่จะเลือกนะคะ ถ้าอยู่คนเดียวหรือสองคน ข้อจำกัดอาจจะน้อยกว่าบ้านหลังไม่ใหญ่มาก หรืออยู่คอนโดก็สะดวกสบายดี แต่ถ้าอยู่เป็นครอบครัว การอยู่คอนโดหรือทาวน์เฮาส์หลังเล็กๆ อาจจะไม่ไม่เหมาะนัก ก็ต้องดูเป็นบ้านที่ใหญ่ขึ้นเพื่อให้สมาชิกในครอบครัวสามารถอาศัยอยู่ร่วมกันได้อย่างไม่แออัดเกินไปค่ะ
  4. ค่าใช้จ่ายเพิ่มเติมอื่นๆ ที่นอกจากตัวบ้าน เช่น ค่าซ่อมแซมต่อเติม ค่าตกแต่งต่างๆ ก่อนจะซื้อบ้านวางแผนให้ดีนะคะ ทางที่ดีควรตั้งงบในการตกแต่งซ่อมแซมภายในไว้ต่างหาก และกันเงินสำรองไว้เลยค่ะ

ขั้นตอนการเริ่มต้นซื้อบ้าน
เมื่อคิดสะระตะต่างๆ จนได้บ้านที่พึงใจแล้ว ทีนี้ก็มาถึงขั้นตอนที่จะได้มาซึ่งบ้านที่เราภาคภูมิใจกันแล้วค่ะ เพราะมันคือทรัพย์สินที่มีมูลค่าสูงสุดของเราแล้ว อยากได้บ้านหลังนี้จะต้องทำยังไง มาดูกันเลยค่ะ

  1. เลือกโครงการและบ้านหลังที่ชอบ เรื่องนี้ส่วนใหญ่ไม่ค่อยมีปัญหา เพราะความชอบและความอยากได้อยู่เหนือสิ่งอื่นใด หลายคนซื้อบ้านโดยไม่คำนึงถึงทำเลและที่ตั้งเลย เอาเป็นว่าตัวบ้านอยู่ในงบประมาณที่พอจ่ายไหว ทำเลที่ตั้งอยู่ในเส้นทางการใช้ชีวิตประจำวัน
  2. จองและผ่อนดาวน์ เงินจอง คือ หากเราถูกใจทำเลบ้านหลังไหนก็ต้องจ่ายเงินเพื่อจองบ้านไว้ก่อน เป็นการรักษาสิทธิ์เพื่อไม่ให้คนอื่นซื้อบ้านตัดหน้าเรา เงินดาวน์ คือ เวลาซื้อบ้านจะต้องมีเงินก้อนใหญ่ๆ สักก้อนก่อนเพื่อวางเป็นเงินดาวน์ก่อน
  3. ทำเรื่องกู้ การยื่นเรื่องขอกู้เงินกับทางธนาคารสำหรับผู้ที่มีรายได้สูง เครดิตบูโร และเลือกบ้านราคาเหมาะสมกับความสามารถที่จะผ่อนไหว ก็ไม่จำเป็นต้องกังวลถึงเรื่องการกู้ตรงนี้เลย
  4. ดูงานก่อสร้างและตรวจรับบ้าน หากไม่ได้ซื้อบ้านกับโครงการที่สร้างเสร็จพร้อมขาย หลังจากจองและวางเงินดาวน์แล้ว อย่าลืมเข้าไปเช็ครายละเอียดต่างๆ ในบ้าน เพื่อที่จะได้บ้านที่มีคุณภาพ

ปัญหาสารพันที่จะทำให้กู้ซื้อบ้านไม่ผ่าน

  1. มีบัตรเครดิตหลายใบ เพราะสิ่งเหล่านี้จะส่งผลให้กำลังซื้อบ้านลดลง เนื่องจากธนาคารจะนำวงเงินจากบัตรเครดิตทุกใบมาคิดรวมเป็นภาระหนี้สินด้วย
  2. ผ่อนสินค้าผ่านบัตรเครดิตต่างๆ ถ้าบัตรเครดิตถูกใช้ในการผ่อนสินค้า ควรรีบผ่อนให้หมดแล้วปิดทันที
  3. ติดผ่อนรถยนต์คันแรก ส่วนใหญ่แล้วปัญหาของการกู้ไม่ผ่านคือ ผู้กู้มีภาระผ่อนรถยนต์คันแรกอยู่ ดังนั้นก่อนยื่นกู้ควร Pre-approve กับสถาบันการเงิน ว่าเรายังมีความสามารถในการชำหระหนี้ได้อีกหรือเปล่า
  4. ปัญหาการค้ำประกัน การค้ำประกันจะถูกธนาคารนำมาคิดเป็นภาระหนี้ด้วย ทำให้ความสามารถในการกู้ลดลง
  5. การไม่ออมเงิน การออมเงินเป็นการสร้างเครดิตที่ดีให้กับตัวเอง เพื่อที่ทางธนาคารจะมั่นใจได้ว่าเรามีวินัยทางการเงิน
  6. ปัญหาของผู้กู้ร่วม ถ้าคิดจะหาผู้กู้ร่วมควรจะหาผู้กู้ร่วมที่มีเครดิตดีๆ มีอาชีพมั่นคง เช่น ข้าราชการ , พนักงานรัฐวิสาหกิจ , แพทย์ , อัยการ ทำให้เรามีโอกาสได้รับสินเชื่อได้ง่ายมากขึ้น
  7. การเลือกซื้อที่อยู่อาศัยไม่เหมาะกับกำลังซื้อ ซึ่งการเลือกซื้อบ้านเราควรจะดูด้วยว่า มีความสามารถในการชำระหนี้ได้แค่ไหน ไม่ใช่ซื้อบ้านตามความอยากได้ เพราะถ้าผ่อนไม่ไหวจะเป็นปัญหาตามมา
  8. ระยะเวลาผ่อน ควรเลือกระยะเวลาในการผ่อนบ้านให้นานๆ ไว้ก่อน เช่น 25-30 ปี เพื่อไม่กระทบกับรายได้มากนัก แต่ถ้ามีรายได้เพิ่มขึ้นมีกำลังจ่ายเพิ่มขึ้น เราก็สามารถนำมาโปะได้
  9. ความไม่พร้อมในการซื้อบ้าน เพราะการซื้อบ้านจะทำให้เราเป็นหนี้ในระยะยาวมากกว่า 20 ปีขึ้นไป ถ้าคิดจะซื้อบ้านแล้วก็ต้องมั่นใจในกำลังผ่อนของตัวเองว่าไหวหรือไม่

เมื่อรู้อย่างนี้แล้ว ถ้าเรามีความตั้งใจจะซื้อบ้านสักหลัง เราก็เริ่มเตรียมความพร้อม ทำประวัติทางการเงินดีๆ เริ่ดๆ เพื่อที่จะได้เพิ่มโอกาสในการขอสินเชื่อผ่าน แต่ถ้าใครยังไม่พร้อม ก็ใจเย็นๆ ค่อยๆ ทำประวัติทางการเงินดีๆ เพื่อเวลาที่พร้อมจริงๆ นะคะ การซื้อบ้านเป็นเรื่องใหญ่และเราต้องเป็นหนี้ระยะยาว คิดให้รอบคอบก่อนตัดสินใจซื้อนะคะ เป็นกำลังใจให้ทุกคนมีบ้านในฝันค่ะ

ขอบคุณข้อมูลจาก ธนาคารอาคารสงเคราะห์และ https://www.home.co.th/hometips/detail/84486-10

เรื่องน่าอ่าน