Blog Page 148

ตรวจเครดิตบูโร ฟรี! : งาน “Digital Government Summit 2019” วันที่ 18-19 มกราคม 2562 เวลา 10.00 – 19.00 น. ลานอีเดน ศูนย์การค้าเซ็นทรัลเวิลด์ กรุงเทพฯ

ตรวจเครดิตบูโร ฟรี! : งาน “Digital Government Summit 2019”

วันที่ 18-19 มกราคม 2562 เวลา 10.00 – 19.00 น. ลานอีเดน ศูนย์การค้าเซ็นทรัลเวิลด์ กรุงเทพฯ

ฟรี!!…บริการตรวจเครดิตบูโร แต่ขอรับเป็นเงินบริจาคแทน พร้อมเปิดคลินิกเครดิตบูโรให้คำปรึกษา ::

คอลัมน์เศรษฐกิจคิดง่ายๆ : ในโลกของการยื่นขอสินเชื่อ : วันจันทร์ที่14 มกราคม 2562

คอลัมน์ เศรษฐกิจคิดง่ายๆ

ในโลกของการยื่นขอสินเชื่อ

นสพ.โพสต์ทูเดย์ : วันจันทร์ที่14 มกราคม 2562

ในโลกของการยื่นขอสินเชื่อ หรือภาษา ชาวบ้านคือการยื่นขอกู้กับการพิจารณาคำขอสินเชื่อหรือที่ชาวแบงก์เรียกว่า การพิจารณาสินเชื่อ (ภาษาชาวบ้านการวิเคราะห์เงินกู้) ในบ้านเรานั้นสามารถแบ่งออกได้เป็นช่วงง่ายๆ ตามการพัฒนาดังนี้

1.ช่วงก่อนปี2540 ลักษณะ “เอาหลักประกันมา เอาเงินกู้ไป” ภาษาอังกฤษ No land No loan ผู้จัดการสาขาจะมีอำนาจมาก  คนเข้าถึงสินเชื่อต้องมีทั้งสายสัมพันธ์มีคนแนะนำมีโครงการที่ดีและต้องมีหลักประกันเป็นที่ดิน สิ่งปลูกสร้าง เครื่องจักรและอุปกรณ์ นอกจากนี้คนกู้จะต้องค้ำประกันเป็นการส่วนตัว การ เซ็นสัญญาต้องทำต่อหน้าเจ้าหน้าที่ของธนาคารหรือสถาบันการเงิน

2.ช่วงหลังปี2540 เมื่อเกิดวิกฤต การณ์ทางการเงินใหญ่จนกระทั่งสถาบันการเงินล่มสลายครั้งใหญ่และร้ายแรงเป็นที่สุดนั้น  สถาบันการเงินได้มีการปฏิรูปครั้งใหญ่มาก  ยกเครื่องในเรื่อง การกำกับดูแล  การบริหารความเสี่ยง มีเรื่องธรรมาภิบาลในการจัดการ มีโครง สร้างพื้นฐาน อันได้แก่ ระบบกฎหมายใหม่ ระบบบัญชีใหม่ และต้องมีระบบข้อมูลเครดิตหรือเครดิตบูโร  พระเอกของเครื่องมือในการวิเคราะห์สินเชื่อคือ คะแนนเครดิต หรือ Credit Scoring ถ้าเป็นสิ่งที่เครดิตบูโรทำก็เรียกว่าบูโรสกอร์ถ้าเป็นแบงก์ทำก็เรียกว่าแบงก์สกอร์ สิ่งนี้มีความหมายตามกฎหมายคือ ตัวชี้วัดความน่าจะเป็นในการชำระหนี้ ที่จัดทำโดยเพื่อที่จะเป็นค่าอะไรบางอย่างในการแยกแยะคนที่มาขอกู้ว่าเป็นคนเกรดไหน ดีเลวอย่างไรในการเป็นลูกหนี้ที่ดี/ไม่ดีความนัยของมันคือ
          2.1 มันเป็นตัวชี้วัด จึงต้องมีลักษณะเป็นตัวเลขตัวอักษรที่บอกว่าใครดีกว่าใคร เช่น A AA A1 A2 หรือมีลักษณะเป็นตัวเลข 720 620 350 จากคะแนนเต็ม 900 1,000 เป็นต้น
          2.2 มันสื่อความหมายความน่าจะเป็นในเรื่องการชำระหนี้  เพราะมันคือค่าแสดงว่าคนคนนี้มีโอกาสทางสถิติที่จะไม่จ่ายหนี้ยอมเป็นหนี้ค้างเกินกว่า90 วันกี่คนใน 100 คน ในอีก 12 หรือ 24 เดือนข้างหน้า
          2.3มันต้องถูกทำขึ้นมาตามหลักวิชาการทางสถิติ  ห้ามมั่ว มีการตรวจสอบ มีการทดสอบว่าปัจจัยที่เอามาเป็นตัวกำหนด เอามาเป็นสูตรในการพัฒนามันใช้ได้ มีความสัมพันธ์กับสิ่งที่ต้องการพยากรณ์

3.ยุคปัจจุบันในปีนี้ และที่กำลังจะมาถึงในอนาคตอันใกล้ การพิจารณาให้เงินกู้กับใคร เท่าไหร่ ดอกเบี้ยคิดเท่าไหร่ จะมาจากข้อมูลที่บ่งบอกตัวตน บ่งบอกพฤติกรรมการใช้ชีวิต  พฤติกรรมการ ก่อหนี้ การชำระหนี้ เช่น เอาข้อมูลจากการใช้น้ำ ใช้ไฟ ใช้โทรศัพท์ ข้อมูลจากการโอนเงิน รับเงิน  ข้อมูลในเฟซบุ๊ก ข้อมูลการจับจ่ายใช้สอยบนออนไลน์ข้อมูลการค้าขายบนออนไลน์ของตนเอง เป็นต้น เพราะเรากำลังจะเข้าสู่ยุค การให้กู้โดยอิงจากข้อมูลเป็นหลักสำคัญ

Information Based Lending  คือ คำคำนั้น และคำคำนี้จะเข้ามามีอิทธิพลต่อการเข้าถึง เข้าไม่ถึงสินเชื่อ ในยุค ต่อไปอย่างแน่นอน
          การไม่ต้องมาเจอหน้ากันก็ยื่นขอกู้ได้
          การพิสูจน์และยืนยันตัวตนทำ ผ่านเครื่องมือและไม่ใช่คนในการตัดสินใจ
          การยื่นเอกสารไม่ต้องใช้ตัวจริงเซ็นสด สำเนาเพียบอีกต่อไป แต่ใช้การถ่ายรูปส่งผ่านแอพพลิเคชั่น
          การวิเคราะห์ใช้เทคนิคด้าน วิทยาศาสตร์ข้อมูลและสถิติ
          การทำสัญญาไม่ต้องเซ็นสดอีก ต่อไป
          อนุมัติหรือไม่จะบอกผลได้เร็วมากๆ
          อนุมัติแล้วเงินจะโอนเข้าบัญชีคนขอกู้ได้ทันทีข้ามมิติเวลาและสถานที่ไปเลย

เราจะได้เห็นยุคที่ 3 ของการให้กู้ในปี  2562  อย่างแน่นอน  ตอนนี้เหลือแต่เงื่อนไขใบอนุญาต  และข้อกฎหมายเล็กน้อย สำคัญที่สุดคือตัวคนขอกู้ต้องเข้าใจนะว่า ข้อมูลที่ดีคือหลักประกันนิสัยใจคอของเราในท้ายที่สุด… ขอบคุณครับ

เพิ่มช่องทางตรวจเครดิตบูโร @UOB Express เดอะมอลล์ ท่าพระ ชั้น B ทุกวันเสาร์ – อาทิตย์ เวลา 11.00 – 18.00 น.

เพิ่มช่องทางตรวจเครดิตบูโร @UOB Express เดอะมอลล์ ท่าพระ ชั้น B ทุกวันเสาร์ – อาทิตย์ เวลา 11.00 – 18.00 น.

คอลัมน์เศรษฐกิจคิดง่ายๆ “คลื่นระลอกใหม่ในทะเลการเงิน” : วันจันทร์ที่ 7 มกราคม 2562

คอลัมน์ เศรษฐกิจคิดง่ายๆ

“คลื่นระลอกใหม่ในทะเลการเงิน”

นสพ.โพสต์ทูเดย์ : วันจันทร์ที่ 7 มกราคม 2562

ท่ามกลางกระแสข่าวปลดพนักงาน เลิกจ้าง ปิดสาขา การปรับตัวไปสู่บริการดิจิทัล แต่คนยังมีบทบาทสำคัญ ที่จะผลักดันองค์กรนั้นให้เติบโตต่อไปได้ โดยเฉพาะในยุคที่เรากำลังก้าวเข้าสู่ “สังคมสูงวัย” อย่างสมบูรณ์ปี 2564 แต่เรื่องที่ผู้เขียนอยากกล่าวถึงในบทความนี้จะได้แก่ คลื่นของการเปลี่ยนแปลงในระบบสถาบันการเงินไทย ในมุมของ ผู้เขียนมีดังนี้

1.จากการที่เรามีโครงสร้าง พื้นฐานการชำระเงินแบบดิจิทัล จะทำให้การต่อยอด รุกคืบของรูปแบบการให้บริการแบบทุกที่ ทุกเวลา หยิบมือถือขึ้นมาทำรายการทางการเงินได้ตลอดเวลา ดังนั้น ธนาคารคงจะกลายเป็นผู้ให้บริการบนแพลตฟอร์มที่ตอบโจทย์การใช้ชีวิตของผู้คนมากขึ้นในปีใหม่นี้บริการใหม่ แปลก และใช่จะมีมากขึ้น

2.การพิสูจน์และยืนยันตัวตนก่อนที่จะได้รับบริการจะเป็นดิจิทัลด้วยเทคนิคแบบใหม่ๆ การใช้ภาพใบหน้า ม่านตา ลายนิ้วมือ การเช็กสอบข้ามแบงก์ จะเข้ามามีบทบาทมากขึ้น การเชื่อมโยงข้อมูลเพื่อพิสูจน์ว่า สมชาย คือสมชายคนนี้ ไม่ใช่สมศักดิ์คนนั้น หรือสมชายตัวปลอม พิสูจน์ด้วยข้อมูลสิ่งที่สมชายมี ด้วยสิ่งที่สมชายเป็น ด้วยสิ่งที่สมชายรู้ มาตอบคำถามของสมชายที่ว่า ผมคือสมชายครับและผมต้องการใช้บริการของท่านโดยไม่ต้องมาเจอหน้ากัน (non face to face) ที่แน่ๆ ตอนนี้กฎหมายธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ที่ว่าด้วยการพิสูจน์และยืนยันตัวตนกำลังอยู่ในการพิจารณาของ สนช.

3.ผู้เล่นในการให้บริการทางการเงินประเภทสินเชื่อจะมีมากขึ้น Peer to Peer Lending คงจะมีใบอนุญาตออกมาแพลตฟอร์มตัวกลางจากจีน เกาหลี สิงคโปร์ คงเข้ามาในตลาดบ้านเราแน่นอน ลูกค้าทั้งมนุษย์เงินเดือน คนค้าขายตัวเล็ก หรือคนที่ไม่มีประวัติทางการเงินแต่มีแนวคิดคงจะมีทางออกในเรื่องแหล่งเงินมากขึ้น อีกพวกหนึ่งคือพวก Technology Company ที่เก่งๆ มีข้อมูลมาก คงจะเข้ามาในตลาดสินเชื่อนี้โดยเฉพาะพวก E-Commerce Platform

4.บทบาทธนาคารหรือสถาบันการเงินของรัฐจะเข้ามามีบทบาทมากขึ้น การลงไปในตลาดล่างที่เข้าไม่ถึงจะคึกคัก ดูจากโครงการบ้านล้านหลัง หรือปล่อยกู้ Taxi จะเห็นได้ว่าดูเหมือนเสี่ยงแต่ไม่เสี่ยงเพราะมีกรอบการกำกับดูแล เข้มข้นขึ้นกว่าในอดีตมาก

5.เครื่องมือทางสถิติที่จะนำมาใช้ในการช่วยตัดสินใจในการอนุมัติสินเชื่อจะอิงกับหลักเกณฑ์มากกว่าดุลพินิจเป็นรายๆ คะแนนเครดิต หรือ Credit Scoring จะเข้ามามีบทบาทมากขึ้นทั้ง Bank Internal Credit Score ที่พัฒนาจากข้อมูลลูกค้าของตัวแบงก์ที่จัดเก็บเอง Bureau Credit Score ที่พัฒนาจากข้อมูลในเครดิตบูโร Alternative Credit Score ที่พัฒนามาจากข้อมูลลักษณะอื่นๆ เช่น จากการใช้โทรศัพท์ พฤติกรรมในโลกออนไลน์ สื่อโซเชียล การจัดอันดับใน E-Commerce Platform ที่เกิดจากตัวเจ้าของข้อมูลเป็นคนสร้างขึ้นมา เครื่องมือพวกนี้จะเข้ามาทำให้กระบวนการสินเชื่อเร็วขึ้นมาก และการก้าวออกจากรูปแบบการให้สินเชื่ออิงหลักประกันจะกลายมาเป็นอิงข้อมูลหรือ Information Based Lending ที่ทางธนาคารกลางสนับสนุนนั่นเอง

6.สุดท้ายคือเรื่องของคน ยุคที่เปลี่ยนผ่านไปสู่ดิจิทัล เราจะเห็นการแข่งขันแย่งชิงคนไอที ดิจิทัลกันดุเดือด สิ่งที่เป็นความท้าทายมากคือไม่สามารถพัฒนาคนให้ทันต่อความท้าทายใหม่ เช่น การเปลี่ยนผ่านไปสู่เทคโนโลยีใหม่ บางองค์กรจึงต้องมีการรับคน (แย่งชิงคน) ที่เชี่ยวชาญในบางด้านที่ขาด เข้ามาจากภายนอก เมื่อทุกอย่างกำลังเปลี่ยนผ่านไปสู่ยุคของดิจิทัล ยุคของเทคโนโลยี และสถาบันการเงินต้องปรับตัวเองให้ทัน ทั้งปรับการให้บริการไปสู่ดิจิทัลมากขึ้น รวมถึงปรับในเรื่องของคนเข้ามาเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะคนไอที คนที่มีความเชี่ยวชาญด้านไอที เทคโนโลยีที่ล่าสุด

7.ผู้เขียนคิดว่า ผู้คนที่มีอายุเกิน 45 ปี และหยุดอ่านหนังสือ พูดกับเด็กๆ ในที่ทำงานแล้วไม่มีใครฟัง (แต่ตัวเองคิดว่าตนเองยังสำคัญอยู่) วันๆ ใช้แต่ประสบการณ์ ความเก๋าเอาตัวรอดในที่ทำงาน พวกได้ครับพี่ ดีครับนาย สบายครับผม เหมาะสมครับท่าน นำเสนอเก่ง หรือพวก NATO, No Action Talk Only หรือพวกนักรบ PowerPoint พวกที่ดีแต่สร้าง Template เก๋ไก๋มาหลอกตาเจ้านายไปวันๆ จะได้คิดว่าตนเองไม่เหมาะกับโลกยุคใหม่แล้ว ไอ้ที่คิดว่าหลังจบงานเกษียณจะไปเป็นที่ปรึกษา คงจะไม่มีใครปรึกษาแล้วล่ะ และจะไปต่อได้อย่างไรกัน

เพราะโลกความรู้และการทำงานแบบใหม่จะไล่ล่า กวาดล้าง และเก็บกวาดพวกหลงยุค หลงฝูง หลงเผ่า ไปกับคลื่นระลอกใหม่ในยุคที่ข้อมูลเป็นเชื้อเพลิงการขับเคลื่อนการเติบโตของธุรกิจ ในอนาคตเราอาจจะเห็นคนต่างชาติมาดูแลงานไอทีของธนาคารพาณิชย์ ธนาคารของรัฐ หรือธนาคารกลางในประเทศสารขัณฑ์ก็ได้นะ (มีความเป็นไปได้นะ… ไม่ได้โม้)

จะเห็นได้ว่าคนยังเป็นเรื่องสำคัญขององค์กร แต่บางองค์กรอาจคิดเปลี่ยน มองว่าคนอาจเป็นต้นทุน แถมไม่มีการสร้างมูลค่าเพิ่มให้บริษัทได้อันนี้คือความผิดมหันต์ ดังนั้นสิ่งที่สำคัญคือ ต้องหาคนที่ใช่ จ้างแพงไม่กลัวแต่อย่าจ้างผิด และบริหารให้ได้ใจเขาแล้วจะได้งานจากเขาแต่ถ้าคิดแบบ อันความสามัคคีนั้นดีอยู่แต่ต้องให้ตัวกูเป็นหัวหน้าแล้วละก็ รับรองว่าจมคลื่นระลอกใหม่ในทะเลการเงินแน่นอน…ขอบคุณครับ

สร้างนิสัยทางการเงินที่ดี ให้ชีวิตมีความมั่นคง

เราทุกคนสามารถมีความก้าวหน้าและประสบความสำเร็จในชีวิตได้ แต่ทั้งหมดทั้งมวลนี้ต้องเริ่มต้นจากการวางแผนที่ดีทั้งแผนการใช้ชีวิต แผนงานทางอาชีพ และที่สำคัญคือการวางแผนทางการเงินอย่างดีและเป็นขั้นเป็นตอน หากแผนงานทุกอย่างลงตัวทุกคนก็สามารถบรรลุถึงเป้าหมายสมดังที่ตั้งใจ และถึงแม้ว่าแต่ละคนจะมีเงินไม่เท่ากัน รายได้ต่างกันแต่ถ้ามีนิสัยการใช้เงินที่ดีมีแผนการทางการเงิน แบ่งสรรปันส่วนจัดการเงินได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทุกคนก็จะมีเงินเหลือเพื่อนำไปซื้อความมั่นงคงให้กับชีวิต และสามารถนำไปทำธุรกิจต่อยอดเพื่อให้เงินงอกเงยเพิ่มขึ้นมาอีกได้

คุณสมบัติส่วนใหญ่ของคนที่ประสบความสำเร็จและร่ำรวย

  • มีความคิดริเริ่ม ผู้ที่ประสบความสำเร็จมักเป็นคนที่มีความคิดริเริ่มทำสิ่งใหม่ๆ ทำสิ่งต่างๆ ด้วยตัวเอง สามารถคิดและลงมือทำได้อย่างรวดเร็ว ไม่กลัว ไม่อยู่ใน Comfort zone เพราะมีความเชื่อว่าความกล้าจะทำให้ประสบความสำเร็จ
  • เชื่อมั่นในสิ่งที่ทำ มีแรงบันดาลใจที่จะสร้างสรรค์สิ่งต่างๆ ให้สำเร็จด้วยตัวเอง มีความสุขกับการทำงานในสิ่งที่ตัวเองรัก มีความพยายามอย่างหนักเพื่อให้ความฝันที่คิดไว้เป็นความจริง
  • ไม่กลัวความล้มเหลว คนที่ประสบความสำเร็จได้นั้นล้วนแล้วแต่ได้รับบทเรียนจากความล้มเหลวและความผิดหวังมาแล้วทั้งสิ้น ไม่ว่าจะล้มลงสักกี่ครั้งก็ไม่ยอมพ่ายแพ้ แต่กลับพยายามที่จะลุกขึ้นยืนให้ได้ โดยนำบทเรียนจากความผิดพลาดมาแก้ไขปรับปรุง เรียนรู้ และสนุกไปกับสิ่งที่กำลังทำ
  • ให้ความเคารพผู้อื่น การเคารพและให้เกียรติผู้อื่นเป็นการแสดงถึงความเคารพตัวเองอย่างหหนึ่ง คนที่จะประสบความสำเร็จ นอกจากจะเก่งแล้วยังต้องมีความสุภาพ และปฏิบัติต่อผู้อื่นด้วยความเคารพเท่าๆ กับที่พวกเขาเคารพตนเองเช่นกัน
  • ไม่บ่น ไม่ตำหนิ เพราะการบ่น การตำหนิผู้อื่น จะทำให้ขาดความน่าเชื่อถือ ดังนั้น แทนที่จะบ่น เขากลับคิดหาทางแก้ไขสถานการณ์ด้วยวิธีอื่นแทน จึงไม่น่าแปลกในเลยที่คนเหล่านี้จะชนะใจ และเป็นที่รักของเพื่อนร่วมงาน ลูกน้อง รวมทั้งผู้บังคับบัญชา
  • ไม่หยุดที่จะเรียนรู้ การอ่านเป็นทักษะสำคัญมากในการสร้างนิสัยการใช้เงินที่ดีในแบบผู้ที่มีความมั่นคงทางการเงิน ยิ่งในปัจจุบัน เราสามารถหาอ่านเรื่องที่เราสนใจได้ง่ายมาก ผ่านบล็อก โซเชียลมีเดียต่างๆ นอกจากการอ่านแล้ว การฟัง ก็ช่วยเรื่องการเรียนรู้ได้เหมือนกัน เราอาจจะฟังผู้รู้กูรูต่างๆ ที่มาให้ความรู้ เพราะการเรียนรู้คือการเปิดโลกกว้าง เราจะได้เปิดโลก ได้ไอเดียใหม่ๆ จากการเรียนรู้นั่นเอง
  • ออมก่อน รวยกว่า นอกจากจะหาเงินเก่งแล้ว ควรที่จะออมเงินเก่งด้วย กันรายได้ส่วนหนึ่งไว้ออม ส่วนหนึ่งไปลงทุนเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม รับรองว่ายิ่งออมเร็ว ยิ่งรวยไว เมื่อเวลาผ่านไป เงินจำนวนนี้ ควรจะเพิ่มมากขึ้นตามอายุ ภาระและรายจ่ายที่เพิ่มขึ้น ออมก่อน อาจไม่รวยกว่า แต่ถ้าไม่ออม หรือออมไม่พอ ก็อย่าเพิ่งไปลงทุนนะ ดังนั้น จงเริ่มต้นที่การออมก่อน เป็นอันดับแรก
  • ลงทุนในจังหวะที่เหมาะสม การลงทุนไม่ว่าจะเป็นสินทรัพย์อะไร ก็อยู่ภายใต้กฎนี้ทั้งสิ้น ซื้อสินทรัพย์คุณภาพดี ในราคาที่เหมาะสม ซึ่งราคาที่จะซื้อ บางครั้งกว่าจะได้มาก็ต้องรอเวลาที่เหมาะสม เวลาจึงเป็นปัจจัยที่สำคัญสำหรับการลงทุนมาก ไม่ใช่เห็นเขาซื้อก็รีบเข้าไปซื้อตามกัน

อุปนิสัยผู้มีความมั่นคงทางการเงินที่ควรเอาเป็นเยี่ยงอย่าง

  1. ตนเป็นที่พึ่งแห่งตน พึ่งลำแข้งตัวเองมากกว่าสิ่งที่มองไม่เห็น คนจะรวยต้องคิดว่าความรวยเป็นขึ้นอยู่กับความสามารถและความอุตสาหะ ไม่มีอะไรได้มาง่ายๆ ถ้าไม่มีความสามารถและความอุตสาหะก็อด
  2. ชีวิตคือการเรียนรู้ ถ้าอยากจะรวยก็ต้องเชื่อว่าตัวเองโง่ และเชื่อว่าอยากฉลาดก่อน ทำตัวเองเป็นแก้วน้ำว่างเปล่าที่พร้อมจะรองรับน้ำสะอาดที่จะเติมเข้ามาอยู่เสมอ ค้นคว้าหาความรู้ใหม่ๆ ทั้งในด้านการงานและการเงิน ยิ่งคุณม่ความรู้มากเท่าไหร่ ก็จะมีความก้าวหน้าและบรรลุเป้าหมายได้เร็วขึ้นเท่านั้น
  3. คนจะรวยได้ต้องคิดอยู่ตลอดเวลา ว่าถ้าหาเงินมาได้จะเอาไปลงทุนอะไรต่อดีเพื่อที่จะได้บรรลุเป้าหมายทางการเงินที่กำหนดไว้ หาเงินมาได้ก็ต้องรีบหักเอาไว้ไปออมไปลงทุนก่อนที่จะเอาไปใช้จ่าย แล้วที่สำคัญต้องออมเงินในสัดส่วนของรายได้ที่เพิ่มขึ้นๆ อยู่เสมอๆ
  4. เข้าใจความแตกต่างระหว่างความจำเป็นและความต้องการ นิสัยที่สี่นี้ผมว่าทุกคนก็คงถูกสอนมาตั้งแต่เด็กว่า ก่อนจะใช้จ่ายเงินแต่ละบาทแต่ละสตางค์จะต้องคิดอ่านให้รอบคอบ ไม่ใช้จ่ายฟุ่มเฟือยสุรุ่ยสุร่าย
  5. ไม่ตั้งมั่นอยู่บนความประมาท เตรียมตัวรับมือกับความไม่แน่นอนที่อาจจะเกิดขึ้นกับชีวิต ลองคิดดูว่าถ้าทรัพย์สินของคุณเสื่อมสลายไปจะทำอย่างไร ถ้ารถหาย ถ้ารถเกิดอุบัติเหตุ ถ้าเกิดอัคคีภัย ถ้าสังขารของคุณเสื่อมสลายไปจะทำอย่างไร ดังนั้นจึงต้องเตรียมการวางแผนตั้งแต่เนิ่นๆ มีการออมเงิน แบ่งสัดส่วนเงินให้เรียบร้อย เพื่อที่จะได้ไม่ติดขัดในเวลาฉุกเฉิน
  6. จงทำตัวให้รวยแต่อย่าทำตัวเหมือนคนรวย เพราะถ้าคุณทำตัวให้เหมือนคนรวย นั่นหมายความถึงค่าใช้จ่ายที่จะตามมาพร้อมกับความรวยจากการใช้ของแบรนด์เนมต่างๆ แต่การทำตัวให้รวยนั้นไม่จำเป็นต้องโอ้อวดใคร
  7. รักอิสรภาพทางการเงิน พยายามเสริมสร้างนิสัยทางการเงินที่ไม่หวังการพึ่งพาคนอื่น โดยเฉพาะอย่างยิ่งการกู้ยืมนั่นเอง รักษาวินัยของพฤติกรรมทั้งในด้านการทำงาน การใช้จ่าย และการลงทุนให้อยู่ในเส้นทางสู่เส้นชัยทางการเงินนั้นๆ

ยิ่งในยุคสมัยที่สังคมให้คุณค่ากับภาพลักษณ์ภายนอกด้วยแล้ว การมีวินัยและแผนการเงินจะเป็นสิ่งที่ช่วยให้เราอยู่รอดได้อย่างยั่งยืน ดังนั้นการใช้ชีวิตอย่างเต็มที่ในวันนี้เป็นเรื่องดี แต่ก็ต้องอย่าลืมคิดถึงวันพรุ่งนี้ด้วยเช่นกัน

เรียบเรียงจากบทความของ ดร.ธนาวัฒน์ สิริวัฒน์ธนกุล www.posttoday.com

ใช้เงินให้เป็นในแบบเจนวาย

คนเจนวายนั้นมีเอกลักษณ์และความเป็นตัวตนสูงมาก ไม่ชอบทำอะไรในกรอบ มีความคิดเป็นของตัวเอง รักอิสระ และชอบเทคโนโลยี ซึ่งช่วงวัยในปัจจุบันคนกลุ่มนี้คืออยู่ในช่วงวัยทำงานและวัยเรียน ส่วนไลฟ์สไตล์แบบ คนเจนวายจึงถูกมองว่าเป็นวัยที่จ่ายตามใจตัวเอง มักมีปัญหาหนี้สินที่เกิดจากความต้องการ แต่ที่จริงแล้วสิ่งที่ทำให้คนเจนวายมีการแสดงออกทางสังคมแบบนี้มาจากการที่เกิดมาในครอบครัวที่มีความพร้อม คนกลุ่มนี้จึงถูกมองว่าเป็นพวกวัตถุนิยม เพราะนิสัยและค่านิยมของคนกลุ่มนี้จะไม่กลัวที่จะจ่ายเงิน กล้าใช้เงินซื้อความสุข ความพอใจ อยู่ยุคอินเทอร์เน็ต ที่มีข้อมูลข่าวสารพร้อม ผู้บริโภคกลุ่มนี้จะเป็นกลุ่มประชากรที่มีรายได้สูง มีกำลังซื้อสูง และจะเป็นผู้กำหนดความเป็นไปของโลกในอีก 20 ปีข้างหน้า ลักษณะชองคนเจนวายสามารถทำกิจกรรมหลาย ๆ อย่างได้ในเวลาเดียวกัน โดยร้อยละ 80 ใช้อุปกรณ์ที่เชื่อมต่อกับอินเทอร์เน็ต 2 ชนิด หรือมากกว่านั้นพร้อม ๆ กัน ในเวลาเดียวกับที่กำลังดูทีวี เป็นต้น ลองดูเพิ่มเติมใน แนวทางบริหารเงินแบบชิคๆ สไตล์หนุ่มสาว Gen Y https://www.ncb.co.th/fin-knowledge/money-management-style-gen-y

เพิ่มช่องทางรายได้สไตล์คนเจนวาย

เมื่อคนเจนวายใช้เงินเก่ง ก็ควรที่จะหาเงินเก่งด้วยเช่นกัน และด้วยความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีในการเชื่อมต่อกับอินเทอร์เน็ต ทำให้คนเจนวายมีโอกาสในการหารายได้เสริมได้ง่ายขึ้น และนี่เป็นไอเดียในการหารายได้เสริมในแบบฉบับชาวเจนวาย

  • ขายของออนไลน์ สำหรับคนเจนวายที่มีหัวคิดการค้าและชอบการค้าขายผ่านช่องทาง Social เช่น Facebook , Instragram เป็นต้น น่าจะสนุกกับการขายสิ่งที่ตัวเองสนใจ ไม่ต้องลงทุนมาก ไม่ต้องสต็อกสินค้า
  • Freelance รับเขียนบทความ หรือใครเป็นคนครีเอทมีความคิดสร้างสรรค์ ทำกราฟิกได้ เป็นต้น สำหรับคนเจนวายถนัดเขียน หรือชอบอ่านชอบออกแบบดีไซน์ รายได้ขึ้นอยู่กับจำนวนคำต่อบทความราคา หรือประเภทการออกแบบ เป็นต้น เป็นอาชีพที่น่าสนใจ มีอิสระ ไม่ต้องเข้าออฟฟิศ เหมาะกับไลฟ์สไตล์เจนวาย หรือถ้ามีงานประจำอยู่แล้วก็ยึดเป็นอาชีพเสริมได้
  • ถ่ายภาพขายออนไลน์ สำหรับคนเจนวายที่ชอบเล่นโทรศัพท์ ชอบถ่ายรูปสวยๆ สร้างพอร์ตภาพออนไลน์ขาย รายได้ต่อดาวน์โหลด ขึ้นอยู่กับการให้ราคาของผู้ซื้อออนไลน์รายนั้น ๆ
  • รับหิ้วของ สำหรับคนเจนวายที่รักการชอปปิ้งและท่องเที่ยวก็หารายได้เสริมเป็นค่าขนมได้ ราคารับหิ้วสินค้าขึ้นอยู่กับขนาดของและการจัดส่ง
  • ทำเพจรีวิว สำหรับคนเจนวายที่รักสินค้ากลุ่มใดเป็นพิเศษ และมีความเชี่ยวชาญจนคนอื่นให้ความเชื่อถือ เช่น รีวิวภาพยนตร์ , รีวิวอาหาร, รีวิวท่องเที่ยว, รีวิวเครื่องสำอาง เป็นต้น รายได้จะมาจากค่าโฆษณาสินค้าหรือร้านค้าที่นำมาลงในเพจนั้นเอง

ลงทุน…ออมเงิน เพิ่มรายได้ในแบบเจนวาย

สำหรับการออมเงินนั้นไม่มีกฎเกณฑ์ตายตัวว่าคนเจนวายควรออมเงินมากน้อยแค่ไหนต่อเดือน วิธีที่ง่ายที่สุด คือ คิดเป็นเปอร์เซ็นต์จากเงินเดือน เช่น 10% ถึง 15% ของรายได้ทุกเดือน เป็นต้น ยิ่งฐานเงินเดือนเพิ่ม เปอร์เซ็นต์เงินออมจึงควรเพิ่มตามไปด้วย  แม้คนเจนวายจะรู้เรื่องนี้แล้ว แต่ก็ทำได้ยาก ดังนั้น “ระบบตัดเงินอัตโนมัติ” คือคำตอบ ทันทีที่มีเงินเดือนเข้า มันจะถูกตัดไป บัญชีเพื่อการลงทุน หรือบัญชีเงินออม ก่อนเสมอ Gen Y ที่มีรายได้สูง มีแนวโน้มออมเงินในรูปแบบเงินฝากลดลง และสนใจลงทุนในกลุ่มที่มีโอกาสได้รับผลตอบแทนสูงขึ้น

จัดการการเงินที่เหมาะสมในแบบคนเจนวาย

  1. ควบคุมค่าใช้จ่ายในแต่ละเดือนอย่างสมาร์ท ด้วยการทำบันทึกรายรับรายจ่ายบนสมาร์ทโฟน โดย แอปพลิเคชันต่างๆ เพื่อทำให้เรารู้สถานะทางการเงินของตนเองได้ทุกที่ทุกเวลา
  2. วางแผนในการเคลียร์หนี้สินให้หมดสิ้นตั้งแต่วันที่เงินเดือนออก ทั้งค่าที่พัก ค่าโทรศัพท์ ค่าน้ำ ค่าไฟ ค่างวดรถ หนี้บัตรเครดิต
  3. เมื่อจ่ายหนี้สินต่าง ๆ หมดแล้ว สิ่งที่ต้องทำคือแบ่งเงินออม เพื่อที่จะสามารถนำเงินที่เหลือไปใช้จ่ายอื่นๆ ได้ ทางที่ดีถ้าสามารถวางแผนการออมเงินได้ จะเป็นแรงจูงใจอย่างดี เรียกง่ายๆ ว่าการตั้งเป้าหมาย เมื่อมีเป้าหมายก็ต้องมีการวางแผนการใช้เงินที่ชัดเจนขึ้น การออมส่วนใหญ่ที่แนะนำ เช่น การลงทุนหุ้น ตราสารต่าง ๆ การออมเงินสด การเข้าโครงการออมเพื่อวัยเกษียณ เป็นต้น ที่สำคัญคืออย่าเก็บเงินไว้ในบัญชีธนาคารเพียงอย่างเดียวเพราะดอกเบี้ยนั้นไม่คุ้มกับอัตราเงินเฟ้อ แต่ควรนำเงินส่วนหนึ่งไปทำให้งอกเงยผ่านการลงทุนในหุ้นหรือกองทุนรวมหุ้นบ้าง เพื่อเพิ่มผลตอบแทนได้เร็วขึ้น
  4. การวางแผนภาษี เพราะต้องเสียภาษีทุกคน ดังนั้นการวางแผนทางการเงินจะทำให้เรารู้ว่าการลงทุนใดสามารถช่วยลดหย่อนภาษีได้บ้าง เช่น ความรู้ในการซื้อ LTF/RMF และประกันชีวิต ที่สามารถนำมาหักลดหย่อนเพิ่มเติมได้

เรื่องของการเงินเป็นเรื่องที่ต้องวางแผน ถึงแม้จะอยู่ในวัยเจนวาย แต่ก็ต้องเตรียมการเผื่อวันข้างหน้า และวัยเกษียณด้วย การจัดการการเงินและการออมจึงเป็นเรื่องสำคัญ คิดใส่ใจเรื่องเงินในตอนนี้รบรองว่าชีวิตดีแน่นอน

คอลัมน์เศรษฐกิจคิดง่ายๆ : การทำงาน ธปท. ต้องเร็วและกว้างขึ้น : วันจันทร์ที่ 31 ธันวาคม 2561

คอลัมน์ เศรษฐกิจคิดง่ายๆ

การทำงาน ธปท. ต้องเร็วและกว้างขึ้น

นสพ.โพสต์ทูเดย์  วันจันทร์ที่ 31 ธันวาคม 2561

“การทำงานของ ธปท.ใน 1 ปีข้างหน้าต้องเร็วและกว้างขึ้น เพราะเศรษฐกิจโลกกำลังเข้าสู่ภาวะปกติและสภาพคล่องลดลง และเรื่องสงครามการค้าและปัญหาภูมิรัฐศาสตร์โลก รวมถึงการเลือกตั้งที่จะมีขึ้น ต้องติดตามความ ต่อเนื่องของโครงการลงทุน เพราะมีผลต่อเศรษฐกิจไทย”
          

คำกล่าวของท่านผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย ที่มีการเผยแพร่ต่อสื่อมวลชนในช่วงสัปดาห์สุดท้ายของปี ได้แสดงให้เห็นถึงภาพของความท้าทายและความไม่แน่นอนในหลายสิ่ง เช่น การเมืองระหว่างประเทศจะมีผลมายังระบบเศรษฐกิจไทย การเมืองภายในประเทศจะเป็นอย่างไรต่อไป
          

แม้แต่เรื่องของสภาวะอากาศและสภาพแวดล้อมอาจจะมีผลกระทบกับเกษตรกรที่มีจำนวน 5.76 ล้านครัวเรือน มีสมาชิก 15.65 ล้านคน ถือครองที่ดิน 12.80 ล้านแปลง สิ่งสำคัญมากๆ คือ เกือบ 40% ของครัวเรือนเกษตรกรไทยมีรายได้ต่อหัวต่อปีต่ำกว่าเส้นความยากจนของประเทศ คือ รายได้ไม่ถึง 3.2 หมื่นบาท/ปี  หากเกษตรกรยังไม่ลืมตาอ้าปากได้ ตราบนั้นความมั่นคงยั่งยืนก็ยากที่จะเกิดในระบบเศรษฐกิจ การเมือง การปกครองได้
          

ท่านผู้ว่าการ ธปท.ได้เผยต่อไปอีกว่าในแผนยุทธศาสตร์ระยะ 3 ปี ธนาคารกลางทำได้แล้ว 65% ประกอบด้วย
          

(1) ระบบการชำระเงิน ซึ่งทำได้เร็วกว่าแผน ทั้งการลดค่าธรรมเนียม การชำระเงินผ่านอิเล็กทรอนิกส์ของภาคประชาชนแต่ในส่วนของภาคธุรกิจยังเดินค่อนข้างช้ากว่าแผน
          

(2) ด้านฐานข้อมูล (Data Analytic)ทำได้ดีและเร็วกว่าที่คาดไว้ ได้มีการนำมาประยุกต์ใช้และต่อยอดออกมาตรการ เช่น เกณฑ์การกำกับดูแลสินเชื่อที่ไม่มีหลักประกัน หรือมาตรการควบคุมอสังหาริมทรัพย์
          

(3) เสถียรภาพระบบการเงิน ความเชื่อมโยงทั้งกระทรวงการคลัง สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ที่ต้องสร้างความร่วมมือเพื่อป้องกันไม่ให้ปัญหาลุกลาม
          

(4) ที่ยังไม่ได้ผลและต้องเร่งมือ คือ การเข้าถึงบริการทางการเงินของธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SME)
          

เรื่องของการอนุญาตให้นำ Information Base Lending มาใช้ในการพิจารณาสินเชื่อได้ โดยเฉพาะลูกค้าเอสเอ็มอีขนาดเล็กๆ หรือ SSME ที่เริ่มนำมาใช้มากขึ้น
          

เรื่องสุดท้ายที่สำคัญมากๆ ก็คือ สหกรณ์ออมทรัพย์ที่ยังเป็นความเสี่ยงของระบบ เพราะมีเงินฝากราว 15-20% ของทั้งระบบ ขณะนี้กฎหมายการส่งเสริมและการกำกับดูแลได้ผ่านสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) แล้ว
          

ผู้เขียนขอเป็นแรงใจและขอให้กำลังใจทุกท่านที่กำหนดนโยบายสำหรับความท้าทายในปี 2562  แน่นอนว่า…มันคงไม่ง่าย แต่เชื่อได้ว่ามันจะถูกจัดการได้อย่างเหมาะสมบนความรู้ ความสามารถ และความมุ่งหมายที่จะให้ประเทศของเรา เศรษฐกิจเรามั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืนนะครับ

วางแผนการช้อปแบบคูลๆ ในช่วงปลายปี

ใกล้สิ้นปีอย่างนี้ ก็ต้องมีภาษีสังคมที่จะต้องเสีย ถึงจะมีโบนัส แต่เมื่อช้อปให้รางวัลชีวิตกับตัวเองบ้าง เลี้ยงฉลองแจกของขวัญไปบ้าง เผลออีกทีโบนัสหมดเกลี้ยงเลย แบบนี้จะเหลืออะไรบ้างนี่ ดังนั้นเราควรวางแผนการใช้เงินให้ดีๆ เพื่อที่ปลายปีนี้จะได้ฉลองเข้าสู่ปีใหม่ได้สุดฟิน

เลือกของขวัญให้โดนใจ

  1. ของขวัญควรเป็นของที่คนรับชอบ คนทุกคนในโลกนี้มีความแตกต่างกันโดยสิ้นเชิง มีความชอบและไม่ชอบที่ไม่เหมือนกัน ลองลิสต์รายการสิ่งของที่เขาชอบดูแล้วเลือกว่าจะซื้ออะไร
  2. ซื้อของขวัญที่น่าประทับใจ ถ้าของขวัญนั้นน่าประทับใจและน่าจดจำ หรือเป็นของขวัญที่มีความหมายกับผู้รับ ผู้รับนั้นก็จะจดจำของขวัญและทะนุถนอมของขวัญชิ้นนั้นไปอีกนาน
  3. ควรอธิบายเหตุผลที่ซื้อของขวัญชิ้นนั้นมาให้ เมื่อคุณตกลงจะซื้อของขวัญให้ใครสักชิ้นหนึ่ง ตอนที่คุณยื่นของขวัญให้ผู้รับคุณควรจะอธิบายด้วยว่า ที่ซื้อของชิ้นนี้มาให้เพราะอะไร
  4. ของขวัญไม่จำเป็นต้องมีราคาแพง เลือกของขวัญที่คุณภาพการใช้งานเป็นหลัก หรือคุณอาจจะทำขึ้นมาเองก็ได้ ซึ่งของแฮนด์เมดนั้นมักจะมีคุณค่าทางจิตใจมากกว่า
  5. สังเกตดูว่าคนคนนั้นพูดว่าอยากได้อะไร คอยสังเกตดูขณะสนทนากัน ว่าคนที่คุณจะซื้อของขวัญให้นั้น พูดเปรยหรือแสดงอาการว่าอยากได้อะไรเป็นพิเศษในช่วงนั้นหรือไม่

เทคนิคช้อปปิ้งให้มีเงินเหลือเก็บออมไปพร้อมกัน

  1. เทคนิคแรก อย่าช้อปตอนต้นเดือน เก็บเงินก่อน แบ่งค่าใช้จ่ายก่อน แล้วค่อยช้อปช่วงกลางเดือน หรือก่อนสิ้นเดือน เพราะเป็นช่วงเวลาที่ไม่ค่อยมีคนช้อป ร้านค้ามักจะลดราคาในช่วงนั้นเพื่อดึงดูดลูกค้า
  2. ฝึกวินัยในตัวเอง วางแผนไว้ว่าจะช้อปอะไรบ้าง อย่างละกี่ชิ้น ต้องให้ของขวัญกี่คน ลิสต์มาว่ามีจำนวนเท่าไหร่  ซื้อของขวัญเผื่อแลกเปลี่ยน และเล่นจับฉลากอีกเท่าไหร่ วางแผนแค่ไหนก็ซื้อแค่นั้น ต้องเคร่งครัด มีวินัย ทำตามแผนที่เราวางไว้
  3. รอช้อปปิ้งตอนลดราคา บางช่วงห้างสรรพสินค้าลดราคา 20-70% รับรองว่าประหยัดชัวร์ แต่อาจต้องอาศัยความเร็วหน่อยนะ เพราะของดีคนก็หมายตา ยิ่งช่วงเทศกาลแบบนี้ มีกิจกรรมลด แลก แจก แถมกันรัวๆ
  4. ใช้เงินสด การช้อปปิ้งไม่ควรใช้บัตรเครดิต ถึงมีก็ไม่ควรใช้ เพราะจะใช้เพลินจนไม่รู้ลิมิตของตัวเอง แนะนำให้ใช้เงินสดที่มีในกระเป๋า เพราะเราจะรู้ทันทีว่ามีเงินเหลือเท่าไหร่ เพียงพอสำหรับค่าใช้จ่ายอื่นๆ หรือไม่ ดังนั้น แนะนำให้ทิ้งบัตรเครดิตไว้ที่บ้านแล้วพกแต่เงินสดไปช้อปปิ้งดีกว่า แต่ควรวางแผนการช้อปปิ้งก่อนออกจากบ้านเสมอว่าวันนี้จะช้อปอะไรบ้าง มีอะไรที่จำเป็นต้องซื้อบ้าง และให้ซื้อของจำเป็นใช้ก่อน จากนั้นจึงค่อยซื้อของที่อยากได้ หรือของอื่นๆ
  5. อย่าไปเพราะเพื่อนชวน ข้อนี้สำคัญ บางทีเพื่อนชวนเพราะเพื่อนกำลังอยากช้อป ถ้าเราไปทุกครั้งที่เพื่อนชวน รับรองช้อปตามเพื่อนทุกครั้งแน่นอน โดยปกติคนไทยไม่ค่อยกล้าปฎิเสธ เพื่อนลุ้น เพื่อนเชียร์ให้ซื้อ ขัดไม่ได้เพราะเกรงใจเพื่อนเลยต้องซื้อทั้งๆ ที่ไม่จำเป็น
  6. ห้ามกดเงินสดจากบัตรเครดิต เดี๋ยวนี้บัตรเครดิตหลายๆ เจ้า มีการอนุมัติบัตรกดเงินสดให้กับลูกค้ามากขึ้น ซึ่งหลายๆ คนที่อยากทำบัตรเครดิต อาจลืมมองความเป็นจริงในส่วนอื่น และอยากได้บัตรกดเงินสดนี้มาใช้กัน แต่ข้อห้ามในการใช้บัตรเครดิตที่ควรจะนึกไว้เสมอ คือไม่ควรกดเงินสดจากบัตรเครดิตออกมาใช้เป็นอันขาด เพราะการกดเงินสดจากบัตรเครดิตนั้น คุณจะต้องจ่ายดอกเบี้ยให้กับธนาคารในอัตราที่สูง และที่สำคัญก็คือค่าธรรมเนียม 3% ที่เรียกเก็บจากการกดเงินออกมาให้ในแต่ละครั้ง นั่นหมานความว่ายอดหนี้ของคุณจะเพิ่มมากกว่าจำนวนเงินที่กดจริง และถือว่าเป็นเปอร์เซ็นต์ที่สูงทีเดียว

ในความเป็นจริงแล้ว การช้อปปิ้งในช่วงเทศกาล เป็นการใช้จ่ายที่สามารถวางแผนได้ เพราะเราจะรู้ล่วงหน้าอยู่แล้วว่าจะต้องใช้จ่ายอะไรบ้าง ดังนั้นถ้าไม่อยากช้อปจนเงินหมดก็ต้องใช้เงินอย่างมีการวางแผน และมีสติ เพื่อที่จะได้มีเงินเหลือเก็บเหลือใช้แถมได้ของครบครันด้วย

ลองอ่าน สายเปย์ไม่โอเค… ควบคุมการใช้จ่าย ก่อนหมดตัวนะคะซิส! แล้วจะรู้ว่ามีเงินเหลือใช้ให้เหลือเก็บมันจำเป็น

เรื่องน่าอ่าน