Blog Page 170

คอลัมน์เศรษฐกิจคิดง่ายๆ : เราเห็นอะไรจากการออกมาแถลงในไตรมาส 3 : วันจันทร์ 4 ธันวาคม 2560

คอลัมน์เศรษฐกิจคิดง่ายๆ

เราเห็นอะไรจากการออกมาแถลงในไตรมาส 3 

วันจันทร์ 4 ธันวาคม 2560

 

สืบเนื่องจากการแถลงผลการดำเนินงานของธนาคารพาณิชย์ในไตรมาส 3 ปี 2560 ที่ออกมาในราวสองสัปดาห์ที่ผ่านมานั้น ต้องบอกได้ว่ามีความเข้มข้น มีประเด็นที่น่าสนใจดังนี้ครับ
1.การเติบโตของสินเชื่อจากฝั่งธนาคารพาณิชย์ (ย้ำนะครับว่าไม่รวมจากสถาบันการเงินประเภทอื่นๆ) ในไตรมาส 3 เท่ากับ 3.3% ขณะที่การเติบโตของ GDP ในไตรมาสเดียวกันโตได้ถึง 4.3% ตัวเลขมันกลับข้างกันแทนที่สินเชื่อจะโตมากกว่า
2.มีความเป็นห่วงเรื่อง NPL ในสินเชื่อที่ให้กับ SME ซึ่งอาจจะด้วยเหตุของการไม่สามารถปรับตัวกับสภาพเศรษฐกิจรูปแบบใหม่ในการค้าขาย หรือความต้องการในสินค้าที่ตัวเองทำขายนั้นมันลดลง และปัญหาเรื่องเข้าไม่ถึงแหล่งเงินยังคงอยู่
3.สินเชื่ออุปโภคบริโภคดีขึ้น เติบโตดีขึ้นมาก แต่ยังคงเป็นห่วงสินเชื่อบ้านที่เห็นว่า NPL ขยับเพิ่มเนื่องจากสามสี่ปีก่อนปล่อยสินเชื่อบ้านไปเยอะด้วยดอกเบี้ย Promotion สามปีแรกดอกเบี้ยถูกอย่างเหลือเชื่อ พอขึ้นปีที่สี่ต้องจ่ายต้นและดอกแบบปกติก็อาจติดขัดจนค้างชำระได้ นั่นก็หมายถึงเรื่องรายได้ เรื่องความสามารถในการชำระหนี้
ต่อเนื่องด้วยต้นสัปดาห์ที่ผ่านมา ได้มีการกล่าวถึงการนำข้อมูลด้าน สินเชื่อแบบสุ่มตัวอย่างจากเครดิตบูโร ในกลุ่ม SME ไม่ว่าจะเป็นบุคคลธรรมดา หรือนิติบุคคล มาย่อย มาวิเคราะห์ เพื่อดูไส้ในสำหรับการเสนอต่อทางการในการนำไปกำหนดนโยบาย โดยทีนี้ข้อมูลมาจากฝั่งสถาบันการเงินเฉพาะกิจภาครัฐบ้าง โดยผู้บริหารสูงสุดของกรุงไทยเป็นผู้นำเสนอนั้นพบว่า SMEs ที่ตัดความเป็นตัวตนออกไปแล้วนั้น จากฐานข้อมูลของบริษัท ข้อมูลเครดิตแห่งชาติ หรือเครดิตบูโร กว่า 1.8 แสนบัญชี (SMEs ทั้งประเทศที่ลงทะเบียนไว้กับ สสว.กว่า 3 ล้านราย)
(1) SMEs ภาคอีสาน เป็นกลุ่มที่ต้องการความช่วยเหลือมากที่สุด
(2) การเข้าถึงแหล่งเงินทุนพบว่าเข้าถึงได้เพียง 6% ซึ่งถือว่า “ต่ำมาก”
(3) ปริมาณหนี้ที่มีปัญหาทั้งที่เป็น NPL และพวกอ่อนแอมีค้างชำระไม่ตรงเวลาแต่ยังไม่เกิน 90 วัน ข้อมูลระบุว่า SMEs ที่ได้สินเชื่อไปแล้วนั้นเป็นหนี้เสีย (NPL) อยู่ราว 12% และที่เริ่มอ่อนแอ ชำระหนี้ไม่ตรงเวลาอีก 11% รวมกันแล้วจึงเท่ากับว่ามี SMEs 23% จากกลุ่มตัวอย่างประเภทบุคคลธรรมดาและนิติบุคคล กำลังต้องการความช่วยเหลือในการปรับโครงสร้างหนี้ พักชำระหนี้ ปรับตารางการผ่อนหนี้ หรืออื่นๆ โดยเฉพาะ SMEs ในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล พบว่าต้องการความช่วยเหลือมากที่สุด
(4) พบข้อมูลต่อไปว่า SMEs 25% ของกลุ่มตัวอย่างนั้น มีการใช้วงเงิน สินเชื่อเกิน 80% (Highly Utilization) อาการแบบนี้พอจะตีความได้ว่ากำลังต้องการเงินทุนเพิ่มมากขึ้น และเป็นลูกหนี้ที่ดีมีความสามารถในการชำระหนี้ที่สม่ำเสมอ ก็ต้องรีบให้กู้เพื่อเพิ่มความสามารถให้ SMEs กลุ่มนี้เติบโตต่อไปได้ไม่ติดขัด
กลับมาที่สินเชื่ออุปโภคบริโภคยอดฮิต คือ สินเชื่อบ้านและคอนโด จากข้อมูลของเครดิตบูโรพบว่า
(1) คน Gen Y ยังคงเป็นลูกหนี้หน้าใหม่รายใหญ่ เพราะมีการอนุมัติสินเชื่อใหม่ใน 9 เดือนกว่า 2.54 แสนบัญชี เกินครึ่งหนึ่งของบัญชีที่อนุมัติเป็นลูกค้าคน Gen Y
(2) ยอดบัญชีที่เป็นหนี้เสียหนี้มีปัญหาของคน Gen Y ตอนนี้เท่าที่มีข้อมูลประมาณหกหมื่นกว่าสัญญา ถ้าเป็นคน Gen X ก็เกินแสนกว่าสัญญา หากพิจารณาตัวเลขเป็นยอดเงินก็จะพบว่ามีเปอร์เซ็นต์ของ NPL ต่อยอดเงินกู้บ้าน คอนโดที่ปล่อยจากสถาบันการเงินสมาชิกเครดิตบูโรทั้ง 97 แห่งกว่า 3.5 ล้านล้านบาท เท่ากับ 4.1% เติบโตขยับขึ้นมาเรื่อยๆ ตั้งแต่ไตรมาสแรกปี 2558
ภาพสรุปครับ “สงครามยังไม่จบ ยังนับศพทหารไม่ได้ คุณภาพลูกหนี้ภายใต้ความกดดันยังคงเป็นประเด็นหลักต่อเนื่องจากไตรมาสสี่ปีนี้ไปจนต้นปีหน้าอย่างแน่นอน” ขอบคุณครับ

 

คอลัมน์ เศรษฐกิจคิดง่ายๆ : เมื่อสื่อมวลชนเล่นบทให้ความรู้เรื่องการเงิน : วันจันทร์ 27 พฤศจิกายน 2560

คอลัมน์ เศรษฐกิจคิดง่ายๆ :

เมื่อสื่อมวลชนเล่นบทให้ความรู้เรื่องการเงิน

วันจันทร์ 27 พฤศจิกายน 2560

ผมติดตามบทความ ข้อคิดเห็นของสื่อมวลชนหลายท่านช่วงสุดสัปดาห์ ต้องขอชื่นชมสื่อมวลชนท่านนี้มากที่ออกมาเตือนว่า บัดนี้มีคนเสนอขอเช่าเครดิต หรือประวัติการชำระหนี้ที่ดี เอาไปใช้กู้ยืมกับธนาคารซื้อคอนโดมิเนียม และเอาคอนโดมาปล่อยเช่า ผู้เขียนขอนำข้อมูลมาขยายผลให้เกิดความระมัดระวังนะครับ

คนที่ขอเช่าเครดิตของคนอื่นตามข่าวบอกว่า “…พี่ทำโปรเจกต์ ซื้อ คอนโดปล่อยเช่าอยู่ หาจ้างคนที่ให้ใช้ชื่อยื่นกู้ซื้อแทน ขอเช่าเครดิต 3 ปีหลัง 3 ปีพี่จะปิดสินเชื่อคอนโดให้ ค่าใช้จ่ายและค่างวดแบงก์ พี่เป็นคนรับผิดชอบ สนใจไหม…ค่าจ้างห้องละ 6 หมื่นบาท ยอดกู้ห้องละ 1.3 ล้านบาท 5 ห้อง ค่าจ้าง 3 แสนบาท มีสัญญาว่าจ้าง ในสัญญาแจ้งระบุว่าพี่เป็นคนจ่ายค่างวดและค่าใช้จ่ายจากการกู้ แนะนำคนให้ พี่ให้ค่านายหน้า 1 แสนบาท สนใจไหม”

ท่านผู้อ่านคิดอย่างไร จากข้อ เท็จจริงที่สื่อมวลชนเตือนผ่านบทความ อธิบายได้คือ
1.คนที่ขอยืมเครดิต หรือประวัติการชำระหนี้คนอื่นไปขอกู้ 5-6 ล้านบาท แสดงว่าเขาคนนั้นที่ขอยืมต้องมีปัญหาในทางลบกับประวัติตนเองใช่หรือไม่ เช่น มีประวัติค้างชำระในอดีต
2.คนที่จะให้ยืมเครดิตถ้ารับทำจริงท่านจะมีหนี้ มีความรับผิดตามกฎหมาย อาจเข้าข่ายหลอกหรือโกงเจ้าหนี้
3.คนที่ให้ยืมเครดิต มั่นใจได้อย่างไรว่าคนที่ขอยืมเครดิตจะจ่ายค่าเช่าเครดิต เมื่อเขาไม่มีเครดิตที่จะกู้ได้เอง
4.คนที่ไม่กล้าไปทำสัญญาเงินกู้กับธนาคารเอง เพราะไม่มีคุณสมบัติ แต่มาให้สัญญากับเราว่าถ้าให้ยืมเครดิตแล้วสัญญาจะจ่ายค่าเช่าเครดิต เชื่อได้หรือ
5.เหยื่อของการชักชวนนี้อาจเป็นคนที่เพิ่งมีเครดิต เพิ่งเริ่มมีประวัติการเงิน เช่น มีรายได้ มีงานทำ มีบัตรเครดิตสักสองใบ เดินบัญชีดี คิดลัดอยากได้รายได้เพิ่ม เลยไปกู้ให้แทน น่าคิดว่าจะมีผู้กู้หน้าใหม่หลงกลหรือไม่ ถ้าความรู้เรื่องการเงินไม่มากพอเอาชนะความโลภ

หลายท่านบอกไม่น่าเป็นไปได้ แต่เราก็เห็นขูดต้นไม้หาเลขเด็ด แชร์ลอตเตอรี่ แก๊งคอลเซ็นเตอร์หลอกโอนเงิน นายหน้าหาเงินกู้ให้แล้วหักหัวคิว และอีกมากมาย โบราณว่าจิ้งจกทักต้องฟัง นี่สื่อมวลชนขาใหญ่เขียน ไม่ดู ไม่ฟัง ไม่คิดตาม คงไม่ใช่ ในโลกความจริง ใครกู้คนนั้นเป็นลูกหนี้ ใครเซ็นสัญญา คนนั้นรับผิดชอบ…อย่าเห็นผิดเป็นชอบ เช่าเครดิตไม่มีอยู่จริง

ท่องคาถาสินเชื่อไว้ “เช่าเครดิตไม่มีขาย อยากได้ต้องทำเอง”…ปรบมือให้คำเตือนจากสื่อมวลชนท่านนี้ในการทำหน้าที่ “ยื่นมือ” ให้ความคุ้มครองผู้ที่จะใช้บริการทางการเงิน ขอบคุณอีกครั้งจากใจครับ

ตรวจเครดิตบูโร ฟรี! งาน”รวมพลังเรียนรู้ อยู่อย่างพอเพียง” วันที่ 29 พฤศจิกายน 2560 เวลา 8.30-16.30 น. ศูนย์ประชุมวายุภักษ์ โรงแรมเซ็นทรา บาย เซ็นทารา ศูนย์ราชการและคอนเวนชั่น เซ็นเตอร์

เชิญตรวจเครดิตบูโร ฟรี!

งาน”รวมพลังเรียนรู้ อยู่อย่างพอเพียง”

วันที่ 29 พฤศจิกายน 2560 เวลา 8.30-16.30 น.

ศูนย์ประชุมวายุภักษ์ โรงแรมเซ็นทรา บาย เซ็นทารา ศูนย์ราชการและคอนเวนชั่น เซ็นเตอร์ :

(ฟรี!!…บริการตรวจเครดิตบูโร แต่ขอรับเป็นเงินบริจาคแทน พร้อมเปิดคลินิกเครดิตบูโรให้คำปรึกษา)

** เฉพาะรายการลูกค้าบุคคลธรรมดา ยื่นขอตรวจของตนเองเท่านั้น (ไม่รับกรณีรับมอบอำนาจ) ::

งานโครงการอบรมหลักสูตร “การกำกับดูแลด้าน Market Conduct ภาคธุรกิจการเงิน”

คุณสุรพล โอภาสเสถียร ผู้จัดการใหญ่ เครดิตบูโร ได้รับเกียรติจากศูนย์บริการวิชาการแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย บรรยายในหัวข้อ “การคุ้มครองผู้ใช้บริการทางการเงินด้านข้อมูลเครดิต” ในโครงการอบรมหลักสูตร “การกำกับดูแลด้าน Market Conduct ภาคธุรกิจการเงิน” วันอังคารที่ 22 พฤศจิกายน 2560 เวลา 13.00 – 16.00 น. ณ ห้อง Tanjong Pagar ชั้น 8 โรงแรมอัมรา ถ.สุรวงศ์

 

คอลัมน์ เศรษฐกิจคิดง่ายๆ: ระบบการชำระเงินทำประโยชน์ให้ประเทศ : วันที่ 20 พฤศจิกายน 2560

เมื่อพูดถึงโครงการ National e-payment หนึ่งในผลงานของรัฐบาลชุดนี้ ในการสร้างโครงสร้างพื้นฐานระบบการเงิน เพื่อให้ภาคประชาชน ภาคธุรกิจอุตสาหกรรมมีต้นทุนในการทำธุรกรรม ไม่ว่าจะเป็นการซื้อขาย จ่ายโอน
ไทยเป็นประเทศแรกในโลก ที่ทำระบบบาตเนต (BAHTNET-Bank of Thailand Automated High-value Transfer Network) เป็นประเทศแรกในโลก นับเป็นการยกระดับการโอนเงินมูลค่าสูงๆ หรือโอนเงินรายย่อย บอกเลยว่าประเทศไทยเรานำหน้ามากๆ ในเรื่องนี้
ทราบหรือไม่ว่าการใช้เงินสดมีต้นทุนมหาศาล จีดีพี (GDP) ของประเทศไทยอยู่ที่ประมาณ 14-15 ล้านล้านบาท แต่เราใช้บัตร ATM กดเงินสดมาใช้จ่าย ปีหนึ่งประมาณ 7-8 ล้านล้านบาท ยังไม่นับที่เบิกถอนกันที่หน้าสาขา
ดร.อนุชิต อนุชิตานุกูล นักการธนาคารหนุ่มที่อยู่เบื้องหลังความสำเร็จของระบบการชำระเงินของประเทศ บอกว่า ไทยมี ATM มากลำดับต้นๆ ในโลก จะเป็นรองก็แต่บราซิล ลองคิดว่ามีเงินค้างอยู่ในตู้ละ 2 ล้านบาท ทุกวันๆ จึงมีเงินแสนกว่าล้านบาทนอนนิ่งอยู่ในตู้ แต่ถ้าเงินนี้อยู่ในรูปอิเล็กทรอนิกส์ สามารถนำมาปล่อยกู้หรือสนับสนุนเศรษฐกิจได้ ทุกคนจะได้ประโยชน์มากกว่านี้
ตู้ ATM ยังมีต้นทุนซ่อนไว้เป็น Hidden Cost เช่น ค่าเช่า ค่าใช้จ่ายในการเอาเงินไปเติมในตู้ มันเป็นต้นทุนทางเศรษฐกิจ เพราะสุดท้ายธนาคารผู้ให้บริการก็เอาต้นทุนนั้นมาผ่องถ่ายให้ประชาชนเป็นคนจ่าย
ประเด็นที่ควรทราบ ก็คือ สิงคโปร์ เอาแนวคิด National e-payment ที่ไทยทำมาพัฒนาโครงการ มาสร้างโปรแกรมที่คล้ายมากกับที่ประเทศเราออกแบบ มีการใช้ Vendor เดียวกัน ที่แตกต่างคือเขา (สิงคโปร์) เร่งให้มีการใช้งานอย่างรวดเร็ว แต่ประเทศไทยเราเองกลับเดินหน้าได้ช้ากว่า
อดีตไทยเคยเก็บภาษีเงินได้นิติบุคคล 30% จากกำไรสุทธิ ตอนนี้ลดลงมาอยู่ที่ 20% ส่วนสิงคโปร์เก็บ 17% ต่อไปเราก็อาจต้องลดลงมาอยู่ที่ 15% เพื่อแข่งขันและจูงใจให้มาทำธุรกิจในไทย
การทำระบบ e-Payment จะทำให้เกิดการขยายตัวของฐานภาษี และช่วยลดอัตราภาษีลง
ถึงเวลาแล้วที่ต้องช่วยกันให้ระบบการชำระเงินเราไปได้ไกล ไปด้วยกัน สำเร็จเป็นมรรคเป็นผล มีประโยชน์ร่วมกัน ก่อนเสียท่าให้กับต่างชาติอีกครั้ง

ทำไม! เราต้องไปตรวจเครดิตบูโร

ทำไม! เราต้องไปตรวจเครดิตบูโร

  1. “รู้เราก่อนไปหาเขา” เตรียมตัวก่อนไปขอสินเชื่อ – กู้ซื้อบ้าน ซื้อรถ ขอบัตรเครดิต
  2. ตรวจว่ามี “หนี้งอก” หรือหนี้ที่ไม่ใช่ของเรา หรือไม่
  3. ตรวจว่ามี “ประวัติค้างชำระหรือไม่” ถ้าข้อมูลไม่ถูกต้อง ขอแก้ไขได้
  4. ตรวจ “เมื่อชำระหนี้ที่ค้างหมดไปแล้ว” มีสถานะปิดบัญชี ยอดหนี้เป็นศูนย์ หรือไม่
  5. ตรวจ “ข้อมูลส่วนบุคคล” เช่น ชื่อ นามสกุล ที่อยู่ ถูกต้องหรือไม่

รายงานเครดิตบูโร เป็น “ความลับ”

ข้อมูล ณ เดือนพฤศจิกายน 2560

หากประวัติเครดิตไม่ดี ควรทำอย่างไร?

หากประวัติเครดิตไม่ดี ควรทำอย่างไร?

กรณีที่ท่านมีประวัติข้อมูลเครดิตไม่ดี มีการค้างหรือผิดนัดชำระควรรีบแก้ไข ดังนี้

  1. ติดต่อสถาบันการเงินที่เคยเป็นหนี้ เพื่อชำระหนี้ที่ค้างให้เสร็จสิ้น แต่หากมีหนี้คงค้างจำนวนมาก ควรเจรจาต่อรองกับเจ้าหนี้เพื่อขอลดหนี้ หรือปรับโครงสร้างหนี้

2.เริ่มสร้างประวัติสินเชื่อใหม่ โดยการสร้างวินัยที่ดี ชำระหนี้ให้ตรงเวลาไม่ผิดนัดชำระหนี้อีก เพราะทุกความเคลื่อนไหวในการชำระหนี้ของท่านจะถูกจัดเก็บ

เครดิตบูโรไม่มีความเกี่ยวข้องหรือมีสิทธิอนุมัติหรือร่วมตัดสินใจให้สินเชื่อกับใคร บุคคลใดกล่าวอ้างกับท่าน…แจ้งเรื่องได้ที่ 0-2643-1250

ที่มา : ศูนย์คุ้มครองผู้ใช้บริการทางการเงิน  ธนาคารแห่งประเทศไทย

ข้อมูล ณ เดือนพฤศจิกายน 2560

ค้างชำระ / ผิดนัดชำระหนี้ถูกขึ้นบัญชีดำ [Blacklist] จริงหรือ ?

ค้างชำระ / ผิดนัดชำระหนี้ถูกขึ้นบัญชีดำ [Blacklist] จริงหรือ ?

หลายท่านเข้าใจว่า สาเหตุที่สถาบันการเงินไม่ให้สินเชื่อ เพราะบริษัท ข้อมูลเครดิตแห่งชาติ จำกัด ได้ขึ้น “บัญชีดำ” ของตนไว้ มาทำความเข้าใจกันใหม่ดีกว่า

บริษัท ข้อมูลเครดิตแห่งชาติ จำกัด มีหน้าที่ เป็นตัวกลางในการจัดเก็บรวบรวมข้อมูลเครดิต ซึ่งมีทั้งประวัติการชำระหนี้ที่ดีและไม่ดีของลูกค้า ตามที่สถาบันการเงินหรือบริษัทที่เป็นสมาชิกจัดส่งให้เท่านั้น

ไม่ได้มีหน้าที่ขึ้นบัญชีดำ (Blacklist) อย่างที่เข้าใจกัน

แต่สาเหตุที่ท่าน ไม่ได้รับสินเชื่อจากสถาบันการเงิน เพราะเมื่อสถาบันการเงินที่ท่านไปขอสินเชื่อได้ตรวจสอบประวัติการชำระหนี้ของท่านจากบริษัท ข้อมูลเครดิตแห่งชาติ จำกัด พบว่าท่านมีหนี้เสีย คือ ไม่ชำระหนี้กับสถาบันการเงินหรือผู้ประกอบการรายอื่นต่างหาก

 

ที่มา : ศูนย์คุ้มครองผู้ใช้บริการทางการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย :  สิงหาคม 2559

ข้อมูล ณ เดือนพฤศจิกายน 2560

อยากรู้จัง… ทำไม? ขอสินเชื่อไม่ผ่าน?

อยากรู้จัง ทำไม? ขอสินเชื่อไม่ผ่าน?

 

เคยเจอเหตุการณ์แบบนี้ หรือไม่?

   – ให้ข้อมูลครบหมดแล้ว    

   – ประวัติหนี้เสียไม่มี แต่ขอสินเชื่อไม่ผ่าน

 

เหตุผลอาจมีได้หลายประการ เช่น

   – นโยบายการปล่อยสินเชื่อของสถาบันการเงินหรือผู้ประกอบการแต่ละแห่งที่แตกต่างกัน

   – ประวัติการชำระหนี้ที่ผ่านมาของลูกหนี้

   – โอกาสในการผิดนัดชำระหนี้มากหรือน้อย

   – ภาระหนี้ที่มีอยู่และความสามารถในการชำระหนี้ของผู้ขอสินเชื่อ

   – หลักประกันความเสี่ยงของผู้ขอสินเชื่อ เช่น หลักทรัพย์ค้ำประกัน/ผู้ค้ำประกัน

ธนาคารแห่งประเทศไทย กำหนดให้สถาบันการเงินต้องชี้แจงเหตุผล ที่ไม่ปล่อยสินเชื่อให้ผู้ขอสินเชื่อทราบอย่างเป็นลายลักษณ์อักษร และต้องทำหนังสือตอบชี้แจงเหตุผลที่ไม่ให้สินเชื่อ และลงทะเบียนจัดส่งไปให้ผู้ขอสินเชื่อทราบ

 

ที่มา : ศูนย์คุ้มครองผู้ใช้บริการทางการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย

ข้อมูล ณ เดือนพฤศจิกายน 2560

เรื่องน่าอ่าน