Blog Page 149

คอลัมน์เศรษฐกิจคิดง่ายๆ : ตัวอย่างทุกข์ของคนที่คิดจะมีบ้านเวลานี้ : วันจันทร์ที่ 24 ธันวาคม 2561

คอลัมน์ เศรษฐกิจคิดง่ายๆ

ตัวอย่างทุกข์ของคนที่คิดจะมีบ้านเวลานี้

นสพ.โพสต์ทูเดย์ : วันจันทร์ที่ 24 ธันวาคม 2561

 

บทความวันนี้จะขอยกเอาสิ่งที่มีคนถามข้อมูล เพื่อให้ผู้คนโลกโซเชียลช่วยตอบ และเมื่อท่าน ผู้อ่านได้เห็นคำถามและคำตอบ ท่านลองคิดต่อว่าเราๆ ท่านๆ เห็นอะไร

คำถาม : สวัสดีครับ สมาชิกทุกท่าน รบกวนสอบถามเกี่ยวกับการซื้อบ้านเนื่องจากจะซื้อบ้าน แต่มีความกลัวจะกู้ไม่ผ่าน

1.เคยติดเครดิตบูโรมานานมาก เพราะไปทำบัตรให้ญาติ จนตอนนี้จะซื้อบ้าน เลยตั้งใจปิดบัญชี (สิ้นเดือน ธ.ค. 2561)
วิเคราะห์ข้อเท็จจริงโดยผู้เขียน(1) ให้คนอื่นก่อหนี้ในชื่อตนด้วยความ สมัครใจบนพื้นฐานความเชื่อใจเพราะเป็นญาติ

(2) หากเมื่อทราบว่าญาติคนนั้นไม่ไปชำระหนี้แต่หนี้นั้นเป็นชื่อตนตนจะเป็นคนเสียหายในประวัติ เหตุใดจึงไม่ชำระหนี้ไปก่อนแล้วไปติดตามเอากับญาติหรือแจ้งให้ญาติมาชำระหรือปิดบัตรปิดบัญชีไม่ให้ก่อหนี้ลุกลาม จากนั้นตัวเองในฐานะคนรับบาปเคราะห์ก็ไปเจรจาชำระหนี้กับเจ้าหนี้

เพราะการไปออกบัตรให้ญาติบัตรจะเป็นชื่อเราถึงแม้จะเป็นบัตรเสริมหนี้ก้อนนั้นก็เป็นของเรา เจ้าหนี้จะมาทวงที่เราเสมอ เพราะฉะนั้นท่านผู้อ่านอย่าเพิ่งสับสนนะครับว่า พอเราไปออกบัตรให้คนอื่นในเครดิตของเรา แล้วเราไม่ควรรับผิดชอบ เจ้าหนี้เขาไม่มีทางรู้ว่าเราวางแผนคิดกันอย่างไรตอนยื่นขอบัตร  เรากับเขาทำสัญญา หรือไม่ ด้วยตนเองใช่ไหม สัญญานั้นมันระบุว่า เป็นหนี้ต้องใช้หนี้ สัญญาต้องเป็นสัญญา เราเป็นผู้ใหญ่แล้วหรือไม่ แล้วตัวเราจะจั่วหัวว่าหนี้นั้นเราไม่ได้ก่อด้วยเหตุแห่งความสงสารไม่ได้นะครับ  ข้อเท็จจริงคือตัวเราอนุญาตให้บุคคลอื่นบนความเชื่อใจมาใช้เครดิตของเราไปก่อหนี้ในนามของเรา

สังคมของเรามักจะเริ่มต้นอธิบายเหตุที่มาของปัญหาเรื่องหนี้สินบนความคิดความเห็น ต้องกลับไปที่ความเป็นจริงที่เจ็บปวดในเวลานั้น ผู้เขียนขอให้ข้อคิดว่าหากญาติคนนั้นเขาสามารถออกบัตรได้เองแล้วแสดงว่าเขาผ่านการประเมินความสามารถในการชำระหนี้ เหตุใดเขาจึง ไม่ทำหรือทำแล้วมันไม่ผ่านหากตัวเราทราบข้อเท็จจริงแล้วว่าญาติคนนั้นมีเครดิตไม่ถึง ทำไมเราจึงมีข้อมูลที่ดีกว่าในการกล้า (ผู้เขียนใช้คำว่ากล้านะครับ)  ที่จะพิจารณาเอาตนเองเข้าไปแบก ความเสี่ยงแทน มันจึงมาที่บทสรุปว่า ตัวเรามีเหตุและผลใช้เหตุและผลไหมในการตัดสินใจ

(3) คำว่าติดเครดิตบูโร น่าจะหมายถึงว่ามีการค้างชำระเกิดขึ้นแต่ไม่มีการจัดการชำระให้เสร็จสิ้น ดังนั้น อย่าไปเลี่ยงใช้คำว่าติดเครดิตบูโรเลยครับ คำตอบตรงๆ ที่ชัดเจนคือ ค้างชำระหนี้ คำคำนี้เป็นคำที่เป็นความจริงที่เจ็บปวด คนพูดจะมีทั้งความกลัวความอายแต่มันคือความจริง ถ้าเรายังไม่รับความจริง เราก็จะไม่คิดเต็มร้อยที่จะแก้ปัญหา ประเด็นอยู่ตรงนี้ครับว่า มีหนี้ค้างชำระก็ต้องชำระก่อนครับเมื่อชำระหนี้นั้นแล้ว ยอดหนี้จะเป็นศูนย์  ประวัติที่ระบุว่าเดือนนั้นที่ค้างชำระก็จะอยู่ในระบบ 3 ปี พ้นจาก 3 ปีไปแล้วข้อมูลนั้นก็จะหายไป แต่ถ้าตัวเราไม่ไปชำระหนี้ก้อนนั้น เดือนต่อๆ มามันก็จะแสดงรายการว่าค้างชำระอย่างต่อเนื่องจนถึงปัจจุบันแม้ว่าเดือนในอดีตที่ระบุว่าค้างชำระจะพ้น 3 ปี และถูกเอาออกไปแล้ว  แต่เดือนใหม่ที่ระบุว่าค้างชำระก็ยังมีการรายงานเข้ามาโดยตลอดภาษาชาวบ้านคือ ข้อมูลค้างชำระเดือนใหม่ไหลเข้า ข้อมูลค้างชำระเดือนเก่าไหลออก ใหม่เข้าเก่าออกข้อมูลเดือนปัจจุบันก็ยังคงแสดงอยู่

สมมติปีปัจจุบันคือปีที่ 10 ข้อมูลเครดิต บูโรจะแสดงผลความจริงในปีที่ 10 ปีที่  9 และ ปีที่ 8 ย้อนหลัง ถ้าเราค้างชำระในปีที่ 5 แล้วจนบัดนี้ยังไม่ชำระ ข้อมูลค้างชำระจะไหลเข้าไหลออกอย่างที่ผู้เขียนได้เรียนไว้ตั้งแต่ปีที่5จนถึงปีที่ 10 จนถึงปัจจุบันสิ่งที่ปรากฏคือยอดหนี้ที่ค้างชำระในจุดเริ่มต้นเมื่อปีที่ 5 แต่ในรายงานจะถูกแสดงแค่ย้อนหลัง 3 ปี มันจึงระบุข้อมูลใน วันนี้คือปีที่  10 ปีที่ 9 และปีที่ 8 เพราะว่ามันคือความจริงว่า จากวันนั้นจนถึงวันนี้มันยังไม่มีการชำระหนี้

2.เพิ่งเปลี่ยนที่ทำงานได้แค่ 3 เดือน มี ผลกระทบต่อการกู้ไหม หรือต้องรอให้ผ่านโปร และรอให้ครบ 6 เดือนก่อนค่อยยื่นกู้
—-อันนี้แล้วแต่เงื่อนไขผู้ให้กู้—-

3.ปัจจุบันไม่มีภาระอะไร รับเงินเดือนประมาณ 3.5 หมื่นบาท/เดือน  จะสามารถกู้ได้ประมาณเท่าไรครับ (บ้านที่ไปดูมาประมาณ 2.9 ล้านครับ)
—-ปรึกษาเจ้าหน้าที่สถาบันการเงินได้ เลยครับ  เขาจะมีตารางข้อมูลช่วยการคำนวณอยู่แล้ว—

ท้ายสุด ผู้คนที่อยู่ในแวดวงการเงิน การส่งเสริมการให้ความรู้เรื่องทางการเงินคงต้องหันกลับมาถามตัวเองว่า เหตุใดคนเขาไปถามความเห็นจากโลกที่เขาไม่รู้จักตัวตน คนให้ คำตอบ ตอบถูกตอบผิดหรือไม่ ทำไมเราๆ ท่านๆ ที่เปิดเผยพร้อมให้คำตอบเขาจึงไม่มาหา เขาไม่เชื่อใจไม่เชื่อมั่นตรงไหนเราตอบคำถามได้ไม่ถูกต้อง-ไม่ถูกใจตรงไหนกัน ทั้งนี้ เพื่อเอามาปรับปรุงบริการครับ

หยุดให้บริการตรวจเครดิตบูโร (ชั่วคราว) วันที่ 29-31 ธันวาคม 2561 และวันที่ 1 มกราคม 2562 เนื่องในวันสิ้นปีและวันขึ้นปีใหม่

หยุดให้บริการตรวจเครดิตบูโร (ชั่วคราว)

วันที่ 29-31 ธันวาคม 2561 และวันที่ 1 มกราคม 2562

เนื่องในวันสิ้นปีและวันขึ้นปีใหม่

ขออภัยในความไม่สะดวกค่ะ

คอลัมน์เศรษฐกิจคิดง่ายๆ : มองมุมต่างกันในประเด็น หนี้ครัวเรือนไทย : วันจันทร์ที่ 17 ธันวาคม 2561

คอลัมน์ เศรษฐกิจคิดง่ายๆ

มองมุมต่างกันในประเด็น หนี้ครัวเรือนไทย

นสพ.โพสต์ทูเดย์ : วันจันทร์ที่ 17 ธันวาคม 2561

ในสัปดาห์ที่ผ่านมา สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือ สภาพัฒน์ ได้ให้ข้อมูลว่าหนี้ครัวเรือนไทยไตรมาส 2 ปี 2561 มีจำนวนทั้งสิ้น 12.34 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้น 5.7% เทียบกับปีก่อน และได้ลดระดับลงมาเป็น 77.5% ต่อ จีดีพี จากที่เคยสูงสุด 80.8% ต่อ จีดีพี เมื่อปี 2558 ในข่าวยังมีข้อมูลเพิ่มว่า สัดส่วน 73% เป็นการกู้เพื่อซื้อสินทรัพย์ถาวร เช่น กู้ซื้อที่ดิน ที่อยู่อาศัย รถยนต์ มอเตอร์ไซค์ และอสังหาริมทรัพย์อื่น ถือว่าเป็นการก่อหนี้ให้เกิดสินทรัพย์ที่เพิ่มขึ้นและใช้ประโยชน์ได้ในอนาคต  สภาพัฒน์มองว่ายังไม่น่าเป็นกังวล
          

ในฟากฝั่งของผู้คนที่ออกมาพูด ที่เน้นความเป็นห่วงมาก เพราะมีข้อมูลจากการสำรวจว่า ครัวเรือนมีหนี้เฉลี่ย 3 แสนกว่าบาท 60-70% เป็นหนี้ในระบบ ส่วนที่เหลือเป็นหนี้นอกระบบตัวอย่างเช่น มีรายได้ 3 หมื่นบาท/เดือน แต่มีภาระหนี้ที่ต้องชำระทุกเดือนประมาณ 1.5 หมื่นบาท ซึ่งคิดเป็นประมาณครึ่งหนึ่งของรายได้ หากวัดจากจุดนี้ก็ถือได้ว่าครอบครัวนี้  ครัวเรือนนี้มีภาระการจ่ายหนี้เต็มเพดานความสามารถในการชำระหนี้
          

ในมุมมองผู้เขียนเห็นว่าทั้งสองฟากฝั่งต่างก็มีข้อเท็จจริงที่น่าสนใจดังนี้
          

1.ข้อมูลระดับ Macro มองได้ว่าปัญหายังไม่ได้ร้ายแรง เช่น อดีต ดีขึ้น แต่ก็ต้องติดตามใกล้ชิด และมีข้อห่วงใยในความกู้ง่ายจากฟินเทค  เพราะท่านก็เข้าใจนิสัยคนไทยที่ก่อหนี้เก่งปัญหาเรื่องนี้จะหมุนวนมาหลอกหลอนกันอีกในอนาคต
          

2.ข้อมูลระดับ Micro จากการสำรวจบอกว่า บางกลุ่ม บางระดับรายได้ โดยเฉพาะที่ต่ำกว่า 3 หมื่นบาท/เดือน มีความสามารถชำระหนี้ค่อนข้างตึงตัวหากเผลอก่อหนี้เพิ่ม จะนำพาชีวิตกลับไปจมบ่อหนี้อีก
          

3.มุมมองของผู้เขียน  ขอเสนอให้ท่านผู้อ่านคิดและลองพิจารณา  เห็นด้วย เห็นต่าง ก็ไม่ว่ากันครับ
          (3.1) หนี้ครัวเรือน 12 ล้านล้านบาท ยังคงเป็นปัญหากับระบบเศรษฐกิจไทยและหนี้ครัวเรือนนี้ยังมีการเติบโตในระดับพอสมควร
          (3.2)  ขีดความสามารถในการชำระหนี้ แม้ภาพใหญ่จะพอไปได้ แต่บางกลุ่มถือว่าวิกฤตและเสี่ยงกลายเป็นหนี้มีปัญหา
          (3.3)  หากเรามีข้อมูลหนี้แล้ว ถ้าเรามีข้อมูลรายได้เพิ่มเติม จะเห็นภาพคมชัดกว่านี้  จึงมีสิ่งที่เรียกว่า อัตราวัดความสามารถในการชำระหนี้ (Debt service ratio) หรือภาระหนี้ต่อรายได้ (Debt to income ratio) เพื่อติดตาม วิเคราะห์หนี้สินภาคครัวเรือนไทยได้อย่างสมบูรณ์  ทำให้เกิดความมั่นใจว่า ครัวเรือนไทยจะไม่กลับไปจมบ่อหนี้ ตะกายบ่อหนี้อีกต่อไปอย่างสมบูรณ์
          

ข้อคิดจากเรื่องนี้ คือ การรับข้อมูลข่าวสารมาไม่ว่าจากแหล่งใด จำเป็นต้องแยกแยะ วิเคราะห์ และอย่าเชื่อไปตามคำกล่าวที่บอกต่อๆ กันมา
          

ยิ่งเวลานี้มนุษย์การเมืองกำลังออกมาเป็นผู้สื่อสารข้อมูล ต่อสังคม  หากสติไม่มั่นคง ท่านผู้อ่านจะเป็นเหยื่อของความหลอกลวงได้ครับ

ข่าวประชาสัมพันธ์ : ‘ยูโอบี’สวนกระแสแบงก์เพิ่มสาขารุกกลุ่มไลฟ์สไตล์ : นสพ.ฐานเศรษฐกิจ วันที่ 13 ธันวาคม 2561

ข่าวประชาสัมพันธ์ :

‘ยูโอบี’สวนกระแสแบงก์เพิ่มสาขารุกกลุ่มไลฟ์สไตล์

นสพ.ฐานเศรษฐกิจ วันที่ 13 ธันวาคม 2561

 

ยูโอบีลุยปรับโฉมสาขาใหม่ เน้นเจาะตามไลฟ์สไตล์ จับกลุ่มคนรวย เจ้าของธุรกิจ คนรุ่นใหม่ ชี้ วางแผนปี 64 มีสาขา 170 แห่งจากสิ้นปี 62 อยู่ที่ 158 แห่ง สวนทางระบบแบงก์ หวังช่วยสร้างรายได้โต 3-4 เท่าของจีดีพี หรือ 12-15%

นายเจมส์ รามา ปัทมินทร วิภาส ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่เครือข่ายสาขาและบริการดิจิทัล ธนาคารยูโอบี(ไทย)เปิดเผยว่า จากพฤติกรรมผู้บริโภคที่หันมาทำธุรกรรมการเงินผ่านช่องทางดิจิตอลมากขึ้น ส่งผลให้ตัวเลขการทำธุรกรรมผ่านสาขาธนาคารทั้งระบบลดลง 27% ซึ่งยูโอบีเองใกล้เคียงกับค่าเฉลี่ยทั้งระบบ

อย่างไรก็ตาม จากผลวิจัยพบว่า ลูกค้ากลุ่มครอบครัวและเจ้าของธุรกิจยังคงใช้บริการสาขาอย่างน้อย 1 ครั้งต่อเดือน เพื่อขอคำปรึกษาทางการเงินเช่นเดียวกับลูกค้ากลุ่มคนรุ่นใหม่ แม้ว่าจะทำธุรกรรมบนช่องทางดิจิตอลมากขึ้น แต่ยังต้องการขอคำปรึกษาทางการเงิน ดังนั้นเพื่อปรับตัวรับกระแสดิจิตอล จึงปรับกลยุทธ์สาขาใหม่

โดยวางแผนโรดแมปปี 2560-2564 ซึ่งปีนั้นจะมี 170 สาขาจากสิ้นปี 2562 มี 158 สาขา เฉลี่ยเปิดและปิดรวมกัน 16 สาขา และจะเน้นเจาะกลุ่มลูกค้าตามไลฟ์สไตล์ ทั้งกลุ่มครอบครัว เจ้าของกิจการ และคนรุ่นใหม่หรือสตาร์ตอัพ และบางพื้นที่หากมีผู้ประกอบการธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม(เอสเอ็มอี) มาก ก็จะมีพื้นที่ Business Coner หรือลูกค้ารายย่อยที่ต้องการสินเชื่อส่วนบุคคลจะมีสาขา UOB Express ซึ่งจะร่วมกับบริษัท ข้อมูลเครดิตแห่งชาติ (NCB) ให้ลูกค้าสามารถตรวจสอบข้อมูลเครดิตเพื่อขอสินเชื่อได้ เพื่อให้เกิดความเข้าใจลูกค้าอย่างแท้จริง
         

จ่าย และที่เหลือ 30% จะเป็นพื้นที่ให้คำปรึกษาทางการเงิน (Advisory) มาเป็น 70% ให้คำปรึกษา และ 30% ให้บริการธุรกรรมทั่วไป เฉลี่ยมีพนักงาน 6-8 คนต่อสาขา โดยจะมีพนักงานที่มีใบอนุญาต (ไลเซนส์) เฉลี่ย 3 คนต่อสาขา จากปัจจุบันมีพนักงานที่มีไลเซนส์ 1,200 คน เพียงพอกับสาขาและฐานลูกค้าที่มีอยู่กว่า 2 ล้านคน โดยจะเป็นลูกค้าที่มีเงินฝากและสินทรัพย์ (AUM) กับธนาคารประมาณ 1 แสนราย และลูกค้าเอสเอ็มอี 5 หมื่นราย อย่างไรก็ดี ในระยะข้างหน้าจะเพิ่มพนักงานที่มีไลเซนส์เพิ่มขึ้นเป็น 1,500 ราย

ทั้งนี้ จากการปรับรูปแบบสาขาและเจาะฐานลูกค้าเซ็กเมนต์มากขึ้น คาดว่าจะส่งผลสร้างรายได้เพิ่มขึ้นเฉลี่ย 50% ดังนั้นจึงตั้งเป้าเติบโตในแง่รายได้และกำไรรวมที่ 3-4 เท่าของจีดีพี โดยคาดว่า อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ(จีดีพี) อยู่ที่ 3% หรือคิดเป็นการเติบโต 12-15% จากช่วงครึ่งปีแรกธนาคารที่มีรายได้เติบโต 27% หรือมีกำไรสุทธิมากกว่าทั้งระบบธนาคารถึง 3 เท่า โดยเงินฝากเติบโต 6.3% จากระบบเติบโต 1.8% และสินเชื่อเติบโต 3.6% จากระบบเติบโต 2.7% ส่วนการลงทุนขยายตัว 8.2%

ตรวจเครดิตบูโร ฟรี! งาน “Thailand Smart Money 2018” กรุงเทพฯ วันที่ 14-16 ธันวาคม 2561 เวลา 10.00 – 19.00 น. Sky hall ชั้น 3 เซ็นทรัลพลาซา ลาดพร้าว

ตรวจเครดิตบูโร ฟรี! งาน “Thailand Smart Money 2018” กรุงเทพฯ
วันที่ 14-16 ธันวาคม 2561 เวลา 10.00 – 19.00 น.
Sky hall ชั้น 3 เซ็นทรัลพลาซา ลาดพร้าว (บูธ K2 ติดกับบูธ EXIM และ KTC)
ฟรี!!…บริการตรวจเครดิตบูโร แต่ขอรับเป็นเงินบริจาคแทน พร้อมเปิดคลินิกเครดิตบูโรให้คำปรึกษา

 

คอลัมน์เศรษฐกิจคิดง่ายๆ : Digital Lending จะเห็นชัดเจนในปี 2562 : วันจันทร์ที่ 10 ธันวาคม 2561

คอลัมน์เศรษฐกิจคิดง่ายๆ

Digital Lending จะเห็นชัดเจนในปี 2562

นสพ.โพสต์ทูเดย์ วันจันทร์ที่ 10 ธันวาคม 2561

บทความในวันนี้ซึ่งเข้าสู่โค้งสุดท้ายปลายปี 2561 เราๆ ท่านๆ จะเห็นว่าทิศทาง ในเทคโนโลยีใหม่ในปี 2562 ของเหล่าสถาบันการเงินที่เปิดเผย ออกมานั้น จะเน้นลงทุนในเทคโนโลยีที่เกี่ยวกับการต่อยอดหรือช่วยให้การปล่อยสินเชื่อหรือชำระเงินได้สะดวกและง่ายขึ้นโดยมีเรื่อง Digital Lending และ Payment เป็นหลัก

ในเรื่องของ Digital Lending จะพบว่าสถาบันการเงินส่วนใหญ่หันมาให้ความสำคัญกับการปล่อยสินเชื่อบนออนไลน์มากขึ้น บนแนวคิด พื้นฐาน Information Base Lending ที่ธนาคารแห่งประเทศไทยสนับสนุน ยิ่งถ้าหากตัวของ Platform และข้อกฎหมายของ National Digital ID รองรับอย่างสมบูรณ์แล้วละก็จะยิ่งทำให้การปล่อยสินเชื่อผ่านดิจิทัลหรือออนไลน์สะดวกและง่ายมากขึ้น

กระบวนการในภาพใหญ่ๆ ของการให้กู้แบบดิจิทัลจะเป็นดังนี้นะครับ1.ลูกค้าเป้าหมายจะถูกส่งข้อมูลให้เกิดความสนใจในบริการผ่านกระบวนการสื่อสารที่ตรงใจ ใช่เลย คือรู้เรื่องของเรา รู้จริงว่าเราต้องการอะไรและรู้ใจว่าเราอยากได้แบบไหน

2.การส่งข้อมูลของผู้ขอกู้จะทำผ่านช่องทางดิจิทัล  ผ่านโทรศัพท์เคลื่อนที่  หรือเครื่องมือสื่อสารสมัยใหม่โดยไม่ต้องเดินทางไปที่สาขา อีกต่อไป

3.เอกสาร รูปภาพ ข้อมูล จะถูกกระบวนการตรวจสอบอย่างเข้มข้นว่าไม่มีการปลอมแปลงใดๆ อันนี้เป็นเทคโนโลยีที่ทันสมัยมากๆ เรื่องของเอกสารแบบกระดาษลืมไปได้เลย

4.กระบวนการพิสูจน์และยืนยันตัวตนที่ชาวแบงก์เรียกว่า KYC จะใช้เทคนิคหลากหลาย ด้วยลายพิมพ์นิ้วมือ  ด้วยใบหน้า ด้วยรหัสผ่าน ตามแนวคิดของการพิสูจน์ ความถูกต้องว่า “You are who you say you are”  เทคโนโลยีจากจีนต่างหลั่งไหลเข้ามาในประเทศเรานะครับ

5.กระบวนการต่อมาคือ การให้ความยินยอมหรือ Consent เพื่อให้แน่ใจว่าการเข้าถึงข้อมูลความเป็นส่วนตัวมีการปกป้องคุ้มครอง ดังนั้นคนยื่นขอกู้จึงถูกกำหนดว่าต้องให้ความยินยอมในเรื่องหนึ่ง… สอง… สาม…

6.การลงลายมือชื่อแบบดิจิทัล เมื่อมาถึงขั้นนี้การเซ็นชื่อในเอกสารต่างๆ  มันไม่มีการเซ็นสดอีกต่อไปแล้ว  การลงนามโดยรหัสหกตัวบ้าง หรือวิธีการอื่นใดตามที่กฎหมายกำหนดก็จะเข้ามาในขั้นตอนนี้ เพื่อรับรองยืนยันเอกสารของคนขอกู้ว่าใช่

7.กระบวนการวิเคราะห์สินเชื่อด้วยข้อมูลจากหลากหลายแห่ง ทั้งของตัวผู้ยื่นขอกู้ และข้อมูลอื่นๆ จากเครดิตบูโร จากแหล่งที่คนขอกู้ได้ให้ Consent ไว้เช่น Platform E-commerce ที่ตนเองเป็นพ่อค้าแม่ค้าออนไลน์เป็นต้น

8.การตัดสินใจและการแจ้งผลจะเป็นระบบที่ประมวลผลโดยเครื่องมือที่ทันสมัยมีการเรียนรู้ด้วยตนเองปราศจากอคติและมีการใช้อารมณ์ของคนน้อยมากๆ เมื่อได้ผลเป็นประการใดแล้วก็อาจมีการสกรีนอีกครั้งเพื่อความมั่นใจว่าไม่หลุดไปปฏิเสธคนที่ควรจะได้ แต่ดันไปรับหรืออนุมัติคนที่ไม่ควรจะได้ เป็นต้น

ทั้งหมดนี้คือใช้ข้อมูลเป็นอาหาร  ข้อมูลเป็นเชื้อเพลิง  ข้อมูลเป็นวัตถุดิบข้อมูลเป็นอากาศในระบบนิเวศแบบใหม่ครับผม

แต่ในไทยสถาบันการเงินคงจะมุ่งกลุ่มที่เข้าไม่ถึงสถาบันการเงินหรือ Unbank จึงต้องมีการบริหารจัดการต้นทุนค่าใช้จ่ายให้ดีมากๆ เพราะขั้นตอนบางอย่างยังไม่ได้เป็นดิจิทัลทั้งหมด เช่น สัญญาตอนสุดท้ายอาจ ยังคงเป็นกระดาษ ซึ่งคงจะไม่คุ้มกับอัตราดอกเบี้ยที่ทางการจะประกาศควบคุมไว้และปัญหาประการสุดท้ายคือกิจการที่จะให้บริการต้องมีทุน จดทะเบียนเบื้องต้นหลายล้านบาทแน่นอน ส่วนการเป็นสมาชิกของบริษัท ข้อมูลเครดิตแห่งชาติ  (เครดิตบูโร) ก็ต้องว่าไปตามความสมัครใจครับ

หยุดให้บริการตรวจเครดิตบูโร (ชั่วคราว) จันทร์ ที่ 10 ธ.ค. 2561 วันพระราชทานรัฐธรรมนูญ

บริษัท ข้อมูลเครดิตแห่งชาติ จำกัด (เครดิตบูโร) แจ้งหยุดให้บริการตรวจเครดิตบูโร (ชั่วคราว) ในวันจันทร์ ที่ 10 ธันวาคม 2561 เนื่องในวันพระราชทานรัฐธรรมนูญ และจะเปิดให้บริการปกติในวันอังคาร ที่ 11 ธันวาคม 2561 ที่ศูนย์ตรวจดังนี้

  • ธอส. (สำนักงานใหญ่) อาคาร 2 ชั้น 2
  • ปากซอยสุขุมวิท 25 อาคารกลาสเฮ้าส์ (ชั้นใต้ดิน)
  • อาคารเพิร์ลแบงก์ค็อก ชั้น 3
  • BTS ศาลาแดง

ศูนย์ตรวจที่ให้บริการปกติในวันที่ 10 ธันวาคม 2561

  • BTS อนุสาวรีย์ชัยฯ
  • ห้างเจ-เวนิว (นวนคร) ชั้น 3 ติดประกันสังคม

ขออภัยในความไม่สะดวก

ชวนตรวจเครดิตสกอริ่ง (NCB Score)…ฟรี

คอลัมน์ เศรษฐกิจคิดง่ายๆ

ชวนตรวจเครดิตสกอริ่ง (NCB Score)…ฟรี

นสพ.โพสต์ทูเดย์ : วันจันทร์ที่ 3 ธันวาคม 2561

บริษัท ข้อมูลเครดิตแห่งชาติ (เครดิตบูโร) สอดรับนโยบายธนาคารแห่งประเทศ ไทย (แบงก์ชาติ) ร่วมสนับสนุนบริการ ทางการเงินสำหรับ SMEs มอบสิทธิพิเศษ เมื่อลูกค้ามาตรวจรายงานข้อมูลเครดิต (ค่าบริการ 100 บาท) และต้องการจะได้เครดิตสกอริ่ง (NCB Score) เพื่อเป็นข้อมูลเพิ่มเติมในการขอสินเชื่อ โดยไม่ต้องเสียค่าบริการเพิ่ม ได้ที่ศูนย์ตรวจเครดิตบูโร 3 แห่ง ตั้งแต่วันนี้-28 ก.พ. 2562

สำหรับสิทธิพิเศษในครั้งนี้ เมื่อท่านมาตรวจรายงานข้อมูลเครดิต และต้องการจะได้เครดิตสกอริ่งเพื่อเป็นข้อมูลเพิ่มเติมในการขอสินเชื่อ โดยไม่ต้องเสียค่าบริการเพิ่ม ณ ศูนย์ตรวจเครดิตบูโร 3 แห่ง ได้แก่ ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) สถานีรถไฟฟ้าบีทีเอส ศาลาแดง และบีทีเอส อนุสาวรีย์ชัยฯ

ทั้งนี้ เป็นการเพิ่มโอกาสให้คนที่ เป็นลูกค้าได้รับบริการสินเชื่อ ที่สอดคล้องกับข้อมูล ความสามารถในการชำระหนี้ และพฤติกรรมการชำระหนี้ของตนมากยิ่งขึ้นกว่าเดิม มีความรู้ที่จะไม่สร้างความ เสี่ยงทางการเงินให้แก่ตนเองเกินสมควร ตลอดรวมไปถึงการเพิ่มพูนความรู้เรื่องทางการเงิน การบริหารจัดการการเงินส่วนบุคคลของตนเองให้เพิ่มมากขึ้น และเพื่อเสริมสร้างความมั่นคงของระบบสถาบันการเงิน และเป็นประโยชน์ต่อระบบเศรษฐกิจของประเทศในฐานะที่เครดิตบูโรเป็นโครงสร้างพื้นฐานด้านข้อมูลของระบบสถาบันการเงิน โดยสถาบันการเงินจะมีข้อมูลและเครื่องมือการวิเคราะห์ที่เป็นมาตรฐานสากล

สำหรับข้อมูลเครดิตที่นำมาใช้ในการจัดทำและคำนวณเครดิตสกอริ่ง เป็นข้อมูลเครดิตที่เครดิตบูโรได้รับจากสถาบันการเงินสมาชิกและมีอยู่ในฐานข้อมูลของเครดิตบูโร ณ ขณะเวลาที่เจ้าของข้อมูลร้องขอหรือเปิดเผย โดยอาจเปลี่ยนแปลงได้ในแต่ละช่วงเวลา

ทั้งนี้ เครดิตสกอริ่ง เป็นเพียง ปัจจัยหนึ่งในหลายปัจจัย ซึ่งสถาบัน การเงินใช้ประกอบการพิจารณา วิเคราะห์สินเชื่อ หรือออกบัตรเครดิตเท่านั้น ซึ่งเป็นดุลพินิจของสถาบันการเงิน แต่ละแห่งที่จะพิจารณานำมาใช้หรือไม่ก็ได้ เครดิตบูโรไม่มีอำนาจหรือมีส่วนเกี่ยวข้องกับการกำหนดผลของการอนุมัติหรือปฏิเสธสินเชื่อหรือการออกบัตรเครดิต ให้แก่ลูกค้าของสถาบันการเงิน แต่ประการใดทั้งสิ้น และจะไม่รับผิดชอบในความ เสียหายใดๆ อันเกิดจากผลเครดิตสกอริ่งในรายงานฉบับนี้ในการขอสินเชื่อหรือบัตรเครดิตหรือการอื่นใดของเจ้าของข้อมูล

ศึกษาข้อมูลเรื่อง “เครดิตสกอริ่ง” ได้ที่ www.ncb.co.th เมนู ตรวจสอบเครดิตบูโร หรือ www.facebook.com/ilovebureau

ชำระค่าตรวจเครดิตบูโร Bureau Easy Pay ผ่าน QR Code

ชำระค่าตรวจเครดิตบูโร Bureau Easy Pay ผ่าน QR Code

เริ่มให้บริการแล้วตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป ได้ที่ศูนย์ตรวจเครดิตบูโรทุกแห่ง ได้แก่
1) ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) อาคาร 2 ชั้น 2 ทุกวันจันทร์ -ศุกร์ 9.00-16.30 น.
2) อาคารกลาสเฮ้าส์ (ชั้นใต้ดิน) ปากซอยสุขุมวิท 25 ทุกวันจันทร์-ศุกร์ 9.00-16.30 น.
3) อาคารเพิร์ล แบงก์ค็อก ชั้น 3 (โซนธนาคาร) ทุกวันจันทร์-ศุกร์ 9.00-18.00 น.
4) สถานีรถไฟฟ้า BTS ศาลาแดง (ภายในสถานี) ทุกวันจันทร์-ศุกร์ 9.00-18.00 น.

5) สถานีรถไฟฟ้า BTS อนุสาวรีย์ชัยฯ (ภายในสถานี) ทุกวันจันทร์-อาทิตย์ 9.00-18.00 น.
6) ห้างเจ-เวนิว (นวนคร) ชั้น 3 ติดประกันสังคม ทุกวันจันทร์-อาทิตย์ 9.00-18.00 น.

โดยยื่นตรวจเครดิตบูโรพร้อมบัตรประชาชนของตนเอง และสามารถรอรับผลได้ทันที

พิเศษสุด ตลอดปี 2561
เมื่อชำระค่าตรวจเครดิตบูโร Bureau Easy Pay ผ่าน QR Code
รับส่วนลดทันที 10 บาท เหลือเพียง 90 บาท (จากปกติ 100 บาท)
เฉพาะลูกค้าบุคคลธรรมดาที่มายื่นตรวจด้วยตนเองเท่านั้น

เรื่องน่าอ่าน