Blog Page 161

ตรวจเครดิตบูโร ฟรี! งาน “สุพรรณบุรีร่วมใจ สร้างไทยยั่งยืน” จ.สุพรรณบุรี วันที่ 8 มิถุนายน 2561 โรงแรมสองพันบุรี จ.สุพรรณบุรี

เชิญตรวจเครดิตบูโร ฟรี! งาน “สุพรรณบุรีร่วมใจ สร้างไทยยั่งยืน” จ.สุพรรณบุรี
วันที่ 8 มิถุนายน 2561 เวลา 8.00 – 15.00 น.
โรงแรมสองพันบุรี จ.สุพรรณบุรี
ฟรี!!…บริการตรวจเครดิตบูโร แต่ขอรับเป็นเงินบริจาคแทน พร้อมเปิดคลินิกเครดิตบูโรให้คำปรึกษา

ตรวจเครดิตบูโร ฟรี! งาน “มหกรรมเข้าถึงแหล่งเงินทุน” จ.เพชรบุรี วันที่ 7 มิถุนายน 2561 โรงแรมรอยัล ไดมอน จ.เพชรบุรี

เชิญตรวจเครดิตบูโร ฟรี! งาน “มหกรรมเข้าถึงแหล่งเงินทุน” จ.เพชรบุรี
วันที่ 7 มิถุนายน 2561 เวลา 8.30 – 12.00 น.
โรงแรมรอยัล ไดมอน จ.เพชรบุรี
ฟรี!!…บริการตรวจเครดิตบูโร แต่ขอรับเป็นเงินบริจาคแทน พร้อมเปิดคลินิกเครดิตบูโรให้คำปรึกษา

รู้ทันก่อนล้ม! ข้อควรระวังในการเป็นเจ้าของบัตรเครดิต

รู้ทันก่อนล้ม! ข้อควรระวังในการเป็นเจ้าของบัตรเครดิต

บัตรเครดิต ช่วยให้เราใช้จ่ายได้สะดวกคล่องมือ แต่ถ้าสะดวกมากไป ก็อาจทำให้บางคนเผลอจ่ายเกินตัวไปได้ง่าย ๆ รู้ตัวอีกที อาจมีหนี้ท่วมถึงหัวจนรับผิดชอบไม่ไหว แถมประวัติเครดิตยังเสียหายอีกด้วย โดยเฉพาะข้อควรระวังยิบย่อยเหล่านี้ ที่หลายคนอาจยังไม่รู้ รีบดูก่อนพลาดท่า

• จ่ายหนี้ล่าช้า มีผลกว่าที่คิด
“มีหนี้ต้องใช้คืน” เป็นเรื่องแน่นอนอยู่แล้ว รวมถึงหนี้บัตรเครดิตก็เช่นกัน แต่ที่ต้องเพิ่มเติมมาคือ “ความตรงต่อเวลา” เพราะการจ่ายบิลบัตรเดรดิตล่าช้าไปเพียงไม่กี่เดือน ไม่ว่าจะเพราะลืม หรือเงินฝืดก็ตาม อาจส่งผลให้ยอดหนี้พอกพูนขึ้นเพราะดอกเบี้ย ถูกติดตามทวงหนี้สิน แถมประวัติค้างชำระนี้ยังอาจถูกบันทึกไว้ในข้อมูลเครดิตของเราอีกด้วย ซึ่งอาจเป็นอุปสรรคในการยื่นขอสินเชื่อในอนาคตได้

• กดเอาเงินสด ห้ามทำถ้าไม่จำเป็น
บัตรเครดิตสามารถใช้กดเงินสดจากตู้ ATM ได้ แต่ควรใช้เมื่อยามฉุกเฉินเท่านั้น เพราะจะถูกคิดดอกเบี้ยรายวันอัตราสูงสุดถึง 20% ต่อปี แถมยังต้องเสียค่าธรรมเนียมอีก 3% พร้อมกับ VAT 7% อีกด้วย ฉะนั้นควรแยกแยะบัตรเครดิตออกจากบัตรกดเงินสดให้ชัดเจน ถ้าเป็นไปได้ไม่ควรใช้บัตรเครดิตกดเอาเงินสดถ้าไม่จวนตัวจริง ๆ

• จ่ายขั้นต่ำไปเรื่อย ๆ แน่ใจแล้วหรอ?
การจ่ายหนี้บัตร 10% ของยอดการใช้จ่ายทั้งหมด หรือที่เรียกกันว่า “จ่ายขั้นต่ำ” นั้น ถึงแม้จะไม่ถือว่าเป็นการจ่ายหนี้ล่าช้า แต่ยอดหนี้ที่เหลือจะถูกยกไปทบในงวดต่อ ๆ ไป ซึ่งบางคนคิดว่าแค่ทยอยจ่ายไปเรื่อย ๆ ไม่กี่เดือนก็หมด แต่รู้หรือไม่ว่ายอดใช้จ่ายเหลือจากการจ่ายขั้นต่ำ อาจถูกคิดดอกเบี้ยในอัตราสูงสุดถึง 20% ต่อปีทันที (แล้วแต่ข้อกำหนดของแต่ละธนาคาร) นับตั้งแต่วันที่รูดซื้อ ไม่ใช่วันที่ครบกำหนดชำระอย่างที่หลายคนเข้าใจ แถมดอกเบี้ยยังถูกคิดเป็นรายวันทบไปทุกวันจนกว่าจะจ่ายหมด ยิ่งถ้าเราเอาแต่จ่ายขั้นต่ำไปเรื่อย ๆ ทุกงวดติดต่อกัน หมายความว่าก้อนหนี้จะยิ่งพอกพูนใหญ่ขึ้น ทั้งหนี้ใหม่ หนี้เก่า ดอกเบี้ย สุมกันจนหนักอึ้ง เกิดเป็นหนี้เรื้อรัง เกินกำลังจะจ่ายไหว และกลายเป็น “หนี้ค้างชำระ” โดยสมบูรณ์ ที่จะปรากฏบนข้อมูลเครดิตของเราได้นั่นเอง

• ป้องกันบัตรเครดิตให้พ้นจากมือโจร
ถ้าใช้บัตรเครดิตไม่ระมัดระวัง บัตรเครดิตอาจทำให้เราตกเป็นเหยื่อมิจฉาชีพได้ เช่น ขโมยบัตรไปรูด แอบนำรหัสหลังบัตรไปใช้ซื้อของออนไลน์ หรือแอบรูดเกินจำนวนที่ใช้จ่ายจริง เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดเหตุแบบนี้ ควรทำดังนี้

  • เมื่อได้บัตรเครดิตใหม่มา ควรเซ็นชื่อหลังบัตรทันที
  • บัตรเก่าที่ไม่ใช้ ต้องทำลายทิ้งโดยเร็ว
  • เมื่อใช้จ่ายผ่านบัตร เช็คยอดบนสลิปทุกครั้งก่อนเซ็นชื่อ
  • เก็บรหัสด้านหลังบัตรเป็นความลับ
  • ใช้บริการ SMS Alert แจ้งเตือนทุกครั้งที่มีการใช้จ่ายผ่านบัตร
  • เมื่อบัตรหาย ให้โทรแจ้งอายัดทันที
  • ก่อนซื้อของออนไลน์ ควรเช็คความน่าเชื่อถือของร้านค้าก่อน

• เอาชนะความอยากให้ได้
ปัญหาข้อใหญ่ของบัตรเครดิต ก็คือความสามารถในการยับยั้งชั่งใจของเจ้าของนี่แหละ ยิ่งรูดง่าย ซื้อสะดวก อยากได้อะไรก็ได้ง่าย ยิ่งใช้ก็ยิ่งเพลิน แต่พอถึงตอนจ่ายคืนอาจจะไม่คล่องแบบนั้นน่ะสิ ฉะนั้นเราไม่ควรรูดซื้อของที่ไม่จำเป็น ของฟุ่มเฟือย หรือของที่ไม่ก่อรายได้ และเมื่อได้บัตรเครดิตมาแล้ว ควรตั้งเป้าหมายของตัวเองไว้ในใจ ว่าในแต่ละงวดจะรูดใช้ไม่เกินจำนวนเท่าไร (พิจารณาจากรายได้ เป้าหมายเงินออม ค่าใช้จ่าย และภาระหนี้สินอื่น ๆ ) และรักษายอดเอาไว้ไม่ให้เกินเพดานที่ตั้งไว้ แค่นี้ก็ช่วยได้เยอะ

• เครดิตบูโร เรื่องสำคัญที่ต้องใส่ใจ
ควรหมั่นไปตรวจเครดิตบูโร เพื่อตรวจสอบข้อมูลเครดิตของตัวเอง ว่าถูกต้องตามที่เราเข้าใจหรือไม่ หนี้ที่จ่ายครบแล้วปิดบัญชีกลายเป็นศูนย์จริงหรือไม่ หรือมีหนี้งอกที่ไม่ใช่ของเราเกิดขึ้นหรือเปล่า ถ้าพบว่าข้อมูลเครดิตไม่ถูกต้อง จะได้ทำเรื่องขอแก้ไขได้ทันท่วงที

คอลัมน์เศรษฐกิจคิดง่ายๆ “เมื่อผู้กำกับดูแล ‘ยื่นมือ’ มายังลูกค้าและคนทำงาน” วันจันทร์ที่ 4 มิถุนายน 2561

คอลัมน์ เศรษฐกิจคิดง่ายๆ

“เมื่อผู้กำกับดูแล ‘ยื่นมือ’ มายังลูกค้าและคนทำงาน”

นสพ.โพสต์ทูเดย์ วันจันทร์ที่ 4 มิถุนายน 2561

 

ในช่วงหลายปีจากหมุดหมายของหายนะทางเศรษฐกิจ โดยเฉพาะระบบสถาบันการเงินในปี 2540 ทุกท่านที่ผ่านเหตุการณ์นั้นมาจะรู้สึกได้ตลอดว่าเหมือนเคยถูกงูกัด ชีวิตเกือบไม่รอด ต้องเข้ารักษาตัวอย่างเจ็บปวด กว่าจะพักฟื้น ยืนตรงขึ้นมาได้ก็เจียนตาย ประสบการณ์ในครั้งนั้นทำให้เกิดหลายสิ่งอย่างที่เป็นอุปสรรคในการทำงานแบบ “ร่วมมือกัน” ในการผลักดันเศรษฐกิจให้เดินหน้าต่อไปได้ เช่น

1.ความรู้สึกนึกคิดของผู้กำกับดูแลก็จะออกมาในลักษณะสุดโต่ง วาดภาพความเสี่ยงที่สุดขอบฟ้า แล้วเอาสถานการณ์ตรงจุดนั้นมาออกเป็นระเบียบ กฎเกณฑ์ กฎกติกา จนมันทำให้คนที่ต้องทำงานอยู่ในสภาพ ทำมากอาจผิดมาก ทำน้อยก็ผิดน้อย ไม่ทำไม่เสี่ยง ไม่ทำก็ไม่ผิด การบริหารความเสี่ยงที่ดีที่สุดคือไม่ทำธุรกรรม สิ่งต่างๆ ที่มันสะสมมา นานวันเข้ามันก็เป็น New normal ในการปฏิบัติ ท่านผู้อ่านเชื่อหรือไม่ครับว่ากฎกติกาในการกำกับดูแลการอำนวยสินเชื่อให้ SME มีจำนวนน่าจะไม่หนี 200 ฉบับเพราะมันมีแต่เพิ่ม ยกเลิกมีน้อยมาก

2.ฝั่งคนทำงานคือสถาบันการเงิน ก็ก้มหน้าก้มตาทำงานกันไปภายใต้ความกดดัน ไม่ให้เงินกู้กับลูกค้า ก็ถูกด่า หาว่าโง่บ้าง ไม่เข้าใจธุรกิจบ้าง ไม่คิดจะช่วยเหลือบ้าง จัดกองกำลังมาเป็นกองทัพ คอยตรวจเอกสาร เช่น รู้ว่าคนที่มาขอกู้เคยมีการจ่ายเช็คเด้งกี่ครั้งในรอบสองปีที่ผ่านมา เป็นบุคคลล้มละลายไหม มีการใช้น้ำใช้ไฟในการประกอบธุรกิจกี่หน่วย พิกัดที่ตั้งโรงงาน สำนักงานอยู่ที่ใด ข้อมูลหลักประกันเชื่อถือได้ รายงานทางการเงิน Statement ออกมาจากระบบ ต้นทุนในการหาข้อมูลก็ต่ำ งานมันก็ออกได้เร็ว

3.ฝั่งของ SME ก็ต้องยอมรับและปรับตัว จากการศึกษาของหลายสถาบันท่านๆ ล้วนมีบัญชีหลายเล่ม เพื่อเสียภาษีก็จะแสดงรายได้ต่ำกำไรน้อย พอมาแสดงกับแบงก์รายได้เยอะกำไรดี ท่านผู้อ่านและผมก็ทราบดีว่า “ภาษีและความตาย” เป็นสิ่งที่ทุกคนต้องเจอ

ท้ายที่สุดเมื่อวันที่ 1 มิ.ย. 2561 ธนาคารแห่งประเทศไทยได้เชิญตัวแทนคนให้กู้คือผู้บริหารสถาบันการเงินที่เกี่ยวข้องในการให้กู้ยืมกับ SME มาพบกับสมาคม สมาพันธ์ SME สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย มาร่วมประชุมสามฝ่าย สามประสาน เพื่อพิจารณา ลด ละ เลิก ประกาศ ระเบียบ กฎเกณฑ์ ที่สอดคล้องกับความเป็นจริงกับยุคสมัย “ตอบโจทย์ โดนใจ ใช้ได้จริง”

เมื่อผู้กำกับดูแล “ยื่นมือ” มายังลูกค้าและคนทำงานทุกฝ่ายควร ลดละเลิกความไม่จริงใจต่ออีกฝ่าย หรือต่อส่วนรวม เอาใจเขามาใส่ใจเรา แต่ถ้ามันเป็นจริง ก็ต้องยอมรับ ปรับปรุง แก้ไข

ท้ายสุดนะครับ ผมอยากจะฝากว่า ถอดหมวก ถอดยศ ถอดอคติ ถอดความไม่จริงใจ ถอดวาระซ่อนเร้น เพราะว่าคนเราทุกคนสูงเท่าเสมอกัน เมื่อยามนอนตายตาหลับ และไม่อาจเอาอะไรติดตัวไปได้เลยสักสิ่งเดียว

คอลัมน์เศรษฐกิจคิดง่ายๆ “ยังมีเรื่องที่ต้องทำอีกมาก หลัง GDP เติบโต 4.8%” วันจันทร์ที่ 28 พฤษภาคม 2561 

คอลัมน์ เศรษฐกิจคิดง่ายๆ

“ยังมีเรื่องที่ต้องทำอีกมาก หลัง GDP เติบโต 4.8%”

นสพ.โพสต์ทูเดย์ วันจันทร์ที่ 28 พฤษภาคม 2561 

 

เมื่อมีการแถลงตัวเลขทางเศรษฐกิจออกมาจากสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติหรือ สภาพัฒน์ ว่าเศรษฐกิจไทยมีการเจริญเติบโตถึง 4.8% ซึ่งเป็นตัวเลขที่เราๆ ท่านๆ ไม่ได้เห็นมานานมากแล้ว เพราะในช่วงหลายปีที่ผ่านมาการเติบโตเศรษฐกิจไทยย่ำอยู่แถวๆ 2.5-3% จนเกิดอาการที่เรียกว่า ยอมรับความเป็นจริงในระดับใหม่นี้ว่ามันคงเป็นเช่นนี้แหละ คงจะไปต่อหรือไปใหญ่-ไปโตมากกว่านี้ไม่ได้แน่ๆ

ถ้าคิดวัดกันแบบแฟร์ๆ และใช้ใจที่เป็นธรรม ก็ต้องบอกว่ารัฐบาลได้นำ รัฐนาวาฝ่าคลื่นลมมาได้ดี ภายใต้ข้อจำกัดมากมาย เช่น ความสงบที่มีความคุกรุ่นของคนการเมืองที่ยังจบไม่ได้ คิดไม่ได้ อยากให้มีประชาธิปไตยแบบรูปแบบที่บกพร่อง หรือพวกที่ติมันทุกเรื่องแม้กระทั่งหายใจเข้าออกก็ยังบอกว่าผิด หรือปัจจัยในเรื่องการบิน ข้อกำหนดในเรื่องการค้ามนุษย์

ขณะเดียวกันในช่วงสิบปีที่ประเทศได้สูญเสียไปกับความขัดแย้ง การลงทุนที่ควรจะทำก็ไม่มี สิ่งที่ควรทำก็ไม่ได้ทำ มีแต่สิ่งที่ไม่ควรทำซึ่งต่างฝ่ายต่างทะเลาะกันเพื่อที่จะทำมันให้ได้ เป็นต้น

การที่รัฐบาลนี้ได้ทำในสองสิ่งตอนเริ่มต้นคือ

(1) หยุดการทรุดตัวลงของเศรษฐกิจ ด้วยมาตรการต่างๆ และบรรเทาความเดือดร้อนของคนที่ลำบากอยู่แล้วด้วยวิธีเติมเงินในมือเข้าไปตรงๆ แบบที่พวกเปรตหักหัวคิวมองตาปริบๆ ผ่านมาตรการเชิงสังคม

(2) วางมาตรการพื้นฐานในระบบเศรษฐกิจ สังคม การเมือง การปกครองให้มันถูกที่ถูกทาง บังคับใช้กฎหมาย จัดระเบียบสังคม ทำให้กฎหมาย คือกฎหมาย เพื่อให้ความเป็นรัฐ กลับมา เพราะถ้าประเทศมีแต่เรื่องทะเลาะกัน ประท้วงกัน ตีกัน มีแต่แกนนำแกนนอน ใช้สื่อห้ำหั่นกัน คงไม่มีใครเดินฝ่าเปลวควันในเมืองกรุงมาช็อปปิ้งแน่นอน

ทีนี้ เวลานี้ เรามายืนตรงที่ตัวเลขการเติบโต 4.8% โดยที่สำนักต่างๆ กำลังทบทวนตัวเลขทั้งปีของปี 2561 ใหม่ว่าจะไปถึงเฉลี่ยทั้งปี 4.5% ได้หรือไม่ หนทางมันไม่สวยหรู แต่มันเป็นเรื่องต้องเดินผลักดันกันไปให้ได้ สิ่งที่ผมอยากชวนคิดในระยะต่อไปก็คือ

1.ประเทศเราจะเดินหน้าไปด้วยคนที่มีคุณภาพแบบใดที่มันจะเกิด ความมั่นคง สามารถสร้างความมั่งคั่ง และมีความยั่งยืน จะหล่อหลอมเด็ก วันนี้เป็นผู้ใหญ่ในวันหน้าด้วยการศึกษาแบบนกแก้วนกขุนทองอีก หรือ กระบวนการศึกษาที่พัฒนาความหลากหลายในตัวเด็กที่มีศักยภาพ ขาดศักยภาพ ยากดีมีจน อยู่ในภูธร นครบาลจะทำกันอย่างไร

2.รูปแบบทางธุรกิจที่จะทำแล้วไปรอด แข่งได้ ขายได้ สู้ได้กับคู่แข่งทั้งในและต่างประเทศ อะไรคือสภาพแวดล้อมที่ดี อะไรคือระบบนิเวศน์ที่ดีที่จะสนับสนุนให้มนุษย์ไทยตัวเล็กตัวน้อยสามารถจัดตั้งธุรกิจด้วยต้นทุนที่ถูก มีบัญชีที่ถูกต้อง ยอมรับกติกาเรื่องภาษีว่าต้องเสีย ขณะเดียวกันมันมีความแตกต่างทั้งส่วนที่เป็น Online และ Offline ที่กฎระเบียบต้องออกมารองรับแบบไม่สร้างปัญหา โดยเฉพาะการใช้ดุลยพินิจที่จะทุจริตได้

3.ภาคเศรษฐกิจ อุตสาหกรรมที่เป็นยุทธศาสตร์ประเทศ จะต้องมีแบบใด ประเภทใด อยู่ตรงใด ส่งเสริมแบบไม่ผูกขาด ให้สิทธิประโยชน์แต่ไม่ถึงขั้นเอาเปรียบ ตีกินได้ การจะทำอะไรช้า-เร็ว หนัก-เบา ผมเชื่อว่าด้วยแนวคิดภาครัฐและภาคเอกชนทำงานร่วมกัน ไม่ถือเขาถือเรา เข้าใจกัน เอาใจเขามาใส่ใจเรา มันก็จะออกแบบออกมาได้ เช่น เรื่อง New S-curve industry เป็นต้น

4.การจัดการและบริหารคลื่นลมในอารมณ์ความรู้สึกของผู้คนที่มีดีกรีความต้องการมีส่วนร่วมในการจัดสรรปันส่วนอำนาจการบริหารบ้านเมืองไม่ว่าจะเป็นคนน้อยเสียงดังฟังแล้วมีเหตุผล หรือพวกคนน้อยอยากดัง ฟังแล้วอารมณ์เสีย หรือพวกแก่พรรษาออกล่าประเด็น แต่เวลาเป็นก็สุมหัวโกงกิน ไม่เคยได้ยินเสียงประชาชน หรือพวกดีแต่พูด พูดเก่ง พูดเพราะ รู้ทุกเรื่อง ไม่รู้อยู่เรื่องเดียวว่าทำอย่างไรจะชนะการเลือกตั้งให้ได้เสียงมากพอเข้ามาบริหารประเทศ ท้ายสุดคือพวกเวลาลงเล่นก็เป็นหมู (สนาม) แต่เวลาดู พูดได้แบบเป็นเซียน เรื่องนี้นานาจิตตังนะครับ

ผมคงทำได้ในฐานะคนทำงาน คือ ทำงานในหน้าที่ตัวเองทุกวันให้ดี ให้เหมาะ ให้ควร และทุกวันทุกเช้า ให้ถามตัวเองว่าเรามีหน้าที่อะไร อะไรที่ไม่ใช่หน้าที่เรา อย่าไปขายเผือก (ภาษาคนสมัยนี้) ก็พอแล้ว

หยุดให้บริการตรวจเครดิตบูโร (ชั่วคราว) วันอังคารที่ 29 พฤษภาคม 2561 เนื่องในวันวิสาขบูชา..ขออภัยในความไม่สะดวกค่ะ…

หยุดให้บริการตรวจเครดิตบูโร (ชั่วคราว)

วันอังคารที่ 29 พฤษภาคม 2561 เนื่องในวันวิสาขบูชา

ขออภัยในความไม่สะดวกค่ะ…

เปิดทำการปกติ วันพุธที่ 30 พฤษภาคม 2561

  • ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (สำนักงานใหญ่) อาคาร 2 ชั้น 2
  • ปากซอยสุขุมวิท 25 อาคารกลาสเฮ้าส์  (ชั้นใต้ดิน)
  • อาคารเพิร์ล แบงก์ค็อก ชั้น 3 (โซนธนาคาร)

ค่าใช้จ่าย ที่ “ไม่ควรจ่าย” แต่คุณอาจยังไม่รู้ตัว

ค่าใช้จ่ายที่ “ไม่ควรจ่าย” แต่คุณอาจยังไม่รู้ตัว

เช็คลิสต์ 6 ค่าใช้จ่าย ที่ไม่ควรจ่าย

ถ้าคุณต้องการใช้จ่ายอย่างประหยัด แน่นอนว่าต้องหลีกเลี่ยง ค่าใช้จ่าย ฟุ่มเฟือย หรูหรา ไม่มีประโยชน์ แต่รู้หรือไม่ว่ายังมีค่าใช้จ่ายบางอย่างที่ “ไม่ควรจ่าย” แต่หลายคนก็ยังไม่รู้ตัว เผลอเสียเงินให้กับสิ่งเหล่านี้อยู่ทุกวัน มาดูกันว่ามี ค่าใช้จ่าย อะไรบ้างที่ควรค่าแก่การตัดออก

  • ซื้ออาหารมาตุน แต่กินไม่ทัน
    เป็นกันไหม? ยิ่งมีอาหารตุนอยู่ในตู้เย็นเยอะแค่ไหน ก็ยิ่งรู้สึกปลอดภัยมากขึ้นเท่านั้น แถมบางครั้งมีโปรโมชั่นซื้อเยอะถูกกว่าด้วย แต่บางทีเกิดซื้อมาตุนเยอะเกินไปจนกินไม่ทันนี่สิ เงินกลายเป็นอาหารหมดอายุไปเสียอย่างนั้น กลายเป็นยิ่งเปลืองหนักเขาไปใหญ่ ฉะนั้นก่อนซื้ออาหารมาเก็บก็ควรประเมินกำลังบริโภคของครอบครัว และตรวจดูวันหมดอายุให้ดีก่อนเสมอ
  • ซื้อของลดราคา แต่ไม่เคยได้ใช้
    บางคนเห็นป้าย Sale ก็พุ่งตัวเข้าใส่ คิดว่ารีบซื้อเอาไว้ตอนราคาถูก เผื่อว่าอนาคตจะมีโอกาสได้ใช้ ทั้งที่ความจริงอาจเป็นของที่ปกติไม่เคยคิดจะซื้อ หรือไม่ได้จำเป็นเลยสักนิด ผลสุดท้ายของชิ้นนั้นก็นอนเหงาอยู่มุมตู้ไปตลอดกาล แทบจะลืมไปเลยว่าเคยมี แบบนี้ก็น่าเสียดายเงินอยู่นะ
  • ซื้อเสื้อผ้า แต่ใส่ไม่ได้
    หนุ่ม ๆ สาว ๆ บางท่านแค่เห็นเสื้อผ้าสวยถูกใจก็รีบคว้าไว้ แต่ลืมลองก่อนซื้อ กลับมาถึงบ้านกลายเป็นใส่ไม่ได้ คับไป หลวมไป คอกว้าง ผ้าบางหวิวไปซะอย่างนั้น สุดท้ายก็ต้องส่งต่อให้คนอื่น ขายเป็นของมือสอง หรือบริจาคไป ฉะนั้นคราวหน้าคราวหลังควรเช็คไซส์ให้แน่ใจก่อนซื้อ จะได้ไม่เสียเงินเปล่า
  • สมัครสมาชิกฟิตเนส แต่ไม่ได้เล่น
    เห็นใคร ๆ ก็พากันไปออกกำลังกายจนหุ่นฟิตเฟิร์มน่าอิจฉา ถ่ายรูปลงโซเชียลมีเดียกันสนุกสนาน หลายคนเลยอยากใส่ใจสุขภาพตัวเองบ้าง ลงทุนสมัครสมาชิกฟิตเนสราคาหลักหมื่น แต่เอาเข้าจริงเกิดไม่มีเวลาว่าง ขี้เกียจเดินทาง หรือขาดความเอาจริงเอาจัง จนล้มเลิกความตั้งใจหลังจากเล่นไปได้ไม่กี่วัน เงินที่เสียฟิตเนสไปก็กลายเป็นศูนย์
  • จ่ายเซอร์วิสชาร์จ แต่ไม่ได้รับบริการ
    ปัจจุบันตามร้านอาหารหรูหรือร้านอาหารบนห้างสรรพสินค้า มักจะมีการบวกค่าบริการ (Service Charge) เพิ่มเติมมาในบิลด้วย เช่น 10% ของค่าอาหาร เป็นต้น ซึ่งก็คงพอรับได้ถ้าจ่ายแล้วได้รับการบริการที่ดีสมน้ำสมเนื้อ แต่ชีวิตมันไม่เป็นอย่างนั้นนี่สิ เพราะบางร้านพนักงานก็บริการได้ไม่ต่างจากร้านอาหารทั่วไป แถมบางทียังแย่กว่าด้วยซ้ำ เห็นแล้วอาจจะนึกเสียดายเงินค่าบริการที่เสียไปได้
  • ให้เงินคนอื่นยืม แต่ไม่ได้คืน
    ถ้าคุณเป็นคนใจดี ใจอ่อน ขี้สงสาร เมื่อเพื่อน ๆ เกิดเดือดร้อนเงินทองฝืดเคืองขึ้นมา พวกเขาอาจนึกถึงคุณเป็นที่พึ่งแรก ๆ แต่อย่าลืมว่าเพื่อนบางคนพอถึงเวลาสุขสบายขึ้นมา เขาอาจไม่ได้นึกถึงคุณสักนิดเลยก็ได้ แถมยังอาจจะลืมเรื่องหนี้สินที่เคยยืมคุณไปด้วย ครั้นจะทวงก็เกรงจะผิดใจกัน ถ้าไม่ทวงก็ง่าย ๆ คือกลายเป็นหนี้สูญโดยสมบูรณ์เท่านั้นเอง รู้อย่างนี้ก่อนให้ใครยืมเงินก็อย่าลืมคิดให้ดีก่อนสักร้อยตลบนะ

ลองตัด ค่าใช้จ่าย เหล่านี้ออกไป แล้วเรามาดูกันว่าจะได้เหลือเงินเพิ่มขึ้นเท่าไร!

>> อ่านข้อมูลดีๆ จากบริษัทข้อมูลเครดิตแห่งชาติ เพิ่มเติมได้ที่นี่ <<

>> ติดตาม Facebook บริษัทข้อมูลเครดิตแห่งชาติ <<

คอลัมน์เศรษฐกิจคิดง่ายๆ “เมื่อกรรมการแจ้งผู้เล่นให้ระวัง…เป็นเรื่องที่ต้องคิดให้มาก” วันจันทร์ที่ 21 พฤษภาคม 2561

คอลัมน์ เศรษฐกิจคิดง่ายๆ

“เมื่อกรรมการแจ้งผู้เล่นให้ระวัง…เป็นเรื่องที่ต้องคิดให้มาก”

นสพ.โพสต์ทูเดย์ วันจันทร์ที่ 21 พฤษภาคม 2561

ตามข่าวสารที่เผยแพร่ออกมาจากสื่อมวลชนระบุว่าธนาคารกลางในฐานะ ผู้กำกับดูแลได้ส่งสัญญาณค่อนข้างชัดเจนว่า ให้ธนาคารพาณิชย์และสถาบัน การเงินในกำกับทั้งหลายให้ความสำคัญ เพิ่มขึ้นในเรื่องที่อาจต้องพิจารณาปรับปรุง ซึ่งตามข่าวสารนั้นระบุถึงเรื่องสำคัญหลายประการดังนี้

1.ให้ความสำคัญและยกระดับตัวของคณะกรรมการบริหารความเสี่ยง ซึ่งถ้าใช้ภาษาให้ถูกคือการจัดให้มีระบบการบริหารและป้องกันความเสี่ยง หมายความว่าการดำเนินธุรกิจมันมีความเสี่ยงอยู่เสมอ ต้องรู้ในทุกขณะจิตที่ตัดสินใจนะว่า มันเสี่ยงตรงไหน มันเสี่ยงอย่างไร มันเสี่ยงเท่าไร มันเสี่ยงเพราะอะไร แล้วทำไมเรายังตัดสินใจทั้งที่มันยังเสี่ยง ได้ชั่งใจโดยฟังความรอบข้างแล้วนะก่อนการตัดสินใจ ดังนั้น มันจึงกลับมาที่ตัวบุคคลที่ควรจะมีความหลากหลายเท่าทันเทคโนโลยี รู้ว่าฝ่ายจัดการกำลังเสนออะไร กำลังเล่นอะไรอยู่ ขณะเดียวกันตัวกรรมการควรต้องเป็นอิสระ ปราศจากการครอบงำ ในการตัดสินใจ การเป็นกรรมการอิสระแล้วเข้ามาทำหน้าที่นั้นดูจะเป็นคำตอบที่ดีที่สุดในเวลานี้

2.เรื่องของเทคโนโลยีทั้งการ นำมาใช้บริหาร หรือนำมาใช้เพื่อบริการ ที่เราเรียกรวมๆ กันว่า ทำให้ความฉลาดของเครื่องไม้เครื่องมือเหล่านั้นมาปั้นเป็น as a service ให้ทั้งภายใน ภายนอก ให้การตอบสนองความต้องการของลูกค้าที่นับวันจะเอาแต่ใจตัวเองประเภท เดี๋ยวนี้ เวลานี้ เท่านี้ หรือทำไมทำไม่ได้แบบนี้ การที่เทคโนโลยีสารสนเทศ ได้เข้ามาในทุกอณูของการทำงาน เพื่อตอบโจทย์ความกดดันทางธุรกิจ จุดความเสี่ยงที่มองไม่เห็นเพราะไม่ทราบมาก่อน หรือจุดความเสี่ยงที่เห็นแต่คิดว่าไม่มีอะไร หรือจุดที่เห็นแต่คิดว่าเกิดแล้วแลกกับผลทางธุรกิจแล้วรับได้ ทั้งที่จริงๆ แล้วในท้ายที่สุดคือหายนะ

เรื่องแบบนี้จึงต้องกลับมาที่สาระและเนื้อหาในความ (1) รู้เรื่อง (2) รู้จริง (3) รู้ใจ ในการนำเอาเทคโนโลยีมาใช้ในอุตสาหกรรมที่ตั้งอยู่บนฐาน Trust and Confidence กับลูกค้า มันจึงเป็นความเสี่ยงที่ต้องจัดการแบบไม่ต่อรอง โดยผู้คนที่ต้องไม่ยอมต่อรอง ประมาณนั้น

3.การให้กู้กับลูกค้ารายใหญ่ที่มากเกินไป กระจุกตัวเกินไป และดอกเบี้ยที่คิดก็แข่งกันลดเกินไป อันนี้ก็เป็นเรื่องที่มีการต่อว่าต่อขานมาตลอดว่าระดมเงินจากรายย่อยมาปล่อยกู้รายใหญ่ ดอกเบี้ยคิดถูกไป แต่ไปชดเชยด้วยการโขกเอากับเอสเอ็มอีรายกลาง รายเล็ก ซึ่งฝั่งคนทำงานก็ออกมาชี้แจงตลอดว่า ไม่ใช่อย่างนั้น บางเรื่องมันเป็นการให้กู้ระยะสั้นจากสภาพคล่องบนอัตราดอกเบี้ยในตลาดเงิน (Money Market Rate) จะเอามาเทียบกับตลาดสินเชื่อ (Loan Market) ไม่น่าจะได้นะ แต่จนถึงขณะนี้ก็ยังเป็นวิวาทะกันต่อไป

ผมมาฉุกใจคิดตรงการให้ข้อมูลของฝั่งผู้บริหารระดับสูงที่ว่า อาจเป็นได้ว่าธนาคารกลางเข้าตรวจสอบแล้วพบเรื่องที่ควรตระหนักในบางแห่ง จึงส่งสัญญาณถึงทุกแห่งให้ระวัง ยกระดับ และรีบดำเนินการเสียแต่เนิ่นๆ ไอ้จุดนี้แหละที่มันจะเป็นคำถามต่อในลักษณะสังคมไทยคือ สถาบันนั้นคือใคร แล้วก็ลากไปว่าเป็นจุดอ่อนของระบบหรือไม่ ต้องเข้าใจว่า “การตัดไฟแต่ต้นลม” ต้องเอาให้จบ ม้วนเดียวจบ แบบซามูไรฟันดาบ ไม่อย่างนั้น “ข่าวว่ามีงูในคลอง จะพัฒนาไปเป็นมังกรในแม่น้ำ พอผ่านไปอีกสามวัน มังกรบินได้ พ่นไฟ และเผาหมู่บ้านที่โน่น ที่นี่” ผู้เขียนจึงได้แต่ขอบคุณในสิ่งที่เผยแพร่มา ณ โอกาสนี้ด้วยความเคารพยิ่งครับ

“ป้องกันความเสี่ยง หมายความว่าการดำเนินธุรกิจมันมีความเสี่ยงอยู่เสมอ ต้องรู้ในทุกขณะจิตที่ตัดสินใจนะว่า มันเสี่ยงตรงไหน  มันเสี่ยงอย่างไร มันเสี่ยงเท่าไร มันเสี่ยงเพราะอะไร แล้วทำไมเรายังตัดสินใจทั้งที่มันยังเสี่ยง ฟังความรอบข้างก่อนการตัดสินใจ”

เชิญตรวจเครดิตบูโร ฟรี! งาน “แสดงกิจกรรมมาตรการเพื่อขับเคลื่อน SMEs สู่ยุค 4.0” วันที่ 18-20 พฤษภาคม 2561 เวลา 10.00 – 19.00 น. อาคารชาเลนเจอร์ 2 อิมแพ็ค เมืองทองธานี (ภายในบูธเอสเอ็มอีแบงก์)

เชิญตรวจเครดิตบูโร ฟรี!

งาน “แสดงกิจกรรมมาตรการเพื่อขับเคลื่อน SMEs สู่ยุค 4.0”

วันที่ 18-20 พฤษภาคม 2561

เวลา 10.00 – 19.00 น. อาคารชาเลนเจอร์ 2 อิมแพ็ค เมืองทองธานี (ภายในบูธเอสเอ็มอีแบงก์)

ฟรี!!…บริการตรวจเครดิตบูโร แต่ขอรับเป็นเงินบริจาคแทน พร้อมเปิดคลินิกเครดิตบูโรให้คำปรึกษา

เรื่องน่าอ่าน