Blog Page 174

ติดตามฟังรายการวิทยุ “เศรษฐกิจฟังง่ายสไตล์เครดิตบูโร” ทุกวันจันทร์ เวลา 12.45 – 13.00 น. ทาง FM 103 MHz และเครือข่ายกองทัพบกทั่วประเทศ 

เชิญติดตาม :   เศรษฐกิจฟังง่ายสไตล์เครดิตบูโร

วันเวลาออกอากาศ : ทุกวันจันทร์ เวลา 12.45 – 13.00 น.

ผ่านทางรายการวิทยุ : “รู้รักสามัคคี ทำความดีเพื่อแผ่นดิน”

สถานีวิทยุ :   FM 103 MHz และเครือข่ายกองทัพบกทั่วประเทศ

สัมภาษณ์สด : คุณสุรพล โอภาสเสถียร ผู้จัดการใหญ่ บริษัท ข้อมูลเครดิตแห่งชาติ จำกัด

หรือฟังออนไลน์ ที่ http://www.102radio.net/102radioOnline.php

บรรยายเรื่อง Financial Literacy ให้แก่ครูทุนภาษาต่างประเทศที่สอง ของ สพฐ. 28 สิงหาคม 2560

คุณสรุพล โอภาสเสถียร ผู้จัดการใหญ่เครดิตบูโร ได้รับเกียรติบรรยายให้ความรู้ความเข้าใจและสร้างความตระหนักเรื่อง financial literacy ให้แก่ครูทุนภาษาต่างประเทศที่สอง ของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) วันจันทร์ที่ 28 สิงหาคม 2560 เวลา 09.30 – 12.00 น. ณ ห้อง Convention Hall ชั้น 14 อาคาร Parking โรงแรมรอแยล เบญจา สุขุมวิท 5

คอลัมน์เศรษฐกิจคิดง่ายๆ เรื่อง “บทเรียนในการพัฒนาระบบนิเวศระบบการเงิน” นสพ.โพสต์ทูเดย์ วันจันทร์ที่ 28 สิงหาคม 2560

คอลัมน์ เศรษฐกิจคิดง่ายๆ   นสพ.โพสต์ทูเดย์ วันจันทร์ที่ 28 สิงหาคม 2560

คุณสุรพล โอภาสเสถียร ผู้จัดการใหญ่ เครดิตบูโร

บทเรียนในการพัฒนาระบบนิเวศระบบการเงิน

“ธนาคาร ต้องคิดให้มากกว่าการเป็นธนาคาร” ดร.วิชิต สุรพงษ์ชัย ประธานกรรมการบริหารธนาคารไทยพาณิชย์ กล่าวไว้เหมือนเป็นธง เป็นเป้าหมายใหม่ของระบบการให้บริการทางการเงิน เพราะในอดีตเคยมีฝรั่งกล่าวว่า …ผู้คนนั้นต้องการบริการทางการเงินหรือธุรกรรมการธนาคาร แต่ไม่จำเป็นต้องมีธนาคารมาเป็นคนให้บริการนี้ก็ได้… หัวใจของเรื่องทั้งหลายทั้งปวงจะมาจบที่คำว่า “ความต้องการของลูกค้า”
ดังนั้น ในแวดวงการเงิน การธนาคาร Fintech หรือการให้บริการด้วยเทคโนโลยีทางการเงิน ที่กำลังเป็นแนวโน้มที่เข้ามาในสังคมเศรษฐกิจไทย จะพบว่ามีการพูด การสนทนา การสัมมนา การเผยแพร่ข้อมูลข่าวสาร กันถึงเรื่องที่สำคัญเป็นอย่างน้อย 3-4 เรื่อง ได้แก่
(1) การพิสูจน์ยืนยันตัวตนของคนที่จะมาใช้บริการผ่านเครื่องมือสื่อสาร (Smart Devices) โดยไม่ต้องมาแสดงตัว ณ จุดให้บริการแบบในปัจจุบันที่เรียกกันในวงการว่า eKYC/CDD แบบ non Face2Face จะทำให้เกิดขึ้นได้อย่างไร ภายใต้เงื่อนไขทางกฎหมาย (Legal Requirement) และเงื่อนไขทางธุรกิจ (Biz Requirement)
(2) การใช้เทคโนโลยี Blockchain เข้ามาสนับสนุนในกระบวนการทำงานของธุรกรรมทางการเงิน (Financial Transaction) เพื่อลดต้นทุนในแทบทุกมิติ เช่น เร็วกว่า ง่ายกว่า ประหยัดกว่า สะดวกกว่า แต่มีความเสี่ยงน้อยกว่าเทคนิคในปัจจุบัน เรียกว่าบริการทางการเงินในภาพรวมจากฝั่งของลูกค้านั้น Sexy กว่าการใช้บริการในแบบเดิมๆ
(3) การใช้ข้อมูลขนาดใหญ่ (Big data) และการเปิดข้อมูลที่เก็บอยู่ของภาครัฐ (Government Opened data) มิติที่มีการพูดคุยกันมากๆ ก็คือ 3.1 เรามีแหล่งข้อมูลระดับ Big data อยู่ที่ไหน มีลักษณะอย่างไร คุณภาพประมาณไหน สะท้อนพฤติกรรม ของกลุ่มตัวอย่างอย่างครบถ้วน มี ความยากง่ายในการนำเอามาขึ้นระบบเพื่อการวิเคราะห์ประมาณไหน กล่าวกันในภาพรวมคือ Big data นั้นจะต้องมีคุณสมบัติ ถูกต้อง ครบถ้วน ทันสมัย พร้อมใช้งาน
3.2 แหล่งข้อมูลที่จำเป็นจะต้องนำมาใช้งานโดยผู้ให้บริการทางการเงิน ที่ถูกจัดเก็บในภาครัฐ จะถูกนำออกมาเปิดเผยได้อย่างไร มีต้นทุนที่ถูกมากพอ สามารถอ่านข้อมูลนั้นได้ง่ายด้วยคอมพิวเตอร์ มีจำนวนมากพอ มีความสม่ำเสมอในการเผยแพร่ และที่สำคัญมีกฎหมายรองรับการนำไปใช้งาน เช่น หน่วยงานรัฐหนึ่งออกกติกาว่า การมาแสดงตัวตนของลูกค้าเพื่อขอใช้บริการต้องยืนยันตัวตนบนข้อมูลบัตรประชาชน แต่การที่เอกชนจะทำอย่างนั้นได้ก็ต้องไปเอาข้อมูลจากหน่วยงานรัฐอีกแห่งหนึ่งมาขึ้นระบบเพื่อเป็นข้อมูลจากแหล่งที่เชื่อถือได้มาทำการสอบทานยืนยัน ถ้าหน่วยงานที่สองไม่มีการทำ Opened Data ธุรกรรมนั้นก็จบข่าว ทำต่อไม่ได้
(4) เรื่องความมั่นคงปลอดภัยในระบบข้อมูลสารสนเทศหรือที่เราๆ ท่านๆ พูดกันคือ Cyber Security เพราะเหตุว่า การทำธุรกรรมแทบทุกอย่างอย่างที่อยากได้ไม่ว่า Digital Banking หรือ Financial Service 4.0 ต่างมีความเสี่ยงในเรื่องที่จะมีผู้บุกรุก คนที่เก่งเทคโนโลยีเข้ามาทำการขโมย บิดเบือนข้อมูล ลบข้อมูล เปลี่ยนแปลงข้อมูล ทำลายข้อมูลทั้งหมดหรือบางส่วน การป้องกันคนสุจริตจากอาชญากรรมทางเทคโนโลยีสารสนเทศ จำต้องมีชุดความรู้อีกชุดหนึ่ง มากำกับดูแล บริหารจัดการ คำถามคือระบบที่เรากำลังจะพัฒนาไปนั้น มีผู้คนมากพอ มีความรู้มากพอ มีสภาพแวดล้อมเอื้ออำนวย ความมั่นคงปลอดภัยในระบบจึงจะเกิดขึ้นจนถึงระดับที่ทำให้ทุกฝ่ายคือ ผู้ให้บริการทางการเงิน ผู้กำกับดูแล ทางการ สังคม และ ผู้ใช้บริการทางการเงินมั่นใจ
มาถึงตรงนี้นะครับผมพบว่า บทเรียนในการพัฒนา ระบบนิเวศระบบการเงิน ต้องเข้าใจทุกฝ่าย เข้าถึงความรู้จริง แล้วพัฒนาบนพื้นฐานความรู้ ความรู้จริง ความรู้สึก ความเข้าใจว่า “ใดๆ ในโลกล้วนข้อมูล” ดังที่ ดร.สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ได้กล่าวไว้ในงานสัมมนาวิชาการประจำปีของ TDRI

ตรวจเครดิตบูโร ฟรี! งาน “Thailand Smart Money 2017 จ.พิษณุโลก” วันที่ 26-27 สิงหาคม 2560

เชิญตรวจเครดิตบูโร ฟรี! งาน “Thailand Smart Money 2017 จ.พิษณุโลก”
วันที่ 26 สิงหาคม 2560 เวลา 10.00-19.00 น. วันที่ 27 สิงหาคม 2560 เวลา 10.00-17.00 น. ณ เซ็นทรัลพลาซา จ.พิษณุโลก (ติดกับบูธธนาคารทหารไทย)
(ฟรี!!…บริการตรวจเครดิตบูโร แต่ขอรับเป็นเงินบริจาคแทน พร้อมเปิดคลินิกเครดิตบูโรให้คำปรึกษา) ** เฉพาะรายการลูกค้าบุคคลธรรมดา ยื่นขอตรวจของตนเองเท่านั้น (ไม่รับกรณีรับมอบอำนาจ)

ตรวจเครดิตบูโร ฟรี! จ.พัทลุง วันศุกร์ที่ 25 สิงหาคม 2560 เวลา 8.30 – 13.00 น. ในงานสัมมนา “การคุ้มครองเงินฝากและเครดิตบูโร”

เชิญตรวจเครดิตบูโร ฟรี! งานสัมมนา เรื่อง ทำความรู้จักกับ “การคุ้มครองเงินฝากและเครดิตบูโร”
วันศุกร์ที่ 25 สิงหาคม 2560 เวลา 8.30 – 13.00 น. ณ ห้องทองอินทรา ชั้น 2 โรงแรมชัยคณาธานี จ.พัทลุง
(ฟรี!!…บริการตรวจเครดิตบูโร แต่ขอรับเป็นเงินบริจาคแทน พร้อมเปิดคลินิกเครดิตบูโรให้คำปรึกษา) ** เฉพาะรายการลูกค้าบุคคลธรรมดา ยื่นขอตรวจของตนเองเท่านั้น (ไม่รับกรณีรับมอบอำนาจ)

ตรวจเครดิตบูโร ฟรี! งาน “บ้าน ธอส. เอ๊กซ์โป กรุงเทพฯ” วันที่ 24-27 สิงหาคม 2560

เชิญตรวจ #เครดิตบูโร ฟรี! งาน “บ้าน ธอส. เอ๊กซ์โป @ กรุงเทพฯ”
วันที่ 24 – 27 สิงหาคม 2560 เวลา 10.00 – 19.00 น. ณ ห้องเพลนารี ฮอลล์ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ (บูธติดกับกองทุนการออมแห่งชาติ)
(ฟรี!!…บริการตรวจเครดิตบูโร แต่ขอรับเป็นเงินบริจาคแทน พร้อมเปิดคลินิกเครดิตบูโรให้คำปรึกษา) ** เฉพาะรายการลูกค้าบุคคลธรรมดา ยื่นขอตรวจของตนเองเท่านั้น (ไม่รับกรณีรับมอบอำนาจ)

คอลัมน์เศรษฐกิจคิดง่ายๆ “ขอคุยถึงมาตรการแก้ไขหนี้สินประชาชนอีกครั้ง” นสพ.โพสต์ทูเดย์ วันจันทร์ที่ 14 สิงหาคม 2560

เมื่อปลายสัปดาห์ก่อนได้มีข่าวสารออกมาถึงมาตรการกำกับ ดูแล ควบคุม คนที่มีรายได้ต่ำกว่า 3 หมื่นบาท/เดือน ในการก่อหนี้สินประเภทบัตรเครดิต สินเชื่อบุคคล ซึ่งผลของมาตรการนี้จะเกิดกับลูกหนี้หน้าใหม่ หรือคนที่ยื่นขอสินเชื่อใหม่ ตั้งแต่วันที่ 1 ก.ย. 2560 เป็นต้นไป เราๆ ท่านๆ คงต้องติดตามผลต่อไป ว่ามาตรการนี้จะช่วยให้เกิดความยั้งคิด และชะลอการ ก่อหนี้ภาคครัวเรือนที่ไม่ค่อยสมเหตุผลลงไปได้กี่มากน้อยนะครับ

บทความวันนี้ ผมจะขอกล่าวถึงมาตรการแก้ไขปัญหาลูกหนี้ที่กลายเป็นหนี้เสีย เป็นหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิด รายได้ เป็นหนี้ NPL หรือเป็นหนี้ที่มีการค้างชำระเกินกว่า 90 วัน (ค้างชำระเกิน 3 งวดติดกัน) ที่มีชื่อว่า “คลินิกแก้หนี้” นั่นเอง มาตรการนี้ได้เริ่มมาก็เป็นเวลามากกว่า 2 เดือนแล้วเรามีประเด็นบางอย่างที่เห็นจากหน้างาน จากสื่อ จากที่มีการคุยกัน รายละเอียดมีดังนี้

ในด้านบวกระบุว่า
1.เป็นทางออกสำหรับคนที่ไม่สามารถชำระหนี้ได้ จะได้หันกลับมา ยอมรับความจริง ยอมแก้ปัญหา จัดตารางการชำระใหม่ ตามสภาพของรายได้ รายจ่ายที่เข้ามาในแต่ละเดือน
2.ทำให้มีสมาธิกลับไปทำงานได้อีกครั้ง ไม่ต้องผวากับการตามหนี้ หวาดระแวงว่าใครจะรู้ที่ทำงาน หัวหน้าจะทราบ ฝ่ายบุคคลจะมาจัดการ หรือจะโดนหมายจากเจ้าหนี้มาหรือไม่ ยิ่งปลายเดือนต่อต้นเดือนใหม่ ป่วย ขาด ลา ดูจะเป็นกลยุทธ์หนีหนี้ หนีการตามหนี้
3.ได้ดอกเบี้ยถูกลง ไม่แพง ไม่เจอดอกเบี้ยล่าช้า เบี้ยปรับ ค่าติดตามหนี้
ในด้านลบระบุว่า
1.ต้องไม่ก่อหนี้ใหม่ใน 5 ปี อย่างนี้ก็แย่สิ เพราะถ้าฉุกเฉินจะทำอย่างไร (ฉุกเฉินจริงหรือไม่ก็ไม่รู้) จะไปกู้ก็จะผิดเงื่อนไข ตรงนี้ผู้เขียนเห็นว่า มันเป็นจุดที่ลูกหนี้ทะลุไม่ได้สักที แทนที่จะเกิดการกลับตัวกลับใจมาออมเงิน ฉุกเฉินก็มาเอาเงินออม กลับยังคิดไปหาทางกู้มาอีก
2.ตอนนี้แค่ค้างชำระ 2 งวด หมุนเริ่มไม่ทัน แต่ยังสู้ชำระหนี้ เมื่อยังไม่เป็นหนี้เสีย ก็ยังเข้าโครงการไม่ได้ อาการลูกผีลูกคนก็เลยต้องว่ากันไปเองก่อน
3.ทำไมเอาแต่บัญชีที่มีกับธนาคารล่ะ ในชีวิตจริงมันเป็นหนี้ไปหมดนะ ทั้งธนาคาร ไม่ใช่ธนาคาร บริษัทบัตรเครดิต-สินเชื่อบุคคล ถ้าทำปรับโครงสร้างหนี้ไม่จบกับเจ้าหนี้ทั้งหมด แต่จบบางราย เงินเดือน รายได้ มันมียอดเดียวที่จะเอามาจ่าย เกิดสถาบันการเงินที่ไม่ได้ร่วมปรับโครงสร้างหนี้ด้วย เขาฟ้องขึ้นมา แล้วเราจะทำอย่างไร จะจ่ายใครก่อนใครหลัง อยากได้แบบว่าสะเด็ดน้ำกับเจ้าหนี้ทุกราย
4.อ้าว…คนที่ไม่มีสลิปเงินเดือน ไม่มีรายได้ประจำ มีอาชีพอิสระ รับจ้างทำงานให้เป็นงานๆ ไป แม้รายได้จะเข้ามาไม่สม่ำเสมอแต่ก็มีเข้ามานะ ถ้าช่วยแนะเรื่องบริหารจัดการนิดนึงก็ทำได้นี่นา ทำไมเหรอ คนมีรายได้ไม่ประจำมันถึงขาดโอกาสแบบนี้ล่ะ ทีเวลามาเสนอเงินกู้ให้ เสนอบัตรให้ รายได้ประจำหรือไม่ประจำก็ได้ 0% เหมือนๆ กันนี่นา
5.ทำไมจุดให้บริการน้อยจัง เราไปส่งเรื่องเราที่สาขาธนาคารได้หรือไม่ สาขาที่ใกล้บ้าน หรือในห้างก็ได้ พวกเขาก็รู้เรามีรายได้จากไหน เท่าไร เช็กได้ ทำไมต้องบอกกับ SAM แล้ว SAM ก็ต้องส่งกลับไปที่แบงก์ให้ตรวจอีกที อนุมัติอีกที ก็เข้าใจนะ คนที่ไม่จ่าย ผิดสัญญา พอจะมาทำสัญญาใหม่ว่าจะไม่ก่อหนี้อีก มีรายได้เท่านั้นเท่านี้ก็อาจไม่น่าเชื่อถือ เอาที่สบายใจนะ ได้หมดถ้าสดชื่น

ในด้านผลที่ออกมา พบว่า มีคนสนใจสมัครเข้ามาลงทะเบียนตามข่าวที่ระบุจำนวนกว่า 3.9 หมื่นราย อนุมัติเพียง 150 ราย ส่วนใหญ่ตกเกณฑ์ ผู้เขียนคิดว่าการสื่อสาร การประชาสัมพันธ์ก่อให้เกิดการตื่นตัวแล้ว ดูจากคนมาตรวจ เครดิตบูโรตัวเอง และคนที่มาลงทะเบียน หากแต่คุณสมบัติไม่เข้าเกณฑ์

ดังนั้น เราควรมาทบทวนเกณฑ์หรือไม่ เราควรให้เจ้าหนี้ที่ไม่ใช่แบงก์เข้าร่วมโครงการหรือไม่ มันติดอะไร มันน่าจะมีทางออกได้สิ เพราะมันเป็นเรื่องช่วยคนให้ดิ้นพ้นจากบ่อหนี้ มันเป็นงานบุญงานกุศลนี่นา เพราะถ้าช้าออกไปคนจะขาดความเชื่อมั่น สำหรับกระบวนการให้บริการ ใจผมจะถามไปที่คนปฏิบัติว่าทำอย่างไรจะให้เร็วขึ้น คนปฏิบัติหน้างานเขารู้แน่นอน คนที่ไม่ได้ปฏิบัติลองเงียบๆ ไม่พูด ใช้ทักษะการฟัง ฟังช้าๆ ถอดหัวโขน แล้วก็น่าจะเห็นคำตอบ ความกล้ามันอยู่ที่กล้าอนุมัติให้ปรับแก้ตามความเห็นคนปฏิบัติหรือไม่

ความกล้าไม่ใช่การเอาแต่ความคิดเราเป็นตัวตั้ง ผมเห็นสื่อมวลชนหลายท่านออกมาให้ข้อคิด สะท้อนความเห็น ซึ่งเป็นอะไรที่ทุกคนมองเหมือนกัน คือ ลูกหนี้เหล่านั้น ชั่วดี ถี่ห่าง ก็เป็นคนไทยด้วยกัน ฆ่าลูกหนี้ ฟ้องลูกหนี้ ทำไปแล้วได้อะไร รักษา พยาบาล และให้ทางออก ถ้าเขายังกลับไปเสพหนี้อีก ก็ชีวิตเขาแล้วล่ะ…ขอบคุณครับ

โครงการ “การสร้างความรู้ความเข้าใจเรื่องการคุ้มครองเงินฝาก และการคุ้มครองผู้ใช้บริการทางการเงินฯ” จ.นครราชสีมา

คุณวงศ์วริศ ดุลยนิติโกศล (ซ้ายสุด) รองผู้จัดการใหญ่อาวุโส เครดิตบูโร และคุณอรภัทร รังษีวงศ์ (ที่สองจากขวา) ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ ได้รับเกียรติจากสำนักงานเศรษฐกิตการคลัง ร่วมงานโครงการ “การสร้างความรู้ความเข้าใจเรื่องการคุ้มครองเงินฝากและการคุ้มครองผู้ใช้บริการทางการเงินให้กับประชาชน ภาคธุรกิจ และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น” จังหวัดนครราชสีมา วันที่ 11 สิงหาคม 2560 เวลา 8.30-12.00 น. ณ ห้องสีมาธานี แกรนด์ บอลรูม โรงแรมสีมาธานี จังหวัดนครราชสีมา พร้อมให้บริการออกบูธตรวจเครดิตบูโร (ฟรี!!…บริการตรวจเครดิตบูโร แต่ขอรับเป็นเงินบริจาคแทน พร้อมเปิดคลินิกเครดิตบูโรให้คำปรึกษา)

** เฉพาะรายการลูกค้าบุคคลธรรมดา ยื่นขอตรวจของตนเองเท่านั้น (ไม่รับกรณีรับมอบอำนาจ)

เครดิตบูโรห่วงใยผู้ประสบอุทกภัยในหลายจังหวัดของประเทศ

1 สิงหาคม 2560 : บริษัท ข้อมูลเครดิตแห่งชาติ จำกัด (เครดิตบูโร) ส่งหนังสือถึงสถาบันการเงินที่ออกมาตรการช่วยเหลือลูกค้าในหลายจังหวัดที่ประสบภัยน้ำท่วม ต้องยึดตามเงื่อนไขแจ้งข้อมูลตามที่ตกลงผ่อนปรนให้แก่ลูกค้า ป้องกันลูกค้ามีบัญชีค้างชำระหนี้
นายสุรพล โอภาสเสถียร ผู้จัดการใหญ่ เครดิตบูโร เปิดเผยว่า สืบเนื่องจากหลายจังหวัดประสบปัญหาอุทกภัยอย่างหนัก เช่น สกลนคร นครพนม กาฬสินธุ์ ลพบุรี เพชรบูรณ์ สุโขทัย เป็นต้น ส่งผลกระทบต่อชีวิตความเป็นอยู่ และการประกอบกิจการ รวมถึงความสามารถในการชำระหนี้ของลูกหนี้ธนาคารและสถาบันการเงินเป็นอย่างมาก

ในการนี้ เครดิตบูโรในฐานะที่เป็นส่วนหนึ่งของระบบสถาบันการเงินไทยจึงได้ออกหนังสือถึงธนาคารและสถาบันการเงินที่เป็นสมาชิกกว่า 96 แห่ง เพื่อให้ระมัดระวังในการรายงานและนำส่งข้อมูลของลูกหนี้กลุ่มที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมโดยเฉพาะ หากมีการผ่อนผันหรือผ่อนปรนการชำระหนี้ให้กับลูกค้าดังกล่าว ควรยึดถือข้อเท็จจริงตามนโยบายที่ได้ช่วยเหลือหรือผ่อนผันให้กับลูกค้า เช่น กรณีที่ลูกค้าสามารถปฏิบัติตามข้อตกลงหรือข้อผ่อนผันได้ สมาชิกสามารถรายงานและนำส่งข้อมูลการชำระหนี้ตามข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นตามข้อตกลงหรือข้อผ่อนผันนั้นในสถานะบัญชี “ปกติ” แทนการรายงานและนำส่งข้อมูลว่า “ลูกค้าผิดนัดชำระหนี้” เพื่อช่วยเหลือลูกค้าไม่ให้เกิดความเสียหายในประวัติของตน

นอกจากนี้ ตามประกาศของคณะกรรมการคุ้มครองข้อมูลเครดิต เรื่องรหัสสถานะบัญชี ก็มีการระบุไว้อย่างชัดเจนว่าในกรณีที่มีการพักชำระหนี้ตามนโยบายของรัฐ หรือตามนโยบายของสมาชิกที่สอดคล้องกับนโยบายของรัฐ อาจนำส่งเป็น “พักหนี้ตามนโยบายของรัฐ” มาตรการนี้จะเป็นการช่วยเยียวยาทางด้านจิตใจและการดำเนินธุรกรรมทางการเงินที่เกี่ยวข้องหลังน้ำลดแล้วแก่ผู้ประสบอุทกภัยอีกทางหนึ่งด้วย

ในกรณีสถาบันการเงินที่เป็นสมาชิก 96 แห่งมีการติดต่อลูกหนี้ได้ในภายหลัง เนื่องจากตอนประสบภัยยังหาตัวกันไม่พบเพราะต่างก็ถูกน้ำท่วม แม้จะมีการส่งข้อมูลเข้ามาว่าผิดนัดชำระหนี้ก็ตาม เมื่อมีการเข้าโครงการผ่อนผันหรือผ่อนปรนของสถาบันการเงินนั้นๆ และให้มีผลย้อนหลังไปยังเดือนที่เคยส่งข้อมูลว่าผิดนัดชำระหนี้ สถาบันการเงินนั้นก็สามารถแจ้งแก้ไขให้บัญชีดังกล่าวกลับมาเป็นสถานะ บัญชีสินเชื่อนั้นมีประวัติการชำระ “ปกติไม่ค้างชำระ” หรือบัญชีนั้นปรับโครงสร้างหนี้ หรือบัญชีนั้นพักชำระหนี้แล้วแต่กรณี เครดิตบูโรจะดำเนินการแก้ไขหรือปรับปรุงให้เป็นไปตามที่มีการตกลงกัน

ทั้งนี้ เครดิตบูโรมีข้อแนะนำว่า ลูกหนี้ที่ได้รับผลกระทบเมื่อน้ำลดควรรีบติดต่อสถาบันการเงินเจ้าหนี้เพื่อแจ้งความเสียหาย ปรึกษาหารือเพื่อเข้าโครงการผ่อนผันหรือผ่อนปรนตามที่มีการแถลงออกมา อันจะทำให้ประวัติทางการเงินของท่านเหล่านั้นได้รับการดูแลตามความเป็นจริง นอกจากนี้ในส่วนของเครดิตบูโรก็จะมีการเฝ้าติดตามข้อมูลที่สมาชิกนำส่งทุกสิ้นเดือนว่า ไม่มีความผิดปกติหรือไม่มีการส่งข้อมูลบัญชีที่มีการแสดงสถานะว่าผิดนัดชำระหนี้เพิ่มสูงขึ้นกว่าเดือนก่อนหน้า หากพบความผิดปกติจะแจ้งสมาชิกให้ตรวจสอบความถูกต้องอีกครั้งหนึ่งก่อนนำข้อมูลเข้าฐาน

นายสุรพลกล่าวด้วยว่า หลังจากเหตุการณ์สู่ภาวะปกติ ลูกค้าสามารถตรวจเครดิตบูโรของตนเองเพื่อดูความถูกต้องของข้อมูลได้ ซึ่งเครดิตบูโรมีช่องทางสำหรับประชาชนทั่วไปสามารถตรวจเครดิตบูโรได้ในหลายช่องทาง อาทิ ศูนย์ตรวจเครดิตบูโร หรือยื่นคำขอผ่านเคาน์เตอร์ธนาคารกรุงไทย ธนาคารธนชาต ธนาคารอาคารสงเคราะห์ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา ธนาคารแลนด์แอนด์เฮ้าส์ เอสเอ็มอีแบงก์ หรือที่ตู้เอทีเอ็มของธนาคารกรุงไทย ธนาคารไทยพาณิชย์ หรือที่ทำการไปรษณีย์ไทย 291 สาขา สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ Call Center 0-2643-1250

เรื่องน่าอ่าน