Blog Page 147

รู้ทันก่อนกู้เงิน

รู้ทันก่อนกู้เงิน

ใครๆ ก็อยากจะสร้างความมั่นคงให้กับตัวเอง หลายคนจึงจำเป็นต้องใช้เงินจำนวนมากเพื่อสร้างความมั่นคงให้ตัวเองไม่ว่าจะซื้อรถ ซื้อบ้าน ลงทุนทำธุรกิจ กู้เพื่อการศึกษา หรือจำเป็นต้องใช้เงินในการแก้ปัญหาบางอย่าง เราก็คงหลีกเลี่ยงการเป็นหนี้ไม่ได้ใช่ไหมคะ เพราะฉะนั้นก่อนที่จะกู้เงินหรือขอสินเชื่อ เรามาสำรวจจุดประสงค์ของการขอสินเชื่อและการเตรียมความพร้อมก่อนที่จะกู้เงินกันเลยค่ะ

ก่อนที่จะขอสินเชื่อ เรามาสำรวจตัวเองกันก่อนดีกว่าว่าเราจะกู้เงินไปทำอะไรตามนี้เลยค่ะ

  1. จุดประสงค์ของการขอสินเชื่อ เมื่อคิดที่จะขอสินเชื่อ ก็ต้องรู้วัตถุประสงค์ของตนเองว่าต้องการขอสินเชื่อเพื่ออะไร และจะเป็นหนี้ระยะยาวหรือสั้นแค่ไหน
  2. สำรวจตัวเอง ดูฐานะการเงินและความพร้อมในการต้องการกู้ของเรามีความพร้อมมากแค่ไหน มีหนี้ติดตัวมาหรือไม่ เช่น หนี้รถ หนี้บัตรเครดิต ซึ่งหนี้ทั้งหมดรวมถึงหนี้การกู้สินเชื่อ เมื่อรวมแล้วต้องไม่เกิน 40% ของรายได้หรือเงินเดือนของเรา
  3. สำรวจอัตราดอกเบี้ย เมื่อคิดทบทวนและตัดสินใจได้ว่าจำเป็นต้องขอสินเชื่อ ก็ต้องมาสำรวจอัตราดอกเบี้ยของธนาคารว่าเป็นอย่างไร เช่น ธนาคารไหนที่ให้อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ระยะยาวที่ต่ำที่สุด โดยทำการหาข้อมูลและทำตารางเปรียบเทียบ สิ่งที่ต้องเปรียบเทียบ เช่น วงเงินกู้ที่แต่ละธนาคารให้กู้ เช่น บางธนาคารให้กู้ 80-100% เปรียบเทียบ MLR ของแต่ละธนาคา เปรียบเทียบอัตราดอกเบี้ยปีที่ 1 ปีที่ 2 ปีที่ 3 และอัตราดอกเบี้ยปีที่ 4 เพื่อใช้ในการคำนวณว่าตลอดอายุการผ่อนอย่างน้อย 3 ปี อัตราดอกเบี้ยที่ต้องจ่ายทั้งหมดเท่าไหร่ เป็นต้น หรือถ้าจะขอสินเชื่อบัตรเครดิตก็ต้องศึกษาด้วยค่ะว่าดอกเบี้ยนั้นมากน้อยแค่ไหน มีเงื่อนไขอย่างไรบ้าง เพราะแต่ละธนาคารก็ไม่เหมือนกันนะคะ
  4. สำรวจค่าใช้จ่ายต่างๆ โดยการเปรียบเทียบค่าใช้จ่ายที่ธนาคารเรียกเก็บ เช่น ค่าธรรมเนียมการยื่นกู้ ค่าธรรมเนียมการไถ่ถอนในกรณีที่จะไถ่ถอนก่อนกำหนด ค่าปรับต่างๆ ซึ่งจะต้องคำนวณและเปรียบเทียบของแต่ละธนาคารอย่างละเอียด เพราะแต่ละธนาคารก็มีค่าใช้จ่าย ค่าธรรมเนียมเหล่านี้ไม่เท่ากันค่ะ
  5. ศึกษาเงื่อนไขและกฎเกณฑ์ให้ดี แต่ละธนาคารมักมีข้อกำหนด กฎเกณฑ์ และเงื่อนไขที่แตกต่างกัน เช่น บางธนาคารมีหลักเกณฑ์ในการพิจารณาคุณสมบัติของผู้กู้ว่า ผู้กู้มีรายได้และมีความสามารถในการผ่อนชำระหรือไม่ อายุ อาชีพ รายรับทางบัญชี งบการเงิน ฯลฯ

เอกสารที่ใช้ในการขอสินเชื่อ
เมื่อตัดสินใจแน่วแน่แล้วว่าจะต้องขอสินเชื่อ ขั้นตอนต่อไปก็คือการเตรียมเอกสารค่ะ สำหรับเอกสารการยื่นขอสินเชื่อนั้นจะมากจะน้อยก็ขึ้นอยู่กับประเภทของสินเชื่อว่าต้องใช้เงินมากน้อยแค่ไหน เช่น การขอสินเชื่อบัตรเครดิตอาจยื่นเอกสารน้อยกว่าการขอสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย เป็นต้น ดังนั้นก่อนที่จะยื่นขอสินเชื่อ เราจึ่งควรเตรียมเอกสารให้พร้อมก่อนค่ะ ซึ่งเอกสารที่จะยื่นขอกู้เงินนั้นหลักๆ มีอยู่ด้วยกัน 3 ประเภท ได้แก่

เอกสารประจำตัว เช่น สำเนาบัตรประจำตัวประชาชน หรือสำเนาบัตรข้าราชการ/รัฐวิสาหกิจ สำเนาทะเบียนบ้าน สำเนาทะเบียนสมรส ทะเบียนหย่า หรือใบมรณบัตร สำเนาหลักฐานการเปลี่ยนชื่อ สกุล (ถ้ามี) กรณีนิติบุคคล อาจใช้สำเนาทะเบียนการค้า หนังสือรับรองการจดทะเบียนนิติบุคคล

เอกสารเกี่ยวกับรายได้ เช่น ใบรับรองเงินเดือน หรือหลักฐานการรับ/จ่ายเงินเดือนจากนายจ้าง สมุดบัญชีเงินฝากธนาคารสำหรับผู้มีรายได้ประจำ ในส่วนของผู้มีอาชีพอิสระ จะใช้เอกสารที่บอกที่มาของรายได้ เช่น กรณีเป็นสัญญาจ้าง อาจใช้สำเนาสัญญาว่าจ้างและหลักฐานการจ่ายเงินค่าจ้าง กรณีเป็นแพทย์ ทนายความ ผู้สอบบัญชี วิศวกร สถาปนิก ควรแสดงใบอนุญาตประกอบวิชาชีพด้วย บัญชีเงินฝาก พร้อมใบแจ้งยอดบัญชี หรือสเตทเมนต์ (statement) ของบัญชีเงินฝากของตนเองหรือของกิจการย้อนหลังอย่างน้อย 6 เดือน หรือหลักฐานรายได้หรือทรัพย์สินอื่นๆ เช่น ใบหุ้น พันธบัตรรัฐบาล บัญชีเงินฝากธนาคาร

และในกรณีของนิติบุคคล เอกสารหลักๆ ที่จะใช้ในการขอกู้เงิน เช่น สำเนางบการเงินปีล่าสุด และย้อนหลังไม่น้อยกว่า 3 ปี สำเนาแสดงรายการภาษีเงินได้ประจำปี สำเนาเอกสารสิทธิในทรัพย์สินที่เสนอเป็นหลักประกัน แผนที่แสดงที่ตั้งสถานประกอบการ

หลังจากที่เตรียมเอกสารเรียบร้อยแล้วก็ทำการยื่นสินเชื่อได้เลย ซึ่งแต่ละธนาคารนั้นจะมีระยะเวลาในการพิจารณาสินเชื่อไม่เท่ากัน ซึ่งหลักในกรพิจารณาการอนุมัติสินเชื่อนั้น จะขึ้นอยู่กับนโยบายและหลักเกณฑ์ของผู้ให้สินเชื่อแต่ละราย โดยทั่วไปแล้วมีปัจจัยหลักๆ ที่ใช้ประกอบการพิจารณา คือ นโยบายสินเชื่อของผู้ให้สินเชื่อ เช่น ผู้ให้สินเชื่อบางรายอาจกำหนดว่าผู้ยื่นขอสินเชื่อต้องไม่มีประวัติการค้างชำระในช่วง 12 เดือนย้อนหลัง หรืองดให้สินเชื่อแก่ลูกค้าใหม่ในกลุ่มอาชีพหรือกลุ่มอุตสาหกรรมที่มีความเสี่ยงสูง รวมไปถึงวัตถุประสงค์ในการขอสินเชื่อ เช่น ใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนในการทำธุรกิจ หรือลงทุนขยายโรงงาน ซึ่งจะเป็นข้อมูลประกอบการพิจารณาความสามารถในการชำระหนี้ในอนาคต นอกจากนี้ยังดูลักษณะความน่าเชื่อถือของผู้ขอสินเชื่อว่ามีวินัยทางการเงินอย่างไร ประกอบอาชีพมั่นคงหรือไม่ ความสามารถในการจ่ายชำระหนี้ เงินทุน สินทรัพย์ของผู้กู้มีมากน้อยแค่ไหน รวมไปถึงปัจจัยภายนอกอย่างเศรษฐกิจ อัตราเงินเฟ้อในประเทศ ก็เป็นปัจจัยหนึ่งที่นำมาประกอบการพิจารณาสินเชื่อด้วย

สำหรับเทคนิคง่ายๆ ทั้งหมดนี้จะช่วยให้ผู้กู้รู้ทันและเตรียมตัวที่จะศึกษาเรื่องค่าใช้จ่ายทั้งหมดก่อนเลือกสถาบันการเงินและอัตราดอกเบี้ยได้ง่ายขึ้น อย่าลืมว่าเราต้องการเลือกสถาบันการเงินที่ให้อัตราดอกเบี้ยที่ดีที่สุด เงื่อนไขเหมาะสมกับเรามากที่สุด ขณะเดียวกันทางสถาบันการเงินก็ต้องเลือกคุณสมบัติของผู้กู้ด้วยเช่นกัน ดังนั้นก่อนที่จะทำการกู้เงินหรือขอสินเชื่อธนาคาร นอกจากจะต้องศึกษาข้อมูลของแต่ละธนาคารอย่างละเอียดถี่ถ้วนแล้ว ยังต้องรักษาประวัติทางการเงินของตัวเองด้วยนะคะ เพื่อที่เวลายื่นขอสินเชื่อจะได้ผ่านฉลุย ไม่เสียเวลา และสามารถต่อยอดจุดมุ่งหมายในชีวิตได้อย่างไม่ขาดตอนค่ะ

ขอบคุณข้อมูลจาก ศูนย์คุ้มครองผู้ใช้บริการทางการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย https://www.1213.or.th/th/serviceunderbot/loans/Pages/beforeloan.aspx
และธนาคารกรุงศรีอยุธยา https://www.krungsri.com/bank/th/plearn-plearn/think-before-recovery.html

มีลูก 1 คนมีค่าใช้จ่ายอะไรบ้าง

มีลูก 1 คนมีค่าใช้จ่ายอะไรบ้าง

ก่อนที่จะมีลูก สิ่งที่ควรทำคือมองไปถึงอนาคตข้างหน้าว่าลูกเราจะโตมาแบบไหน ฉะนั้นการเงินจึงเป็นเรื่องสำคัญมาก การวางแผนการเงินที่ดีจะช่วยให้ลูกมีชีวิตที่ดี มีคุณภาพตามที่ตั้งใจค่ะ สำหรับค่าใช้จ่ายของเด็กแต่ละคนแน่นอนว่าไม่เท่ากันอยู่แล้ว ขึ้นอยู่กับฐานะทางการเงินของแต่ละครอบครัวที่ไม่เท่ากัน แต่วันนี้เราจะมาดูกันว่าหลักๆ แล้วต้องมีค่าใช้จ่ายในส่วนไหนของลูกบ้าง เรามาดูกันเลยค่ะ

ค่าใช้จ่ายช่วงตั้งครรภ์
ค่าใช้จ่ายเมื่อเริ่มตั้งครรภ์ จนกระทั่งทำคลอด เฉลี่ยอยู่ที่ 20,000 – 100,000 บาท ในช่วงต้นของการมีลูกเราจะมีค่าใช้จ่ายในช่วงเวลา 9 เดือน แบ่งเป็นค่าฝากครรภ์ และพบแพทย์ราวๆ 1,500 – 2,000 บาทต่อเดือน และค่าทำคลอดอยู่ในช่วง 30,000 – 60,000 บาท ขึ้นอยู่กับแพ็กเกจที่เราเลือก รวมๆ แล้วไม่ต่ำกว่า 50,000 บาท และถ้าเราไม่ทำคลอดในโรงพยาบาลเอกชนที่มีค่าใช้จ่ายสูงมากเกินไปก็ไม่น่าจะเกิน 100,000 บาทในรอบระยะเวลา 9 เดือน

ค่าใช้จ่ายในการเลี้ยงลูกเล็ก
ค่าใช้จ่ายในการเลี้ยงดูทารกช่วงแรกเกิดถึงอายุประมาณ 2 ปี สำหรับเด็กแรกเกิด คุณพ่อ และคุณแม่ต้องเตรียมอุปกรณ์ให้พร้อม อันได้แก่ เสื้อผ้าเด็ก ผ้าอ้อม นม และเครื่องอุ่นนม เปลนอน เครื่องอาบน้ำ อาหารสำหรับเด็ก เป็นต้น ค่านม เฉลี่ยเดือนละ 1,500 – 3,500 บาท / ต่อคน เท่ากับปีละ 18,000 บาท – 42,000 บาท / ปี ค่าวัคซีน เฉลี่ยครั้งละ 500 – 1,800 บาท (แล้วแต่ชนิดของวัคซีน) หรือเลือกซื้อเป็นแพ็กเกจ ราคาอยู่ที่ประมาณ 7,000 – 12,000 บาท (ขึ้นอยู่กับโรงพยาบาล) ค่ารักษาพยาบาล เฉลี่ยอยู่ที่ครั้งละ 500 – 1,000 บาทขึ้นไป (ขึ้นอยู่กับโรคและความรุนแรง) ค่าใช้จ่ายอื่นๆ เช่น ค่าเสื้อผ้าเด็ก ค่าของใช้เด็กอ่อน ค่าผ้าอ้อมสำเร็จรูป ขนม ประมาณ 5,000 บาท ขึ้นไป

ค่าใช้จ่ายสำหรับเด็ก

  • ค่าอาหาร
    สำหรับค่าอาหารของลูกเล็กนั้นจะพิเศษกว่ามาก ทำให้เราต้องกันเงินสำรองสำหรับส่วนนี้ไว้ราวๆ 3,000 – 5,000 บาทต่อเดือน ซึ่งส่วนนี้ยังไม่รวมค่ารักษา ค่าวัคซีนต่างๆ ที่ต้องฉีดให้กับเด็กตั้งแต่แรกเกิดจนถึง 12 ปี แต่ถ้าเด็กโตตั้งแต่ 7 ขวบขึ้นไปก็เริ่มรับประทานได้เหมือนกับผู้ใหญ่
  • ค่าศึกษาเล่าเรียน
    ค่าศึกษาเล่าเรียน รวมค่าใช้จ่ายในการศึกษาทั้งหมดประมาณ 20 ปีตั้งแต่ระดับอนุบาลจนถึงปริญญาตรี เฉลี่ยอยู่ที่คนละ 200,000 บาทขึ้นไป ทั้งนี้ยังไม่รวมถึงอุปกรณ์การเรียน หนังสือ เครื่องแบบนักเรียน นักศึกษา ที่ต้องมีการปรับเปลี่ยนเกือบทุกปีเพื่อให้เหมาะสมกับวัยและระดับชั้น
    เมื่อลูกโตขึ้นมาหน่อย เริ่มที่จะต้องเรียนอนุบาล ค่าเทอมลูกเป็นสิ่งที่จำเป็นอย่างมาก ในช่วงอนุบาลจนจบชั้นประถมนั้น ค่าใช้จ่ายทั้งหมดหากเรียนโรงเรียนรัฐบาลก็จะไม่มากเท่าไร แต่ถ้าลูกของเราจำเป็นต้องเรียนโรงเรียนเอกชน คุณพ่อคุณแม่จะต้องจ่ายเงินมากขึ้น และต้องจ่ายมากขึ้นไปอีกทั้งในชั้นประถมและมัธยม การวางแผนการเงินสำหรับค่าเทอมลูก ผู้ปกครองต้องคำนวณให้เหมาะสมกับสภาพคล่องของเราเอง โดยค่าเล่าเรียนเฉลี่ยต่อปีตลอด 9 ปี (อนุบาลถึงประถม) ราวๆ 20,000 – 50,000 บาท รวมตลอด 9 -10 ปี อยู่ราวๆ 200,000 – 500,000 บาท ยังไม่รวมอุปกรณ์การเรียนขึ้นอยู่กับโรงเรียน และค่าใช้จ่ายส่วนบุคคล ส่วนระดับมัธยมถ้าเรียนในโรงเรียนรัฐบาล ค่าใช้จ่ายจะตกปีละประมาณ 50,000 – 60,000 บาท แต่ถ้าเรียนโรงเรียนเอกชน โรงเรียน 2 ภาษา หรือโรงเรียนนานาชาติ ค่าใช้จ่ายก็จะสูงขึ้นเป็นหลักแสนหรือหลักล้านบาทต่อปีเลยทีเดียว และในระดับอุดมศึกษานั้น แต่ละสาขาวิชาจะมีค่าใช้จ่ายไม่เท่ากัน สาขาวิชาที่ต้องใช้อุปกรณ์ เครื่องมือต่างๆ ก็จะมีค่าใข้จ่ายมากกว่า หลักสูตรนานาชาติแพงกว่าหลักสูตรปกติ เป็นต้น
  • ค่าพี่เลี้ยงเด็ก
    ผู้ปกครองบางคนต้องทำงานประจำ เมื่อหมดระยะเวลาลางานแล้ว คงต้องใช้บริการพี่เลี้ยงเด็ก สำหรับค่าใช้จ่ายพี่เลี้ยงเด็กสมัยนี้มีตั้งแต่หลักพัน ถึงหลักหมื่น แต่ทางที่ดีถ้าเราต้องใช้บริการพี่เลี้ยงเด็กควรกันเงินส่วนนี้ไว้เดือนละ 5,000 – 10,000 บาทต่อเดือนเพื่อให้คลุมทุกค่าใช้จ่าย แต่ทางที่ดีถ้าบ้านใครยังมีญาติช่วยเลี้ยง เช่น ปู่ ย่า ตา ยาย การที่ให้ท่านช่วยดูแลจะประหยัดกว่าและน่าวางใจมากกว่าด้วยค่ะ
    ค่าใช้จ่ายอื่นๆ สำหรับค่าใช้จ่ายส่วนเสริมต่างๆ อันได้แก่ ค่าเดินทางท่องเที่ยว ของเล่นลูก ค่ายานพาหนะ ฯลฯ ค่าใช้จ่ายในส่วนนี้จะขึ้นลงค่อนข้างกว้าง ขึ้นอยู่กับไลฟ์สไตล์ของแต่ละครอบครัว ภายในระยะเวลา 10 ปี สามารถกะไว้คร่าวๆ 500,000 – 1,000,000 บาท หรือเฉลี่ยอย่างต่ำเดือนละ 5,000 บาทขึ้นไปต่อคน (ขึ้นอยู่กับสภาพเศรษฐกิจ อัตราเงินเฟ้อ ฯลฯ ด้วย)

จะเห็นได้ว่าการมีบุตร 1 คนจะมีค่าใช้จ่ายที่สูงมากๆ โดยค่าใช้จ่ายจะมีขึ้นตั้งแต่ลูกยังไม่ลืมตาดูโลก อย่างไรก็ตาม การมีลูกถือเป็นความสุขและเป็นส่วนที่ทำให้ครอบครัวสมบูรณ์ หากใช้จ่ายไม่ฟุ่มเฟือยและมีการวางแผนครอบครัว เตรียมการเตรียมความพร้อมมาอย่างดีแล้ว ปัญหาการเงินจะเป็นเรื่องเล็กเลยทีเดียว

ขอบคุณข้อมูลจากธนาคารออมสิน https://www.gsb.or.th/Blogs/Financial/babyplan.aspx

ข้อผิดพลาดทางการเงินในแต่ละช่วงวัย รู้ก่อนแก้ไขทัน

ข้อผิดพลาดทางการเงินในแต่ละช่วงวัย รู้ก่อนแก้ไขทัน

การใช้เงินแม้จะเป็นเงินส่วนตัวของเราก็ตาม ก็ควรมีกลยุทธ์การใช้จ่ายและการวางแผนที่ดีนะคะ เพราะโลกนี้คือความไม่แน่นอนหากวันหนึ่งเกิดอุบัติเหตุขึ้นมา (ไม่ว่าจะเป็นอุบัติเหตุทางการเงินหรือใดๆ ก็ตาม) ชีวิตอาจพลิกผันจนยากที่จะฟื้นคืนได้หากไม่ได้เตรียมการเผื่อรับมือ ดังนั้นนอกจากเราจะรู้หลักการออมแล้ว เราควรรู้ทันข้อผิดพลาดก่อนเพื่อวางแผนสกัดข้อผิดพลาดทางการเงินต่างๆ ไว้แต่เนิ่นๆ ค่ะ แต่ทั้งนี้แต่ละช่วงวัยก็จะมีข้อผิดพลาดใหญ่ๆ ที่แตกต่างกันไป เมื่อเราเจริญวัยถึงช่วงอายุหนึ่ง เราก็จะเจอปัญหาอีกอย่างหนึ่ง เมื่อรู้ทันข้อผิดพลาดแต่ละช่วงวัย ก็รับมือได้ทันท่วงที รู้ก่อนได้เปรียบกว่าค่ะ

รู้ทันข้อผิดพลาดทางการเงิน ชีวิตดีไม่มีสะดุด

  1. ในชีวิตคนเราต้องมีอุปสรรคขวากหนามบ้าง มีปัญหามาให้แก้ไขกันตลอด แก้ได้บ้าง ไม่ได้บ้าง ก็ต้องปรับตัวตามสถานการณ์กันไป การวางแผนการเงินก็เช่นกันค่ะ มันมักจะมีสถานการณ์มาท้าทายปณิธานทางการเงินตลอด ไม่ว่าจะเป็นกระแสสังคมที่ทำให้ต้องจ่ายเงินเพิ่มกว่าที่คิดไว้ สภาพเศรษฐกิจที่ทำให้ค่าใช้จ่ายที่สูงขึ้น ปัญหาชีวิตที่ต้องใช้เงินในการแก้ปัญหา เป็นต้น
  2. ใช้จ่ายเกินตัว รายจ่ายสูงกว่ารายรับ ถ้าคุณรู้ตัวว่ามีพฤติกรรมใช้เงินเกินตัว หรือมีรายจ่ายที่หมดไปกับสิ่งฟุ่มเฟือยที่เกินกำลังทรัพย์ คุณต้องรู้จักประเมินตัวเองเสียใหม่ ต้องรู้จักวิธีทำให้รายรับและรายจ่ายสมดุลกัน คือมีรายได้ไม่น้อยกว่ารายจ่าย ด้วยการประหยัดทุกบาททุกสตางค์ก่อนที่จะจ่ายเงินในแต่ละครั้ง
  3. ไม่ทำบัญชีรายรับรายจ่าย คุณต้องทำบัญชีรายรับรายจ่าย เพื่อทบทวนการใช้เงินในแต่ละเดือน และหาวิธีการจัดการทางการเงินได้อย่างลงตัว ทั้งเงินออม ค่าใช้จ่ายประจำ หรือค่าใช้จ่ายฟุ่มเฟือย
  4. ไม่วางแผนการออมเพื่ออนาคตและเหตุฉุกเฉิน การออมเงินมีวิธีให้เลือกตามความเหมาะสม เช่น การออมเงินประจำ ลงทุนในกองทุน ลงทุนในหุ้น หรือออมเพื่อการเกษียณอายุ การออมเป็นสิ่งสำคัญในอนาคตที่ไม่แน่นอนของมนุษย์เงินเดือนในปัจจุบัน เมื่อไม่ได้มีการออมเงิน พอมีเหตุฉุกเฉินเกิดขึ้น เราก็ลำบากเลยค่ะทีนี้ กลายเป็นว่าต้องไปกู้หนี้ยืมสินมาเพื่อแก้ปัญหา หนักเข้าไปอีกค่ะ
  5. ลงทุนก่อนที่จะมีเป้าหมายและแผนการลงทุนที่ชัดเจน หากปราศจากเป้าหมายและแผนการลงทุนที่ดี การลงทุนของคุณก็จะเป็นไปอย่างไม่มีจุดหมาย เป้าหมายที่คุณอยากได้จะเป็นตัวบ่งบอกว่าคุณอยากเป็นอย่างไรในอนาคต ในขณะที่แผนการที่ดีจะเป็นเครื่องมือที่จะพาคุณไปสู่เป้าหมาย ดังนั้นต้องวิเคราะห์ตัวเองและตั้งเป้าหมายการลงทุนให้ชัดเจน เมื่อนั้นคุณก็จะสามารถเลือกการลงทุนที่เหมาะสมและตอบโจทย์ชีวิตของคุณได้ค่ะ
  6. ประเมินความน่ากลัวของเงินเฟ้อต่ำเกินไป มันคือสภาวะที่เงินลดค่าลงเรื่อยๆ เช่น เงิน 100 บาทในอีก 10 ปีข้างหน้าจะไม่สามารถซื้อข้าวของ เครื่องใช้ได้เท่ากับการใช้เงิน 100 บาทซื้อข้าวของในวันนี้ เป็นต้น อย่าประเมินความน่ากลัวของเงินเฟ้อต่ำจนเกินไป เผื่อเหลือดีกว่าเผื่อขาด เพราะเงินเฟ้อน่ากลัวนะคะ
  7. ไม่ให้ความสำคัญกับการเก็บเงินเพื่อวัยเกษียณ เวลาผ่านไปเร็วมากๆ เลยนะคะ แล้วเราก็ไม่รู้อนาคตว่าจะมีแรงหาเงินทำงานได้อีกนานแค่ไหน เมื่อถึงวัยเกษียณแต่ไม่ได้เตรียมการ ชีวิตลำบากตอนแก่แน่ค่ะ เพราะเมื่อถึงเวลานั้น กว่าจะหาเงินมาได้ก็ลำบากกว่าหนุ่มสาวแน่นอน ดังนั้นควรเริ่มคิดเรื่องการออมเงินเพื่อเกษียณตั้งแต่เนิ่นๆ ไว้จะดีที่สุดค่ะ อ่าน เคล็ด (ไม่) ลับ ออมเงินอย่างง่ายไว้ใช้วัยเกษียณ เพิ่มเติมที่นี่เลย (https://www.ncb.co.th/fin-knowledge/saving-money)

รู้ทันข้อผิดพลาดทางการเงินในแต่ละช่วงวัย ชีวิตปลอดภัยแน่นอน
ที่กล่าวมาข้างต้นเป็นข้อผิดพลาดทางการเงินโดยทั่วไปที่ทุกคนควรระวังกัน แต่อย่างที่เกริ่นไปแล้วค่ะว่าแต่ละช่วงวัยก็มีข้อผิดพลาดทางการเงินที่ต้องตระหนักมากๆ แตกต่างกัน เรามาดูกันค่ะว่าแต่ละช่วงวัยควรรู้เท่าทันข้อผิดพลาดทางการเงินอย่างไรบ้าง

ช่วงวัยเริ่มต้นของชีวิตการทำงาน 20-29 ปี
เนื่องจากเป็นวัยที่เพิ่งออกมาหาประสบการณ์นอกรั้วมหาวิทยาลัย ส่วนใหญ่จึงเลือกที่จะใช้ชีวิตในแบบที่ตัวเองต้องการ โดยคิดว่า เรื่องของการใช้จ่าย และวางแผนไกลไปจนถึงตอนเกษียณ เป็นเรื่องที่สามารถรอไปก่อนได้ วัยนี้จึงเป็นวัยที่เพลิดเพลินกับการตอบสนองไลฟ์สไตล์ ใช้เงินเพื่อให้ได้มาซึ่งสิ่งที่ปรารถนา หลายคนในวัยนี้จึงประสบกับปัญหาทางการเงินมากมาย เช่น เงินเดือนไม่พอใช้ เป็นหนี้บัตรเครดิต ฯลฯ เรามาดูกันว่าคนช่วงวัยนี้มีปัญหาทางการเงินอะไรบ้างค่ะ

  • ไม่มีเงินเก็บออมเผื่อฉุกเฉิน คนช่วงวัยนี้จำนวนมากไม่ได้มองว่าการมีเงินเก็บเป็นเรื่องสำคัญ เพราะว่าเพิ่งจบมาทำงานมาได้ไม่นาน ก็มักจะหลงระเริงและสนุกกับการใช้ชีวิตไปกับเงินที่เราเพิ่งได้มาใหม่ หรือนอกจากนี้ บางคนก็โชคร้ายได้งานที่ไม่ค่อยดีนัก เงินเดือนก็ยังไม่ค่อยดี ยังต้องมีเรียนรู้ทักษะอื่นๆ เพื่อเพิ่มมูลค่าตัวเอง เช่น เรียนภาษา เรียนวิชาชีพ ทำให้ไม่ค่อยมีเงินเก็บ ดังนั้น ถ้าหากมีการเตรียมตัววางแผนการเงินให้พร้อมและหาทางเก็บเงินในส่วนนี้ได้ชีวิตก็ดูปลอดภัยขึ้นนะคะ
  • ไม่มีการวางแผนการเงิน จัดทำบัญชี ถ้าอยากวางแผนการเงิน สิ่งแรกที่ต้องทำก็คือการจัดทำงบประมาณ เพื่อจะได้รู้ว่าเรามีรายรับรายจ่ายอย่างไรเท่าไหร่ ถ้าหากเรามีวินัยทางการเงิน มีการวางแผนการเงินแล้วจัดทำงบประมาณที่ดี เราก็จะสามารถมีเงินเก็บเพิ่มเติมได้ค่ะ
  • ใช้จ่ายเกินตัว คนช่วงวัยนี้มักสนุกกับการใช้เงินเพราะเห็นใครๆ ก็ใช้กัน ทั้งการไปเที่ยวหรือการซื้อรถใหม่ เกิดการใช้จ่ายเงินเกินตัว เราก็จะเป็นหนี้ตั้งแต่ยังเด็ก ซึ่งไม่ดีแน่นอน เพราะฉะนั้น ก่อนจะซื้อของอะไรต้องวางแผนทางการเงินให้ดี ซื้อแค่พอตัว และพยายามจ่ายหนี้บัตรเครดิตให้หมดโดยเร็วที่สุดนะคะ

ช่วงวัยทำงานเริ่มสร้างครอบครัว 30-39 ปี
ในช่วงวัยนี้รายได้เริ่มมั่นคงมากขึ้น หลายคนเริ่มสร้างครอบครัว ส่วนคนที่ไม่ได้แต่งงานก็เริ่มมองเรื่องของความมั่นคงในอนาคตมากขึ้น อย่างไรก็ตามแม้ว่าช่วงวัยนี้จะสามารถหารายได้มากขึ้น แต่ก็มีรายจ่ายเพิ่มขึ้นตามมาเช่นกัน หลายคนซื้อบ้านก็ต้องมีภาระผ่อนบ้าน บางคนก็ต้องดูแลรับภาระทางครอบครัวเนื่องจากคุณพ่อคุณแม่อายุมากขึ้น ดังนั้นการวางแผนการเงินของคนในวัยนี้จะต้องให้ความสำคัญกับความเสี่ยงที่กำลังเผชิญ เช่น ภาระหนี้สินก้อนโต และที่สำคัญคือปัญหาเรื่องสุขภาพและอุบัติเหตุ การวางแผนการเงินจึงควรต้องกระจายความเสี่ยง เพราะมีภาระทางการเงินสูงขึ้น และควรเพิ่มในส่วนของแผนภาษี แผนการออมและการลงทุนเพื่อวัยเกษียณมากขึ้น ปัญหาทางการเงินที่คนในข่วงวัยนี้ประสบก็จะแตกต่างจากคนในวัยเริ่มต้นทำงานไปบ้าง เรามาดูข้อผิดพลาดและปัญหาทางการเงินที่คนช่วงวัยนี้ประสบกันค่ะ

  • ไม่เริ่มทำประกันชีวิต การเริ่มทำประกันชีวิตหรือประกันสุขภาพนั้น ควรทำเสียตั้งแต่ตอนที่เรายังมีสภาพร่างกายแข็งแรงที่สุด เราจึงจะได้เบี้ยประกันที่ดี แม้ในช่วงวัยนี้อาจจะมีภาระค่าใช้จ่ายมากมายทั้งค่าบ้าน ค่าเลี้ยงดูครอบครัว และค่าใช้จ่ายทางการเงินอื่นๆ แต่การซื้อประกันชีวิตก็เป็นการวางแผนการเงินที่ดีเพื่อจะได้คุ้มครองครอบครัวในกรณีที่เหตุไม่คาดฝัน
  • แต่งงานโดยที่ยังไม่ได้คุยกันเรื่องเงิน การพูดคุยกันเรื่องเงินก่อนที่จะแต่งงานเป็นสิ่งจำเป็นมากๆ เนื่องจากคนแต่ละคนก็มีวิธีคิดเกี่ยวกับเรื่องเงินแตกต่างกันไป เพราะฉะนั้น ควรคุยกันให้เคลียร์ถึงวิธีวางแผนทางการเงินที่จะทำร่วมกัน เช่นมุมมองที่มีต่อการใช้จ่ายต่างๆ มุมมองที่มีต่อการเป็นหนี้ การวางแผนเงินเก็บ และเป้าหมายทางการเงินระยะยาวร่วมกัน
  • ซื้อบ้านใหญ่เกินตัว ใครๆ ก็อยากมีบ้านสวยๆ แต่ก็ต้องพิจารณาดูฐานะทางการเงินของตนเอง หากคำนวณแล้วจะทำให้เกิดสภาวะใช้เงินเกินตัว ก็เลี่ยงไปเสีย มิฉะนั้นจะทำให้มีหนี้ก้อนใหญ่ติดตัวไปนานเลยค่ะ

ช่วงวัยที่การงานมั่นคง 40-49 ปี
คนในวัยนี้เริ่มมีการงานที่มั่นคง มีรายได้สูง จึงเริ่มแสวงหาความสุขให้กับตัวเองหลังจากผ่านประสบการณ์ชีวิตมาพอสมควร แต่ลักษณะการหาความสุขของคนช่วงวัยนี้จะต่างกับช่วงวัย 20-29 ปี เพราะจะมองในแง่ของการเติมเต็มชีวิตของตังเองมากกว่าจะสนองความปรารถนาแบบหวือหวา เริ่มมีการสะสมสิ่งที่ตัวเองรัก แต่สิ่งที่คนในช่วงวัยนี้ต้องตระหนักมากๆ คือแผนการเงินหลังเกษียณ อย่าประมาทเด็ดขาดนะคะ อีกไม่นานแล้วค่ะ สำหรับคนช่วงวัยนี้แลดูชีวิตดี แต่ก็มีข้อผิดพลาดและปัญหาทางการเงินเช่นกันนะคะ เรามาดูปัญหาทางการเงินของคนวัยนี้กันค่ะ

  • ไม่สนใจแผนเก็บเงินเกษียณ เมื่อเริ่มเข้าสู่วัยกลางคน ก็จะต้องหันมาสนใจการวางแผนการเงินเตรียมเกษียณอย่างจริงจัง ทั้งแผนเกษียณที่มาพร้อมกับที่ทำงานของเรา หรือแผนเกษียณอื่นๆ
  • ไม่หาหนทางเอาเงินไปลงทุน ในวัยนี้หากศึกษาเรื่องแนวทางการลงทุนย่อมเป็นเรื่องที่ดี เพราะหากทิ้งเงินที่เก็บไว้ในบัญชีออมทรัพย์เฉยๆ รอคอยดอกเบี้ยที่ต่ำแสนต่ำก็เป็นเรื่องที่น่าเสียดาย แต่การลงทุนย่อมมีความเสี่ยง ดังนั้นเราควรศึกษาข้อมูลต่างๆ ให้รอบคอบนะคะ

ช่วงวัยก่อนเกษียณ 50-59 ปี
ถึงช่วงวัยนี้ ทุกคนจะคิดถึงตอนเกษียณอย่างจริงจัง กำลังเตรียมความพร้อมที่จะเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุเลย เริ่มเห็นความสำคัญในการเก็บออมเงินเพื่ออนาคต การรักษาสุขภาพ ฯลฯ ปัญหาทางการเงินในช่วงวัยนี้บางส่วนมาจากปัญหาสะสมจากวัยหนุ่มสาว บางส่วนก็ยังไม่มีความมั่นคงมากพอ เรามาดูกันเลยค่ะว่าข้อผิดพลาดและปัญหาทางการเงินของช่วงวัยนี้เกิดอะไรขึ้นบ้าง

  • ไม่วางแผนเงินเก็บด้านสุขภาพ ในช่วงวัยนี้ค่าใช้จ่ายทางด้านการรักษาพยาบาลและการดูแลสุขภาพก็จะเพิ่มขึ้นและมีความสำคัญมากขึ้น แต่คนส่วนใหญ่ก็ยังไม่รู้ตัวและไม่ได้เตรียมวางแผนการเงินสำหรับเรื่องนี้
  • ยังเก็บเงินเกษียณไม่ถึงไหน ในช่วงวัยโค้งสุดท้ายก่อนเกษียณ ต้องคอยเช็กสถานะทางการเงินของให้ดีค่ะว่าเงินเกษียณตอนนี้มีเท่าไหร่แล้ว และให้ลองคิดคำนวณให้ดีอีกครั้งว่า เงินที่เราจำเป็นต้องใช้ก่อนเกษียณเมื่อเทียบกับแผนเกษียณของเราตอนนี้ มีเพียงพอจริงๆ หรือไม่ และถ้าหากไม่เพียงพอ จะทำอย่างไรต่อไป

ขอบคุณข้อมูลจาก
http://info.thebkkresidence.com/news/index.php/2018/05/18/news_445173/

คอลัมน์เศรษฐกิจคิดง่ายๆ “มูลเหตุที่ต้องเข้ามาคุม…สินเชื่อจำนำทะเบียนรถ” วันจันทร์ที่ 28 มกราคม 2562

คอลัมน์ เศรษฐกิจคิดง่ายๆ

“มูลเหตุที่ต้องเข้ามาคุม…สินเชื่อจำนำทะเบียนรถ”

นสพ.โพสต์ทูเดย์ : วันจันทร์ที่ 28 มกราคม 2562

จากการสื่อสาร และข้อมูลที่เผยแพร่ผ่านสื่อสังคมออนไลน์ ในประเด็นของสินเชื่อจำนำทะเบียนรถ  ในมุมของ ผู้บริโภคหรือคนกู้ยืมว่าคิดดอกเบี้ยค่อนข้างแพง ภาษาชาวบ้านคือคนกู้จะจ่ายไม่ไหว หรือจะไปต่อกันได้ยาก นั้น ผู้เขียนเองได้ติดตามข้อมูลจากแหล่งที่มีการเปิดเผยและเชื่อถือได้ก็พบว่ามันมีประเด็นที่คนการเงินควรจะได้เข้ามาดูและช่วยๆ กันให้ข้อเท็จจริงเป็นความรู้กับคนที่คิดจะไปเป็นหนี้ในบริการนี้ ผู้เขียนต้องยอมรับในข้อเท็จจริงก่อนเข้าสู่รายละเอียดดังนี้ครับ

1.บริการทางการเงินดังกล่าวดูเหมือนจะมีการกำกับดูแลที่ไม่ชัดเจนกล่าวคือถ้าไปให้บริการในสถาบัน การเงินที่มีธนาคารกลางกำกับดูแลก็จะค่อนข้างชัดเจน  ส่วนที่เป็นแบบนิติบุคคลที่ไม่ได้เป็นเครือข่ายทางการเงินกับสถาบันการเงินในระบบแล้ว ใครจะเป็นคนกำกับดูแลกันแน่ ยังเห็นข้อมูลไม่ชัดในประเด็นการคุ้มครองผู้บริโภค

2.เห็นการเติบโตและการขยายตัวทั้งด้านฐานลูกค้า ยอดปล่อยสินเชื่อการเติบโตของกำไร จากที่เปิดเผยผ่านตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยแล้วต้องยอมรับว่าเป็นกิจการที่มีศักยภาพสูงมากๆ  คิดในมุมนักลงทุนแล้วต้องบอกว่า หลักทรัพย์แบบนี้…ของมันต้องมีในพอร์ตเลย

ข้อมูลจากทางการระบุว่า ลูกค้าที่ใช้บริการสินเชื่อทะเบียนรถมีจำนวนกว่า 3 ล้านคน ยอดสินเชื่อคงค้างประมาณ 2 แสนล้านบาท เหตุที่ สินเชื่อนี้มีแต่คนชอบเพราะกู้ง่าย จบไว ได้เงินเร็ว ไม่ต้องมีคนมาค้ำประกัน หากแต่ว่าอัตราดอกเบี้ยที่สื่อสารออกมานั้นมักจะเสนอเป็นอัตราดอกเบี้ยแบบรายเดือน ตัวอย่างเช่น 2% หรือ 3% ต่อเดือน หากคนที่พอจะรู้เรื่องคำนวณมาเป็นอัตราดอกเบี้ยต่อปีก็น่าจะประมาณ 24-36% ต่อปี ที่สำคัญคือมันอาจมีการคิดค่าธรรมเนียมเข้ามาผสมด้วย เช่น นาย ก. ขอกู้เงิน 1 หมื่นบาท แบบเอาทะเบียนรถไปจำนำ คนให้กู้อาจคิดค่าธรรมเนียมอีก 500 บาท บวกกับค่าประกันภัย 900 บาท ทำให้ยอดเงินกู้รวมทั้งหมด 1.14 หมื่นบาท เวลาคิดดอกเบี้ยจากวงเงิน 1.14 หมื่นบาท ด้วยอัตราดอกเบี้ย 2.5% ต่อเดือน หรือเท่ากับ 30% ต่อปี ก็มีผลทำให้นาย ก. ต้องจ่ายดอกเบี้ย 3,420 บาท/ปี รวมเป็นหนี้ต้นบวกดอกทั้งหมด 14,820 บาท ดังนั้นสรุปว่าดอกเบี้ยบวกค่าธรรมเนียมจะคิดเป็นเกือบ 50% ของเงินต้นดังกล่าว

ท่านผู้อ่านลองคิดตามรูปที่มี การคำนวณซึ่งผมได้มาจากสื่อสังคมออนไลน์นะครับ ค่อยๆ คิดตามว่ามันใช่หรือไม่

เป็นที่น่ายินดีครับว่าธนาคาร แห่งประเทศไทยได้เตรียมออกมาตรการกำกับดูแลบริษัทสินเชื่อทะเบียนรถ ไม่ให้คิดอัตราดอกเบี้ยเกิน 28% ต่อปี โดยสามารถคิดค่าทวงถามหนี้ ค่าอากรแสตมป์ ค่าใช้จ่ายกรณีเช็คคืนได้เพิ่มเติมตามมาตรฐานการกำกับดูแลสถาบันการเงินที่ดี โดยข่าวระบุว่าน่าจะมีผลบังคับใช้ในไตรมาสหนึ่งนี้
และจากบทสัมภาษณ์ของผู้บริหารบริษัทที่ให้บริการทางการเงินชนิดนี้ ที่เปิดเผยต่อสื่อได้ระบุว่า “…เป้าหมายของเราในปีนี้ก็คือการเติบโตของพอร์ตสินเชื่อของเรานะครับ โดยเน้นวงเงิน ที่ประมาณ 2 หมื่นบาทต่อ 1 สัญญา ซึ่งปัจจุบันเรามีทั้งหมด ประมาณ 2 ล้านสัญญา เราต้องการเติบโตในตัว สัญญา

และก็ตัววงเงินในการปล่อยกู้ เบื้องต้น เป้าหมายปีนี้ คือการเพิ่มฐานวงเงินในการปล่อยกู้ หรือ นิวโลน (เงินปล่อยกู้ใหม่) อยากเพิ่มซัก 35% และเป้าหมายปีถัดไปอีก 30% ซึ่ง เป็นเป้าหมาย 3 ปีของเรา โดยปีที่แล้วคร่าวๆ 9 เดือน เราทำได้ 40% งั้นแผน 3 ปี ก็คือ 40%, 35% และ 30%…”

เราคงต้องมาคิดต่อว่าเหตุใดผู้คนจึงใช้บริการทางการเงินแบบนี้ดอกเบี้ยถูกหรือแพงไปเมื่อเทียบกับความเสี่ยง  การจะทำอะไรหรือไม่ทำอะไรของทางการจะมีผลให้เกิดต่อการเข้าถึงแหล่งเงินง่ายหรือยากขึ้นในผู้คนกลุ่มที่ต้องการแหล่งเงินเหล่านี้… ยังรอความคิดเห็นนะครับ

ตรวจเครดิตบูโร ฟรี! งาน งาน “52 ปี ธ.ก.ส. สานพลังปฏิรูปภาคเกษตรไทย” วันที่ 28 มกราคม 2562 เวลา 9.00 – 15.00 น.อาคาร Hall 7 Impact Exhibition จ.นนทบุรี

ตรวจเครดิตบูโร ฟรี!

งาน งาน “52 ปี ธ.ก.ส. สานพลังปฏิรูปภาคเกษตรไทย”

วันที่ 28 มกราคม 2562 เวลา 9.00 – 15.00 น.อาคาร Hall 7 Impact Exhibition จ.นนทบุรี

ฟรี!!…บริการตรวจเครดิตบูโร แต่ขอรับเป็นเงินบริจาคแทน พร้อมเปิดคลินิกเครดิตบูโรให้คำปรึกษา

ติดตามสัมภาษณ์สดทางวิทยุ “คัดข่าวมาคุย” ช่วง “หัวใจเศรษฐี” ทุกวันอังคารของเดือน เวลา 11.10 – 11.30 น. – ทางคลื่น FM 105 Smile Thailand – อออนไลน์ www.105smilethailand.com – www.facebook.com/105smilethailand

ติดตามสัมภาษณ์สดทางวิทยุ “คัดข่าวมาคุย” ช่วง “หัวใจเศรษฐี”
ทุกวันอังคารของเดือน เวลา 11.10 – 11.30 น.
– ทางคลื่น FM 105 Smile Thailand
– อออนไลน์ www.105smilethailand.com
– www.facebook.com/105smilethailand

ผู้ให้สัมภาษณ์ : คุณสุรพล โอภาสเสถียร ผู้จัดการใหญ่ บริษัท ข้อมูลเครดิตแห่งชาติ จำกัด
ผู้ดำเนินรายการ : คุณศลิลนา ภู่เอี่ยม

ตรวจเครดิตบูโร ฟรี! งาน “ประสานพลัง ‘เติมทักษะ’ ติดปีกฮักแท็กซี่ ทะยานสู่บริการที่เหนือกว่า” วันที่ 22 มกราคม 2562 เวลา 8.30 – 14.00 น. โรงแรมวีเทรน อินเตอร์เนชั่นแนล เฮ้าส์ กรุงเทพฯ

ตรวจเครดิตบูโร ฟรี!

งาน “ประสานพลัง ‘เติมทักษะ’ ติดปีกฮักแท็กซี่ ทะยานสู่บริการที่เหนือกว่า”

วันที่ 22 มกราคม 2562 เวลา 8.30 – 14.00 น. โรงแรมวีเทรน อินเตอร์เนชั่นแนล เฮ้าส์ กรุงเทพฯ

ฟรี!!…บริการตรวจเครดิตบูโร แต่ขอรับเป็นเงินบริจาคแทน พร้อมเปิดคลินิกเครดิตบูโรให้คำปรึกษา

คอลัมน์เศรษฐกิจคิดง่ายๆ : “พิโกไฟแนนซ์ เครื่องมือดีในปี’62” : วันจันทร์ที่ 21 มกราคม 2562

คอลัมน์ เศรษฐกิจคิดง่ายๆ 

“พิโกไฟแนนซ์ เครื่องมือดีในปี’62”

นสพ.โพสต์ทูเดย์ : วันจันทร์ที่ 21 มกราคม 2562

ในประเทศของเรา ปัญหาการเข้าถึงแหล่งเงินของคนตัวเล็กตัวน้อย คนที่ไม่มีหลักประกัน คนที่สุจริต ขยัน อดทน ที่มีอยู่มากมายนั้น เป็นเรื่องที่สะสมยาวนาน จนอาจถือได้ว่า มันคือเรื่องของความเหลื่อมล้ำในการมีทุนเพื่อทำมาค้าขาย ในขณะที่คนที่รับเงินฝากเอามาปล่อยกู้ก็สนใจแต่จะให้กับคนตัวใหญ่ ให้ยักษ์ใหญ่เป็นร้อยเป็นพันล้าน ดอกเบี้ยก็อาจจะถูกมาก แต่สำหรับคนตัวเล็กตัวน้อยดอกเบี้ยร้อยละ 3 ต่อเดือน  ถือว่าวิเศษสุดแล้ว

พิโกไฟแนนซ์จึงได้เกิดขึ้นมาในรัฐบาลชุดนี้เพื่อเป็นเครื่องมือในการลดความเหลื่อมล้ำ ดูแลคนตัวเล็กให้เป็นธรรม ช่วยในการจัดสรรและการ กระจายทุนให้ดีขึ้น ทั่วถึง ดอกเบี้ยที่คิดก็เอากันพอจะอยู่กันไปได้แบบไทยๆ ดีกว่าไปกู้นอกระบบและมีการติดตามหนี้ ทวงถามหนี้แบบไม่คำนึงถึงความเป็นมนุษย์แน่นอน

ข้อมูลล่าสุดจากรายงานของกระทรวงการคลัง พบว่า มีผู้สนใจ ยื่นคำขออนุญาตประกอบธุรกิจสินเชื่อพิโกไฟแนนซ์ ตั้งแต่เดือน ธ.ค. 2559 ถึงเดือน พ.ค. 2561 หรือช่วงสองปีนั้นมีบุคคลยื่นคำขออนุญาตทั้งสิ้น 805 ราย ใน 73 จังหวัด และมีผู้ได้รับ ใบอนุญาตประกอบธุรกิจแล้ว 412 ราย ใน 65 จังหวัด ซึ่งในจำนวนนี้ ได้เปิดดำเนินการแล้ว 350 ราย ใน 64 จังหวัด

ทั้งนี้ ผู้ประกอบการที่ได้รับอนุญาตสามารถปล่อยสินเชื่อได้ภายในเขตจังหวัดให้แก่ผู้มีภูมิลำเนาหรือถิ่นที่อยู่ภายในจังหวัดนั้นๆ จะออกนอกเขต ไม่ได้ในวงเงินรายละไม่เกิน 5 หมื่นบาท คิดดอกเบี้ยในอัตราไม่เกิน 36% ต่อปี

คำถามต่อมาคือแล้วในการปล่อยกู้นั้นเครดิตบูโรในฐานะโครงสร้างพื้นฐานของระบบสถาบันการเงินหรือด้วยความเป็นถังข้อมูลคนที่มีหนี้สินส่วนใหญ่ในประเทศไทยจะเข้าไปมีส่วนช่วยได้หรือไม่ เพราะคนให้กู้ก็ควรมีข้อมูลคนที่มาขอกู้มากพอสมควร มันจะได้ไม่เกิดปัญหาหนี้เสียขึ้นมาแบบในอดีต ดังนั้นคณะกรรมการคุ้มครองข้อมูลเครดิต (กคค.) ซึ่งมีผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทยเป็นประธาน กคค.จึงได้ออกประกาศกำหนดให้นิติบุคคลที่ประกอบธุรกิจสินเชื่อรายย่อยระดับจังหวัดภายใต้การกำกับ (พิโกไฟแนนซ์) และมีการให้สินเชื่อเป็นทางการค้าปกติเป็นสถาบันการเงินตามกฎหมายการประกอบธุรกิจข้อมูลเครดิต โดยมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจาฯ เมื่อวันที่ 14 ม.ค. 2562

ผลของประกาศข้างต้นจะทำให้ พิโกไฟแนนซ์สามารถสมัครเป็นสมาชิกของบริษัท ข้อมูลเครดิตแห่งชาติ หรือเครดิตบูโร อันจะส่งผลให้พิโกไฟแนนซ์ที่เป็นสมาชิกเครดิตบูโร เข้าถึงฐานข้อมูลของผู้กู้ที่เป็นประชาชนรายย่อยเพิ่มขึ้น นอกเหนือจากข้อมูลด้านอื่นๆ เช่น ข้อมูลรายได้ที่คนขอกู้นำมาแสดงอีกด้วย การพิจารณาให้สินเชื่อแก่ประชาชนฐานรากจะได้เกิดความแม่นยำ และลดความเสี่ยงของการเกิดหนี้เสียลง และยังทำให้ลดความเสี่ยงเป็นประโยชน์ต่อระบบสถาบันการเงินโดยรวมเพิ่มขึ้นด้วย เพราะความเสี่ยงเรื่องหนี้เสียจะลดลง และวินัยทางการเงินของผู้คนที่กู้เงินไปน่าจะดีขึ้น

น่าดีใจนะครับ ที่ผลดำเนินงาน ของพิโกไฟแนนซ์เป็นไปอย่างน่าชื่นชม กล่าวคือมียอดสินเชื่ออนุมัติสะสม 46,201 บัญชี รวมเป็นเงิน 1,278.29 ล้านบาท หรือคิดเป็นสินเชื่ออนุมัติเฉลี่ย 27,667.88 บาท/บัญชี ประกอบด้วย สินเชื่อแบบมีหลักประกัน 24,987 บัญชี เป็นเงิน 766.83 ล้านบาท และสินเชื่อแบบไม่มีหลักประกัน 21,214 บัญชี

ขณะที่ยอดสินเชื่อคงค้างรวมของพิโกไฟแนนซ์มีทั้งสิ้น 19,775 บัญชี คิดเป็นเงิน 570.39 ล้านบาท สำหรับสินเชื่อที่ค้างชำระไม่เกิน 3 เดือนเรียกว่าพวกกำลังจะเสียหรือกลุ่มเสี่ยง มีจำนวน 1,793 บัญชี คิดเป็นเงิน 56.36 ล้านบาท หรือ 9.88% ของยอดสินเชื่อคงค้างรวม และมีสินเชื่อค้างชำระเกินกว่า 3 เดือน หรือเป็นหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (หนี้เสีย) จำนวน 477 บัญชี คิดเป็นเงิน 16.65 ล้านบาท หรือ 2.92% ของสินเชื่อคงค้างรวม

ประโยชน์ทางอ้อมเพิ่มเติมยัง มีอีก เช่น
          1.ฐานข้อมูลเครดิตบูโรเพิ่มขึ้นและครอบคลุมเจ้าของข้อมูลในกลุ่มต่างๆ อันจะนำมาซึ่งการสร้างความรู้เรื่องทางการเงิน การสร้างวินัยทางการเงิน
          2.ระบบของประเทศจะมีข้อมูลประวัติสินเชื่อของ Micro SME, Startup ในระบบ ดังนั้นการทำนโยบายส่งเสริมจะตรงเป้าตรงจุด
          3.คนขอกู้ที่ไม่มีประวัติทางการเงินจะได้มีโอกาสในการเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้มากขึ้น
          4.ในท้ายที่สุดระบบสถาบันการเงินจะมีเสถียรภาพ เกิดความมั่นคงกับเศรษฐกิจสังคมของประเทศในระยะยาวต่อไป

ขอขอบคุณข่าวสารข้อมูลจากสื่อสารมวลชนที่ได้นำเอาผลงานของสถาบันการเงินภายใต้ใบอนุญาตนี้มาเป็นจุดเริ่มของบทความนี้นะครับ

ตรวจเครดิตบูโร ฟรี! : งาน “การสร้างความรู้เรื่องการคุ้มครองเงินฝากฯ จ.สตูล” วันที่ 18 มกราคม 2562 เวลา 8.15 – 12.00 น. โรงแรมสินเกียรติบุรี จ.สตูล

ตรวจเครดิตบูโร ฟรี! : งาน “การสร้างความรู้เรื่องการคุ้มครองเงินฝากฯ จ.สตูล”

วันที่ 18 มกราคม 2562 เวลา 8.15 – 12.00 น. โรงแรมสินเกียรติบุรี จ.สตูล

ฟรี!!…บริการตรวจเครดิตบูโร แต่ขอรับเป็นเงินบริจาคแทน พร้อมเปิดคลินิกเครดิตบูโรให้คำปรึกษา

เรื่องน่าอ่าน