ตรวจเครดิตบูโร ฟรี! งาน “GH Bank EXPO 2018” จ.เชียงใหม่
วันที่ 24-25 สิงหาคม 2561 เวลา 10.00 – 19.00 น.
วันที่ 26 สิงหาคม 2561 เวลา 10.00 – 17.00 น.
ศูนย์การค้าเซ็นทรัลพลาซ่า เฟสติวัล จ.เชียงใหม่ (ภายในบูธ ธอส.)
ฟรี!!…บริการตรวจเครดิตบูโร แต่ขอรับเป็นเงินบริจาคแทน พร้อมเปิดคลินิกเครดิตบูโรให้คำปรึกษา
ตรวจเครดิตบูโร ฟรี! งาน “GH Bank EXPO 2018” จ.เชียงใหม่ วันที่ 24-26 สิงหาคม 2561 ศูนย์การค้าเซ็นทรัลพลาซ่า เฟสติวัล จ.เชียงใหม่
ตรวจเครดิตบูโร ฟรี! งาน “มหกรรมเข้าถึงแหล่งเงินทุนแฟร์” จ.ศรีสะเกษ วันที่ 21 สิงหาคม 2561 เวลา 12.00 – 16.30 น. โรงแรมศรีลำดวน จ.ศรีสะเกษ
ตรวจเครดิตบูโร ฟรี! งาน “มหกรรมเข้าถึงแหล่งเงินทุนแฟร์” จ.ศรีสะเกษ
วันที่ 21 สิงหาคม 2561 เวลา 12.00 – 16.30 น. โรงแรมศรีลำดวน จ.ศรีสะเกษ
ฟรี!!…บริการตรวจเครดิตบูโร แต่ขอรับเป็นเงินบริจาคแทน พร้อมเปิดคลินิกเครดิตบูโรให้คำปรึกษา
คอลัมน์เศรษฐกิจคิดง่ายๆ “เหตุใดการให้กู้เพื่อซื้อที่อยู่อาศัยบ้านเราถึงอนุมัติกันยาก” วันจันทร์ที่ 20 สิงหาคม 2561
คอลัมน์ เศรษฐกิจคิดง่ายๆ
“เหตุใดการให้กู้เพื่อซื้อที่อยู่อาศัยบ้านเราถึงอนุมัติกันยาก”
นสพ.โพสต์ทูเดย์ วันจันทร์ที่ 20 สิงหาคม 2561
บ้านเป็นปัจจัยสี่
บ้านเป็นแหล่งพักพิงของมนุษย์
บ้านเป็นสัญลักษณ์ความสำเร็จ
บ้านคือเป้าหมายของคนทำงาน
บ้านคือการออมการลงทุน
บ้านคือ… อะไรอีกหลายสิ่งอย่าง
หากแต่การจะมีที่อยู่อาศัยเป็นของตัวเองไม่ว่าจะอยู่ในรูปบ้านเดี่ยว ทาวน์เฮาส์ คอนโด หรืออาคารชุด ในวัฒนธรรมไทยและในวิถีของสังคมเศรษฐกิจไทยมักจะเป็นการกู้เงินไปซื้อบ้าน โดยมีส่วนหนึ่งของราคาบ้านที่คนขอกู้ต้องออกเองที่เรียกว่าเงินดาวน์ ส่วนที่เหลือคือขอกู้กับสถาบันการเงิน หลักๆ ก็คือธนาคารอย่างที่เราท่านเข้าใจกัน
เวลานี้มันเกิดปรากฏการณ์ว่า การอนุมัติให้กู้เงินมาซื้อบ้านนั้นยาก กู้ไม่ผ่าน กู้ได้ไม่เต็มจำนวนที่ต้องการ เพราะผู้ที่ยื่นขอกู้นั้น
1.มีปัญหาค้างชำระในประวัติทางการเงินของตนเอง
2.ไม่มีเอกสารชี้แจงรายได้ที่ชัดเจน ที่จะทำให้คนที่จะให้กู้มั่นใจว่ารายได้มีที่มาชัดเจนแน่นอนสม่ำเสมอ
3.มีหนี้เดิมมากอยู่แล้ว จะเติมหนี้ใหม่เข้าไปอีกก็คงจะทำไม่ได้
ผู้พัฒนาโครงการอสังหาริมทรัพย์ หรือ Developer บางท่านบางรายที่อาจยังไม่เข้าใจเรื่องสังคมและการเงินจึงได้เสนอให้ภาครัฐตั้งสถาบันเพื่อการประกันสินเชื่อบ้านมาเป็นตัวช่วยในการกู้เพื่อให้การกู้มันลื่นไหลกว่าเดิม โดยมีเป้าหมายสุดท้ายคือลูกค้าที่สนใจจะซื้อบ้านกู้ผ่านได้ง่ายกว่าเดิม
ทำไมการประกันสินเชื่อบ้านในเวลานี้ไม่น่าจะทำได้ดี น่าจะมาจากเหตุที่ว่าประเทศของเรานั้น ธนาคารสามารถให้กู้ได้ถึง 100% ของราคาหลักประกันหรือสูงกว่าอยู่แล้ว เรื่องที่จะไปประกันอะไรเพิ่มได้อีกจึงยาก
เวลานี้คนที่กู้ธนาคารไม่ได้เพราะธนาคารวิเคราะห์แล้วรายได้ไม่เหลือพอผ่อน เงินกู้ถ้าให้ไปจะเป็นหนี้เสียหรือจะกลายเป็น NPL ธนาคารเคยแข่งกันให้กู้ในอดีต เวลานี้ต้องมาเจอปัญหาตามแก้หนี้เสีย NPL สินเชื่อบ้านก็สูงเกิน 4% จนทางการที่กำกับดูแลก็ออกมาส่งสัญญาณต่อว่าบ่อยขึ้น
ฝั่งคนขายบ้านหรือทำบ้านมาขาย เขาอยากขายบ้านง่ายๆ ได้กำไรง่ายๆ ก็เชียร์ให้ทำเรื่องนี้ พวกที่คิดแบบเร็วๆ ก็ไม่รู้ มองไม่ขาดเรื่องการเงินที่อยู่อาศัยจริงๆ เอาแต่อ่านตำราฝรั่งผิวเผินแต่ไม่รู้ที่ไปที่มาก็อาจคิดเห็นด้วย
มีท่านผู้รู้บอกผมว่าในต่างประเทศที่เขามีประกันเพราะกฎ LTV เขาให้แค่ 60-70% เท่านั้น กู้เกินต้องมีประกันแต่ต้องมีรายได้สูงมากๆ เพื่อให้แน่ใจว่าจะผ่อนไปได้ตลอดรอดฝั่ง ตลอดอายุสัญญาเงินกู้
หากบอกว่ากู้ให้ผ่านง่ายรัฐบาลต้องรับประกันเองในส่วนขาดและเอางบประมาณมาชดเชยความเสียหาย แล้วเราต้องหามาเท่าไหร่จะพอ ส่วนการตั้ง กองทุน เอามาให้กู้สำหรับคนที่กู้ไม่ผ่านนั้น (เอาเงินงบประมาณมาให้กู้แก่คนกู้ไม่ผ่านหรือที่คาดว่าจะเป็นหนี้เสีย และไม่ให้กู้ ก็จะเป็นกองทุนหนี้เสียแน่นอน)
ตอนนี้เงินกู้บ้านของเราอยู่ที่ 3.7 ล้านล้านบาท รัฐจะเอาเงินงบประมาณมาให้กี่ล้านให้กู้ ได้กี่คน ตัวเลข 5,000 ล้านบาท หากกู้คนละ 1-2 ล้านบาท ก็ได้ 2,500-5,000 คนเท่านั้น อีกที่เหลือจะทำอย่างไร เราชอบทำอะไรเพื่อโชว์หรือตามฝรั่งอย่างผิวเผินโดยไม่รู้ว่าลึกๆ เป็นอย่างไร
เรื่องวินัยทางการเงิน เราไม่ควรไปถาม คนที่มีผลประโยชน์ขัดกัน แต่เมืองไทยเราเป็นอย่างนี้ถึงได้วนอยู่ในอ่างต้องขอโทษนะครับที่พูดตรงๆจะติจะชมก็ยินดีครับ ถ้าไม่ถูกใจผมขออภัยมา ณ ที่นี้ครับ
คอลัมน์เศรษฐกิจคิดง่ายๆ “Big Data นั้นสำคัญในโลกยุคนี้ หากแต่ Big Picture สำคัญมากกว่า” วันจันทร์ที่ 13 สิงหาคม 2561
คอลัมน์ เศรษฐกิจคิดง่ายๆ
“Big Data นั้นสำคัญในโลกยุคนี้ หากแต่ Big Picture สำคัญมากกว่า”
นสพ.โพสต์ทูเดย์ วันจันทร์ที่ 13 สิงหาคม 2561
ในโลกยุคปัจจุบัน เศรษฐกิจปัจจุบัน ไม่ว่าหันไปทางไหน หมู่คนที่ถูกจัดให้ เป็นชนชั้นผู้บริหารไม่ว่าภาครัฐหรือเอกชนหากเวลาพูดถึงการบริหารกิจการ หน่วยงาน นโยบายเพื่อเอาตัวให้รอดจากเป้าหมาย รอดจากการประเมิน รอดจาก KPI ต้องพูดเรื่อง Big Data ทั้งที่บางท่านก็รู้ตัวว่าจริงๆ แล้วในกิจการของตนเองมันไม่ได้มีข้อมูลตามคำนิยามของ Big Data หรอกนะ มันมีแต่ข้อมูลขยะคือเก็บๆ เอาเข้ามาให้มากไว้ก่อน แต่ไม่สามารถเอามาใช้ประโยชน์ในการบริหารจัดการ เนื่องจากในระดับนโยบายและกลยุทธ์องค์กรยังตั้งคำถามไม่ได้ หรือยังตั้งคำถามผิดกับประเด็นที่เป็นจุดสำคัญ หรือ Pain Point ของธุรกิจที่ต้องการเอาชนะ
ที่เครดิตบูโรเราไม่ได้มี Big Data นะครับท่านผู้อ่านอย่าเข้าใจผิด เหตุเพราะ
(1) เครดิตบูโรเก็บแต่ Structured Data ที่ได้รับจากสถาบันการเงินสมาชิกทุกเดือน เรายังไม่ถูกอนุญาตโดยกฎหมายที่ตราออกมาในปี 2545 ซึ่งในปีนั้นความเร็วของอินเทอร์เน็ตต่ำมาก ไม่รู้จัก 3จี 4จี หรือคำว่าดิจิทัล เอาง่ายๆ โทรศัพท์เคลื่อนที่แบบหน้าจอขาวดำมันยังไม่เกิดในยุคนั้นเลย อย่าไปพูดถึง Smartphone
(2) ตัวกฎหมายที่กำกับดูแลเครดิตบูโรวางหลักการไว้ว่า ต้องการให้สถาบันการเงินมีข้อมูลเพียงพอในการวิเคราะห์สินเชื่อเพื่อลดความเสี่ยงหนี้เสีย และป้องกันการเกิดวิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจ อันเป็นผลมาจากความไม่มั่นคงของสถาบันการเงิน แต่ข้อมูลรายได้ซึ่งเป็นส่วนสำคัญที่สุดในตอนวิเคราะห์สินเชื่อกลับไม่ยอมให้มีการรวมศูนย์จัดเก็บ ลองคิดดูนะครับทำไม Platform ค้าขายออนไลน์ถึงปล่อย สินเชื่อให้ SME ได้เร็ว แม่น หนี้เสียน้อย เพราะเขามีข้อมูลรายได้ที่ถูกต้อง ครบถ้วน ทันสมัย แต่สถาบันการเงินไทยมีต้นทุนสูงมากในการได้มาและพิสูจน์ความถูกต้องของแหล่งรายได้ ต้นทุนตรงนี้ทำให้เสียทั้งเงิน เวลาที่รอคอย และอื่นๆ จนเป็นอุปสรรคในการขอสินเชื่อ อีกไม่นานเครดิตบูโรเมียนมา เครดิตบูโรกัมพูชาจะจัดการกับปัญหานี้ได้แล้ว
ขณะที่ประเทศเราติดกับดักตรงนักกฎหมายที่ไม่พยายามใช้กฎหมายในการหาทางออก เอาแต่บอกปัญหากฎหมายในทุกทางออกที่คนทำงานคิด คนคิดก็ท้อ ก็เหนื่อยเป็นนะครับ
(3) เครดิตบูโรเราไม่เก็บข้อมูลคนค้ำประกันและบัญชีสินเชื่อที่เขาคนนั้นค้ำประกัน เหตุเพราะนักกฎหมายบอกว่า ผู้ค้ำไม่ใช่ผู้ขอสินเชื่อ ทั้งที่ในเวลาออกกฎหมายขณะนั้นการทำเช่าซื้อรถให้กับคนกู้มันก็ต้องมีคนค้ำมาตั้งแต่ก่อนปี 2545 พอไม่มีข้อมูลคนค้ำ สถาบัน การเงินก็พิจารณายาก หรือผลักภาระ ให้คนค้ำวิ่งมาขอข้อมูลเอาไปยื่นประกอบ นั่งรถทัวร์มาหลักร้อยหลักพันมาตรวจเครดิตบูโรเสียเงินค่ารายงาน 100 บาท แล้วเสียค่าเดินทางไปส่งเอกสาร เสียเงิน เสียเวลา ทั้งที่ถ้ายอมให้เก็บข้อมูลผู้ค้ำ สถาบันการเงินจะเข้ามาดูข้อมูลในราคา 12 บาท/ครั้ง โดยคนกู้ คนค้ำ ไม่ต้องทำอะไรนอกจากให้ความยินยอม สถาบันผู้ให้สินเชื่อพูดมาตลอด ที่สุดก็มาตกม้าตายที่นักกฎหมายว่าทำไม่ได้
Big Data ต้องมีองค์ประกอบของข้อมูลที่หลากหลาย มีทั้ง Structured Unstructured รูปภาพ เสียง Log มีปริมาณมาก เกิดขึ้นตลอดเวลาจาก Data Point แน่นอนว่ามันคือเหมืองข้อมูล ทะเลสาบข้อมูล คนของเราต้องเอาความรู้ เอาเครื่องมือไปขุด เมื่อได้ความรู้ เมื่อได้ปัญญามาแล้ว จะได้เอามาแก้ไขปัญหาในทุกทางออก
ดูกร ท่านนักกฎหมาย เรามีกฎหมายเป็นพันๆ ฉบับ เรามีประกาศเป็นแสนๆ ฉบับที่ออกมาบังคับใช้ แม้มันยังไม่ใช่ Big Data แต่มันกำลังรอท่านผู้รู้ ผู้เห็นจริงในญาณทางนิติศาสตร์ มาปัดเป่าความทุกข์เข็ญของระบบนิเวศนี้ครับ ขอท่านทั้งหลายจงมีเมตตามอง Big Picture เพื่อช่วยให้ผู้ปฏิบัติในแทบทุกองค์กรหลุดพ้นจาก Pain Point นี้เสียที ผมไม่อยากถูกประเมินจากธนาคารโลกในอนาคตว่าเรามีพัฒนาการตามหลังเมียนมาครับ
ศูนย์ตรวจเครดิตบูโร แห่งใหม่ล่าสุด ภายในสถานี BTS อนุสาวรีย์ชัยฯ ให้บริการทุกวันจันทร์-อาทิตย์ (ไม่มีวันหยุด) เวลา 9.00-18.00 น.
ศูนย์ตรวจเครดิตบูโร แห่งใหม่ล่าสุด ภายในสถานี BTS อนุสาวรีย์ชัยฯ
ศูนย์กลางคมนาคม ใจกลางชุมนุมคนเดินทาง
ให้บริการทุกวันจันทร์-อาทิตย์ (ไม่มีวันหยุด) เวลา 9.00-18.00 น.
– รอรับผลได้ทันที เพียงใช้บัตรประชาชนของตนเอง ค่าบริการ 100 บาท
– เฉพาะรายการบุคคลธรรมดา ยื่นตรวจของตนเองหรือมอบอำนาจ และชาวต่างชาติ (ใช้หนังสือเดินทางของตนเอง)
*ชำระค่าตรวจเครดิตบูโรผ่าน QR Code รับส่วนลด 10 บาท ตลอดปี 2561 (เฉพาะรายการลูกค้าบุคคลธรรมดา ยื่นขอตรวจของตนเองเท่านั้น)
หยุดให้บริการตรวจเครดิตบูโร (ชั่วคราว) วันจันทร์ที่ 13 สิงหาคม 2561 เนื่องในวันหยุดชดเชยวันเฉลิมพระชนมพรรษาสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ในรัชกาลที่ 9 : ขออภัยในความไม่สะดวกค่ะ…
หยุดให้บริการตรวจเครดิตบูโร (ชั่วคราว)
วันจันทร์ที่ 13 สิงหาคม 2561 เนื่องในวันหยุดชดเชยวันเฉลิมพระชนมพรรษาสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ในรัชกาลที่ 9
ขออภัยในความไม่สะดวกค่ะ…
โปรโมชั่นเดือนสิงหาคม 2561 เมื่อท่านแต่งกายหรือสวมใส่เสื้อผ้าโทนสีฟ้า ลดทันที 50% ค่าตรวจเครดิตบูโร วันที่ 9-13 สิงหาคม 2561 ณ ศูนย์ตรวจเครดิตบูโร 6 แห่ง
โปรโมชั่นประจำเดือนสิงหาคม 2561 “พร้อมใจใส่เสื้อฟ้า ลดครึ่งราคา”
เมื่อท่านแต่งกายหรือสวมใส่เสื้อผ้าโทนสีฟ้า ลดทันที 50% ค่าตรวจเครดิตบูโร
วันที่ 9-13 สิงหาคม 2561 ณ ศูนย์ตรวจเครดิตบูโร 6 แห่ง
1. เงื่อนไขการใช้บริการ ::
เมื่อท่านแต่งกายหรือสวมใส่เสื้อผ้าโทนสีฟ้า ลดทันที 50% ค่าตรวจเครดิตบูโร วันที่ 9-13 สิงหาคม 2561 ณ ศูนย์ตรวจเครดิตบูโร 6 แห่ง
2.ศูนย์ตรวจเครดิตบูโรที่ร่วมรายการ และเวลาที่ให้บริการ
•ธนาคารอาคารสงเคราะห์ สำนักงานใหญ่ อาคาร 2 ชั้น 2 วันจันทร์ – ศุกร์ เวลา 9.00 น. – 16.30 น.
•ปากซอยสุขุมวิท 25 ชั้นใต้ดิน อาคารกลาสเฮ้าส์ วันจันทร์ – ศุกร์ เวลา 9.00 น. – 16.30 น.
•ศูนย์ตรวจเครดิตบูโร อาคารเพิร์ล แบงก์ค็อก ชั้น 3 วันจันทร์ – ศุกร์ เวลา 9.00 น. – 18.00 น
•สถานีรถไฟฟ้า BTS ศาลาแดง (ภายในสถานี) วันจันทร์ – ศุกร์ เวลา 9.00 น. – 18.00 น.
•สถานีรถไฟฟ้า BTSอนุสาวรีย์ชัยฯ (ภายในสถานี) วันจันทร์ – อาทิตย์ เวลา 9.00 น. – 18.00 น.
•ห้างเจ-เวนิว (นวนคร) ชั้น 3 ติดประกันสังคม วันจันทร์ – อาทิตย์ เวลา 9.00 น. – 18.00 น.
3. เฉพาะรายการของลูกค้าบุคคลธรรมดา ที่ยื่นขอตรวจของตนเอง ที่ศูนย์ตรวจเครดิตบูโรที่ร่วมรายการ
หมายเหตุ
– โปรโมชั่น เฉพาะศูนย์ตรวจเครดิตบูโร 6 แห่ง
– เฉพาะรายการลูกค้าบุคคลธรรมดา ยื่นขอตรวจของตนเองเท่านั้น (ไม่รับกรณีมอบอำนาจ)
คอลัมน์เศรษฐกิจคิดง่ายๆ “เก็บตกจากงาน ‘ยกเครื่องข้อมูล ยกคนพ้นจน’ ” วันจันทร์ที่ 6 สิงหาคม 2561
คอลัมน์ เศรษฐกิจคิดง่ายๆ
เก็บตกจากงาน ‘ยกเครื่องข้อมูล ยกคนพ้นจน‘
นสพ.โพสต์ทูเดย์ วันจันทร์ที่ 6 สิงหาคม 2561
การแก้ไขความยากจนเป็นประเด็นปัญหาที่ประเทศของเราเฝ้าเพียรพยายามแก้ไขกันมาทุกยุคทุกสมัย ทุกรัฐบาลที่ผ่านๆ มาก็จะดำเนินนโยบาย มาตรการต่างๆ นานามาโดยตลอด เป็นมาตรการที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์มาก็ไม่น้อย ที่หนักๆ ก็คงจะหนีไม่พ้นกับการถูกกล่าวหาว่าหว่านเงินซื้อเสียง แจกไม่ถูกจุด แจกไม่ถูกคน แจกไม่ตรงกับความต้องการของคนจน
เหตุผลประการเดียวที่ทำให้มาตรการต่างๆ ที่ออกมาก่อนหน้าขาดพลัง ขาดประสิทธิภาพก็เพราะ
1.หน่วยงานแต่ละแห่งทำกับกลุ่มเป้าหมายของตน ไม่สนกับเป้าหมายของหน่วยงานอื่น
2.ข้อมูลไม่ถูกต้อง ครบสมบูรณ์ หรือไม่ทันสมัย ที่สำคัญมากกว่านั้นคือไม่มีข้อมูลที่ควรจะมี เป็นต้น
3.ข้อมูลไม่ได้ถูกการวิเคราะห์ในรายละเอียดจนเห็นรากเหง้าของปัญหา พูดง่ายๆ คือไม่มีการวิเคราะห์ วิจัยอย่างมีหลักวิชา
4.การติดตามผลหลังจากที่ได้ส่งมาตรการลงไปแล้วเป็นรอบๆ ไม่ทำกันแบบจริงจัง ว่าเหมาะสมกับแต่ละพื้นที่หรือไม่
รัฐบาลนี้โดยการนำของกระทรวงการคลัง ซึ่งมีสำนักงานเศรษฐกิจการคลังจึงได้เสนอนโยบายแบบยาชุดแก้จนดังนี้ คือ
1.จัดให้มีคำจำกัดความว่าผู้มี รายได้น้อย หรือผู้มีรายได้น้อยระดับยากจนหมายถึงใคร อยู่ที่ไหน หน้าตาเป็นแบบไหน จนเพราะอะไร จะช่วยให้หายจะเป็นอย่างไร
2.จัดให้มีการมาลงทะเบียนด้วยตนเอง โดยมีธนาคารของรัฐสนับสนุนอย่างแข็งขันพร้อมจัดให้มีกระบวนการคัดกรองด้วยเงื่อนไขต่างๆ เพื่อสกัด คนอยากจะจน ที่มาลงทะเบียนเป็นคนจนตัวปลอม
3.เอาข้อมูลมาออกแบบนโยบายมาตรการในการบรรเทาผลกระทบด้านต้นทุนค่าครองชีพ ในลักษณะให้เปล่า ในระยะแรก ระยะต่อมาคือให้สมัครใจมาพัฒนาศักยภาพ เพื่อสร้างงาน สร้างอาชีพ เพื่อยกระดับรายได้เขาให้ดีกว่าเดิม ลักษณะที่ว่านี้คือการให้เบ็ดเขาไปตกปลาเอง กับกลุ่มเป้าหมายที่มีอยู่ประมาณสี่ห้าล้านคน ข้อสงสัยของผมคือแล้วคนที่มือ เท้าดี ตาดี เป็นคนมีรายได้น้อย แต่ไม่มาลงทะเบียนรับการเพิ่มศักยภาพแล้ว กลุ่มนี้จะมีมาตรการอะไรบ้าง
4.เชื่อมโยงฐานข้อมูลกับเรื่อง อื่นๆ เช่น เรื่องประชาสงเคราะห์ เรื่องประวัติการรักษาพยาบาล เรื่องตัวตน คนค้าขายในโลกออนไลน์ เรื่องประวัติการชำระสินเชื่อ การใช้สาธารณูปโภคน้ำ ไฟฟ้า โทรศัพท์ เป็นต้น ปัญหาอุปสรรคใหญ่ คือ ข้อกฎหมายที่กำกับดูแล หน่วยงานเจ้าของข้อมูล ความกล้าที่จะเปิดข้อมูล ความกล้าของผู้นำหน่วยงานนั้นๆ
5.ออกมาตรการเพิ่มให้กับผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐไม่ว่าจะเป็นการรักษาพยาบาลฟรี การคืนภาษีมูลค่าเพิ่ม การใช้จ่ายที่ง่ายขึ้น ทั้งใช้ บัตร ใช้เครื่องอ่านบัตร ใช้สแกนคิวอาร์โค้ด การพิสูจน์และยืนยันตัวตนด้วยใบหน้า เป็นต้น
ท่านผู้อ่านจะเห็นว่าข้อมูลคือ ความรู้ ข้อมูลคือพลัง ข้อมูลคืออำนาจในโลกยุคใหม่ ข้อมูลที่มากพอ ดีพอ ครอบคลุมพอ จะสามารถตอบคำถาม คนจนคือใคร คนจนอยู่ไหน อะไรทำให้เขาจน ใครต้องทำอะไรเขาถึงจะหายจน และเราจะรู้ได้ไหมก่อนที่เขาจะจนแล้ว จะทำอย่างไรเพื่อป้องกันก่อน
ท่านผู้อ่านครับความสำคัญในเรื่องการเอาชุดข้อมูลการลงทะเบียน ผู้มีรายได้น้อยมาคิดวิธีการแก้ไขปัญหา หัวใจสำคัญคือการตั้งคำถาม เพราะถ้าตั้งคำถามถูก หาคำตอบมาได้ถูก เรื่องคนจนเราก็จะแก้ไขได้ถูกฝาถูกตัว ถูกต้องตามกติกา และถูกใจคนได้รับ สุดท้ายแต่ไม่ใช่ท้ายสุดเราจะป้องกันคนที่อยากจะจนไม่ให้เข้ามาในระบบได้อย่างไร ในทางกลับกันเราจะเอาคนที่ควรมีสิทธิมาเข้าในระบบได้อย่างไรถ้าเขาตกสำรวจ
ทิศทางของโครงการยกเครื่องข้อมูล ยกคนพ้นจน กำลังผลิดอกออกผล เรามาช่วยกันเสนอความเห็นดีๆ กันต่อไปนะครับ
คอลัมน์เศรษฐกิจคิดง่ายๆ “วัฒนธรรมการไม่เคารพข้อตกลง เราจะเจอกับอะไร” วันจันทร์ที่ 30 กรกฎาคม 2561
คอลัมน์เศรษฐกิจคิดง่ายๆ
วัฒนธรรมการไม่เคารพข้อตกลง เราจะเจอกับอะไร
นสพ.โพสต์ทูเดย์ วันจันทร์ที่ 30 กรกฎาคม 2561
จากปรากฏการณ์ที่ความจริงได้ปะทุขึ้นมาในเรื่องของผู้ที่เป็นลูกหนี้กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา หรือ กยศ. ไม่ยอมไปชำระหนี้ ไม่ยอมรับว่าเป็นหนี้ ไม่สนใจที่จะไปชำระหนี้ คิดว่ามาตรการต่างๆ ที่ภาครัฐทำเป็นเพียงคำขู่ ไม่มีทางทำได้จริง ฟ้องก็ฟ้องไป ยังไงก็ตามเอาเงินคืนไม่ได้ ปล่อยให้คนค้ำประกันรับผิดชอบไปสิ มันไม่ใช่เรื่องของผม เรื่องของดิฉัน ก็อยากค้ำประกันเองทำไม
ความเป็นจริงในเรื่องนี้มันได้สะท้อนเรื่องในระบบเศรษฐกิจ สังคม และการเมืองไทย ได้เป็นอย่างดี ผมขอเสนอประเด็นให้ถกเถียงกันดังนี้
1.คนที่ผ่านระบบการศึกษาของเราส่วนหนึ่ง มีวัฒนธรรมของการ ไม่เคารพกฎ กติกา มรรยาทขั้นพื้นฐานในเรื่องการชำระหนี้ใช่หรือไม่เป็นหนี้ต้องใช้หนี้ สัญญาต้องเป็นสัญญา สถาบันการศึกษาได้บ่มเพาะอะไรให้พวกเขาเหล่านั้นจึงได้เกิดความคิดแบบนี้ เขาเหล่านั้นได้ชื่อว่าเป็นบัณฑิตใช่หรือไม่ บัณฑิตน่าจะหมายถึง ผู้รู้ รู้เรื่องผิด-ชอบ-ชั่ว-ดี รู้ว่าอะไรควรทำ อะไรที่ต้องไม่ทำใช่หรือไม่
2.ขี้โม้ น่าจะหมายถึง การชอบโชว์ชีวิต ความเป็นอยู่ ความเป็นไปในโลกเสมือนจริงที่ตรวจสอบไม่ได้ง่าย ก่อให้เกิดความปีติ อิ่มเอมในสิ่งที่ได้สื่อออกไป จนนานวันได้เกิดอคติกับตนเองว่า ถ้าใครบังอาจมารู้ความจริงแล้ว เราจะป้องกัน แก้ตัวอย่างไรดี เราจะปกป้องสิ่งที่โกหกเอาไว้ว่ามันเป็นเรื่องจริงได้อย่างไร ขี้โม้นี้เป็นประเด็นในความหมายแคบนะครับ ทีนี้พอเอาข้อมูลการเป็นคนไม่จ่ายหนี้มาผนวกกับข้อมูลเป็นคนชอบเล่า ชอบโม้ถึงตัวเองบนโลกออนไลน์ มันก็เจอการตามไล่ล่าสิครับ
3.วันนี้เรามีศาลยูทูบ ศาลเฟซบุ๊ก เรามีผู้คนทำหน้าที่พนักงานสอบสวน ติดตามหาความจริงอย่างเข้มข้น มีประสิทธิภาพสูงมากๆ ประมาณว่าถ้าถูกท้ามา…ก็จะจัดให้ ทั้งๆ ที่ กยศ.เองในฐานะผู้เสียหายควรหาทางเปิดเผยรายชื่อลูกหนี้ที่หนีหน้า หนีหนี้ เพื่อบี้ให้สุดทาง ก่อนที่จะมาบี้เอากับผู้ค้ำประกัน แต่ด้วยความที่เรื่องมันแดงออกมาแบบภูเขาน้ำแข็ง ส่วนยอดมันปริ เรื่องมันจึงปะทุออกมา ขณะเดียวกัน “…โลกโซเชียลเองต้องการที่จะบี้ให้ตาย คั้นให้อยู่หมัด เค้นออกมาจนสุดซอย และอย่าให้ได้พลาดจนเป็นเรื่องดังขึ้นมาเป็นอันขาด เพราะผู้คนในโลกโซเชียลจะขุดลึกถึงกระดูก และต่อให้หาเงินมารีบปิดสัญญา ตัวลูกหนี้ที่ก่อเรื่องก็ต้องหาอีกว่ามันเกิดได้อย่างไร ค้างตั้งแต่เมื่อไร อะไร ยังไง เรื่องมันไม่จบง่ายๆ…”
4.กยศ.เป็นกองทุนที่เกิดจากภาษีของผู้คนในประเทศ เอาเงินมาให้คนที่อยากเรียน มีศักยภาพแต่ยากจน เมื่อได้เงินไปเรียนจนจบเป็นผู้เป็นคน เป็นบัณฑิตแล้ว ต้องมีสำนึก
สำนึกในความเป็นคน สำนึกในความเป็นบัณฑิต สำนึกในความเป็นผู้มีการศึกษา สำนึกในความเป็นศิษย์ที่อาจารย์เมตตาค้ำประกันให้ ท่านเป็นหนี้เงิน หนี้บุญคุณคน ท่านมีสัญญาที่ต้องทำตามสัญญา และท่านมีหนี้ที่ต้องใช้คืน เพราะเงินนี้จะหมุนเวียนกลับไปยังน้องๆ คนไทยที่รอได้รับโอกาสเช่นท่านเมื่อครั้งในอดีต กยศ.อยู่ไม่ได้ถ้าไม่ได้เงินชำระคืนกลับมา และหลวงท่านไม่ควรเติมเงินอีกแล้ว เพราะมันคือวินัยทางการเงินการคลัง
ผมขอเรียกร้องในฐานะผู้เสียภาษี ให้เปิดเผยรายชื่อลูกหนี้ที่ค้างชำระ ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อผู้ค้ำประกัน และน้องๆ ที่ยากจนรุ่นต่อๆ มา
เพราะจะได้ปิดประเด็นว่า ผมหรือดิฉันไม่รู้ ไม่มีการทวงถาม ไม่มีใบแจ้งหนี้ อีกต่อไป เปิดเลยครับ เงินภาษีจะได้คืนกลับมาหมุนเวียน เรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องส่วนตัวอีกแล้ว เลิกอ้างกันได้แล้ว เพราะแม้แต่ท่านจะกินอะไร เอารถรุ่นอะไรไปล้างที่ไหน เล่นฟุตบอลสนามไหน ท่านยังเอามาเปิด (แบบชีวิตดี๊ดี) ในเฟซบุ๊กให้คนที่ไม่ได้มีหน้าที่ตามหนี้เขาตามไปจัดการแทนเจ้าหนี้ เพราะเมื่อเราเลือกวัฒนธรรมของการไม่เคารพข้อตกลง เราต้องพร้อมนะครับว่าจะเจอกับอะไร… ขอบคุณครับ