Blog Page 169

คอลัมน์เศรษฐกิจคิดง่ายๆ : ระบบนิเวศ ทางการเงินไทยปี 2561 : วันจันทร์ 25 ธันวาคม 2560

คอลัมน์เศรษฐกิจคิดง่ายๆ

ระบบนิเวศ ทางการเงินไทยปี 2561

นสพ.โพสต์ทูเดย์ วันจันทร์ 25 ธันวาคม 2560

ในช่วงปลายปี 2560 กับบรรยากาศของความหนาวเย็นที่มาเยือนคนกรุงเทพฯ ให้ได้รู้สึกถึงการนอนหลับพักผ่อนโดยไม่ต้องเปิดเครื่องปรับอากาศ ได้เห็นคนวัยทำงาน หนุ่มสาวมีความคึกคัก เมื่อผมได้ย้อนคิดถึงพัฒนาการที่ผ่านมาของระบบสถาบันการเงิน ที่แทบทุกแห่งต่างตื่นตัว ริเริ่ม เร่งรัดโครงการต่างๆ ที่จะตอบสนองความต้องการของบรรดาลูกค้าที่มีพฤติกรรมที่เปลี่ยนไป แน่นอนว่าอาการรอไม่ได้ รอไม่เป็น บ่นทุกเรื่อง ไม่พอใจในทุกสิ่งอัน ต้องการคำตอบในคำถามที่บางครั้งก็ไม่น่าจะถาม ไม่ควรถาม หรือไม่ใส่ใจกับคำตอบ เปรียบเทียบเงื่อนไขก่อนใช้บริการ ต้องการได้บริการทุกที่ ทุกหนแห่ง ทุกเวลา และตั้งคำถามกับความเหมาะสมของการคิดค่าธรรมเนียม
ดังนั้น การจัดให้มีระบบการให้บริการทางการเงิน แบบไม่ต้องให้ลูกค้ามาแสดงตนต่อหน้าเพื่อยืนยัน ตัวตนก่อนการให้และรับบริการที่เรียกว่า Face to Face อย่างที่เราคุ้นเคย คือยื่นบัตรประชาชน ลงนามในเอกสารกระดาษรับรองสำเนา (อย่างที่ใครๆ หลายคนบอกว่ายุค 0.4)
หากเราลองนึกภาพว่า นาย A ต้องการใช้บริการสินเชื่อกับธนาคาร X แต่นาย A ไม่ต้องมาแสดงตนที่จุดให้บริการของธนาคาร (เพราะต้นทุนการนำตัวเองมาในจุดนั้นมันแพง ทั้งตัวเงิน เวลา ค่าใช้จ่าย เสียเวลา เสียความรู้สึก) หากว่านาย A ติดต่อกับธนาคาร X ผ่านเครื่องมือสื่อสาร ไม่ว่าจะเป็นโทรศัพท์เคลื่อนที่ คอมพิวเตอร์ แท็บเล็ต ที่เรียกว่าผ่าน Bank Application จากนั้นธนาคาร X ก็จะติดต่อระบบกลาง หรือ Digital Platform ที่มีการเชื่อมโยงไปกับแหล่งข้อมูลที่น่าเชื่อถือที่มีการเก็บข้อมูลตัวตนของนาย A ไว้ในระบบ ภาษาอังกฤษเรียกว่า Trust Source Information เช่น หน่วยงานภาครัฐด้านทะเบียนราษฎร ด้านทะเบียนบุคคลต่างด้าว ด้านหนังสือเดินทาง ด้านทะเบียนบุคคลล้มละลาย ด้านการจดทะเบียนนิติบุคคล หรือหน่วยงานอื่น
เมื่อธนาคาร A ได้รับการยืนยันจนมั่นใจผ่านระบบการเชื่อมโยงผ่าน Digital Platform กลางนี้แล้วว่านาย X คือนาย X ธนาคาร A ก็จะให้บริการกับนาย X จนครบกระบวนการโดยที่นาย X ไม่ต้องมาเจอกับพนักงานของธนาคาร A ใดๆ ทั้งสิ้น ความยุ่งยากที่ผมกล่าวมาข้างต้นบนพื้นฐานระบบแบบ 0.4 จะได้ก้าวไปสู่สภาพแวดล้อม 4.0 อย่างสมบูรณ์
ผมจึงอยากจะเรียนว่าโครงสร้างพื้นฐาน ทางการเงินนี้ในประเทศไทย ในระบบการเงินไทย ที่เป็น Digital Platform กลางนี้ได้ถูกกำหนด ให้เกิดขึ้นผ่านการสนับสนุนกระทรวงดิจิทัลเพื่อ เศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) และกระทรวงการคลัง โดยคาดว่าจะเริ่มให้บริการได้ตั้งแต่ มิ.ย. 2561 เป็นต้นไป ภายใต้ชื่อ Digital ID platform ภาคเอกชนที่เข้ามาลงขัน ลงแรงในการทำงานร่วมกับภาครัฐ ประกอบด้วย สมาคมธนาคารไทย สมาคมบริษัทหลักทรัพย์ สมาคมประกันชีวิต/ประกันภัย บริษัท ข้อมูลเครดิตแห่งชาติ (เครดิต บูโร) เป็นต้น
ผมเชื่อว่าด้วยโครงสร้างพื้นฐานทางการเงินแบบนี้ วิธีคิดแบบนี้ มันไม่สามารถทำได้ในยุคภาครัฐอย่างที่แล้วมา เพราะการทำให้ทุกฝ่ายยอมนำข้อมูลออกมาเปิดเผยเพื่อช่วยส่วนกลางนอกเหนือจากหน่วยงานตน อุปนิสัยและวิธีคิดของทุกสถาบันในการแชร์ข้อมูล (ได้เอา เสียไม่เอา) มันเป็นอุปสรรคตลอดเวลา เราจึงเห็นระบบที่มันไม่เชื่อมโยง เช่น รถไฟฟ้าวิ่งมาต่อกันไม่ได้ เพราะขาดตรงกลางไปหนึ่งสถานี จนต้องใช้ ม.44 มาจัดการ จะขึ้นรถไฟฟ้าต้องเอาธนบัตรไปแลกเหรียญ เอาเหรียญมาหยอดตู้เพื่อได้บัตรเดินทาง พอจะลงใต้ดินก็ใช้บัตรไม่ได้ ต้องเอาธนบัตรไปแลกเหรียญที่เป็นตั๋ว เอาเหรียญ ดังกล่าวไปหยอดตรงช่องทางเข้ารถไฟใต้ดิน พอจะไปขึ้นรถประจำทางก็ต้องใช้อีกแบบหนึ่ง จะไปทางด่วนก็อีกแบบหนึ่ง ทั้งๆที่ ผู้คนที่รับผิดชอบก็ได้งบไปดูงานแทบจะทั่วโลก ได้รู้ได้เห็นว่าฮ่องกงทำอย่างไร ประเทศจีน เกาหลี ญี่ปุ่น เขาทำอย่างไรกันบ้าง
แต่สุดท้ายความต้องการของลูกค้าจะชนะทุกสิ่ง เพราะลูกค้าเป็นมากกว่าพระเจ้า ในปี 2561 สถาบันใดไม่เปลี่ยนแปลง สถาบันนั้นจะดำรงอยู่อย่างยากลำบากหรือล้มหายตายจากไปอย่างแน่นอน โครงสร้างพื้นฐานของระบบการเงินไทยแบบใหม่ๆ ที่มารองรับธุรกรรมที่เรียกว่า Online Transaction หรือ Digital Transaction จะนำพาให้ระบบการให้บริการทางการเงินเข้าสู่ยุคสมัยที่เป็นทั้งโอกาสและความท้าทายอย่างแน่นอน…ท่านผู้อ่านเชื่อหรือไม่

รายงานข้อมูลเครดิต (รายงานเครดิตบูโร) ของท่านเป็นแบบไหน

รายงานข้อมูลเครดิต

คือ รายงานข้อมูลเครดิต คือ ข้อมูลเกี่ยวกับประวัติการชำระหนี้ของลูกค้า ข้อมูลสินเชื่อ สถานะทุกบัญชีที่เจ้าของข้อมูลมีอยู่กับสถาบันการเงินทุกแห่งที่เป็นสมาชิกบริษัท ข้อมูลเครดิตแห่งชาติ จำกัด (เครดิตบูโร) โดยสถาบันการเงินที่เป็นสมาชิกเครดิตบูโรจะมีหน้าที่นำส่งข้อมูลสินเชื่อของลูกค้าแต่ละรายให้เครดิตบูโรเป็นรายเดือน ไปจนกว่าสินเชื่อนั้นจะได้รับการชำระเสร็จสิ้น และจะปรากฏในรายงานข้อมูลเครดิตเมื่อมีผู้ขอเรียกดูหรือสถาบันการเงินที่ได้รับความยินยอมจากเจ้าของข้อมูล ประกอบด้วยข้อมูล 2 ส่วน

1. ข้อมูลที่บ่งชี้ถึงตัวตนลูกค้า เช่น ชื่อ ที่อยู่ วันเดือนปีเกิด เลขที่บัตรประชาชน และกรณีที่เป็นนิติบุคคล จะเป็น ชื่อ สถานที่ตั้ง เลขที่ทะเบียนนิติบุคคล เป็นต้น

2. ข้อมูลเกี่ยวกับสินเชื่อที่ได้รับอนุมัติ และประวัติการชำระสินเชื่อ รวมทั้งสถานะบัญชีที่แสดงสถานะของบัญชีสินเชื่อแต่ละบัญชีที่แสดงในรายงานข้อมูลเครดิต เช่น สินเชื่อปกติ สินเชื่อที่ปิดบัญชีแล้ว สินเชื่อที่ค้างชำระเกิน 90 วัน สินเชื่อที่อยู่ในกระบวนการทางกฎหมาย เป็นต้น รายงานข้อมูลเครดิตเป็นการรายงานประวัติการชำระสินเชื่อตามข้อเท็จจริง กรณีที่ลูกหนี้ชำระหนี้ได้ ไม่ค้างชำระ รายงานก็จะแสดงว่าสถานะบัญชีเป็นปกติ ส่วนกรณีที่ลูกหนี้ผิดนัดชำระหนี้ รายงานก็จะแสดงข้อมูลว่าลูกหนี้ผิดนัดชำระหนี้ไว้ในระบบข้อมูลของบริษัทข้อมูลเครดิตเช่นกัน เครดิตบูโรขอเรียนว่าไม่มีการรายงานว่าลูกหนี้คนใดติด Blacklist

ข้อมูลเครดิตจะแสดงถึงประวัติการชำระหนี้ ที่สะท้อนถึงพฤติกรรมและวินัยทางการเงินของเจ้าของข้อมูล และแสดงถึงความตั้งใจในการชำระหนี้และความน่าเชื่อถือ หรือที่เราเรียกกันว่า “เครดิต” ที่มีความสำคัญต่อการประกอบธุรกิจ โดยสถาบันการเงินจึงใช้ประโยชน์จากรายงานข้อมูลเครดิตเป็นปัจจัยหนึ่งที่ใช้ร่วมกับปัจจัยอื่น ๆ ในการพิจารณาอนุมัติสินเชื่อ เช่น ความสามารถในการหารายได้ ความเป็นไปได้ของธุรกิจ หลักประกัน เป็นต้น เครดิตบูโรไม่มีความเกี่ยวข้องหรือมีสิทธิอนุมัติ หรือร่วมตัดสินใจให้สินเชื่อกับใคร บุคคลใดกล่าวอ้างกับท่าน แจ้งเรื่องได้ที่ consumer@ncb.co.th ศึกษารายละเอียดข้อมูลเครดิตบูโรเพิ่มเติม

เช็กช่องทางการเครดิตบูโรเพิ่มเติม >>> http://bit.ly/2D5eZW3

 

วิธีการอ่านรายงาน

 

 

 

 

 

 

 

ข้อมูลเครดิตคืออะไร สำคัญอย่างไร

ข้อมูล : จากเว็บไซต์ คณะกรรมการคุ้มครองข้อมูลเครดิต  www.creditinfocommittee.or.th

หมวดเครดิตบูโร

1.ข้อมูลเครดิตคืออะไร

ข้อมูลเครดิต คือ ข้อมูลเกี่ยวกับประวัติการชำระหนี้ของลูกค้า ซึ่งถูกจัดเก็บไว้ในระบบฐานข้อมูลของบริษัทข้อมูลเครดิต และจะปรากฏในรายงานข้อมูลเครดิตเมื่อมีผู้ขอเรียกดู ปัจจุบันข้อมูลเครดิตประกอบด้วยข้อมูล 2 ส่วนคือ

– ข้อมูลที่บ่งชี้ถึงตัวตนลูกค้าเช่น ชื่อ ที่อยู่ วันเดือนปีเกิด สถานภาพการสมรส อาชีพ เลขที่บัตรประชาชน และกรณีที่เป็นนิติบุคคล จะเป็น ชื่อ สถานที่ตั้ง เลขที่ทะเบียนนิติบุคคล เป็นต้น

– ข้อมูลเกี่ยวกับสินเชื่อที่ได้รับอนุมัติ และประวัติการชำระสินเชื่อ ประวัติการชำระราคาสินค้าหรือบริการโดยบัตรเครดิต รวมทั้งสถานะบัญชี

2.ข้อมูลเครดิตมีความสำคัญอย่างไร

ข้อมูลเครดิตจะแสดงถึงประวัติการชำระหนี้ที่สะท้อนถึงพฤติกรรมและวินัยทางการเงินของเจ้าของข้อมูล แสดงถึงความตั้งใจในการชำระหนี้และความน่าเชื่อถือหรือที่เราเรียกกันว่า “เครดิต” ที่มีความสำคัญต่อการประกอบธุรกิจ สถาบันการเงินจึงใช้ประโยชน์จากรายงานข้อมูลเครดิตเป็นปัจจัยหนึ่งที่ใช้ร่วมกับปัจจัยอื่น ๆ ในการพิจารณาอนุมัติสินเชื่อ เช่น ความสามารถในการหารายได้ ความเป็นไปได้ของธุรกิจ หลักประกัน เป็นต้น ดังนั้น ย่อมกล่าวได้ว่าผู้ที่มีประวัติการชำระหนี้ดีมีโอกาสได้รับสินเชื่อในอัตราที่เหมาะสม

3.ใครเป็นผู้เก็บข้อมูลเครดิต

บริษัทที่จะประกอบธุรกิจข้อมูลเครดิตเพื่อจัดเก็บข้อมูลเครดิตได้ จะต้องได้รับอนุญาตจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ซึ่งปัจจุบันผู้ประกอบธุรกิจข้อมูลเครดิตที่ได้รับอนุญาตมีเพียงแห่งเดียว คือ บริษัทข้อมูลเครดิตแห่งชาติ จำกัด (National Credit Bureau Co.,Ltd. : NCB)

4.ใครเป็นผู้นำส่งข้อมูลเครดิตให้บริษัทข้อมูลเครดิต

สถาบันการเงินหรือนิติบุคคลที่ประกอบธุรกิจให้สินเชื่อ ที่เป็นสมาชิกของ NCB มีหน้าที่นำส่งข้อมูลเครดิตลูกค้าของตนให้ NCB

5.ค่าโทรศัพท์มือถือ ค่าน้ำ-ค่าไฟ จะถูกนำส่งให้บริษัทข้อมูลเครดิตหรือไม่

ปัจจุบันกฎหมายยังไม่ได้กำหนดให้องค์กรหรือนิติบุคคลใดต้องนำส่งข้อมูลประวัติการชำระค่าโทรศัพท์มือถือ ค่าน้ำ-ค่าไฟ รวมทั้งค่าสาธารณูปโภคต่าง ๆ ให้บริษัทข้อมูลเครดิต

6.ข้อมูลเครดิตจัดเก็บอย่างไร และเก็บไว้ในระบบนานแค่ไหน

สถาบันการเงินที่เป็นสมาชิกของบริษัทข้อมูลเครดิตมีหน้าที่นำส่งข้อมูลสินเชื่อของลูกค้าแต่ละรายให้บริษัทข้อมูลเครดิตเป็นรายเดือน ไปจนกว่าสินเชื่อนั้นจะได้รับการชำระเสร็จสิ้น ในกรณีที่ลูกค้าผิดนัดชำระหนี้และค้างชำระเกิน 90 วัน สถาบันการเงินจะส่งข้อมูลสินเชื่อคงค้างให้บริษัทข้อมูลเครดิตต่อเนื่องไปอีกเป็นเวลาไม่เกิน 5 ปี นับแต่วันที่ค้างชำระเกิน 90 วัน

บริษัทข้อมูลเครดิตจะเก็บข้อมูลเครดิตที่ได้รับจากสถาบันการเงินไว้ในฐานข้อมูลต่อไปอีกเป็นเวลาไม่เกิน 3 ปี นับจากวันที่บริษัทข้อมูลเครดิตได้รับข้อมูลจากสถาบันการเงิน

 

หมวดรายงานเครดิต

1.รายงานข้อมูลเครดิต คืออะไร

รายงานข้อมูลเครดิต (Credit Report) คือ รายงานที่บริษัทข้อมูลเครดิตจัดทำขึ้นและให้สิทธิสถาบันการเงินที่ได้รับความยินยอมจากเจ้าของข้อมูลเรียกดู หรือเจ้าของข้อมูลเรียกดูได้ โดยรายงานข้อมูลเครดิตจะแสดงข้อมูลสินเชื่อ ประวัติการชำระสินเชื่อ สถานะทุกบัญชีที่เจ้าของข้อมูลมีอยู่กับสถาบันการเงินทุกแห่งที่เป็นสมาชิกบริษัทข้อมูลเครดิต

2.สถานะบัญชีคืออะไร

สถานะบัญชีคือ ข้อมูลที่แสดงสถานะของบัญชีสินเชื่อแต่ละบัญชีที่แสดงในรายงานข้อมูลเครดิต  เช่น สินเชื่อปกติ สินเชื่อที่ปิดบัญชีแล้ว สินเชื่อที่ค้างชำระเกิน 90 วัน สินเชื่อที่อยู่ในกระบวนการทางกฎหมาย เป็นต้น

3.รายงานข้อมูลเครดิตเกี่ยวข้องกับ Blacklist หรือไม่

รายงานข้อมูลเครดิตเป็นการรายงานประวัติการชำระสินเชื่อตามข้อเท็จจริง  กรณีที่ลูกหนี้ชำระหนี้ได้ไม่ค้างชำระ รายงานก็จะแสดงว่าสถานะบัญชีเป็นปกติ ส่วนกรณีที่ลูกหนี้ผิดนัดชำระหนี้ รายงานก็จะแสดงข้อมูลว่าลูกหนี้ผิดนัดชำระหนี้ไว้ในระบบข้อมูลของบริษัทข้อมูลเครดิตเช่นกัน ไม่มีการรายงานว่าลูกหนี้คนใดติด Blacklist

หมวดข้อมูลเครดิตไม่ถูกต้อง ควรทำอย่างไร

1.เจ้าของข้อมูลขอลบหรือแก้ไขประวัติการชำระหนี้ได้หรือไม่

เจ้าของข้อมูลขอลบหรือแก้ไขประวัติการชำระหนี้ได้ในกรณีที่พบว่าข้อมูลของตนเองไม่ตรงกับข้อเท็จจริง โดยสามารถยื่นตรวจสอบข้อมูลเครดิตของตนได้ที่บริษัทข้อมูลเครดิตและสถาบันการเงินที่เจ้าของข้อมูลเป็นลูกค้า  แต่หากข้อมูลเครดิตตรงตามข้อเท็จจริงแล้ว เจ้าของข้อมูลไม่สามารถขอลบหรือแก้ไขข้อมูลได้ เว้นแต่ในบางกรณีที่กฎหมายบัญญัติไว้ เช่น เกินอายุการจัดเก็บข้อมูล เป็นต้น

2.เจ้าของข้อมูลพบว่าข้อมูลเครดิตไม่ถูกต้อง ควรทำอย่างไร

เจ้าของข้อมูลมีสิทธิยื่นคำขอตรวจสอบและแก้ไขข้อมูลเครดิตของตนได้ที่บริษัทข้อมูลเครดิตและสถาบันการเงินที่เจ้าของข้อมูลเป็นลูกค้า หากสถาบันการเงินตรวจสอบหลักฐานและข้อเท็จจริงพบว่าข้อมูลเครดิตไม่ถูกต้อง สถาบันการเงินจะต้องส่งข้อมูลที่ถูกต้องให้บริษัทข้อมูลเครดิตแก้ไข และแจ้งผลการตรวจสอบให้ทราบภายใน 30 วัน หากเจ้าของข้อมูลเห็นว่ารายงานข้อมูลเครดิตของตนยังมีความไม่ถูกต้องอีก เจ้าของข้อมูลสามารถยื่นคำขอให้บริษัทข้อมูลเครดิตบันทึกข้อโต้แย้งไว้ในรายงานข้อมูลเครดิตของตนเองได้

ข้อมูล : จากเว็บไซต์ คณะกรรมการคุ้มครองข้อมูลเครดิต  www.creditinfocommittee.or.th

 

คอลัมน์เศรษฐกิจคิดง่ายๆ : P2P Lending ในฐานะคนกลางด้านข้อมูล : วันจันทร์ 11 ธันวาคม 2560

คอลัมน์เศรษฐกิจคิดง่ายๆ

P2P Lending ในฐานะคนกลางด้านข้อมูล

นสพ.โพสต์ทูเดย์  วันจันทร์ 11 ธันวาคม 2560

ในช่วงเวลาที่ผ่านมานับตั้งแต่ประมาณปลายปี 2558 ที่ได้มีการจัดประชุมหารือของผู้คนในแวดวง FinTech โดยภาคทางการก็ระบุว่าต้องการสนับสนุนให้เกิดการนำเอาเทคโนโลยีที่ทันสมัยมาพัฒนาหรือหลอมรวมกับบริการทางการเงินในทุกมิติ เพื่อไปตอบโจทย์ความต้องการ หรือไปขจัดจุดที่เป็นอุปสรรคในการดำเนินธุรกิจในโลกปัจจุบัน ผลจากการตื่นตัวและพูดคุยกันในอดีตหลายที่หลายเวทีก็มีประเด็นว่า การที่ SME ยังไม่สามารถเข้าถึงแหล่งเงินในระบบปัจจุบันได้ดีพอนั้น มันมีอะไรที่จะสามารถเอาบริการจาก FinTech มาตอบคำถามนี้ได้ไหม มันก็มีคนเสนอว่าในหลายประเทศ ไม่ว่าจะเป็น จีน มาเลเซีย สิงคโปร์ อินโดนีเซีย ได้ริเริ่มใช้บริการที่เรียกว่า P2P Lending หรือ Peer to Peer Lending Platform มา ตอบโจทย์ไหม ประเด็นสำคัญก็มีว่า
(1) มีสมมติฐานเรื่องการปล่อยกู้ P2P ให้กับ SME ว่าทำไมจึงจำเป็นต้องเกิดขึ้น ก็เป็นเหตุเดิมๆ ที่กล่าวกันคือ SME เป็นกลุ่มที่ต้องการสินเชื่อ แต่เข้าถึงสินเชื่อของสถาบันการเงินปัจจุบันได้ค่อนข้างยากกว่ากลุ่มอื่น เพราะต้องมีหลักทรัพย์ค้ำประกัน ซึ่ง SME ไม่ค่อยจะมีสิ่งนี้ หากแต่ว่าตัวของ SME ทั้งหลาย เป็นกลุ่ม ที่สำคัญในระบบที่ช่วยสร้างการเติบโตของเศรษฐกิจไทย มีความเชื่อต่อมาว่าการให้กู้ P2P จะเป็นรูปแบบการปล่อยสินเชื่อที่ได้ผลค่อนข้างดีและความเสี่ยงน้อยกว่าการปล่อยแบบ สินเชื่อส่วนบุคคล (Personal Loan) ที่ไทยกำลังทำอยู่ โดยคาดว่าหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) จะอยู่ที่ 2-3%
(2) รูปแบบการปล่อยกู้แบบ P2P ของกลุ่ม SME จะเริ่มจากผู้กู้ที่ต้องการเงินทุนหมุนเวียนหรือสินเชื่อจะเข้าไปประกาศตัวใน Platform จากนั้นจะมี FinTech ที่เป็นตัวกลางคือ Operator Platform เข้ามาจัดการประเมินความน่าเชื่อถือของ SME (กระบวนการน่าจะเหมือนกับธนาคารทำกัน) จากนั้นจะแบ่งเกรด SME เป็นระดับต่างๆ เช่น เกรดดี เกรด AA อัตราดอกเบี้ยถูก จนไปถึงเกรดที่เสี่ยงมากก็คิดอัตราดอกเบี้ยเพดานที่ 15% หรือออกเกรดที่เสี่ยงสูงมากๆ Platform นี้ ก็จะมีนักลงทุนที่มีเงินเหลือ เงินเยอะ สนใจเข้ามาศึกษาจนพอใจจนตัดสินใจร่วมกันปล่อยกู้โดย Platform Operator ก็จะได้รับรายได้ค่าธรรมเนียมทั้งจากผู้กู้และผู้ลงทุนทั้งสองข้างนั่นเอง
(3) เรื่องที่ต้องคิดหาคำตอบให้ได้ก่อนมีดังนี้
3.1 กระบวนการพิสูจน์ว่าคน ขอกู้ มีตัวตนจริง มีธุรกิจจริง ไม่ใช่มนุษย์ที่จะมาต้มตุ๋นคนนั้นใครทำ ใครรับผิดชอบเพราะในโลกความเป็นจริงคนขอกู้ฉ้อฉลเองตามลำพังคน ขอกู้ ร่วมกับ Platform ร่วมกันฉ้อฉลคนขอกู้ร่วมกับผู้ลงทุนบางรายหลอกคนที่เหลือ มันเกิดขึ้นได้หมด เราท่านก็เห็นกันอยู่ทุกวันนี้ใช่ไหม
3.2 ความรับผิดชอบในสัญญา กู้ยืม เพราะตัว Platform Operator ไม่ใช่คู่สัญญาระหว่างคนกู้กับนักลงทุน เพียงแต่ตัวเองเป็นแม่สื่อดิจิทัลให้มาเจอกัน หากใครเบี้ยวสัญญาแล้ว อะไรคือกลไกรองรับ หรือให้ไปว่ากันเอง
3.3 ใครมีหน้าที่ไปเก็บหนี้ เอามาส่งต้นและดอกให้กับผู้ลงทุน ทุกวันนี้เราๆ ท่านๆ ก็รู้ว่าการตามหนี้ การทวงหนี้ มันยากไหมในหมู่การหยิบยืมกันไม่ว่าวงแชร์ ไม่ว่ากู้กันเอง เช่น โครงการที่ขอกู้ได้เงินไปแล้วใครจะติดตามความก้าวหน้าโครงการที่เราเรียกว่า การบริหารเงินกู้การบริหารโครงการภายใต้เงินกู้หรือการติดตามให้เป็นไปตามสัญญาเงินกู้
เมื่อคิดเรื่องนี้ทำให้ผมไปนึกถึงการตั้งวงแชร์ของคนสมัยก่อนสำหรับคนที่เข้าไม่ถึงธนาคาร (Unbank) ที่พวกเขาจะใช้หลักการถ่ายเทเงินเหลือเงินขาด (Saving/Investment) ในแวดวงของคนที่เขารู้จัก (KYC/CDD) ผ่านการบริหารจัดการของเท้าแชร์ (Platform Operator) ที่จะทำหน้าที่บริหารความสัมพันธ์ผ่านกิจกรรมกินโต๊ะแชร์กันทุกเดือน (Information Update) โดยเท้าแชร์คือคนที่ดูแลให้ระบบราบรื่นตลอดจนทำตัวให้เป็น Trust Agent แม้ไม่มีกฎหมายใดเข้ามายุ่ง ระบบมันก็เดินไปได้ ไม่ต้องไปออกประกาศ Market Conduct มากำกับพฤติกรรมอะไรเลย หลังสุดนี้ผมเห็นพวกเค้าก็แค่เอาโทรศัพท์มือถือมาโอนเงิน PromptPay ก็จบแล้ว ไม่ต้องใช้เช็คกันแล้ว ถ้าวงไหนใช้ เช็คแสดงว่ายังต้องการเอากฎหมายอาญาผ่านการชำระหนี้โดยเช็คมากำกับอีกชั้นหนึ่ง
เว่อร์วังอลังการไปกับเทคโนโลยีมากๆ ก็ทำให้หลงได้นะครับว่ามันดี มันเลิศ เอาแบบบ้านๆ ดีหรือไม่ เพราะจะทันสมัยอย่างไร สังคมเราส่วนหนึ่งก็ยังไม่พ้นชอบขูดต้นไม้ใหญ่ ไหว้สัตว์ที่เกิดมาผิดปกติ เข้าวัดทำบุญ เพื่อไปหาเลขเด็ด ซื้อหวย พอถูกรางวัล ก็มาเถียงกันว่าใครเป็นเจ้าของ… จบข่าว

ข้อมูลเครดิตสำคัญอย่างไร

ข้อมูลเครดิตสำคัญอย่างไร

เครดิตบูโรเปรียบเสมือนเป็น “ถังข้อมูลที่บ่งบอกพฤติกรรมในเรื่องการก่อหนี้ การชำระหนี้” ที่ใหญ่ที่สุดของระบบการเงินไทย หากใครก็ตามที่เข้ามาเกี่ยวข้องกับธุรกรรมสินเชื่อในระบบ ก็สามารถขอตรวจสอบข้อมูลเครดิตเหล่านี้ได้จากเครดิตบูโร

1.ระบบเศรษฐกิจไทย

– เป็นสัญญาณเตือนภัยของระบบการเงิน คือ สามารถนำเอาข้อมูลเชิงสถิติมาวิเคราะห์ให้เห็นทิศทางและความเสี่ยงของธุรกรรมสินเชื่อในระบบ

– เป็นเครื่องมือในการอ่านสัญญาณเศรษฐกิจของสถาบันต่างๆ เพื่อไปคิดต่อว่าควรต้องออกมาตรการหรือต้องไปทำอะไรในเชิงการบริหารความเสี่ยง

– เป็น “โครงสร้างพื้นฐาน” ของระบบการเงิน คือ เป็นแหล่งข้อมูลที่เชื่อถือได้ของระบบสถาบันการเงินในการนำมาใช้บริหารความเสี่ยงด้านการให้สินเชื่อ

ป้องกันการเกิดความล่มสลายอย่างที่เกิดมาในอดีต หากระบบทุกส่วนตรงนี้ดีมีประสิทธิภาพ เชื่อว่าระบบการเงินจะไม่มีปัญหารุนแรงถึงขั้นต้องไปยุ่งกับการค้ำประกันเงินฝาก เพราะปัญหาจะถูกจัดการตั้งแต่ต้นมือ อีกทั้งก่อนที่เหตุการณ์ต่างๆ จะไปถึงจุดนั้น ต้องผ่านระบบการบริหารความเสี่ยงของสถาบันการเงินที่เข้มงวดเป็นอย่างมาก

2.สถาบันการเงินในฐานะผู้ให้กู้ หรือเจ้าหนี้

– มีระบบการบริหารความเสี่ยงในการให้กู้ยืม ป้องกันการเกิดหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ ซึ่งอาจส่งผลต่อปะัญหาความไม่มั่นคงแก่ระบบสถาบันการเงิน และระบบเศรษฐกิจไทยโดยรวม ผ่านการใช้ข้อมูลเครดิตบูโร

– ตรวจเช็คอาการของลูกหนี้ เพื่อวิเคราะห์หรือทบทวนสินเชื่อ จึงจำเป็นต้องทราบฐานะทางการเงินและประวัติการชำระหนี้ของผู้กู้อย่างเพียงพอ ว่ามีประวัติการชำระหนี้อย่างไร และมีภาระหนี้อยู่กับสถาบันการเงินอื่นมากน้อยเพียงใดในขณะใดขณะหนึ่ง

3.ผู้กู้หรือลูกหนี้

– ตรวจเช็คข้อมูลเครดิต หรือตรวจเช็คสุขภาพทางการเงินของตัวเอง เพื่อเตรียมพร้อมวางแผนก่อนจะไปขอกู้

– ตรวจเช็กประวัติการชำระทุกข้อมูลบัญชีสินเชื่อ หากข้อมูลไม่ถูกต้อง ขอแก้ไขได้

– มีโอกาสที่จะได้ลดดอกเบี้ยเงินกู้ให้ผู้กู้ที่มีประวัติผ่อนชำระดี

ทำไมต้องมีเครดิตบูโร (Credit Bureau) ในระบบการเงินของไทย

ทำไมต้องมีเครดิตบูโร (Credit Bureau) ในระบบการเงินของไทย

เราดูได้จากหมายเหตุท้าย พ.ร.บ.การประกอบธุรกิจข้อมูลเครดิต พ.ศ.2545

ปี 2545 มีการตรา พ.ร.บ. การประกอบธุรกิจข้อมูลเครดิต พ.ศ.2545 โดยมีเหตุผล คือ โดยที่การกู้ยืมหรือให้สินเชื่อของสถาบันการเงิน จำเป็นต้องมีข้อมูลเกี่ยวกับฐานะทางการเงินและประวัติการชำระหนี้ของลูกค้าอย่างเพียงพอว่าลูกค้ารายนั้น มีประวัติอย่างไรและมีภาระหนี้อยู่กับสถาบันการเงินอื่นมากน้อยเพียงใด เท่าที่ผ่านมา การให้กู้ยืมหรือการให้สินเชื่อของสถาบันการเงินยังมีข้อมูลไม่ครบถ้วน ส่งผลให้เกิดหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้เพิ่มมากขึ้น ทำให้เกิดปะัญหาความไม่มั่นคงแก่สถาบันการเงินนั้น และระบบสถาบันการเงินโดยรวม นอกจากนี้ การประกอบธุรกิจข้อมูลเครดิตในปัจจุบันยังไม่มีกฎหมายเกี่ยวกับการกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการทำธุรกรรมข้อมูลเครดิต รวมทั้งยังไม่มีกฎหมายคุ้มครองประชาชนผู้เป็นเจ้าของข้อมูลไว้เป็นการเฉพาะ จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้

ปี 2548 มีการควบรวมกิจการของบริษัทข้อมูลเครดิตทั้ง 2 แห่ง และเปลี่ยนชื่อเป็นบริษัท ข้อมูลเครดิตแห่งชาติ จำกัด หรือ National Credit Bureau  เมื่อวันที่ 19 พฤษภาคม 2548 เพื่อให้ข้อมูลเกิดการรวมศูนย์ ไม่เป็นภาระแก่ประชาชนและนิติบุคคลผู้เป็นเจ้าของข้อมูลในการตรวจสอบกรณีมีบริษัทข้อมูลเครดิตหลายแห่ง

 

เครดิตบูโรเป็นส่วนหนึ่งของโครงสร้างพื้นฐานทางการเงิน (Financial Infrastructure)

ตามที่ระบุในวารสารพระสยามธนาคารแห่งประเทศไทย

– ปัจจัยเสถียรภาพระบบสถาบันการเงิน

– โครงสร้างพื้นฐานทางการเงิน (Financial Infrastructure) ระบบบัญชี  ระบบกฎหมาย ข้อมูลเครดิต ฯลฯ

> เศรษฐกิจที่ดี

> ระบบสถาบันการเงิน  ( การบริหารความเสี่ยง  ธรรมาภิบาล)

> ความเชื่อถือของลูกค้า ประชาชน (Confidence)

1.เกณฑ์และการกำกับ สถาบันการเงิน

2.Lender of Last Resort

3.ระบบประกันเงินฝาก

4.ระบบการจัดการกับสถาบันการเงินที่มีปัญหา (Rehabilitation & Resolution)

ภาพใหม่ของระบบสถาบันการเงินที่ไม่เหมือนเดิมอีกต่อไปแล้วนับตั้งแต่ปี 2540 เพราะการปฏิรูปครั้งใหม่ได้เกิดขึ้น

 

ที่มา : วารสารพระสยาม ธนาคารแห่งประเทศไทย ฉบับที่ 3 เดือนกรกฎาคม – สิงหาคม 2556

ตรวจเครดิตบูโร ฟรี! วันที่ 15-17 ธันวาคม 2560 งาน “Thailand Smart Money 2017 กรุงเทพมหานคร” เวลา 10.00 – 19.00 น. ณ Sky Hall ชั้น 3 เซ็นทรัล พลาซ่า ลาดพร้าว

ตรวจเครดิตบูโร ฟรี!

งาน “Thailand Smart Money 2017 กรุงเทพมหานคร”

วันที่ 15-17 ธันวาคม 2560 เวลา 10.00 – 19.00 น. ณ Sky Hall ชั้น 3 เซ็นทรัล พลาซ่า ลาดพร้าว (ติดกับบูธธนาคารกรุงไทย)

(ฟรี!!…บริการตรวจเครดิตบูโร แต่ขอรับเป็นเงินบริจาคแทน พร้อมเปิดคลินิกเครดิตบูโรให้คำปรึกษา)

** เฉพาะรายการลูกค้าบุคคลธรรมดา ยื่นขอตรวจของตนเองเท่านั้น (ไม่รับกรณีรับมอบอำนาจ)

ตรวจเครดิตบูโร ฟรี! วันที่ 15 ธันวาคม 2560 งาน “การคุ้มครองเงินฝากและความรู้ทางการเงินฯ จ.ร้อยเอ็ด” เวลา 8.30 – 13.30 น. ณ โรงแรมเพชรรัชต์ การ์เดน จ.ร้อยเอ็ด

ตรวจเครดิตบูโร ฟรี!

งาน “การคุ้มครองเงินฝากและความรู้ทางการเงินให้กับประชาชนภาคธุรกิจและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น จ.ร้อยเอ็ด”

วันที่ 15 ธันวาคม 2560 เวลา 8.30 – 13.30 น. ณ โรงแรมเพชรรัชต์ การ์เดน จ.ร้อยเอ็ด

(ฟรี!!…บริการตรวจเครดิตบูโร แต่ขอรับเป็นเงินบริจาคแทน พร้อมเปิดคลินิกเครดิตบูโรให้คำปรึกษา)

** เฉพาะรายการลูกค้าบุคคลธรรมดา ยื่นขอตรวจของตนเองเท่านั้น (ไม่รับกรณีรับมอบอำนาจ)

ตรวจเครดิตบูโร ฟรี! วันที่ 12-18 ธันวาคม 2560 งาน “สุดยอด SMEs ส่งสุข ส่งท้าย ส่งความประทับใจ ตลาดคลองผดุง 2560” เวลา 10.00 – 18.00 น. ณ ตลาดคลองผดุงกรุงเกษม บริเวณด้านข้างทำเนียบรัฐบาล

เชิญตรวจเครดิตบูโร ฟรี!

งาน “สุดยอด SMEs ส่งสุข ส่งท้าย ส่งความประทับใจ ตลาดคลองผดุง 2560”

วันที่12-18 ธันวาคม 2560 เวลา 10.00 – 18.00 น. ณ ตลาดคลองผดุงกรุงเกษม บริเวณด้านข้างทำเนียบรัฐบาล

(ฟรี!!…บริการตรวจเครดิตบูโร แต่ขอรับเป็นเงินบริจาคแทน พร้อมเปิดคลินิกเครดิตบูโรให้คำปรึกษา)

** เฉพาะรายการลูกค้าบุคคลธรรมดา ยื่นขอตรวจของตนเองเท่านั้น (ไม่รับกรณีรับมอบอำนาจ)

เรื่องน่าอ่าน